ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 14 - 20 มกราคม 2565 |
---|---|
คอลัมน์ | ในประเทศ |
เผยแพร่ |
บทความในประเทศ
ABNORMAL FARM
ปัญหาของแพงไม่ว่าหมู ไข่ ไก่ ที่คนในโลกโซเชียลนำไปติดแฮชแท็ก “#แพงทั้งแผ่นดิน”
กลายเป็นเทรนด์ฮิตอย่างรวดเร็ว
ด้วยเพราะมิใช่ประเด็นความเดือดร้อนทางเศรษฐกิจเท่านั้น
หากแต่เกี่ยวพันเข้าไปเป็นประเด็นทางการเมืองอย่างร้อนแรง
แน่นอน ในฝั่งฟากฝ่ายค้านย่อมไม่อาจให้ประเด็นนี้ผ่านเลยไปง่ายๆ
ตรงกันข้าม ยิ่งต้องโหมให้แรง
ด้วยนี่เป็นการพิสูจน์ฝีมือรัฐบาลครั้งสำคัญ ว่าจะแก้ไขความเดือดร้อนอย่างไร
ที่กระโดดออกมาเต็มที่ คือพรรคเพื่อไทย
น.ส.ชญาภา สินธุไพร รองโฆษกพรรคเพื่อไทย ระบุว่า ตอนนี้สินค้าหลายรายการมีราคาแพงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทั้งผักแพง น้ำมันแพง ค่าไฟฟ้าแพง ค่าก๊าซหุงต้มแพง ค่าทางด่วนแพง หมูแพง ล่าสุดไข่แพง
ทำให้ประเทศอยู่ในวิกฤต “ของแพงทั้งแผ่นดิน”
ขณะที่พรรคก้าวไกลก็ไม่น้อยหน้า โดยลงลึกไปยังปัญหาหมูแพง
‘สัตวแพทย์อ๋อง’ นายปดิพัทธิ์ สันติภาดา ส.ส.พิษณุโลก พรรคก้าวไกล (ก.ก.) บอกว่ารู้สึกหดหู่ใจกับการปกปิดความจริงการระบาดของเชื้ออหิวาต์หมูแอฟริกา หรือ African Swine Fever : ASF ของกรมปศุสัตว์ ที่ได้สร้างผลกระทบต่อผู้เลี้ยงหมูอย่างรุนแรง พอเกิดปัญหาหมูตายเพราะโรคระบาด จะทำลายหมูทั้งหมดก็กลัวไม่ได้ชดเชย ต้องรีบเอาหมูเป็นชำแหละขายราคาถูกๆ น้ำตาตกในยอมขาดทุนดีกว่าหมูตายยกฟาร์มโดยไม่ได้เงินเลย พอไม่ได้ควบคุมทำลาย เชื้อก็กระจายไปทั่วประเทศ ส่งผลให้มีหมูตายและหายจากระบบไปกว่า 5-6 ล้านตัวต่อปี
นายปดิพัทธิ์บอกว่า การที่รัฐบาลโดยกรมปศุสัตว์ไม่ยอมรับว่ามี ASF ระบาดในประเทศ ต่อให้มีเงินกู้สนับสนุนให้กลับมาเลี้ยงดังที่กระทรวงเกษตรฯ ประกาศ เกษตรกรก็ไม่กลับมาเลี้ยง เพราะเหมือนหลอกให้เจ๊งรอบ 2 เลี้ยงไปก็ตาย แต่ไม่มีคนรับผิดชอบ ทั้งยังเป็นหนี้ต้องแบกเพิ่ม ตอนนี้เกษตรกรผู้เลี้ยงหมูจาก 2 แสนราย จึงลดลงเหลืออยู่เพียง 8 หมื่นราย ปัญหาหมูขาดแคลนและแพงจะไม่มีทางแก้ได้เลย
ถ้าไม่เริ่มจากการที่ภาครัฐยอมรับความจริง
ซึ่งเมื่อปัญหาบานปลาย จนดูเหมือนจะควบคุมไม่อยู่
ในที่สุด นายสัตวแพทย์สรวิศ ธานีโต อธิบดีกรมปศุสัตว์ ได้แถลงยอมรับเมื่อวันที่ 11 มกราคมที่ผ่านมา ว่า จากการจัดชุดเฉพาะกิจลงตรวจสอบสภาวะโรคในพื้นที่เสี่ยง สุ่มตรวจสอบเพิ่มเติมโดยเฉพาะในพื้นที่ที่มีการเลี้ยงสุกรหนาแน่น ในวันที่ 8-9 มกราคม 2565 รวมทั้งหมด 10 ฟาร์ม 305 ตัวอย่าง และโรงฆ่าสัตว์ 2 แห่ง 4 ตัวอย่าง
ซึ่งผลจากการวิเคราะห์ตัวอย่างในเบื้องต้นจากจำนวนทั้งหมด 309 ตัวอย่าง พบผลวิเคราะห์เป็นลบจำนวน 308 ตัวอย่าง และพบผลบวกเชื้อเอเอสเอฟ จำนวน 1 ตัวอย่าง จึงได้ลงพื้นที่เข้าสอบสวนโรคทางระบาดวิทยาถึงแหล่งที่มาของสุกร และสาเหตุเพื่อควบคุมโรคโดยเร็วต่อไป
พร้อมเห็นควรประกาศประเทศไทยพบโรค ASF และรายงานไปยังองค์การโรคระบาดสัตว์ระหว่างประเทศ (โอไออี) ต่อไป
คําแถลงยอมรับดังกล่าวถูกมองว่า ขับเคลื่อนช้า ไม่ทันการณ์
ด้วยก่อนหน้านี้ มิใช่เสียงเตือนจากฝ่ายการเมืองอย่าง ส.ส.พรรคก้าวไกลเท่านั้น
ยังมีหนังสือของ “ภาคีคณบดีคณะสัตวแพทยศาสตร์” จาก 14 มหาวิทยาลัยลงนามไปตั้งแต่วันที่ 7 ธันวาคม 2564 โดยนายสัตวแพทย์ ดร.สุจริต เที่ยงธรรม เตือนให้รับมือกับโรค ASF นี้
แต่กรมปศุสัตว์กลับเพิกเฉย
เสมือนเป็นไม่รับฟังเสียงเตือนในทาง “วิชาการ”
จึงมีคำถามพุ่งตรงไปยังกรมปศุสัตว์
ไปยังกระทรวงกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ซึ่งรับผิดชอบโดยตรงต่อกรณีนี้
ทำไม “นิ่งเฉย” และไม่ตอบรับกับ “วิกฤต” โรคระบาดที่เกิดขึ้น
พร้อมกันนี้ ยังทะลุทะลวงไปยังกระทรวงพาณิชย์ ที่นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ ดูแลในฐานะรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องกับการดูแลสินค้าอุปโภคบริโภคด้วย
ต้องไม่ลืม นายจุรินทร์ในฐานะรองนายกรัฐมนตรี ยังดูแลกระทรวงเกษตรฯ ที่มีนายเฉลิมชัย ศรีอ่อน เลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์ นั่งเป็นเจ้ากระทรวงอยู่เช่นกัน
แม้จะมอบให้คนพรรคชาติไทยพัฒนา–นายประภัตร โพธสุธน รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรฯ ดูแลกรมปศุสัตว์ แต่ก็ย่อมไม่พ้นที่จะต้องรับผิดชอบในฐานะเจ้ากระทรวง
และแน่นอนคำถามนี้ ยังทะลุทะลวงไปยัง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ในฐานะนายกรัฐมนตรี ที่ต้องกำกับการดูแลทุกกระทรวง และกุมการแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนโดยรวมด้วย
แต่กระนั้น ท่ามกลางการเรียกร้องหาความรับผิดชอบ “ร่วม” ต่อ “วิกฤต” ที่เกิดขึ้น
ประชาชนกลับได้เห็นความพยายาม “แยกส่วน” การรับผิดชอบในหมู่พรรคร่วมรัฐบาลด้วยกันเอง
โดยเฉพาะระหว่างพรรคพลังประชารัฐกับพรรคประชาธิปัตย์ ที่ตอนนี้กำลังขับเคี่ยวกันอย่างหนักในศึกเลือกตั้งซ่อมทั้งที่ จ.สงขลา และชุมพร
ที่แจ่มชัดชัดที่สุดก็คือ คำแถลงของนายสัณหพจน์ สุขศรีเมือง ส.ส.เขต 2 จ.นครศรีธรรมราช พรรคพลังประชารัฐ
ที่ระบุว่า กระทรวงที่รับผิดชอบโดยตรงเรื่องนี้ เสนอวิธีแก้ไขปัญหาแค่ปลายเหตุ
คือโครงการเนื้อหมูราคาถูก และไล่ตรวจฟาร์มสุกร
ทั้งที่อาจทราบข้อมูลการระบาดของโรคมากว่า 2 ปีแล้ว
“ผมทราบว่ามีกลุ่มการเมืองเก่าแก่กลุ่มหนึ่ง และผู้ต้องหาคดีอาญา ออกมากล่าวอ้างถึงพรรคพลังประชารัฐ ซึ่งเป็นพรรคแกนนำรัฐบาลว่า ไม่สามารถบริหารเศรษฐกิจให้ดีขึ้นได้ และไม่สามารถทำตามนโยบายที่ได้หาเสียงไว้ ต้องชี้แจงว่า ที่ผ่านมาพรรคพลังประชารัฐได้ประนีประนอม ให้โอกาส และความเชื่อมั่นในการบริหารกระทรวงที่เป็นหัวใจหลักของเศรษฐกิจประเทศกับกลุ่มพรรคการเมืองนี้ แต่กลับพบความล้มเหลวทางการบริหาร ไม่สามารถทำงานได้ตามเป้าหมาย ใช้กลไกที่เอื้อต่อนายทุนรายใหญ่ เช่น กรณีหมูแพง ซึ่งเกษตรกรรายย่อยไม่ได้รับประโยชน์ เพราะขาดทุนจากโรคระบาดและค่าอาหารสัตว์จนต้องเลิกเลี้ยง ที่ผ่านมาแม้จะมีการกล่าวอ้างว่า สินค้าเกษตรอย่างปาล์มน้ำมัน มันสำปะหลัง ยางพารา ข้าวโพด มีราคาสูงขึ้น แต่ความเป็นจริงเกษตรกรรายย่อยไม่ได้รับประโยชน์ เพราะต้องแบกรับภาระต้นทุนค่าปุ๋ยที่แพงขึ้น ทำให้ทุกวันนี้มีเฉพาะรายใหญ่เท่านั้นที่ได้ประโยชน์”
“จะเห็นได้ว่าผู้บริหาร 2 กระทรวงหลักที่มีหน้าที่ดูแลสินค้าเกษตรไร้ประสิทธิภาพในการทำงาน และส่งผลกระทบต่อพี่น้องเกษตรกรที่มีต้นทุนการผลิตสูงขึ้น เช่นเดียวกับพี่น้องประชาชนที่ต้องแบกรับค่าครองชีพสูงขึ้นด้วย”
คือการฟันธงของนายสัณหพจน์ จากพรรคพลังประชารัฐ
แม้ว่า ดร.สัณหพจน์จะไม่ได้กล่าวชื่อพรรคใดออกมาตรงๆ
แต่กระนั้น ฟังแล้วก็ไม่พ้นพรรคประชาธิปัตย์ และมองเป็นอื่นใดไม่ได้ นอกจากผลักเรื่อง “ของแพง” โดยเฉพาะสินค้าเกษตร ทั้งหมู ไก่ และไข่ ที่อยู่ในความรับผิดชอบของพรรคประชาธิปัตย์ ที่บริหารจัดการกระทรวงที่เกี่ยวข้องแบบเบ็ดเสร็จ ทั้งกระทรวงพาณิชย์ และกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ต้องรับผิดชอบ
ถือเป็นการ “แบ่งแยก” และ “ลอยตัว” ออกจากปัญหา เพื่อประโยชน์ทางการเมืองของพรรคพลังประชารัฐชัดเจน
นี่จึงทำให้นายราเมศ รัตนะเชวง โฆษกพรรคประชาธิปัตย์ ออกมาตอบโต้นายสัณหพจน์รุนแรงเช่นกัน
โดยระบุส่วนตัวไม่ให้ราคากับนักการเมืองประเภทนี้ และไม่อยากถามหาคำว่ามารยาททางการเมือง เพราะพิสูจน์มาแล้วหลายครั้งว่าคำนี้ไม่สามารถสร้างได้ภายในไม่กี่วัน เนื่องจากต้องมาจากจิตใต้สำนึกที่แท้จริง ซึ่งในเรื่องสินค้าอุปโภคบริโภค ทุกภาคส่วนทั้งรัฐบาลและภาคเอกชนกำลังเร่งแก้ปัญหา ไม่มีใครปล่อยปละละเลย
นักการเมืองที่ดีต้องพูดเพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อส่วนรวมอย่างสร้างสรรค์ ต้องมีวุฒิภาวะ นักการเมืองที่พูดอย่าคิดว่าตนวิเศษกว่านักการเมืองคนอื่น ชาวบ้านมองออก
“เวลานี้ควรหยุดโจมตีกันในทางการเมือง แล้วมาตั้งหน้าตั้งตาทำงานจะเกิดประโยชน์มากกว่า” นายราเมศกล่าว
ขณะที่นายจุรินทร์กล่าวถึงกรณีที่พรรคร่วมรัฐบาลกล่าวพาดพิงพรรคการเมืองเก่าแก่ บริหารงานล้มเหลว ไร้ศักยภาพ ในเรื่องปัญหาราคาหมู ในช่วงเวลาที่สอดคล้องกับการเลือกตั้งซ่อมที่สงขลาและชุมพรเช่นกันว่า ไม่ทราบว่าพรรคไหน แต่ไม่เป็นไร ไม่มีปัญหา เราทำงานด้วยความสุจริต อะไรตอบได้ก็ตอบ อะไรตอบไม่ได้ก็บอกตรงๆ ว่าไม่ได้ เพราะเหตุผลอะไร มันเกินอำนาจเราหรือเปล่า แต่ถ้าอยู่ในอำนาจ อะไรตอบได้ก็ยินดีตอบไม่มีความลับ เพราะทำงานตรงไปตรงมา
“ไม่อยากไปพูดว่ามันใกล้เลือกตั้งซ่อมแล้ว เพราะพูดไปเดี๋ยวจะกลายเป็นเรื่องการเมืองโดยไม่จำเป็น ขอเป็นเรื่องการทำหน้าที่ ซึ่งหลักการทำหน้าที่ของผมนั้น เราเป็นนักการเมืองในระบอบประชาธิปไตยในระบบรัฐสภา เพราะฉะนั้น มีคำถามอะไรก็ยินดีตอบ ถามนอกสภาก็ยินดีตอบ ถามในสภาก็ยินดีตอบ ไม่มีปัญหาอะไรเลย” นายจุรินทร์กล่าว และยังกล่าวถึงบางพรรคที่ใช้อำนาจรัฐเข้ามาเอื้อประโยชน์ให้กับบางพรรค
“ขอฝากว่าไม่ว่าพรรคไหนก็ตามอย่าทำ และไม่ควรทำ มันเป็นตัวอย่างที่ไม่ดี และมันทำลายความชอบธรรม ทำลายความยุติธรรมในการเลือกตั้ง และทำลายระบอบประชาธิปไตยในระยะยาวด้วย” นายจุรินทร์กล่าว
การกระทบชิ่งกันไปมาระหว่างพรรคพลังประชารัฐ และพรรคประชาธิปัตย์ ขณะนี้
ต้องถือว่า ABNORMAL คือไม่ปกติ
เป็นความไม่ปกติที่ส่อแววว่าจะขยายตัวออกไปได้เรื่อยๆ โดยเฉพาะในห้วงปีท้ายๆ ของรัฐบาล
และยิ่งร้อนแรงเมื่อมีปัจจัยเร้ามาจากการแข่งขันในการเลือกตั้งซ่อมที่กำลังจะเกิดขึ้น เพราะทั้งสองพรรคมาแข่งขันกันเอง แบบแพ้ไม่ได้
โดยมีปัจจัยเรื่องสัตว์ๆ อย่างหมู ไก่ ไข่ ขาดแคลน และมีราคาแพง เป็นตัวเร้า
และเป็นเงื่อนไขที่หยิบมาทิ่มแทงกันเองแม้จะเป็นพรรคร่วมรัฐบาลเดียวกัน
นี่จึงทำให้หลายคนใจประหวัดไปถึงความละม้ายคล้ายคลึงการแย่งชิงอำนาจกันของหมู่ “สัตว์” ในนวนิยายการเมืองคลาสสิคระดับโลกอย่าง แอนิมอล ฟาร์ม (Animal Farm) ของจอร์จ ออร์เวลล์ (George Orwell)
เพียงแต่กรณีนี้เป็นเรื่องคน คนที่เข้าไปบริหารฟาร์มอย่างไร้ประสิทธิภาพ และยังช่วงชิงทางการเมืองอย่างโจ๋งครึ่ม
ถือเป็น Abnormal Farm–ฟาร์มที่ไม่ปกติ ภายใต้การนำของ พล.อ.ประยุทธ์