Bangkok Shutdown… เจ๊ง! ยาวมา 8 ปี | หลักศิลากลางน้ำเชี่ยว

มุกดา สุวรรณชาติ

หลักศิลากลางน้ำเชี่ยว

มุกดา สุวรรณชาติ

Bangkok Shutdown…เจ๊ง! ยาวมา 8 ปี (1)

ที่เห็นเสนอหน้ามาลงเลือกตั้ง หลายคนเคยล้มระบอบประชาธิปไตย ขัดขวางการเลือกตั้ง สนับสนุนการรัฐประหาร ร่วมทำรัฐประหาร

พวกเขาไม่เคยคิดว่าตนเองได้ทำให้ประเทศเสียหาย ประชาชนเสียโอกาส แต่ถึงอย่างไรการกลับมายอมรับระบบเลือกตั้งก็ยังดีกว่า การใช้กำลังแย่งอำนาจ แต่อยากจะให้เรื่องนี้เป็นบทเรียนกับทุกคน เพื่อป้องกันคนอ้างการปฎิรูป การกู้ชาติ

สุดท้าย…ชาติต้องกู้ กู้ทุกปี ไม่รู้เมื่อไรจะใช้หนี้หมด…

 

13 มกราคม 2565

ครบรอบ 8 ปี

ของการประกาศชัตดาวน์กรุงเทพฯ

กลางเดือนมกราคมปี 2557 สุเทพ เทือกสุบรรณ แห่ง กปปส. ปฏิบัติการ Bangkok shutdown ยึดกรุงเทพฯ ปูทางไปสู่การยึดอำนาจ แต่ก็ไม่ได้เป็นรัฏฐาธิปัตย์ตามที่ตั้งใจ แม้วางแผนร่วมกัน แต่ฝ่ายทหารเขี้ยวกว่า แบบเพื่อนรักหักเหลี่ยมโหด ยืดเกมไปเรื่อยๆ จนม็อบ กปปส.อ่อนแรง ถูกชาวบ้านด่า นาน 5 เดือน ทหารจึงทำการรัฐประหาร แย่งอำนาจไปครอง แต่ก็นำประเทศลงสู่เหวลึก

จนถึงบัดนี้ผู้มีอำนาจที่ร่วมวางแผนและตัดสินใจหลายคนก็ได้ตายจากไป บางคนก็ไม่อยู่ในสภาพที่จะทำอะไรได้แล้ว แต่ได้ทิ้งความเสียหายขนาดใหญ่ไว้ให้กับประชาชนไทยทั้งประเทศ

เมื่อครั้งกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยยึดทำเนียบรัฐบาลและยึดสนามบิน ก็ไม่คิดว่าจะมีใครปฏิบัติการกดดันรัฐบาลเพื่อยึดอำนาจได้ร้ายแรงกว่านั้นอีกแล้ว

แต่ก็ปรากฏว่ามีคนทำอีก และทำด้วยความมั่นใจว่ามีผู้หนุนหลังที่แข็งแรง ตนเองจะไม่ต้องรับความผิดใดๆ จึงกระทำไปโดยไม่รู้จักคิดว่าสิ่งที่จะเกิดตามหลังนั้นจะมีผลร้ายแรงอย่างไรต่อประเทศชาติและประชาชน

วันนี้การถูกตัดสินโทษเพียงเล็กๆ น้อยๆ ไม่อาจเทียบได้กับความเสียหายที่ประเทศชาติได้รับมาตลอด 8 ปี การเคลื่อนไหวล้มรัฐบาลจากการเลือกตั้ง ปิดกรุงเทพฯ ต่อต้านการเลือกตั้ง ใช้ตุลาการภิวัฒน์ปลดนายกฯ รักษาการ สุดท้ายก็ต้องทำการรัฐประหารล้มรัฐบาลในปี 2557

จุดที่เป็นหัวเลี้ยวหัวต่อของสถานการณ์ก็คือการปฏิบัติการ Bangkok Shutdown เป็นจุดที่แสดงชัดว่าที่ทำมานั้นมิใช่การประท้วง แต่ตั้งใจยึดอำนาจ และเป็นเกมการหักเหลี่ยมชิงอำนาจ ที่เรียกกันว่า Power Play

 

อยากรู้ว่า แกนนำ กปปส.ทำอะไร

ต้องดูคำฟ้องของอัยการ

เวลาผ่านไปนานถึง 7 ปี จึงมีการฟ้องร้องคดีของแกนนำ กปปส.ในช่วงต้นปี 2564 ภายใต้รัฐบาลนายกฯ ประยุทธ์ จันทร์โอชา หลายข้อหา…

คดีนี้อัยการฝ่ายโจทก์บรรยายฟ้องสรุปว่า …นายสุเทพ จำเลยที่ 1 ได้จัดตั้งคณะบุคคลชื่อ กปปส. มีนายสุเทพเป็นเลขาธิการ โดยร่วมกันมั่วสุมเป็นอั้งยี่ ซ่องโจร กองกำลังแบ่งหน้าที่กันกระทำก่อความผิดต่อความมั่นคงของรัฐภายในราชอาณาจักรฐานเป็นกบฏเพื่อล้มล้างรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2550 เปลี่ยนแปลงระบอบการปกครองทั้งอำนาจนิติบัญญัติ อำนาจบริหาร และอำนาจตุลาการ

โดยร่วมกันยุยง ปลุกระดมให้ประชาชนทั่วประเทศกระด้างกระเดื่อง ร่วมชุมนุมขับไล่ ก่อความไม่สงบเพื่อขับไล่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี (ขณะนั้น) ให้ออกจากตำแหน่ง

รวมทั้งขัดขวางการเลือกตั้ง ส.ส.ทั่วไป เพื่อมิให้นายกรัฐมนตรี และ ครม.ชุดใหม่เข้าบริหารประเทศ

ให้ข้าราชการระดับสูงรายงานตัวกับกลุ่ม กปปส. ต่อมา กปปส.จะแต่งตั้งคณะบุคคลเข้าบริหารประเทศเป็นรัฐบาลประชาชน เป็นรัฏฐาธิปัตย์ จะออกคำสั่งแต่งตั้งนายกรัฐมนตรี และ ครม. โดยจะนำรายชื่อขึ้นกราบบังคมทูลถวายเอง

รวมทั้งจัดตั้งกองกำลังส่วนหนึ่งพร้อมอาวุธเข้าไปบุกยึดสถานที่ราชการและหน่วยงานสำคัญต่างๆ หลายแห่ง เช่น ทำเนียบรัฐบาล สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) กองบัญชาการตำรวจนครบาล (บช.น.) สำนักงานเขตหลักสี่ ศูนย์เยาวชนกรุงเทพมหานคร (ไทย-ญี่ปุ่น) เพื่อไม่ให้รัฐบาลบริหารราชการแผ่นดินได้ รวมทั้งการปิดกั้นขัดขวางเส้นทางคมนาคมขนส่ง เป็นเหตุให้ประชาชนได้รับความเดือดร้อน

นอกจากนี้ ช่วงระหว่างวันที่ 13 มกราคม 2557-2 มีนาคม 2557 พวกจำเลยได้บังอาจปิดกรุงเทพมหานครด้วยการตั้งเวทีปราศรัยทั่วกรุงเทพมหานคร รวม 7 จุด ปิดกั้นเส้นทางการจราจร จัดตั้งกองกำลังรักษาพื้นที่ วางเครื่องกีดขวาง ไม่ยอมให้เจ้าหน้าที่รัฐเข้าไปเกี่ยวข้อง การกระทำของพวกจำเลยล้วนไม่ชอบด้วยบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ เพื่อล้มล้างหรือเปลี่ยนแปลงอำนาจบริหารตามรัฐธรรมนูญ เหตุเกิดในกรุงเทพมหานคร และอีกหลายท้องที่ทั่วราชอาณาจักรเกี่ยวพันกัน

โจทก์จึงขอให้ศาลพิพากษาลงโทษพวกจำเลยด้วย ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 113, 116, 117, 135/1, 209, 210, 215, 216, 362, 364 และมาตรา 365 และ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. และการได้มาซึ่ง ส.ว. พ.ศ.2550 มาตรา 76 และมาตรา 152

ลองย้อนดูเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ว่าเป็นไปตามข้อกล่าวหาในคำฟ้องหรือไม่ ซึ่งคงไม่สามารถบรรยายได้โดยสรุปได้เท่านั้น

 

ปฏิบัติการก่อนชัตดาวน์กรุงเทพฯ

คือยึดสถานที่ราชการ

ม็อบนี้เริ่มตั้งแต่วันที่ 31 ตุลาคม 2556 และเมื่อได้รับสัญญาณจากกลุ่มนายทุน ขุนศึก ศักดินา ที่สนับสนุนอยู่เบื้องหลัง ว่าให้เดินหน้าเต็มที่ วันที่ 11 พฤศจิกายน สุเทพจึงนำ ส.ส.อีก 8 คนประกาศลาออก มีการนำ ส.ส.ไปไหว้พระแม่ธรณี พร้อมชักชวนประชาชนให้หยุดงาน งดจ่ายภาษี นัดชุมนุมใหญ่ มีการระดมกำลังทุกสายงาน ทั้งจากสถานศึกษา สถานพยาบาล ค่ายธุรกิจใหญ่ๆ ฯลฯ

มีการยกระดับด้วยการทำม็อบดาวกระจาย 13 เส้นทาง บุกยึดสำนักงบประมาณ กระทรวงการคลัง ตั้งเป็นเวทีชุมนุมซึ่งทำให้การเบิกงบประมาณมีปัญหา ยึดศูนย์ราชการ ถนนแจ้งวัฒนะ

วันที่ 25 พฤศจิกายน พ.ศ.2556 ผู้ประท้วงต่อต้านรัฐบาลซึ่งมีสุเทพเป็นผู้นำเริ่มเดินขบวนไปยังสำนักงานรัฐบาลหลายแห่งและบุกเข้าไปในกระทรวงการคลัง สำนักงบประมาณ กระทรวงการต่างประเทศ และกรมประชาสัมพันธ์ บังคับให้ปิดที่ทำงาน

ในวันที่ 26 พฤศจิกายน กลุ่มผู้ชุมนุมปิดทั้งกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงคมนาคม กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ส่วนกระทรวงมหาดไทยถูกยึดนาน 5 เดือน

ในวันที่ 27 พฤศจิกายน ผู้ประท้วงดำเนินการต่อโดยชุมนุมนอกสำนักงานกระทรวงอีกสิบแห่ง ตัดไฟฟ้าและเชิญผู้ที่ทำงานในสำนักงานใหญ่กรมสอบสวนคดีพิเศษ และจัดการยึดพื้นที่ประท้วงที่ศูนย์ราชการแจ้งวัฒนะ ผู้ประท้วงยังชุมนุมที่ศาลากลางจังหวัดยี่สิบสี่จังหวัด ซึ่งส่วนใหญ่เป็นจังหวัดภาคใต้

ในวันที่ 29 พฤศจิกายน พ.ศ.2556 ที่ศูนย์ราชการ ถนนแจ้งวัฒนะ สุเทพ เทือกสุบรรณ ประกาศก่อตั้งคณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข หรือ กปปส. โดยมีสุเทพเป็นเลขาธิการของกลุ่ม

มีการปิดล้อมทำเนียบรัฐบาลจนส่งผลให้นายกฯ ยิ่งลักษณ์ต้องย้ายที่ทำงานออกจากทำเนียบรัฐบาล ในวันที่ 30 พฤศจิกายน

30 พฤศจิกายน ผู้ประท้วงบุกเข้าไปในสำนักงานบริษัทโทรคมนาคมของรัฐ กสท โทรคมนาคม และทีโอที รบกวนบริการอินเตอร์เน็ตเป็นเวลาหลายชั่วโมงในวันเดียวกัน มีการใช้อาวุธปืนยิงพลทหารธนะสิทธิ์ เวียงคำ ถึงแก่ความตาย

3 ธันวาคม กปปส.มีแนวทางที่จัดตั้งสภาประชาชนและเสนอนายกรัฐมนตรีมาตรา 7

8 ธันวาคม ส.ส.ประชาธิปัตย์ 153 คนประกาศลาออก

9 ธันวาคม รัฐบาลประกาศยุบสภาและเตรียมเลือกตั้งใหม่ แต่ กปปส.เรียกร้องให้จัดตั้งสภาประชาชนมาทำหน้าที่นิติบัญญัติ

 

ต้องชัตดาวน์กรุงเทพฯ

เพราะถ้าปล่อยให้เลือกตั้งใหม่…ก็แพ้อีก

13 มกราคม 2557 สุเทพประกาศชัตดาวน์กรุงเทพฯ มีการนัดชุมนุมใหญ่พร้อมเคลื่อนขบวนดาวกระจายไปปิดตามสถานที่สำคัญๆ ทางเศรษฐกิจ 7 แห่ง ได้แก่ แจ้งวัฒนะ ห้าแยกลาดพร้าว แยกปทุมวัน อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ สวนลุมพินี แยกอโศก แยกราชประสงค์

สุเทพยืนยันว่าการปฏิบัติการชัตดาวน์กรุงเทพฯ จะสู้จนจบไม่มีการกลับบ้าน ถ้าแพ้ก็ต้องเข้าคุก ไม่ชนะไม่เลิก แม้มีการชุมนุมในหลายจุดทั่วกรุงเทพฯ แต่ก็ไม่ได้สามารถปิดกรุงเทพฯ ได้จริง แต่ผู้คนเดินทางยากลำบากขึ้น มีเสียงด่ามากขึ้น คนร่วมน้อยลง แนวร่วมที่คิดเป็น เริ่มถอยฉากออกมา

วันที่ 21 มกราคม 2557 แม้รัฐบาลประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรง แต่ก็เป็นการประกาศแบบที่ไม่มีอำนาจบังคับอะไรจริงจัง เพราะรัฐบาลชุดนี้ไม่มีแนวทางใช้กำลังรุนแรงกับม็อบ และชาวกรุงก็เห็น ฝ่ายทหารก็ตั้งบังเกอร์กระจายไปทั่วกรุงเทพฯ แต่ไม่ขัดขวางการประท้วงของกลุ่ม กปปส. (ทหารมารออยู่นาน 5 เดือน)

23 มกราคม สุเทพประกาศให้มวลชนขัดขวางการเลือกตั้งล่วงหน้าที่จะมีขึ้นในวันที่ 26 มกราคม ทุกรูปแบบ กปปส.ขัดขวางการเลือกตั้งล่วงหน้ามีผลให้หลายเขตไม่สามารถเลือกตั้งล่วงหน้าได้

แต่การเลือกตั้งวันที่ 2 กุมภาพันธ์ ยังคงดำเนินต่อไป แม้หลายเขตจะถูกขัดขวางปิดล้อมหน่วยทำให้บางหน่วยเลือกตั้งไม่ได้ทั้งกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด และทำให้เกิดการปะทะ

ในการขนบัตรขนหีบบัตรที่สี่แยกหลักสี่ จึงมีภาพกลุ่มมือปืนป๊อปคอร์น และการสนับสนุนจากกองกำลังอาวุธซึ่งทำให้มีประชาชนเสียชีวิต 1 คน แม้ในม็อบ กปปส.จะปราศรัยขอบคุณกลุ่มมือปืนกลุ่มนั้น แต่ก็เป็นเรื่องผิดกฎหมายและต้องถูกดำเนินคดี ในการเลือกตั้งภาคใต้ก็ถูกขัดขวางหลายเขต

สุดท้ายวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2557 มีผู้มาลงคะแนนร้อยละ 47.72 คือ 20 ล้าน 5 แสนคน กทม.มีคนไปลงคะแนนเพียงแค่ร้อยละ 26

วันที่ 4 กุมภาพันธ์ ปชป.ยื่นคำร้องให้ศาลรับคำวินิจฉัยการเลือกตั้งเป็นโมฆะ

คนจำนวนมากก็ถูกหลอกให้มาร่วมชุมนุมโดยไม่รู้ว่าพวกเขาวางแผนและยึดอำนาจกันไว้แล้ว และคนส่วนใหญ่ก็คิดว่าถึงมีการรัฐประหารก็ไม่เกี่ยวอะไรกับพวกเขาอยู่แล้ว ไม่เดือดร้อนอะไร

ดังนั้น เกมการเมืองจึงเดินต่ออย่างง่ายดายโดยหวังจะช่วงชิงความเป็นรัฏฐาธิปัตย์ เกมบนถนนไม่มีใครขัดขวาง แถมศาลอุทธรณ์ยังออกมาตรการ 9 ข้อห้ามรัฐบาลขัดขวางการชุมนุมของกลุ่ม กปปส.ตามที่ผู้ชุมนุมขอมา

ตอนนั้นคนจำนวนหนึ่งก็คิดว่าคงเลือกตั้งใหม่ แต่คนที่วางแผนล้มรัฐบาล ไม่ได้คิดเลือกตั้ง ขืนเลือกอีกก็แพ้อีก แกนนำ กปปส.จึงอ้างต้องปฏิรูปก่อนเลือกตั้ง ซึ่งทำแล้วมีผลให้เจ๊งกันทั้งประเทศ

(ต่อฉบับหน้า)