พระแท่นมนังคศิลาบาตร วัตถุต้องสงสัยในจารึกพ่อขุนรามคำแหง

ศิริพจน์ เหล่ามานะเจริญ

“อยู่ทำไมกลางป่า ไปอยู่บางกอกด้วยกัน จะได้ฟังเทศน์จำศีล”

ข้อความข้างต้นผมคัดมาจากข้อเขียนที่ชื่อว่า “อภินิหารการประจักษ์” ของสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาปวเรศวริยาลงกรณ์ สมเด็จพระสังฆราชองค์ที่ 8 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ซึ่งได้บันทึกถึงเหตุการณ์เมื่อปี พ.ศ.2376 ที่รัชกาลที่ 4 เมื่อครั้งยังผนวชเป็นวชิรญาณภิกขุ ก่อนครองราชย์ ได้ธุดงค์ไปยังเมืองเก่าสุโขทัย และได้พบ “แท่นศิลา” ที่ต่อมาคนไทยต่างรู้จักกันในชื่อของ “พระแท่นมนังคศิลาบาตร” เอาไว้

แน่นอนว่า การธุดงค์ของรัชกาลที่ 4 ในครั้งนี้ มักจะถูกกล่าวขานกันถึง การนำศิลาจารึกหลักสำคัญของไทยคือ จารึกสุโขทัยหลักที่ 1 หรือจารึกพ่อขุนรามคำแหง ลงมาไว้ที่กรุงเทพฯ พร้อมกับพระแท่นมนังคศิลาบาตร และจารึกวัดป่ามะม่วง ของพญาลิไท หรือจารึกสุโขทัยหลักที่ 4

อย่างไรก็ตาม ในข้อเขียนที่เก่าที่สุดที่พูดถึงการเดินทางครั้งนั้นของพระองค์อย่าง อภินิหารการประจักษ์ ของกรมพระปวเรศฯ ที่ตีพิมพ์อยู่ในหนังสือวชิรญาณ ฉบับประจำเดือนกันยายน พ.ศ.2400 ซึ่งก็คือข้อเขียนชิ้นเดียวกับที่ผมยกข้อความมาให้อ่านกันบนย่อหน้าแรกสุดนั้น กลับไม่ได้กล่าวถึงศิลาจารึกพ่อขุนรามคำแหงเลย

ทั้งๆ ที่ข้อเขียนชิ้นนี้ เล่าถึงเล่าถึงประวัติการค้นพบพระแท่นมนังคศิลาบาตรอย่างละเอียด ในระดับที่ระบุลงไปชัดๆ เลยว่า รัชกาลที่ 4 ตรัสว่าอะไรบ้าง (ถึงแม้จะเป็นที่รู้กันดีว่า เป็นเพียงโวหารที่กรมพระปวเรศฯ แต่งแต้มสีสันขึ้นก็ตาม) ในคราวที่จะนำพระแท่นมนังคศิลาบาตร และจารึกวัดป่ามะม่วงจากสุโขทัยลงมา

 

ต้องอย่าลืมนะครับว่า กรมพระปวเรศฯ นั้น เป็นเจ้าอาวาสวัดบวรนิเวศวิหารลำดับถัดจากพระวชิรญาณเถระที่ลาสิกขาออกไปครองราชย์ และยังเคยดำรงตำแหน่งเป็นเจ้าคณะใหญ่ของธรรมยุติกนิกาย (อันเป็นนิกายที่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯ ทรงสถาปนาขึ้น) เป็นพระองค์แรกอีกต่างหาก เรียกได้ว่าเป็นคนสนิทที่รัชกาลที่ 4 ให้ความไว้เนื้อเชื่อใจเป็นอย่างยิ่ง

แต่ที่น่าสงสัยใจยิ่งไปกว่านั้นก็คือ ภายหลังจากเมื่อสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมหมื่นวชิรญาณวโรรส สมเด็จพระสังฆราชองค์ที่ 10 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ได้เขียนบทความเรื่อง “เทสนาพระราชประวัติพระบาดสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว” ซึ่งตีพิมพ์อยู่ในหนังสือวิชรญาณ เมื่อปี พ.ศ.2425 (คือ 25 ปีหลังจากอภิหารการประจักษ์ ของกรมพระปวเรศฯ) ซึ่งนับเป็นข้อเขียนชิ้นแรกที่ระบุว่า รัชกาลที่ 4 ได้ศิลาจารึกพ่อขุนรามคำแหงกลับมาจากสุโขทัยพร้อมพระแท่นมนังคศิลาบาตร และจารึกวัดป่ามะม่วงนั้น กรมพระปวเรศฯ ก็ยังดูค่อนข้างที่จะหลากใจกับศิลาจารึกที่เรียกกันว่า จารึกพ่อขุนรามคำแหง

ดังปรากฏในข้อเขียนเรื่อง “ขอมและไทยโบราณ อักษรจารึกในเสาศิลา ณ เมืองสุโขทัย” ของพระองค์ ซึ่งตีพิมพ์ในหนังสือวชิรญาณเมื่อ พ.ศ.2427 ดังความที่ว่า

“เสาศิลาอีกเสา 1 อยู่ใกล้เคียงแท่นแผ่นศิลา (หมายถึงพระแท่นมนังคศิลาบาตร) ที่ว่ามาข้างต้นนั้นแล้ว แต่เสาศิลาต้นนี้มีเปนอักษรไทยโบราณชาวเหนือ รูปอักษรก็ไม่เหมือนอักษรไทยทุกวันนี้ รูปคล้ายหนังสือย่อ แต่ว่าประสมสระข้างหลังทุกสระ สระเบื้องบนลากข้างหามีไม่ ประหลาดนัก ถึงเช่นนั้นก็ยังมีผู้อ่านเอาความได้โดยมาก คนอ่านถูกต้องกันเปนที่เชื่อไว้ใจได้จึงได้แปลความในเสาศิลา อ้างถึงแท่นศิลาที่ว่าไว้ข้างต้นนั้น”

กรมพระปวเรศฯ บอกกับคนอ่านชัดๆ เลยนะครับว่า “คนอ่านถูกต้องกันเปนที่เชื่อไว้ใจได้” จากนั้น “จึงได้แปลความในเสาศิลา” หมายความว่าก่อนหน้าที่จะมีใคร “อ่านถูกต้องกัน” พระองค์คงจะไม่ค่อย “เชื่อไว้ใจได้” เท่าไหร่นักนั่นเอง

 

ประเด็นที่น่าสนใจอีกอย่างก็คือ กรมพระปวเรศฯ ก็เหมือนใครต่อใครอีกหลายคน ที่ “เชื่อไว้ใจได้” จากการที่จารึกพ่อขุนรามคำแหงหลักนี้ “อ้างถึงแท่นศิลาที่ว่าไว้ข้างต้นนั้น”

พูดง่ายๆ ว่า การที่จารึกพ่อขุนรามคำแหงพูดถึง “แท่นศิลา” โดยเรียกว่า “พระแท่นมนังคศิลาบาตร” ซึ่งกรมพระปวเรศฯ มั่นใจว่า รัชกาลที่ 4 ได้นำลงมาจากเมืองเก่าสุโขทัยนั้น เป็นอีกเหตุผลสำคัญที่ทำให้พระองค์พอจะเป็น “ที่เชื่อไว้ใจ” ในตัวจารึกหลักนี้ได้

แต่มันก็เป็นไปได้ไม่ใช่เหรอครับว่า ถ้าศิลาจารึกหลักนี้สร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 4 แล้ว คณะผู้สร้างจารึก (เพื่อเหตุผลอะไรสักอย่างหนึ่ง ซึ่งออกจะยืดยาวเกินไปถ้าจะพูดถึงในที่นี้) ก็ต้องสร้างข้อมูลให้สอดคล้องกับหลักฐานอื่นๆ ให้แนบเนียนด้วยเช่นกัน ดังนั้น ถ้าศิลาจารึกหลักที่เรียกกันว่า จารึกพ่อขุนรามคำแหงนั้นจะพูดถึงพระแท่นมนังคศิลา เพื่อชักชวนให้คนอ่านเชื่อถือมากยิ่งขึ้นเพราะเป็นที่รู้กันดีว่า รัชกาลที่ 4 ได้ไปนำเอาแท่นศิลาหลักหนึ่งมาจากกลางป่าเมืองเก่าสุโขทัย เพื่อให้มา “ฟังเทศน์จำศีล” อยู่ที่เมืองบางกอกด้วยกัน ก็ไม่เห็นจะว่าจะเป็นไปไม่ได้ที่ตรงไหน?

 

ในจารึกพ่อขุนรามคำแหงเรียกอะไรที่ปัจจุบันรู้จักกันในชื่อ “พระแท่นมนังคศิลาบาตร” ว่า “มนังษีลาบาตร” ซึ่งก็คือสิ่งที่ใครต่อใครต่างพากันชี้เป้าว่าคือ “แท่นศิลา” ที่รัชกาลที่ 4 นำลงมาจากเมืองสุโขทัยเก่านี้เอง

แต่ในข้อมูลเก่าก็บอกอยู่โต้งๆ นะครับว่า คนยุคโน้นเค้าเห็นเป็น “แท่นศิลา” ถ้าไม่ไปอ่านจากจารึกพ่อขุนราม ก็ไม่เห็นจะมีใครที่ไหนเห็นว่าแผ่นหินนี้เป็น “บัลลังก์” ของพ่อขุนรามคำแหงเลยเสียหน่อย

ที่สำคัญก็คือ “แท่นศิลา” ที่รัชกาลที่ 4 นำมาจากเมืองเก่าสุโขทัยแต่เดิมก็คงมีรูปลักษณะเป็น “แผ่นหิน” แบนๆ ที่มีเฉพาะลวดลายแถวกลีบบัวหงาย ไม่ใช่ “บัลลังก์”

รูปลักษณะอย่างบัลลังก์ที่เห็นกันอยู่ในปัจจุบันเป็น รัชกาลที่ 6 โปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ นำกระดานหินนี้ไปเสริมฐานรูปสิงห์แบกขึ้นมา เพื่อใช้ในพระราชพิธีบรมราชาภิเษกของพระองค์

 

อาจารย์พิริยะ ไกรฤกษ์ นักประวัติศาสตร์ศิลปะ ผู้วิจัยในเรื่องจารึกพ่อขุนรามคำแหงอย่างเป็นจริงจัง ได้แสดงความเห็นเอาไว้ในงานวิจัยเรื่อง “จารึกพ่อขุนรามคำแหง วรรณคดีประวัติศาสตร์การเมืองแห่งกรุงสยาม” ว่าคำว่า มนังษีลาบาตร นั้น ผู้แต่งศิลาจารึกหลักที่ 1 คงจะได้ความคิดมาแท่นหิน “มโนศิลาอาสน์” ในหนังสือ “ไตรภูมิโลกยวินิจฉยกถา” ที่รัชกาลที่ 1 โปรดให้รวบรวม และเรียบเรียงเรื่องเกี่ยวกับไตรภูมิทั้งหมดเข้าไว้ในนั้น โดยชำระแล้วเสร็จเมื่อ พ.ศ.2345 ดังความที่ว่า

“ณ เบื้องบนแผ่นศิลาลาดนั้น มีมโนศิลาอาสน์อันใหญ่ มีประมาณได้ 3 โยชน์ มีพรรณอันแดงงามพิเศษ”

ในจักรวาลของไตรภูมิโลกยวินิจฉยกถานั้น “มโนศิลา” เป็นแร่ธาตุที่มีค่าสูงส่งยิ่งกว่า เงิน, ทอง, แก้วมณี และแก้วผลึก โดยเป็นมีลักษณะเป็นหินสีแดง (คำว่า มโนศิลา ในภาษาบาลีโดยทั่วไปนั้น หมายถึง สารหนูชนิดหนึ่ง ที่มีสีแดง) ดังนั้น “มโนศิลาอาสน์” จึงได้ “มีพรรณอันแดงงามเป็นพิเศษ” ซึ่งก็เป็น “อาสนะ” คือ “ที่นั่ง” ที่เพิ่งจะมีปรากฏในปรัมปราคติเป็นครั้งแรกในหรังสือไตรภูมิสมัยรัชกาลที่ 1 นี้เอง ดังนั้น พ่อขุนรามคำแหง ท่านจะไปมีพระแท่นที่สร้างตามคติในสมัยต้นกรุงเทพฯ ได้อย่างไรกัน?

แน่นอนว่า อะไรที่พวกเราในปัจจุบันรู้จักกันในชื่อ “พระแท่นมนังคศิลาบาตร” นั้นไม่ได้มีสีแดง แต่จะอย่างไรได้เล่าครับ ในเมื่อไตรภูมิฉบับนี้เขาเรียบเรียงขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 1 ส่วนแท่นศิลานั้นไปได้มาจากสุโขทัยเอาเมื่อสมัยรัชกาลที่ 4 ยังผนวชอยู่

อย่างไรก็ตาม ขอให้สังเกตด้วยว่า “อาสน์” หมายถึง ที่นั่งแบนๆ อย่างอาสนะสงฆ์ ไม่จำเป็นต้องมีขาอย่างเก้าอี้ ซึ่งก็เป็นอย่างเดียวกับลักษณะของแท่นศิลาแบนๆ ที่รัชกาลที่ 4 ได้มาจากสุโขทัย ก่อนจะถูกต่อเติมให้มีขากลายเป็นบัลลังก์ในสมัยรัชกาลที่ 6

แถมในจารึกพ่อขุนรามคำแหงนั้นยังบอกด้วยว่า “มนังษีลาบาตร” นี้ตั้งอยู่กลางสวนตาลของพ่อขุนรามคำแหง ไม่ต่างอะไรกับที่ไตรโลกวินิฉยกถาระบุว่า “มโนศิลาอาสน์” ตั้งอยู่กลางป่าหิมพานต์

เอาเข้าจริงแล้ว การปรากฏขึ้นของ “พระแท่นมนังคศิลาบาตร” ในจารึกพ่อขุนรามคำแหงนั้น จึงเป็นอีกสิ่งหนึ่งที่ชวนให้สงสัยในที่มาของจารึกหลักนี้ มากกว่าที่จะชวนให้ “เชื่อไว้ใจได้” อย่างที่กรมพระปวเรศฯ เคยเข้าใจอย่างนั้น