ชีวิตมนุษย์ ศาลเจ้า และเรื่องน่าเศร้าใจของสถาบันการศึกษากับกรณีย้ายศาลเจ้าแม่ทับทิมสะพานเหลือง / ผี พราหมณ์ พุทธ : คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง

คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง

ผี พราหมณ์ พุทธ

คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง

 

ชีวิตมนุษย์ ศาลเจ้า

และเรื่องน่าเศร้าใจของสถาบันการศึกษา

กับกรณีย้ายศาลเจ้าแม่ทับทิมสะพานเหลือง

 

สมัยที่ผมยังเด็ก ผู้ใหญ่ชาวระนองเล่าว่าเวลาที่คนรุ่นอาก้องอาม่าเจ็บป่วย เขาไปที่ศาลเจ้าเพื่อ “ปั๊วโป้ย” เสี่ยงทายและเสี่ยงเซียมซีขอยาจาก “พระหมอ” หรือองค์เทพเจ้าโปเส่งไต่เต่ เพราะศาลเจ้ามีตำรายาจีนซึ่งผูกกับเซียมซีไว้ เนื่องจากโรงพยาบาลไม่ได้เจริญและเข้าถึงง่ายอย่างปัจจุบัน

ทุกวันนี้ แม้การเสี่ยงทายขอยาจะลดลงไปตามความเจริญของโรงพยาบาลสมัยใหม่ แต่ก็ยังมีผู้ไปเสี่ยงทายขอยากับเทพเจ้าอยู่บ้างในฐานะการแพทย์ทางเลือก หรือในกรณีที่หมดหวังกับการรักษาแผนปัจจุบันแล้ว

ศาลเจ้าจึงทำหน้าที่สถานพยาบาลของชุมชน เพราะมีการนำองค์ความรู้ทางการแพทย์จากเมืองจีนมาใช้ แถมศาลเจ้าบ้านผมพอถึงในโอกาสสำคัญก็ยังมีการต้มยาหรือหุงน้ำมันยาแจกให้ชาวบ้านด้วย

นอกจากนี้ ชีวิตคนระนองหากจะต้องเปลี่ยนแปลงอะไรที่สำคัญ ก็มักต้องไปโป้ยเสี่ยงทายถามเทพ เช่นจะย้ายที่อยู่ ขายบ้าน เรียนต่อ ฯลฯ เพื่อให้เทพเจ้าช่วยตัดสินใจ หรือแม้แต่การตัดสินใจเรื่องส่วนรวมก็มักต้องเสี่ยงทายถามจากเทพเจ้าด้วย เช่น หากชุมชนจะรื้อจะสร้างอะไร เทพก็มีส่วนในการตัดสินใจแทบทุกครั้ง

วิธีการเสี่ยงทายแบบนี้ไม่ซับซ้อนครับ ทำเองก็ได้ กล่าวคือ จุดธูปบอกรายละเอียดของผู้ถามและคำถาม ซึ่งควรเป็นคำถามปลายปิดโดยใช้ภาษาจีน ถ้าพูดไม่ได้ก็มักไหว้วานให้ผู้ดูแลเป็นผู้พูดแทน แล้วโยนไม้เซ่งโป้ย ซึ่งทำจากรากไม่ไผ่สองอันมีด้านนูนและด้านเรียบ หรือถ้าไม่มีจะใช้วัตถุที่มีสองด้านและมีขนาดเท่ากันก็ได้ เช่น เหรียญสตางค์

หากเทพเจ้าตอบว่าใช่ วัตถุจะคว่ำอันหงายอัน ถ้าตอบว่าไม่ก็จะคว่ำทั้งสองอัน ถ้าหงายทั้งสองอันท่านว่าเทพยิ้มรับเพราะคำถามนั้นผู้ถามรู้แก่ใจอยู่แล้ว

การเสี่ยงโป้ยคือการสื่อสารกับเทพแบบง่ายที่สุดที่ชาวบ้านทำกันเองได้โดยไม่ต้องใช้ผู้เชี่ยวชาญ จึงนิยมกันแพร่หลายมาก มีทุกศาลเจ้าและวัดของฝ่ายมหายานก็ใช้

 

นอกจากสถานพยาบาลและสถานให้คำปรึกษา ศาลเจ้ายังทำหน้าที่เป็น “สมาคม” ทั้งลับและไม่ลับของคนจีนกลุ่มภาษาต่างๆ เป็นที่พบปะพูดคุยและให้ความช่วยเหลือแก่คนในกลุ่มเดียวกัน

นี่ทำให้ผมนึกถึงประเพณีอันหนึ่งในศาลเจ้าที่จังหวัดระนอง คือการที่ศาลเจ้าจะให้กู้เงินเพื่อให้ชาวจีนซึ่งอพยพมาใหม่ได้ใช้ทำทุน แล้วค่อยนำเงินมาคืนพร้อมกำไรในปีถัดไป แต่ปัจจุบันการให้กู้ดังกล่าวทำในลักษณะเชิงพิธีกรรมหรือสัญลักษณ์มากกว่า ซึ่งมักจะทำในเทศกาลสำคัญ เช่น วันเกิดเทพเจ้า

เทศกาลต่างๆ ซึ่งศาลเจ้าจัดขึ้น ได้มอบความรู้สึกถึงสีสันที่เปลี่ยนไปในชุมชน ไม่ว่าจะเจี๊ยะฉ่าย (กินเจ) ตรุษจีน สารทจีน วันไหว้ในฤดูกาล วันเกิดและวันแต่งตั้งองค์เทพ

เราเฉลิมฉลองและรู้สึกร่วมกันถึงสีสันและความเปลี่ยนแปลงของชีวิตในแต่ละปี

 

ศาลเจ้าโอบรับชีวิตของเราตั้งแต่แรกเกิด เพราะมีการทำขวัญเดือน (หมั่วโง้ย) หลายแห่งก็ยังให้ศาลเจ้าตั้งชื่อให้ ลูกที่เกิดใหม่ แต่งงานเราก็ไปไหว้บอกกล่าวเทพเจ้า และแม้ยามสิ้นชีวิตก็ยังมีศาลเจ้ามาเกี่ยวข้องไม่ว่าจะเป็นผู้ที่จะประกอบพิธีที่มีความชำนาญจากศาลเจ้าหรือการต้องบอกกล่าวแก่เทพเจ้าว่ามีผู้ตายแล้วในชุมชนนั้น

สมัยที่ผมแต่งงาน ผมกลับไปทำพิธีอย่างจีนที่ระนอง

วันแต่งงานเราต้องตระเวนไปไหว้บรรพบุรุษตามบ้านญาติหลายบ้าน และหนึ่งในสถานที่ที่ขาดไม่ได้คือศาลเจ้า

ผมยังจำได้ว่า วันนั้นผู้ดูแลศาลบอกผมและเจ้าสาวว่า สามารถเดินเข้าในศาลได้เลยโดยไม่ต้องถอดรองเท้า เพราะเขาถือว่าเราเป็น “เจ้า” หนึ่งวัน และอาก้งหรือเทพเจ้าประธานของศาลได้บัญชาให้คงธรรมเนียมปฏิบัตินี้ไว้

อาจฟังดูแปลกนะครับ ที่คนเก่าๆ ยังพูดราวกับว่าเทพเป็นคนในครอบครัว ที่สามารถติดต่อสื่อสารได้เหมือนคนปกติ

เทพสามารถสั่งการพิธีการต่างๆ ในศาล อย่างเทศกาลกินเจปีที่ผ่านมา ก็มีการเสี่ยงทายสอบถามเทพว่า จะตัดสินใจในเรื่องพิธีกรรมอย่างไร จะตัดอันไหน ยกเลิกอันไหน เพื่อให้เกิดประโยชน์กับผู้คนในสถานการณ์โควิดระบาด

ซึ่งก็มีผลที่น่าสนใจ เพราะมีการงดหลายกิจกรรมและคงไว้บางกิจกรรมเท่าที่จะเป็นไปได้ผ่านการตัดสินใจของเทพ ไม่ใช่กรรมการของศาลหรือผู้มีอำนาจเท่านั้น

 

ผมเล่าอะไรมายาวมากๆ เพื่อจะแสดงให้เห็นว่า ศาลเจ้าไม่ได้เป็นแค่อาคารศาสนสถานเฉยๆ แต่ยังมีความหมายในชีวิตของผู้คนและชุมชนอีกหลายด้าน ทำหน้าที่อะไรหลายอย่างมากกว่าแค่ที่กราบไหว้ อาจกล่าวได้ว่า ศาลเจ้าคือความรุ่มรวยทางวัฒนธรรมและชีวิตที่สั่งสมมาของผู้คนไม่ว่าจะในเมืองจีนหรือโพ้นทะเล

ในมิติทางความเชื่อ ศาลเจ้าคือสายสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับเทพ มนุษย์ต้องมีศาลเจ้าเพื่อที่จะได้สื่อสารกับเทพ ขอให้เทพช่วยเหลือในสิ่งต่างๆ เทพเองก็ต้องการศาลเจ้าเพื่อจะได้สื่อสารกับมนุษย์ คนจีนมีความเชื่อว่า ศาลเจ้าจะศักดิ์สิทธิ์ได้ก็ต้องมีคนกราบไหว้อยู่เสมอ มีกลิ่นธูปควันเทียนไม่หยุดหย่อน เมื่อใดไร้กลิ่นธูปควันเทียน ไร้คนไหว้ ศาลเจ้านั้นก็เสื่อมความศักดิ์สิทธิ์ลง

ดังนั้น ความศักดิ์สิทธิ์จึงไม่ใช่สิ่งซึ่งจะสร้างขึ้นมาแบบมักง่าย โดยเฉพาะสักการะสถานของชุมชนอย่างศาลเจ้า เพราะมันมีมิติของเวลา และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง เวลานั้นได้สะท้อนความสัมพันธ์ที่เกื้อกูลกันยาวนานระหว่างเทพกับคน

 

กรณีศาลเจ้าแม่ทับทิมสะพานเหลืองกับจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งที่จริงเคยเป็นข่าวมาตั้งแต่สองปีที่แล้ว กล่าวคือ มีส่วนงานที่เกี่ยวกับการพัฒนาที่ดินของจุฬาฯ มีความต้องการจะรื้อศาลเจ้าแม่ทับทิมสะพานเหลืองซึ่งอยู่ในพื้นที่ของจุฬาฯ เพื่อจะสร้างอาคารคอนโดมิเนียมขนาดใหญ่

แต่เนื่องจากมีผู้ดูแล คนในชุมชนและนิสิตคัดค้าน เรื่องจึงโด่งดังขึ้นและยืดยาวมาจนถึงบัดนี้

มาต้นปีนี้เรื่องของการย้ายศาลเจ้าแม่ทับทิมถูกพูดถึงอีกครั้ง เพราะทางจุฬาฯ พยายามจะประนีประนอม โดยการสร้างศาลเจ้าแม่ทับทิมให้ใหม่ในบริเวณสวนร้อยปีฯ ของจุฬาฯ เอง แล้วจะย้ายองค์เจ้าแม่ทับทิม (หม่าจ้อโป๋/ม่าโจ้ว) ไปยังศาลใหม่ที่จะสร้างขึ้น

ทว่าศาลเจ้าใหม่ซึ่งจุฬาฯ สร้างเสร็จแล้วนั้น ได้รับการวิพากษ์วิจารณ์อย่างมากในโลกออนไลน์ ผมเห็นภาพแล้วก็ได้แต่อุทานว่านี่มันอะไรกัน ศาลเรียบๆ ทาสีขาวหลังคาเขียว ปราศจากความสง่างาม ดูราวกับคาเฟ่ที่พยายามจะสร้างให้เป็นจีนๆ บางองค์ประกอบเหมือนยกมาตั้งจากร้านวัสดุก่อสร้างโดยไม่มีสุนทรียะตามขนบใดๆ

ถ้าภาษาวัยรุ่นก็บอกว่า “ดูปลอมเปลือกมากๆ”

ส่วนที่แย่และน่าเกลียดที่สุดคือตัวศาลทีกงหรือปู่ฟ้าทางด้านหน้าศาลหลัก เป็นเพียงอาคารเล็กๆ สีแดงเหมือนเพิงเก็บถังดับเพลิง แล้วเอาตัวหนังสือจีนไปแปะไว้

ถ้านี่เป็นศาลที่อยู่ในชนบทยากจนห่างไกลผมจะไม่แปลกใจเลย แต่นี้เป็นศาลซึ่งสร้างโดยสถาบันการศึกษาที่มีทั้งความรู้และทุนรอนเยอะ

มีผู้สังเกตว่า แม้แต่ตัวหนังสือจีนก็เขียนผิดและลายสือนั้นก็เขียนลวกๆ

ในตัวศาลไม่อนุญาตให้มีการจุดธูปเทียนกราบไหว้ ภายในก็เรียบเสียจนไม่มีอะไรเช่นกัน ไม่ได้เรียบอย่างสงบงามหรือสะท้อนให้เห็นความสง่าสมเกียรติของ “พระมารดาแห่งสวรรค์” ซึ่งเป็นตำแหน่งเจ้าแม่ทับทิมองค์เทพประธาน

อย่าลืมนะครับว่า เก็งหรือเก๋งซึ่งเป็นคำเรียกศาลเจ้าแม่ทับทิมนั้นหมายถึงตำหนักหรือพระที่นั่ง ซึ่งต่อให้ไม่ได้สร้างอย่างขนบ แต่ก็ควรสะท้อนความรู้สึกเช่นนั้นแม้จะเป็นงานร่วมสมัย

หากศาลนี้สร้างโดยคนยากจนไร้ความรู้แต่มีศรัทธา ผมเชื่อว่าเจ้าแม่ก็น่าจะโปรดยินดีไปประทับ

ทว่าผู้สร้างซึ่งอวดอ้างว่าได้ทำการวิจัยมาอย่างดีรวมทั้งปรึกษาซินแสต่างๆ ก็ไม่ได้ยากจน ไม่ได้ขาดความรู้หรือขาดบุคลากร

แต่ทำเหมือนสร้างอย่างขอไปทีเพื่อจะหลีกเลี่ยงความขัดแย้งเท่านั้น หรือจะกลัวอะไรไม่ทราบได้

ผมจึงไม่คิดว่าเจ้าแม่ท่านจะทรงโปรดศาลใหม่นี้แต่อย่างใด

 

ผมจึงได้แต่รู้สึกเศร้าใจ ว่าสถาบันการศึกษาหลักของประเทศ ซึ่งควรจะแสดงให้เห็นความสำคัญของการอนุรักษ์ การเอาใจใส่ต่อชุมชนรอบข้าง และวิจัยสร้างองค์ความรู้ทางศิลปะและสุนทรียะจะทำอะไรแบบนี้ ถ้าพูดแบบแรงๆ ก็เกิดจากการเห็นความสำคัญของเงินทองมากกว่าผู้คนและวัฒนธรรมรอบๆ ที่ตั้งของตัว

ต่อให้คนทำเรื่องนี้ไม่เชื่อเรื่องเทพเจ้า แต่การทำลายศาสนสถานเก่าแก่ของชุมชนซึ่งเป็นคลังความรู้และประวัติศาตร์ แถมยังมีองค์ประกอบงามๆ ทางจากสถาบันการศึกษาเอง แล้วไปสร้างอะไรลวกๆ มาแทน ไม่รู้จะบอกว่าเลวร้ายเพียงใด และหากไม่เชื่อว่าเทพจะแช่งด่า ก็ยังมีมนุษย์รอแช่งด่าอีกมาก

อ่อ อยากจะเตือนอีกอย่างครับ คนโบราณเขาเชื่อว่าที่ดินที่เคยเป็นสุสานหรือศาลเจ้า หากเอาไปทำที่อยู่อาศัยมีแต่จะเดือดร้อนรำคาญ ทำอะไรก็ไม่ขึ้นไม่เจริญ

ที่จริงถ้าหน่วยงานคิดมากกว่านี้อีกหน่อย ปล่อยให้ศาลเดิมอยู่ที่เก่า อยากสร้างโครงการอะไรก็สร้างไป ที่ทางออกจะเหลือเฟือ ออกแบบให้ของใหม่และเก่ากลมกลืนกัน อยู่ร่วมกันได้ ปรับภูมิทัศน์ให้เหมาะสม เหมือนหลายๆ ประเทศที่เจริญแล้ว จะกลายเป็นตัวอย่างให้สถาบันการศึกษาอื่นๆ ทำตาม

แถมผู้มาอาศัยในคอนโดฯ นั้นก็จะอุ่นใจว่ามีสิ่งศักดิ์สิทธิ์ดูแล ส่วนศาลใหม่ที่สร้างไปแล้ว ก็ปรับเป็นพิพิธภัณฑ์ชุมชนหรือศูนย์เรียนรู้อะไรก็ว่าไป

จะสง่างามกว่านี้มาก