คุยกับทูต ยูน โอสตร็อม เกรินดอล ไทย-สวีเดน สัมพันธ์อันราบรื่นและยั่งยืน (2) / ชนัดดา ชินะโยธิน

ชนัดดา ชินะโยธิน

[email protected]

 

คุยกับทูต ยูน โอสตร็อม เกรินดอล

ไทย-สวีเดน สัมพันธ์อันราบรื่นและยั่งยืน (2)

 

ประเทศไทยและสวีเดนสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างกันเมื่อ 153 ปีที่แล้ว ความสัมพันธ์ที่มีมาอย่างยาวนานนี้ได้หยั่งรากลึกในทุกระดับตั้งแต่ราชวงศ์จนถึงประชาชน

เหตุการณ์ในประวัติศาสตร์สะท้อนให้เห็นถึงความสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้นระหว่างไทยกับสวีเดน โดยเฉพาะสถาบันพระมหากษัตริย์

เมื่อปี 1884 เจ้าชายออสการ์ เบอร์นาดอตต์ เคานต์แห่งวิสบอร์ก (Prince Oscar Bernadotte) พระราชโอรสพระองค์ที่ 2 ในสมเด็จพระเจ้าออสการ์ที่ 2 (King Oscar II) กับสมเด็จพระราชินีแห่งสวีเดน โซเฟีย แห่งนอสซอ (Sofia of Nassau, Queen of Sweden) ได้เสด็จเยือนกรุงเทพฯ โดยเรือกองทัพสวีเดน HMS Vanadis นับเป็นครั้งแรกที่ราชวงศ์ไทยและราชวงศ์สวีเดนได้พบกัน ตามการบันทึกทางประวัติศาสตร์

ต่อมา พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ได้เสด็จฯ เยือนทวีปยุโรป ครั้งที่ 1 นับเป็นครั้งประวัติศาสตร์ในปี1897 และเสด็จฯ เยือนเมืองหลวงสตอกโฮล์ม ประเทศสวีเดนในคราวเดียวกันในฐานะพระราชอาคันตุกะของสมเด็จพระราชาธิบดีออสการ์ที่สองแห่งสวีเดนและนอร์เวย์

ได้ทอดพระเนตรอุตสาหกรรมป่าไม้ทางตอนเหนือของสวีเดน มีการตั้งชื่อถนนในเมืองที่พระองค์เสด็จฯ ผ่านว่า “ถนนจุฬาลงกรณ์ (Kung Chulalongkorns väg)

และที่เทศบาลรากุนดา ทางตอนเหนือของสวีเดน สถานที่หนึ่งที่พระองค์ได้เสด็จฯ เยือนก็ได้มีการสร้างอาคารพระบรมราชานุสรณ์ในปี 1997 เนื่องในวาระครบรอบ 100 ปีที่พระองค์เสด็จฯ เยือนเทศบาลนี้

อาคารพระบรมราชานุสรณ์พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว คือ อาคารสถาปัตยกรรมทรงไทยที่ตั้งอยู่ในเขตเมืองรากุนดา ประเทศสวีเดน

นาย Ernest Florman เป็นช่างถ่ายหนังคนแรกของสวีเดนได้ตั้งกล้องคอยถ่ายเหตุการณ์รับเสด็จพระเจ้ากรุงสยาม ในคราวเสด็จฯ ประพาสยุโรป ครั้งที่ 1 ที่ท่าเรือหน้าพระราชวังหลวงในกรุงสตอกโฮล์ม และได้บันทึกภาพเรือพระที่นั่งเมื่อเข้าเทียบท่า พระเจ้ากรุงสวีเดนทรงคอยรับพระเจ้ากรุงสยาม โดยสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชและเจ้านายพระองค์อื่น ๆ ตามเสด็จด้วย (บันทึกจากหอภาพยนตร์-องค์การมหาชน https://youtu.be/lcpGgRFJT8I)

นับเป็นหนึ่งในสองภาพยนตร์ที่เก่าแก่ที่สุดเกี่ยวกับชนชาติไทย การค้นพบภาพยนตร์เรื่องนี้ในปี 1983 ถือเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้ราชการและรัฐบาลยอมรับการเรียกร้องให้มีการจัดตั้งหอภาพยนตร์แห่งชาติเพื่ออนุรักษ์และเก็บรักษาภาพยนตร์ และจากการเสด็จประพาสในครั้งนั้นถือเป็นการช่วยสร้างรากฐานของความสัมพันธ์ที่ดีงามมาจนถึงทุกวันนี้

 

วันที่ 23 กันยายน ปี 1960 พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร รัชกาลที่ 9 เสด็จฯ เยือนสวีเดนเป็นครั้งแรกพร้อมด้วยสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง โดยมีสมเด็จพระเจ้ากุสตาฟที่ 6 อดอล์ฟแห่งสวีเดน (King Gustaf VI Adolf ) และสมเด็จพระราชินี ลุอีสแห่งสวีเดน (Queen Louise Mountbatten) ถวายการต้อนรับ

เมื่อสมเด็จพระราชาธิบดีคาร์ลที่ 16 (King Carl XVI Gustaf) เสด็จขึ้นครองราชย์ในปี 1973 ได้เสด็จฯ เยือนประเทศไทยอยู่บ่อยครั้งทั้งแบบส่วนพระองค์และทางการ


สมเด็จพระราชาธิบดีคาร์ลที่ 16 กุสตาฟแห่งสวีเดนและสมเด็จพระราชินีซิลเวีย

ปี 2006 สมเด็จพระราชาธิบดีคาร์ลที่ 16 กุสตาฟและสมเด็จพระราชินีซิลเวียแห่งสวีเดนได้เสด็จฯ มาในช่วงพระราชพิธีฉลองสิริราชสมบัติครบ 60 ปี ของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร

พระราชาธิบดี คาร์ล ที่ 16 กุสตาฟ แห่งสวีเดนทูลเกล้าถวายอิสริยาภรณ์สดุดีลูกเสือโลก หรือ The Bronze Wolf

และในวันที่ 20 มิถุนายน พระราชาธิบดีคาร์ลที่ 16 กุสตาฟ แห่งสวีเดน เสด็จฯ มาเพื่อเข้าเฝ้าฯ ในฐานะประธานกิตติมศักดิ์ของมูลนิธิลูกเสือโลก (World Scout Foundation) เพื่อทูลเกล้าฯ ถวายอิสริยาภรณ์สดุดีลูกเสือโลก หรือ The Bronze Wolf ที่มีสัญลักษณ์เป็นรูปสุนัขจิ้งจอก เป็นอิสริยาภรณ์ที่คณะกรรมการลูกเสือโลกพิจารณามอบให้เป็นเกียรติแก่บุคคลที่มีผลงานโดดเด่นทางด้านการสนับสนุนกิจการลูกเสือ

อิสริยาภรณ์สดุดึลูกเสือโลก หรือ The Bronze Wolf

ในพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ปี 2017 สมเด็จพระราชินีซิลเวียแห่งสวีเดน ทรงเป็นตัวแทนของสมเด็จพระราชาธิบดีคาร์ลที่ 16 กุสตาฟ กษัตริย์แห่งสวีเดน พระราชสวามีของพระองค์ โดยทรงเป็นหนึ่งในพระประมุขที่เสด็จฯ มาร่วมงาน

เมื่อวันที่ 26 ตุลาคม 2017 สำนักพระราชวังสวีเดนจัดพิธีอัญเชิญพระราชลัญจกรพิเศษ (ตราครุฑพ่าห์) เพื่อถวายพระเกียรติสูงสุดแด่พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร จากพระราชวังกรุงสตอกโฮล์มไปยังโบสถ์ริดดาร์ฮ็อลเมน (Riddarholmen Church) ซึ่งมีคนไทยนับพันคนไปร่วมพระราชพิธี

 

ปัจจุบัน ไทยให้ความสำคัญกับการแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับสวีเดนในเรื่องนวัตกรรม การพัฒนาอย่างยั่งยืน และการป่าไม้ จากการที่มีความสัมพันธ์ใกล้ชิดมาตั้งแต่สมัยการเสด็จฯ เยือน ดังที่ได้กล่าวข้างต้น

คนสวีเดนรู้จักและชื่นชอบประเทศไทย นิยมมาท่องเที่ยวในไทย โดยเฉพาะเพื่อพักผ่อนในช่วงเทศกาลคริสต์มาส ปัจจัยสำคัญคือ สามารถตอบสนองต่อความต้องการของชาวสวีเดนในด้านแหล่งท่องเที่ยว เช่น ชายทะเล รวมทั้งความสะดวกในด้านการคมนาคม

มีคนไทยที่ไปพักอาศัยและทำธุรกิจอยู่ที่สวีเดนกว่าหกหมื่นคนในปัจจุบัน อาหารไทยในสวีเดนก็หาได้ไม่ยากเพราะมีอยู่ทั่วไป

คนไทยชื่นชมสวีเดนที่เป็นตัวอย่างที่ดีในหลายๆ ด้าน อาทิ การพัฒนาอย่างยั่งยืน การอนุรักษ์ธรรมชาติ ความเท่าเทียมกันในสังคม และความเป็นรัฐสวัสดิการ

ในขณะที่คนสวีเดนมักเลือกที่จะเกษียณและมีบ้านพักตากอากาศอยู่ในเมืองไทยมากกว่าหนึ่งหมื่นคน จึงมีการเปิดโรงเรียนสวีเดนขึ้นหลายแห่ง

 

นายยูน โอสตร็อม เกรินดอล (H.E. Mr. Jon Åström Gröndahl) เอกอัครราชทูตราชอาณาจักรสวีเดน

นายยูน โอสตร็อม เกรินดอล (H.E. Mr. Jon Åström Gröndahl) เอกอัครราชทูตราชอาณาจักรสวีเดนประจำราชอาณาจักรไทย กล่าวถึงการท่องเที่ยวระหว่างไทยกับสวีเดนว่า

“ชาวสวีเดนกำลังจะกลับมาเยือนไทย ซึ่งเป็นเรื่องที่ดีมาก เพราะตอนนี้การเดินทางไปมาระหว่างกันค่อนข้างสะดวก มีสายการบินให้การบริการมากขึ้น มีเที่ยวบินตรงจากกรุงสตอกโฮล์ม ประเทศสวีเดน และจากกรุงเทพฯ โดยการบินไทย และฟินน์แอร์ ซึ่งผมคิดว่าสวีเดนอยู่ใน 5 อันดับแรกของประเทศที่มาเยือนไทยในขณะนี้”

รัฐบาลไทยได้ประกาศเปิดรับนักท่องเที่ยวเข้าประเทศมาตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน 2021และการบินไทยก็ได้จัดเที่ยวบินในตารางการบินฤดูหนาว ปี 2021-2022 จำนวน 36 เส้นทางบิน พร้อมการบริการแบบเต็มรูปแบบ เป็นไปตามมาตรการควบคุมโรคโควิด-19 ตั้งแต่ 31 ตุลาคม 2021- 26 มีนาคม 2022

สำหรับเส้นทางไป-กลับ กรุงเทพฯ-ภูเก็ต-สตอกโฮล์ม (สวีเดน) เป็นหนึ่งในเส้นทางบินที่สนับสนุนโครงการภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์ โดยทำการบินสัปดาห์ละ 1 เที่ยวบิน และออกจากกรุงเทพฯ ทุกวันศุกร์

“วันนี้มีนักท่องเที่ยวชาวสวีเดนมาเยือนไทยประมาณ 5,000 คน แต่ก่อนโควิดชาวสวีเดนมาประมาณ 15,000 คน เราคาดว่าชาวสวีเดนจะกลับมาที่นี่อีกประมาณ 10,000 คน เพราะชาวสวีเดนจำนวนมากมีบ้านหลังที่สองที่นี่ และอยู่นาน 3-6 เดือน ทำให้เกิดโรงเรียนสวีเดนขึ้นหลายแห่งทั้งในกรุงเทพฯ ระยอง ภูเก็ต กระบี่ที่เกาะลันตา ประจวบคีรีขันธ์ที่ห้วยยางและหัวหิน”

ด้านการค้า เนื่องจากสวีเดนเป็นคู่ค้าอันดับ 40 ของไทย มีมูลค่าการค้ารวม 1,089.43 ล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2019 เพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้า 2.32% การนำเข้ามีมูลค่า 652.79 ล้านดอลลาร์สหรัฐ การส่งออกมีมูลค่า 436.64 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยสวีเดนเป็นฝ่ายได้เปรียบดุลการค้า

“ไทยมีความร่วมมือด้านกลาโหมกับสวีเดนด้วย และเป็นประเทศหนึ่งที่สั่งซื้อเครื่องบินขับไล่ Gripen จำนวน 12 ลำจากสวีเดนเมื่อปี 2007”

เครื่องบิน Gripen ประจำการฝูงบิน 701 จ. สุราษฎร์ธานี จำนวน 11 ลำ ประสบอุบัติเหตุ 1 ลำ และเป็นฝูงเดียวในเอเชีย ที่เข้าประจำการครบ 10 ปี

 

คนทั่วโลกยังรู้จักสวีเดนผ่าน Thor เทพสายฟ้าที่ปรากฏขึ้นจอในหนัง Super Hero ค่าย Marvel หลายเรื่องรวมทั้ง Ikea ห้างเฟอร์นิเจอร์ค้าปลีกยักษ์ใหญ่ ส่วนในอดีต Volvo คือแบรนด์ทัพหน้าพาสินค้า Made in Sweden รุกตลาดโลกมาใกล้ครบศตวรรษ โดยใช้ Slogan ที่เน้นเรื่องความปลอดภัย ว่า VOLVO… for life “ทุกชีวิตปลอดภัยใน Volvo” แต่ปัจจุบันอยู่ในบริษัทธุรกิจเดียวกันสัญชาติจีนชื่อ จี๋ลี่ (Geely) เมื่อปี 2010

นายยูน โอสตร็อม เกรินดอล ชี้แจงว่า

“Volvo เป็นแบรนด์ที่สำคัญของสวีเดน ซึ่งวันนี้ เจ้าของเป็นบริษัทจากจีน แต่การผลิตจำนวนมากนั้นอยู่ในสวีเดน ขณะเดียวกันสวีเดนมีบริษัทสตาร์ตอัพและบริษัทที่มีนวัตกรรมมากกว่า 80 บริษัทในประเทศไทย นับเป็นความร่วมมือที่สำคัญมากสำหรับอนาคต เพราะคนไทยมีความชำนาญด้านเทคโนโลยี ทั้งยังเป็นผู้เริ่มใช้ตั้งแต่ต้นๆ โดยคนรุ่นใหม่ให้ความสนใจเทคโนโลยีใหม่ๆ มากและอาจนำไปสู่ความร่วมมือที่น่าสนใจระหว่างสวีเดนและไทยต่อไป ไม่ใช่ความร่วมมือเพียงบริษัทสวีเดนและไทยเท่านั้น แต่ยังรวมถึงชาวสวีเดนและไทยด้วย”

อย่างไรก็ตาม ความที่ไทยกับสวีเดนเป็นเพื่อนกัน เราจึงสามารถแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ยอมรับในความแตกต่าง และเคารพในคุณค่าของกันและกัน อันจะเป็นรากฐานที่มั่นคงยิ่งขึ้นสำหรับมิตรภาพและอนาคตที่รุ่งเรืองของประเทศทั้งสองต่อไป