‘ปิยบุตร’ ประเมินจุดเปลี่ยนการเมืองไทย ‘ระบอบปัจจุบัน’ ไม่ได้เป็นเอกภาพขนาดนั้น/เปลี่ยนผ่าน ทีมข่าวการเมือง มติชนทีวี

เปลี่ยนผ่าน

ทีมข่าวการเมือง มติชนทีวี

 

‘ปิยบุตร’ ประเมินจุดเปลี่ยนการเมืองไทย

‘ระบอบปัจจุบัน’ ไม่ได้เป็นเอกภาพขนาดนั้น

 

ทีมข่าวการเมืองมติชน มติชนทีวี มีโอกาสสนทนากับ “ปิยบุตร แสงกนกกุล” เลขาธิการคณะก้าวหน้า ในช่วงต้นเดือนมกราคม 2565

เราจึงชวนอดีตนักวิชาการด้านนิติศาสตร์ผู้ผันตัวมาทำงานการเมือง วิเคราะห์ถึงแนวโน้มของสถานการณ์ต่างๆ ที่อาจเกิดขึ้น ณ ปีนี้

 

: (ระบอบ) “ประยุทธ์” แข็งแกร่งหรือเปราะบางกันแน่?

เวลาเรามองเรื่องการใช้อำนาจรัฐเข้มข้นขนาดนี้ เราอาจจะรู้สึกว่าโอ้โห! รัฐเข้มแข็งมาก เห็นไหม ถึงเวลาเขาเอาจริง (ก็) จัดการได้อยู่ แต่ผมอยากชวนมองอีกมิติหนึ่ง ยิ่งรัฐใช้อำนาจเข้มข้นเท่าไหร่ ยิ่งใช้กลไกทางกฎหมาย ศาล ทหาร คุก ตำรวจ เท่าไหร่ นั่นแสดงให้เห็นว่าระบบนั้นเริ่มอ่อนแอแล้ว

มันอ่อนแอลงเพราะอะไรครับ? เพราะคุณต้องใช้กำลังทางกายภาพ กำลังทางกฎหมาย ไปบังคับคน ลองยกตัวอย่างง่ายๆ ถ้าเป็นเมื่อก่อนไม่ต้องใช้ขนาดนี้ คนพร้อมจะเชื่อ พร้อมจะปฏิบัติตาม โดยไม่ตั้งคำถาม

แต่พอมาถึงยุคนี้ คุณเปลี่ยนความคิดกล่อมเกลาความคิดเขาไม่ได้ คุณต้องบังคับไม่ให้เขาแสดงออกแทน ผ่านการจับกุมคุมขัง ผ่านการดำเนินคดี ผ่านการใช้กลไกลทางกฎหมาย

ผมกลับมองว่า แสดงว่าวิธีคิด-ชุดความคิดดั้งเดิม อำนาจนำแบบเดิมของรัฐ มันหายไปแล้ว ถ้าอำนาจนำแบบเดิมยังอยู่ คุณไม่จำเป็นต้องใช้ศาล ทหาร คุก ตำรวจ ขนาดนี้ ยังไงคนก็ทำตามอยู่แล้ว แต่การที่คุณใช้มากเท่าไหร่ แสดงว่านี่มันโค้งสุดท้ายแล้ว ที่คุณจะบังคับคน

 

: จุดเปลี่ยนทางการเมืองไทยจะจบลงแบบไหน แตกหักหรือสันติวิธี?

ผมว่าคนที่จะชี้ชะตาว่าจะเป็นลักษณะอย่างไร ไม่ใช่ผม ไม่ใช่กลุ่มก้อนของผม ไม่ใช่น้องๆ เยาวชนราษฎร คนที่จะชี้ชะตาว่าสังคมไทยจะออกไปแบบไหนได้ คือชนชั้นนำทางการเมือง ชนชั้นนำจารีตประเพณี ผู้มีอำนาจ

เพราะการปฏิรูปจะเกิดขึ้นได้ มันตบมือข้างเดียวไม่ดัง การปฏิรูปจะเกิดขึ้นได้ ฝ่ายที่เป็นประชาชนถูกกด-ต้องการข้อเสนอต่างๆ เขาก็ยื่นข้อเสนอการปฏิรูป แต่มันจะเกิดได้จริง คือคนที่มีอำนาจเอามือมาแปะด้วย แล้วมันถึงไปได้ แต่ถ้าไม่มีมือมาแปะ ฝ่ายเรียกร้องฝ่ายต่อต้านเขาก็จะเรียกร้องต่อไปเรื่อยๆ

เพราะมันเป็นพลวัต พลังเก่ากับพลังใหม่มันจะขัดกันโดยตลอด พลังใหม่มันจะเข้าไปแทนที่พลังเก่าทุกครั้ง ทีนี้พลังเก่าจะสามารถมีศิลปะการจัดการในความต้องการแบบใหม่ที่กำลังเกิดขึ้น แบบนี้คุณทำได้ไหม?

ประวัติศาสตร์ประเทศไทย กลุ่มอนุรักษนิยมที่ครองอำนาจอยู่ เขาปฏิรูปหลายทีนะ เขาอ่านตรงนี้ออก แล้วเขาก็ปฏิรูปหลายที เพื่อที่จะไปต่อได้ รอบนี้ผมก็ไม่รู้ว่าสุดท้ายมันจะจบอย่างไร

มันไม่ใช่ฝ่ายที่เรียกร้องนะ

แต่มันเป็นฝ่ายที่มีอำนาจตอนนี้ต่างหาก ว่าจะให้จบอย่างไร

 

: จริงไหมที่โครงสร้างอำนาจรัฐไทย มักแตกแยกจากภายในก่อนเสมอ?

วันนี้อาจจะยกทฤษฎีฝรั่งมานะครับ เป็นนักปรัชญาเมธีชาวกรีซ-ฝรั่งเศส เขาชื่อ “นิคอส ปูลันต์ซาส” เขาเสนอทฤษฎีอันหนึ่งน่าสนใจ เขาเป็นมาร์กซิสต์ ดังนั้น เวลาเขาคิด เขาบอกรัฐเนี่ย เวลาเราเป็นรัฐทุนนิยม ก็คือกลุ่มก้อนของทุนนิยมพวกชนชั้นนายทุนทั้งหลายขึ้นไปยึดรัฐหมด

แต่มันไม่ใช่ชนชั้นนายทุนเป็นแค่กลุ่มใดกลุ่มหนึ่งกลุ่มเดียว มันจะมีส่วนต่างๆ อยู่ในนั้น แต่มันมาผนึกกำลังจับกัน เพื่อผลประโยชน์ร่วมกันทั้งหมด เช่น มันมีทั้งกลุ่มทุนธนาคาร ทุนพาณิชย์ ทุนอุตสาหกรรม ทุนการเงิน กองทัพ ตำรวจ ข้าราชการ ปัญญาชน

มันมีหลายกลุ่มก้อนอยู่ในนี้ แต่มันจะมีกลุ่มหนึ่งที่เด่นขึ้นมา แล้วทุกกลุ่มยอมหมด ยอมเพื่อจะให้ทั้งชนชั้นได้ครองรัฐ ดังนั้น ฝ่ายที่เป็นฝ่ายระดับล่างที่จะสู้กับชนชั้นที่ครองรัฐ คุณก็ต้องเล็งดูว่าไอ้ส่วนต่างๆ นี่มันต้องมีรอยแตกแน่นอน มันเป็นเอกภาพเพียงเพราะว่ามันต้องการยึดรัฐ แต่มันไม่ได้รักกันดีหรอก

ยิ่งสถานการณ์ตอนนี้ หมุดที่ยึดชนชั้นปกครองไทยไว้ หมุดนี้หายไป หมุดนี้เปลี่ยนรูปไป และในความเห็นผม หมุดนี้ไม่สามารถยึดส่วนต่างๆ ของชนชั้นปกครองได้เหมือนหมุดเดิม

ดังนั้น ฝ่ายที่เรียกร้องต่อต้านอยากจะเปลี่ยนโครงสร้างต้องเล็งเห็นตรงนี้อยู่เหมือนกัน ว่ามันไม่ได้เป็นเอกภาพเนื้อเดียวกันแบบนั้นหรอก

 

จุดเปลี่ยนของ ‘นักวิชาการ’

ผู้มาทำงาน ‘การเมือง’

“การเข้ามาสู่แวดวงทางการเมืองเป็นประสบการณ์เป็นบทเรียนของผมหลายเรื่อง ก็คือว่าเวลาเราทำงานทางวิชาการ เราก็คิดทฤษฎีคิดข้อเสนออะไรต่างๆ ได้เต็มไปหมด แต่ข้อเสนอเหล่านั้นมันจะไม่มีทางเกิดผลเลยถ้าไม่มีการเอาไปทำ

“ดังนั้น พอผมกระโดดเข้ามาเป็นนักการเมืองปุ๊บ ตั้งแต่เริ่มต้นเลย ผมนั่งคิดว่าผมจะทำยังไงให้ผมไม่เสียความเป็นนักวิชาการ พร้อมกันนั้นผมสามารถเอาข้อเสนอทางวิชาการไปผลักดันในทางการเมืองได้ด้วย ก็ทำได้ดีทำไม่ได้ดี ประชาชนก็ต้องช่วยกันตัดสิน

“แต่ผมก็ประเมินตัวทุกวันว่า ผมต้องการทำให้เห็นว่านักวิชาการเข้ามาในแดนทางการเมือง โดยที่ยังคงความเป็นวิชาการได้อยู่ พร้อมกันนั้นก็เอาเรื่องของวิชาการไปผลักดันในทางปฏิบัติทางการเมืองได้ด้วย

“เวลาเราลงมาปฏิบัติการในทางการเมือง มันจะไม่ใช่ตัวผมตามลำพังแต่เพียงคนเดียวแล้ว ดังนั้น ผมเองถ้ามันเริ่มเป็นองค์กร เหมือนสมัยตอนที่เป็นพรรค มีคนหลากหลายเข้ามามากขึ้น ผมก็ต้องไปทำความคิดกับคน ให้เห็นด้วยกับเรา มันไม่ใช่เพียงแค่ทำความคิดกับสังคม มันต้องทำความคิดกับสมาชิกใหม่ๆ ในองค์กรของเราด้วย ที่หลากหลายเต็มไปหมด

“ขนาดตอนเราเป็นอาจารย์บรรยาย ยังต้องบรรยายให้นักศึกษาเขาเข้าใจ ให้นักศึกษาเขาเชื่อในห้องเรียนห้องหนึ่ง แล้วนี่พอกระโดดมาในทางการเมือง คนเข้ามาเต็มไปหมด ดังนั้น หลายครั้งมันจำเป็นที่จะต้องปรับอะไรบางอย่าง เพื่อให้องค์กรเห็นพ้องต้องกัน เพราะองค์กรนี้มันไม่ใช่ของผมเพียงคนเดียว ถ้าเกิดเป็นตัวผมเพียงคนเดียว ผมก็ชี้นิ้วสั่งอะไรได้หมด

“แล้วในทางการเมือง มันเป็นเรื่องของการประเมิน หลายเรื่องมันเป็นเรื่องของการประเมิน แต่การเป็นนักวิชาการมันเป็นเรื่องของข้อเสนอที่เราเห็นว่าถูกต้อง

“แต่ในทางการเมืองมันต้องประเมินว่าข้อเสนอที่ถูกต้องนั้นสังคมเอาหรือยัง? คนในองค์กรเอาไหม? เขากังวลว่าเรื่องนี้แรงไปไหมเบาไปไหม? มันจะต้องประเมินรอบด้าน”