‘อโยธยา’ และ ‘ทวารวดี’ เมืองในศาสนาพราหมณ์ / สุจิตต์ วงษ์เทศ

สุจิตต์ วงษ์เทศ

 

‘อโยธยา’ และ ‘ทวารวดี’ เมืองในศาสนาพราหมณ์

 

อโยธยาและทวารวดี เป็นเมือง “ผี-พราหมณ์-พุทธ” ในไทย โดยมีต้นตอจากอินเดียในศาสนาพราหมณ์-ฮินดู (ไม่ใช่ศาสนาพุทธ) นิกายไวษณพ ยกย่องพระวิษณุ (พระนารายณ์) เกี่ยวข้องความเชื่อเรื่องอวตาร

พระรามกับพระกฤษณะเป็นอวตารของพระวิษณุ (หรือพระนารายณ์) ในบรรดานารายณ์ 10 ปาง หมายถึง พระนารายณ์อวตารเป็นสิ่งมีชีวิต 10 ชนิด แต่มีที่เกี่ยวข้องเรื่องนี้คือ (7.) รามาวตาร เป็น พระราม (8.) กฤษนาวตาร เป็น พระกฤษณะ

พระราม เป็นเจ้าครองเมืองอโยธยา, พระกฤษณะ เป็นเจ้าครองเมืองทวารวดี เป็น 2 ชื่อทางวัฒนธรรมเพื่อใช้ในพิธีกรรม ซึ่งแต่งเป็นลักษณะนิยายอยู่ในคัมภีร์ของอินเดีย ต่อมาคนชั้นนำ (นานาชาติพันธุ์) ของบ้านเมืองในอุษาคเนย์รับจากอินเดียตั้งแต่ก่อน พ.ศ. 1000

ในดินแดนไทย คนชั้นนำ (“ไม่ไทย”) ของบ้านเมือง (ก่อน พ.ศ. 1000) รับความเชื่อนี้มาทั้งทวารวดีและอโยธยา (เหมือนกลุ่มอื่นๆ ที่อยู่ใกล้เคียง) จึงพบนามศักดิ์สิทธิ์ในพิธีกรรมครบถ้วนทั้งอโยธยา (อยุธยา) และทวารวดี ว่า “กรุงเทพทวารวดีศรีอยุธยา”

 

พระกฤษณะ (สลักหิน) ราว พ.ศ.1100-1200 ชูพระกรข้างซ้ายแสดงปาง “กฤษณะโควรรธนะ” หรือพระกฤษณะยกเขาโควรรธธนะ พบที่เมืองศรีเทพ อ.ศรีเทพ จ.เพชรบูรณ์ (จัดแสดงในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร)

พระกฤษณะ

พระกฤษณะ กษัตริย์เกิดในสกุลยาทพ เป็นโอรสพระวสุเทพแห่งนครมถุราและนางเทวกี ก่อนที่จะมีกำเนิดโหรทำนายว่าจะมีผู้วิเศษมาเกิดในครรภ์นางเทวกีผู้เป็นหลานลุงของท้าวกงส์ แล้วจะฆ่าท้าวกงส์เสีย ท้าวกงส์จึงให้จับพระวสุเทพกับนางเทวกีขังไว้ และเมื่อมีลูกก็จับทารกฆ่าเสียทุกครั้ง แต่ทำเช่นนี้ได้หกครั้ง

ครั้นเมื่อนางเทวกีทรงครรภ์ครั้งที่เจ็ด เทวดาจึงย้ายกุมารไปเข้าครรภ์นางโรหิณีผู้เป็นมเหสีซ้ายของพระวสุเทพ จึงไปคลอดจากครรภ์นางโรหิณี กุมารนี้มีนามว่าพระพลราม หรือพลเทพ นางเทวกีทรงครรภ์อีกเป็นครั้งที่แปด จึงประสูติพระกฤษณะ ผู้มีสีพระกายดำ ครั้นแล้วพระวสุเทพก็พาพระกฤษณะกุมารไปฝากไว้กับนายโคบาลชื่อนันทะ และภริยาชื่อยโศทา เมื่อพระกฤษณะเจริญวัยขึ้นก็ชอบเที่ยวเล่นอยู่กับพวกโคบาล และได้นางราธาผู้เป็นนางโคปีเป็นชายา

ในระหว่างอยู่กับพวกโคบาล พระกฤษณะได้สำแดงอิทธิปาฏิหาริย์มากมายมีเรื่องเล่าอย่างยืดยาว ในที่สุดพระกฤษณะก็ไปยังนครมถุรา และฆ่าท้าวกงส์ตาย ภายหลังพระกฤษณะอพยพพวกยาทพกษัตริย์ไปสร้างเมืองใหม่ที่ริมฝั่งทะลในแคว้นคุชราษฎร์ ให้ชื่อว่าทวารกา

เมื่อไปอยู่นครทวารกาแล้ว พระกฤษณะได้กระทำการรบพุ่งอีกหลายครั้ง ครั้งหนึ่งพระอนิรุทธ์ผู้เป็นนัดดาไปลอบรักกับนางอุษาเป็นบุตรีพระยาพาณ พระยาพาณจับพระอนิรุทธ์มัดไว้ยอดปราสาท พระกฤษณะจึงไปช่วยแก้หลานและปราบพระยาพาณต้องยอมแพ้

พระกฤษณะเป็นมิตรชอบพอกับพวกกษัตริย์ปาณฑพ เพราะนางกุนตีเป็นน้องสาวพระวสุเทพบิดาพระกฤษณะ เพราะฉะนั้นกษัตริย์ปาณฑพจึงเป็นลูกของอาพระกฤษณะ เมื่อพวกปาณฑพกับพวกเการพเกิดรบกัน พระกฤษณะไม่ยอมเข้าข้างฝ่ายใด แต่ได้ไปเป็นสารถีของพระอรชุนในสนามรบ พระกฤษณะได้ให้อนุศาสน์พระอรชุน (พวกปาณ ฑพองค์หนึ่ง) ในธรรมะต่างๆ ซึ่งรวบรวมเป็นเรื่องเรียกว่าภควัทคีตา อันเป็นคัมภีร์ลือชื่อคัมภีร์หนึ่ง

ภายหลังพวกกษัตริย์ยาทพวิวาทกัน พระกฤษณะพยายามระงับเหตุไม่สำเร็จ จึงหนีไปอยู่เสียในป่า แล้วถูกนายพรานยิงตาย ต่อนั้นไปอีก 7 วัน เมืองทวารกาก็จมทะเลสูญไป (ดูเรื่องในอภิธานสังเขปท้ายพระราชนิพนธ์เรื่องศกุนตลา)

พระกฤษณะเป็นเทพที่ประชาชนชาวฮินดูนับถือมาก และกล่าวว่าเป็นพระวิษณุนารายณ์ อวตารปางที่ 8 ในเรื่องอุณรุทเรียกว่าพระบรมจักรกฤษณ์ ในลัทธิศาสนาฮินดู นิกายภาควัต ถือว่าพระกฤษณะเป็นศาสดาในนิกายของเขา

[ปรับปรุงจากหนังสือ “สารานุกรมไทย ฉบับราชบัณฑิตยสถาน เล่ม 1” อ้างในหนังสือภารตวิทยา ของ กรุณา-เรืองอุไร กุศลาสัย สำนักพิมพ์ศยาม พิมพ์ครั้งที่ห้า พ.ศ. 2547 หน้า 417-419]

พระราม (หนังใหญ่) (ภาพจาก สมุดภาพเรื่องหนังใหญ่หรือหนังไทยสมัยก่อน สำนักพิมพ์เมืองโบราณ 2526)

สองด้านของพระวิษณุ

“พระรามและพระกฤษณะ สองด้านของพระเจ้าองค์เดียวกัน” โดย คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง ในมติชนสุดสัปดาห์ (ฉบับประจำวันที่ 16-22 พฤศจิกายน 2561 หน้า 85) สรุปย่อดังนี้

พระราม และ พระกฤษณะ เป็นสองด้านของพระเจ้าองค์เดียวกัน (คือ พระวิษณุ) ซึ่งสะท้อนความใฝ่ฝันสองด้านของมนุษย์ เพื่อความสมดุลในชีวิตตนเอง

คนอินเดียรักทั้งพระรามและพระกฤษณะ จึงได้รับการสรรเสริญด้วยกันเสมอ เพราะ “ในคติฮินดู พระเจ้าเป็นองค์แห่งความสมบูรณ์ จึงอยู่เหนือทั้งศีลธรรมและความสนุกสนาน หรือพระองค์ก็สามารถเป็นได้ทั้งสองอย่าง เพื่อแสดงให้มนุษย์เรียนรู้ที่จะทำให้ชีวิตตนเองสมดุล”

ด้านหนึ่ง แบบพระราม “มนุษย์อยากมีบ้านเมืองที่เป็นระเบียบ หรือศีลธรรมจรรยา ได้รับการปฏิบัติอย่างเสมอหน้า ต่างคนทำหน้าที่ของตนเอง เกิดเป็นความรุ่มรวยของ ‘อารยธรรม’ มนุษย์หรือความเจริญ”

พระราม ประสูติตอนเที่ยงวัน ซึ่งสว่างเต็มที่ เป็นบุรุษอันอุดม ผู้มีจรรยามารยาทและขอบเขตความประพฤติ ต้องแบกภาระหนักอึ้งในราชธรรมตลอดชนม์ชีพ เช่น เดินป่าตามพันธสัญญาของพระราชบิดา ฯลฯ มีธนูเป็นอาวุธ

เป็นลูกที่ดีของบิดามารดา, เป็นพี่ชายที่ดีของน้อง, เป็นสามีที่ดีของภรรยา (มีคนเดียว), เป็นนายที่ดีของบ่าว

ความเป็น “รามราชย์” (การปกครองแบบพระราม) เป็นสังคมที่ต่างคนต่างทำหน้าที่ของตนเองอย่างเต็มที่ โดยมีธงแห่งศีลธรรมนำหน้าในทุกๆ ระดับ ตั้งแต่ระดับความสัมพันธ์ในครอบครัวจนถึงระดับรัฐ

อีกด้านหนึ่ง แบบพระกฤษณะ “หลุดออกจากกรอบศีลธรรม เพื่อเสพเสวยความบันเทิง ความสนุกสนาน และรื่นรมย์กับความรัก”

พระกฤษณะ ประสูติตอนเที่ยงคืน ซึ่งมืดมิดลึกลับ เป็นบุรุษอันอุดม ผู้เปี่ยมไปด้วยลีลาน่าอัศจรรย์ ใช้ชีวิตอยู่ภายนอกพระราชวัง เป็นหนุ่มเลี้ยงวัว (โควินทะ) สนิทสนมกับสาวเลี้ยงวัว (โคปิกา)

วัยเด็กในหมู่บ้าน ชอบเล่นสนุกซุกซนแกล้งคนนั้นคนนี้ มีเสน่ห์ชวนใหลหลง มีขลุ่ยประจำตัวเพื่อเป่าประโลมเหล่านางโคปี (สาวเลี้ยงวัว) และจูงนางโคปีเข้าดงป่าหาความสำราญในชีวิตโรแมนติค จึงมีนารีมากหน้าแวดล้อมบำเรอบำรุง

[ทั้งหมดนี้สรุปจากบทความของ คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง ขอแนะนำให้อ่านฉบับเต็มในมติชนสุดสัปดาห์ จะได้รสชาติของวรรณศิลป์สมบูรณ์]