ถนนปลอด ‘คาร์บอน’ / สิ่งแวดล้อม : ทวีศักดิ์ บุตรตัน

ทวีศักดิ์ บุตรตัน
Image Credit: Highways England

สิ่งแวดล้อม

ทวีศักดิ์ บุตรตัน

[email protected]

 

ถนนปลอด ‘คาร์บอน’

 

กรมทางหลวงแห่งอังกฤษ ประกาศแผนพัฒนามอเตอร์เวย์และทางหลวงสายหลักทั่วประเทศให้เป็นถนนที่ช่วยลดภาวะโลกร้อน พัฒนาสิ่งแวดล้อมให้ยั่งยืน และเน้นการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพเพื่อเป้าหมายลดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ให้เหลือศูนย์ในอีก 8 ปีข้างหน้า

“สตีเฟน เอลเดอร์คิน” หัวหน้าแผนกสิ่งแวดล้อมของกรมทางหลวงแห่งอังกฤษ ระดมผู้เชี่ยวชาญ 50 คน ร่วมคิดจัดวางกลยุทธ์เพื่อพัฒนาทางหลวงทั่วประเทศให้เป็นไปตามเป้าหมาย

ทำไมกรมทางหลวงแห่งอังกฤษต้องทำถนนให้ปลอด “คาร์บอนไดออกไซด์”?

 

เหตุผลสำคัญมาจากรัฐบาลอังกฤษและมติของสหประชาชาติที่มุ่งเน้นให้ทุกประเทศช่วยกันลดการปล่อยก๊าซพิษออกสู่ชั้นบรรยากาศโลก

ในการประชุมเพื่อการเปลี่ยนแปลงสภาวะภูมิอากาศ หรือ COP 26 ที่เมืองกลาสโกว์ ประเทศสกอตแลนด์ เมื่อปลายปีที่แล้ว แต่ละประเทศได้รับการร้องขอให้ตั้งเป้าหมายลดก๊าซเรือนกระจกซึ่งเป็นตัวการสำคัญทำให้เกิดภาวะโลกร้อนภายในปี 2573

วิธีการที่จะทำให้ลดการก๊าซพิษและทำให้เป็นศูนย์นั้น มีหลักๆ อยู่ 4 เรื่องด้วยกัน

หยุดการใช้พลังงานถ่านหิน

หยุดการตัดไม้ทำลายป่า

เลิกรถยนต์เครื่องยนต์สันดาปภายในที่ใช้น้ำมันเบนซิน ดีเซลเป็นเชื้อเพลิง หันมาใช้รถยนต์ขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้า และเร่งลงทุนผลิตพลังงานหมุนเวียน

ถ้าทุกประเทศเดินตามวิธีการนี้ เชื่อว่าภายในปี 2593 ความเข้มข้นของก๊าซเรือนกระจกที่สะสมในชั้นบรรยากาศโลกจะลดลง

สภาวะภูมิอากาศที่แปรปรวนจนนำไปสู่มหันตภัยในรูปแบบต่างๆ เช่น ภัยแล้ง พายุเกรี้ยวกราด เกิดฝนตกหนักน้ำท่วมใหญ่ เกิดคลื่นความร้อนหรืออากาศหนาวเย็นจัด อาจจะลดระดับความรุนแรง

 

กรมทางหลวงแห่งอังกฤษมองว่า การวางกลยุทธ์ให้ถนนทั่วประเทศปลอด “ก๊าซพิษ” จะช่วยอังกฤษเปลี่ยนผ่านสู่สังคม “คาร์บอน” เป็นศูนย์ อีกทั้งยังตอบสนองนโยบายการขนส่งและอุตสาหกรรม “ปลอดคาร์บอน” ของรัฐบาลอังกฤษที่ต้องการให้อังกฤษดีขึ้น เขียวขึ้นกว่าเดิม

โครงข่ายถนนเชื่อมทั่วเกาะอังกฤษรวมกันได้ราวๆ 4 แสนกิโลเมตร ถือเป็นเส้นเลือดใหญ่ของการขนส่งคมนาคม ดูได้จากสถิติการขนส่งของอังกฤษเมื่อปี 2563 ครอบครัวชาวอังกฤษ 80 เปอร์เซ็นต์มีรถยนต์เป็นของตัวเอง ผู้โดยสาร 9 ใน 10 คนเดินทางด้วยรถยนต์ 79% ของการขนส่งสินค้าใช้รถยนต์เป็นพาหนะ ด้วยสถิตินี้จะเห็นได้ชัดว่า ถนนมีความสำคัญในการอำนวยความสะดวกให้กับประชาชน ต้นทุนก็ต่ำและมีประสิทธิภาพในการขนส่ง

เมื่อรัฐบาลอังกฤษประกาศยุติการขายรถยนต์เครื่องเบนซินและดีเซลในปี 2573 อุตสาหกรรมรถยนต์ก็ต้องปรับตัวกันยกใหญ่ เปลี่ยนรูปแบบการผลิตทั้งเครื่องยนต์ แบตเตอรี่

ตลาดรถยนต์ในอังกฤษเวลานี้เปลี่ยนโฉมหน้า รถพลังงานไฟฟ้าหรืออีวี ยอดขายเพิ่ม เมื่อปีที่แล้วขายได้มากถึง 450,000 คัน หรือเพิ่มขึ้น 186% ทั้งที่เป็นปีที่อังกฤษเผชิญกับวิกฤตโควิด-19 แต่คนยังเห็นว่า รถยนต์คือพาหนะสำคัญของการเดินทาง

ขณะเดียวกันยอดขายรถยนต์เครื่องดีเซล ตกวูบ 47.6% เป็นสัญญาณชัดแล้วว่า ในอนาคตคนอังกฤษไม่ต้องการซื้อรถประเภทนี้อีกต่อไป

 

เมื่อปริมาณการใช้รถอีวีเพิ่มขึ้น นั่นหมายถึงความต้องการที่ชาร์ตแบตเตอรี่ก็ต้องเพิ่มเป็นเงาตามตัว

กรมทางหลวงแห่งอังกฤษตั้งเป้าว่าทุกๆ 32 กิโลเมตรจะต้องมีจุดชาร์ตแบตเตอรี่ให้ได้อย่างน้อย 95% ของโครงข่ายถนนทั้งหมด

นอกจากนี้ ยังมีแผนสำหรับรถบรรทุกขนส่งสินค้าหนักๆ ที่ใช้พลังงานหมุนเวียน พลังงานไฮโดรเจน และเชื้อเพลิงชีวภาพ

ในแผนสนับสนุนการขนส่งทางเลือก เช่น การเชื่อมระหว่างโครงข่ายถนนกับรถไฟเพื่ออำนวยความสะดวกให้มากขึ้น ลดปริมาณการจราจรบนถนน

การก่อสร้างถนนในอนาคต กรมทางหลวงแห่งอังกฤษเน้นเลือกใช้วัสดุและผลิตภัณฑ์ เช่น ยางมะตอย ปูนซีเมนต์และเหล็กที่มาจากโรงงานซึ่งมีการผลิตด้วยกระบวนการลดโลกร้อน อีกทั้งยังนำเทคโนโลยีระบบดิจิตอลเข้ามาตรวจสอบการก่อสร้างหรือการซ่อมแซมถนนจะช่วยลดกระบวนการก่อสร้างเพิ่มประสิทธิภาพในการดูแลรักษา

กรมทางหลวงแห่งอังกฤษยังเชื่อว่าอนาคตถนนยังเป็นเส้นเลือดใหญ่ของการขนส่งคมนาคม และถนนมีส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจใหม่ที่ปลอดคาร์บอน จึงวางยุทธศาสตร์ไว้ว่า ในการลงทุนก่อสร้างถนนสายใหม่ทุกๆ 1 ปอนด์จะต้องมีผลกำไรกลับคืนสู่ภาคเศรษฐกิจ 2 ปอนด์

ถนนทั่วอังกฤษช่วยสนับสนุนการสร้างงงาน 7.4 ล้านคน และสร้างรายได้ให้กับภาคเศรษฐกิจ 314,000 ล้านปอนด์

ภายใน 8 ปีข้างหน้า อุตสาหกรรมที่พึ่งพาโครงข่ายถนนของอังกฤษจะโตขึ้น 35% และปั่นรายได้ให้เศรษฐกิจอังกฤษเติบโตคิดมูลค่าราว 110,000 ล้านปอนด์

ยุทธศาสตร์สร้างถนนให้เกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืน เดินคู่ขนานไปกับการเติบโตทางเศรษฐกิจและสังคมอังกฤษโดยรวม

 

นั่นคือแผนของกรมทางหลวงแห่งอังกฤษ

หันมาพูดถึงกรมทางหลวงบ้านเรามั่ง ไม่รู้ว่าเคยคิดแผนยุทธศาสตร์อย่างอังกฤษกันบ้างหรือเปล่า แต่ที่แน่ๆ ถนนหนทางบ้านเราไม่เคยคิดพัฒนาถนนให้มีโครงสร้างแข็งแรงสามารถรองรับปริมาณและน้ำหนักรถบรรทุก รถยนต์ที่แล่นผ่านตลอดเวลา

หลายเส้นทางสร้างเสร็จไปหมาดๆ จากนั้นปล่อยให้ขบวนรถบรรทุกแล่นขย่มจนกลายเป็นหลุมเป็นบ่อ ซ่อมกลบได้ไม่นานก็กลับมาเป็นสภาพเดิมๆ

คนเดือดร้อนคือผู้ใช้รถใช้ถนน แทนที่จะขับฉลุยต้องมาหลบถนนที่เป็นหลุมบ่อ แถมยังเจอรถบรรทุกวิ่งเบียดอีกต่างหาก

การไม่คิดพัฒนาถนนให้มีมาตรฐานสากล คงเป็นเพราะอยากเอางบประมาณก่อสร้างซ่อมแซมมาถลุงให้มันมือ

ส่วนประชาชนผู้ใช้รถใช้ถนนจะมีสภาพเป็นทุกข์เดือดร้อนอย่างไร ก็ช่างมัน?