The Fish and the Curious!/ทะลุกรอบ ป๋วย อุ่นใจ

ดร. ป๋วย อุ่นใจ

ทะลุกรอบ

ป๋วย อุ่นใจ

 

The Fish and the Curious!

 

ผมชอบดูหนังแอ๊กชั่น และเรื่องหนึ่งที่ผมชอบก็คือภาพยนตร์แข่งรถ The fast and the furious ที่ออกมาหลายภาคจนเกือบเป็นซีรีส์

แต่ The fast and the furious ยังต้องถอย เมื่อเจอกับ The fish and the curious!

คลิปน้องปลาในอควาเรียมเคลื่อนที่ที่มีลักษณะเหมือนตู้ปลาวางบนชั้นเตี้ยๆ ติดล้อ ที่วิ่งช้าๆ ไปตามถนน เพิ่งจะถูกเปิดตัวไปใน YouTube แบบสุดร้อนแรง และเป็นที่กล่าวถึงกันอย่างมากมายทั้งในโซเชียล เพจและนิตยสารเกี่ยวกับวิทยาศาสตร์เกือบทุกหัว

ตอนแรกก็แอบนึกว่าน่าจะมีคนบังคับอยู่ข้างหลัง ปรากฏว่าผิดถนัด เพราะการเคลื่อนที่อควาเรียมนี้ที่จริงแล้วไม่ได้บังคับด้วยคน แต่บังคับด้วยปลา!

เราคงเคยเห็นนกแก้วมาคอว์ปั่นจักรยาน น้องหมาขับรถ หรือแม้แต่หนูขับรถ แต่การเปิดตัวของปลาทองขับรถนี่ต้องบอกว่ามาเหนือเมฆจริงๆ

ปกติเห็นได้แต่อ้าปากบ๊อบๆๆๆ อยู่ในบ่อ ตอนนี้ได้ออกมาโลดแล่น (แบบไม่มีใบขับขี่) เป็นปลาทองไซบอร์กอยู่บนท้องถนน

ภาพ FOV (Ben-Gurion University of the Negev)

ที่จริงสิ่งประดิษฐ์แนวนี้ถูกเผยแพร่ออกมาเป็นที่ฮือฮาแล้วรอบหนึ่งตั้งแต่ปี 2014 โดย Studio Diip ดีไซน์สตูดิโอในประเทศเนเธอแลนด์ พวกเขาตั้งชื่อผลงานชิ้นนี้ว่า “ปลาติดล้อ” หรือ “Fish on Wheel”

ถ้าดูเผินๆ ปลาติดล้อ ดูเหมือนเป็นงานศิลปะแนวแหกกรอบ แต่จุดมุ่งหมายของนักออกแบบนั้นคือต้องการโชว์เคสว่า computer vision หรือที่ภาษาไทยเรียกกันว่า “คอมพิวเตอร์วิทัศน์” – ซึ่งก็คือการประมวลผลภาพถ่ายหรือถาพวิดีโอโดยใช้คอมพิวเตอร์ – ไม่ได้มีดีแค่บันทึกภาพและวิเคราะห์ข้อมูลเท่านั้น ถ้าคิดนอกกรอบนิดหนึ่งอาจจะเอามาเชื่อมโยงกับสิ่งมีชีวิตและเสริมแต่งความสามารถให้พวกมันทำอะไรที่เจ๋งๆ ขึ้นมาอย่างเปลี่ยนให้ปลามาขับรถได้

หลังจากที่ปลาได้ออกมาขับรถเล่นชิลๆ จนสบายอารมณ์แล้ว พวกมันจะถูกปล่อยกลับลงไปในตู้เลี้ยงปกติของพวกมัน

ในดีไซน์ของ Studio Diip จะมีกล้องเว็บแคมติดอยู่บนตู้อควาเรียมเพื่อคอยบันทึกตำแหน่งและลักษณะการเคลื่อนไหวของตัวปลา

ส่วนการประมวลผลนั้นจะใช้บีเกิลบอร์ด (beagleboard)

และใช้อาร์ดูอิโน (arduino) เป็นไมโครคอนโทรลเลอร์ในการควบคุมการเคลื่อนที่ของตู้ปลา

โปรเจ็กต์ปลาติดล้อ ของ studio Diip ได้สร้างแรงบันดาลใจให้กับทีมวิจัยพฤติกรรม นำโดย ดร.โอฮาด เบนชาฮาบ (Ohad Ben-Shahab) จากมหาวิทยาลัยเบน กูริออน (Ben Gurion University) เริ่มคิดที่จะศึกษาความสามารถในการนำร่องและการรับรู้เส้นทางของปลาทอง ซึ่งเป็นสัตว์น้ำ เมื่อถูกเอาไปปล่อยในสภาพแวดล้อมบนบก

ทักษะในการนำร่องและรับรู้เส้นทางนี้มีความสำคัญมากกับการดำรงชีวิต ทั้งในการหาอาหาร การหาคู่ และอื่นๆ อีกมากมาย และถ้าสัตว์ถูกเอาไปปล่อยอยู่ในที่ที่ไม่คุ้นเคย พวกมันจะยังสามารถใช้ทักษะเหล่านี้ได้อยู่อีกหรือไม่

โปรโตไทป์อควาเรียมเคลื่อนที่ของทีมวิจัยอิสราเอลนั้นมีหน้าตาคล้ายคลึงกันกับดีไซน์ปลาติดล้อของ Studio Diip มาก เรียกว่าได้แรงบันดาลใจมาเยอะมากๆ แต่พวกเขาใช้บอร์ดคอมพิวเตอร์ราสป์เบอร์รี่พาย (raspberry pi) ในการประมวลผลแทนอาร์ดูอิโน

พวกเขาเรียกปลาติดล้อเวอร์ชั่นอิสราเอลว่า “Fish Operated Vehicle” เรียกสั้นๆ ว่า FOV หรือถ้าแปลไทยก็คือ “ยานพาหนะขับเคลื่อนด้วยปลา”

และคราวนี้ไม่ได้ให้ขับเล่นวนไปวนมาเฉยๆ พวกเขาอยากรู้ว่าพวกปลาทองที่ถูกเอามาทดลองรู้ตัวหรือไม่ว่าพวกมันกำลังบังคับตู้ของมันให้เคลื่อนไปยังที่ต่างๆ ตามที่มันว่ายไป “บนบก”

และที่สำคัญมันมีศักยภาพพอที่จะเรียนขับรถในสภาพแวดล้อมที่แปลกไปแบบคนละขั้วแบบนี้ได้หรือเปล่า

บนตู้ปลาบนรถ FOV จะมีกล้องจับพฤติกรรมของปลา ที่จะส่งข้อมูลแบบเรียลไทม์ไปให้โปรแกรมประมวลผลภาพของพวกเขาที่จะวิเคราะห์และระบุทิศทางการเคลื่อนที่ของปลาออกมาได้อย่างชัดเจน ถ้าปลาว่ายหันหัวดันขอบตู้ไปในทิศทางไหน อควาเรียมจะเคลื่อนที่ไปในทิศทางนั้น แต่ถ้าว่ายหันหัวเข้าไปในตู้ หรือไม่มีทิศทางชัดเจน อควาเรียมก็จะหยุดและจอดนิ่งอยู่เฉยๆ

“การฝึกสัตว์มักจะต้องสอนแบบซ้ำๆ ย้ำแล้วย้ำอีก หลายๆ รอบให้มันรู้ว่านี่คือพฤติกรรมที่พึงประสงค์” โอฮาดเผย “ในกรณีของเรา เราปล่อยให้ปลาว่ายวนไปวนมาสำรวจและเรียนรู้เครื่อง FOV และเชื่อมโยงกับพฤติกรรมของมัน พวกมันจะได้รางวัลเป็นอาหารปลา เมื่อว่ายบังคับเครื่อง FOV เข้าไปจอดที่เป้าหมายที่กำหนดได้

เขาเล่าต่อว่าเพียงแค่ไม่กี่วัน พวกปลาก็จะเริ่มเข้าใจได้แล้วว่าเป้าหมายที่มันจะต้องขับรถ FOV เข้าไปหานั้นมีหน้าตาเป็นอย่างไร

 

ในคลิปที่พวกเขาอัดมา ปลาส่วนใหญ่กระเหี้ยนกระหือรือที่จะพุ่งเข้าไปหาเป้าหมายที่เป็นกระดาษสีที่ติดอยู่ที่อีกฝั่งของห้องในทันที พวกมันรู้ดีว่าพวกมันต้องว่ายไปทางไหน บางตัวอาจจะมีแอบหลุกหลิกหลุดเส้นทางบ้างเล็กน้อย แต่ท้ายที่สุดก็ทำสำเร็จ อิ่มอ้วนทุกตัว

“พวกเราผลักดันไอเดียนี้ไปจนถึงขั้นสุด” โอฮาดเขียนในเปเปอร์ของเขาที่กำลังจะตีพิมพ์เผยแพร่ออกมาในวารสาร Behavioral Brain Research ฉบับเดือนกุมภาพันธ์ที่จะถึง

สิ่งหนึ่งที่ชัดเจนคือ ปลาทองมีความจำที่ดี และมีศักยภาพมากพอที่จะเรียนรู้กระบวนการที่ซับซ้อนได้ในสภาวะแวดล้อมที่พวกมันไม่เคยพบเจอมาก่อน พวกมันพร้อมที่จะเรียนรู้สิ่งใหม่ และปรับตัวให้เข้ากับสภาวะแวดล้อมที่ผิดแผกและไม่เอื้ออำนวยได้เสมอ เพื่อความอยู่รอด (ของกิน)

ที่สำคัญ ยังสามารถขับรถได้แบบไม่หลงทางด้วย (แม้อาจจะมีแถมบ้างเล็กน้อยในบางตัว) เพราะงั้นใครที่เคยปรามาสเมมโมรีของปลาทองเอาไว้ควรคิดอีกที

 

ปลาทองยังปรับตัวสู้วิกฤต เพราะชีวิตต้องดำเนินต่อไป ในช่วงเวลาแห่งวิกฤตที่เราจำใจต้องเผชิญนี้ คงจะเป็นการยากที่จะยังสามารถซ่อนตัวอยู่ในคอมฟอร์ตโซนได้ เอาเป็นว่าใครโดนกระทุ้งออกมา ก็สู้ต่อไปด้วยกัน อย่าไปยอมแพ้ปลาทองเชียวนะครับ!

ยังไม่ชัดเจนว่าแนวคิดปลาติดล้อนี้จะเอาไปใช้ประโยชน์อะไรอย่างอื่นต่อได้ นอกจากจะทำให้เราได้รู้และทึ่งกับความสามารถที่คาดไม่ถึงของปลาทอง แต่ใครจะรู้อาจจะมีผู้ประกอบการหัวใสปิ๊งไอเดียธุรกิจพันล้านจากงานวิจัยแปลกๆ แบบนี้ก็เป็นได้

คงต้องรอดูกันต่อไป แต่ถ้าอนาคตใครอยากพาปิรันย่าไปเดินเล่น อย่าลืมสายจูงนะครับ ด้วยความเป็นห่วง

ภาพ FOV (Ben-Gurion University of the Negev)