การเมืองปีเสือดุ/บทความพิเศษ สมชัย ศรีสุทธิยากร

สมชัย ศรีสุทธิยากร

บทความพิเศษ

สมชัย ศรีสุทธิยากร

ศูนย์วิจัยการเมืองและการพัฒนา มหาวิทยาลัยรังสิต

 

การเมืองปีเสือดุ

 

ปีใหม่ 2565 เป็นปีที่จะมีเหตุการณ์ทางการเมืองเข้มข้นยิ่งกว่าปีใดๆ ในช่วงการดำรงตำแหน่งของนายกรัฐมนตรีประยุทธ์ จันทร์โอชา

เป็นปีแห่งการตัดสินใจครั้งสำคัญของผู้นำประเทศในหลายกรณีที่จะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงทางการเมืองไทย

ไม่ว่า พล.อ.ประยุทธ์จะมีปุโรหิตที่ปรึกษาผู้เชี่ยวชาญทางการเมืองมากหรือน้อย มีขุนทหารคู่ใจที่พร้อมให้คำแนะนำและสนับสนุนที่ดีหรือไม่ก็ตาม

แต่ในทุกเรื่องของการตัดสินใจล้วนต้องระมัดระวังในระดับที่เรียกว่า “เดินตาผิดตาเดียว พ่ายทั้งกระดาน”

ปีเสือจึงเป็นเสือที่ดุสำหรับคนชื่อ ประยุทธ์ จันทร์โอชา

 

การยุบสภา จังหวะใดจึงจะเหมาะสม

แนวคิดของการยุบสภาเกิดได้จากการพิจารณาปัจจัยสำคัญสองประการ คือ

ประการแรก รัฐบาลอยู่ในสถานะที่มีปัญหาไม่สามารถทำงานร่วมกับสภาผู้แทนราษฎรได้ เช่น สภาไม่ให้ความเห็นชอบในการผ่านกฎหมายสำคัญ หรือเสียงโหวตในสภาอยู่ในสภาวะที่ก้ำกึ่ง จนไม่สามารถบริหารราชการแผ่นดินต่อไปได้ การยุบสภาจึงเป็นทางออกที่คืนอำนาจให้แก่ประชาชนในการตัดสินใจเลือกสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรชุดใหม่เข้ามา เป็นการพิสูจน์ถึงความต้องการของประชาชนว่าต้องการสนับสนุนฝ่ายใด

อีกปัจจัยหนึ่งที่ฝ่ายรัฐบาลโดยนายกรัฐมนตรีคำนึงถึง คือ จังหวะของการยุบสภาที่ยังมีความได้เปรียบในทางการเมือง เช่น ยังอยู่ในช่วงที่มีคะแนนนิยมจากประชาชนสูงกว่าฝ่ายค้าน หรืออยู่ในช่วงที่กฎหมายต่างๆ เกี่ยวกับการเลือกตั้งนั้นเอื้อประโยชน์ต่อพรรครัฐบาลมากกว่าฝ่ายค้าน หรือในจังหวะที่พรรครัฐบาลมีการสะสมทุนเตรียมพร้อมสำหรับการเลือกตั้งเป็นที่เรียบร้อย ในขณะที่อีกฝ่ายหนึ่งยังไม่ทันตั้งตัว

รัฐบาลที่ขาดเสถียรภาพ การยุบสภาหรือการลาออกของนายกรัฐมนตรีจะเกิดขึ้นง่าย

แต่สำหรับรัฐบาลชุดปัจจุบันที่ฝ่าร้อนฝ่าหนาวมาได้ถึงสองปีเศษเกือบสามปี ต้องถือว่ามีเสถียรภาพพอประมาณ ดังนั้น ปัจจัยประการแรกจึงไม่น่าจะเป็นปัญหา ยกเว้นว่าภายในพรรคร่วมรัฐบาล หรือพรรคแกนนำรัฐบาลมีปัญหาภายในเอง ซึ่งยังไม่น่าจะเกิดขึ้นในขณะนี้

จังหวะของการยุบสภาจึงน่าจะเป็นไปด้วยสาเหตุประการที่สอง คือ ยุบในจังหวะที่รัฐบาลยังมีคะแนนนิยมดี และเป็นจังหวะที่ฝ่ายรัฐบาลได้เปรียบ

เช่น การแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการประจำเพื่อกุมตำแหน่งสำคัญเป็นที่เรียบร้อย การผ่านงบประมาณแผ่นดิน และการผ่านพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมฉบับต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับระบบการเลือกตั้ง เป็นต้น

พฤษภาคม 2565 กฎหมายลูกน่าจะเสร็จ สิงหาคม 2565 การแต่งตั้งโยกย้ายต่างๆ น่าจะเรียบร้อย กันยายน 2565 พระราชบัญญัติงบประมาณ สมควรผ่านรัฐสภา นั่นหมายความว่า จังหวะของความได้เปรียบในสายตาของรัฐบาล คือตั้งแต่เดือนพฤษภาคม พ.ศ.2565 เป็นต้น

ยิ่งลึกเข้าไปไกล ยิ่งมีความได้เปรียบ

แต่ปัญหาเรื่องความได้เปรียบในคะแนนนิยมจากประชาชนอาจเป็นตรงข้าม ยิ่งนานไปคะแนนนิยมอาจลดลง และหากปล่อยให้เนิ่นนานออกไปมาก จุดที่เป็นความได้เปรียบจากกลไกบริหารราชการแผ่นดินแต่สวนกลับด้วยคะแนนนิยมที่ลดต่ำลงตามกาลเวลาที่ผ่านไป อาจกลายเป็นการได้ไม่คุ้มเสีย

การยุบสภาในจังหวะที่เหมาะสม จึงเป็นโจทย์ที่สำคัญสำหรับปุโรหิตที่ปรึกษาของนายกฯ ประยุทธ์ต้องหาคำตอบ

 

เรื่องร้อนการดำรงตำแหน่งครบ 8 ปี

ของ พล.อ.ประยุทธ์

มาตรา 158 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 ระบุถึงการดำรงตำแหน่งของนายกรัฐมนตรีว่าจะดำรงตำแหน่งรวมกันเกินแปดปีไม่ได้ ไม่ว่าจะดำรงตำแหน่งติดต่อกันหรือไม่

เนื้อหาในวรรคดังกล่าวเพียงสองบรรทัด กลับทำให้ผู้รู้ทางรัฐศาสตร์และนิติศาสตร์มีการตีความผิดแผกในกรณีการดำรงตำแหน่งของ พล.อ.ประยุทธ์ได้ถึง 3 แบบที่แตกต่างกันคือ

แบบที่หนึ่ง ยังเหลือเวลายาวที่สุด คือนับตั้งแต่ พล.อ.ประยุทธ์ดำรงตำแหน่งเป็นนายกรัฐมนตรีจากการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 9 มิถุนายน พ.ศ.2562 ดังนั้น การนับครบ 8 ปี จะเป็นวันที่ 8 มิถุนายน พ.ศ.2570

แบบที่สอง เหลือเวลาปานกลาง คือ นับตั้งแต่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 มีผลใช้บังคับ คือวันที่ 6 เมษายน พ.ศ.2560 ดังนั้น จะครบ 8 ปีในวันที่ 5 เมษายน พ.ศ.2568

แบบที่สาม เหลือเวลาสั้นที่สุด คือ นับแต่ พล.อ.ประยุทธ์ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีในสมัยที่ดำรงตำแหน่งเป็นหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ คือ วันที่ 24 สิงหาคม พ.ศ.2557 ดังนั้น การครบกำหนด 8 ปี จะเป็นวันที่ 23 สิงหาคม พ.ศ.2565 หรืออีกไม่ถึงหนึ่งปีนับจากปัจจุบัน

การได้ข้อยุติว่าจะเป็นการนับแบบใดคงไม่สามารถมีใครให้คำตอบได้จนกว่าจะได้รับคำวินิจฉัยจากศาลรัฐธรรมนูญ

สำหรับฝ่ายค้านนั้น การไม่เร่งรีบส่งศาลรัฐธรรมนูญตีความ ดูจะเป็นการวางเกมที่มีประโยชน์มากกว่า เพราะตราบใดที่ยังไม่มีคำวินิจฉัย การหยิบเอาประเด็นความไม่ชอบธรรมในการดำรงตำแหน่งของนายกรัฐมนตรีจะเป็นเรื่องที่สามารถนำมาเล่นให้เกิดแรงกระเพื่อมทางการเมืองได้ตลอดเวลา

ยิ่งใกล้เดือนสิงหาคม 2565 ซึ่งเป็นกำหนดเวลาที่สั้นที่สุด สถานการณ์ยิ่งร้อนแรง

หรือเมื่อถึงสิงหาคม 2565 แล้ว พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ยังดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี เรื่องดังกล่าวจะกลายเป็นประเด็นร้อนที่สุดของปีนี้จนสร้างแรงสะเทือนที่รุนแรงก็เป็นไปได้

การปล่อยให้ปัญหาคาราคาซัง จึงเป็นยุทธวิธีที่ฝ่ายค้านใช้ และสร้างความลำบากแก่ผู้ดำรงตำแหน่งเอง

ผู้เป็นกุนซือทางการเมืองของ พล.อ.ประยุทธ์ คงต้องคิดหนักในประเด็นดังกล่าวว่า จะเป็นฝ่ายริเริ่มส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยโดยเร็วตั้งแต่ต้นปี เพื่อตัดไฟของการนำเรื่องดังกล่าวมาขยายเป็นประเด็นทางการเมือง หรือจะรอให้ถึงเดือนสิงหาคม ให้ฝ่ายค้านเป็นฝ่ายยื่นเรื่องต่อศาลเอง

เพราะหากรีบยื่น แต่คำตัดสินเป็นผลเสีย ก็เหมือนนักฟุตบอลที่เตะเข้าประตูตัวเอง แต่หากไม่รีบยื่น ครึ่งหลังของเกมฟุตบอลก็จะอยู่ในการครอบครองของฝ่ายตรงข้าม กระหน่ำบุกตลอดเวลา จนต้องเป็นฝ่ายตั้งรับและมีโอกาสเสียประตูสูง

นี่คืออีกโจทย์ที่บรรดาปุโรหิตที่ปรึกษาต้องคิดหนัก

 

กฎหมายลูก เตะหมูเข้าปากหมาหรือไม่

การแก้รัฐธรรมนูญให้การเลือกตั้งกลับไปใช้บัตรสองใบ และเปลี่ยนสัดส่วน ส.ส.เขตต่อบัญชีรายชื่อ เป็น 400 : 100 แม้ว่าจะเป็นข้อเสนอที่เห็นตรงกันระหว่างพรรคใหญ่ เช่น พลังประชารัฐ และเพื่อไทย แต่ได้รับการคัดค้านจากพรรคขนาดกลางและเล็ก มาถึงขั้นของการแก้ไขกฎหมายลูก คือ พ.ร.ป.การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และ พ.ร.ป.พรรคการเมือง ให้มีความสอดคล้องกัน ซึ่งคาดว่าจะมีการเสนอและบรรจุเป็นวาระพิจารณาของรัฐสภาในเดือนมกราคม พ.ศ.2565

ตัวกฎหมายลูกนั้น มีสาระสำคัญที่ต้องออกแบบและถกเถียงเกี่ยวกับวิธีการรับสมัครเพื่อให้พรรคการเมืองได้เบอร์เดียวเหมือนกันทั้งประเทศ ทั้งบัตรเลือกตั้ง ส.ส.เขตทุกเขต และบัตรเลือกตั้งแบบบัญชีรายชื่อ และวิธีการคำนวณ ส.ส.บัญชีรายชื่อว่าจะเป็นแบบคู่ขนานเหมือนกับที่เคยใช้ในรัฐธรรมนูญ พุทธศักราช 2540 และ 2550 หรือจะเป็นแบบจัดสรรปันส่วนผสมเหมือนที่กำหนดในรัฐธรรมนูญ พุทธศักราช 2560

หากยังเชื่อมั่นว่า พรรครัฐบาลจะเป็นพรรคใหญ่ การเดินหน้าในการพิจารณากฎหมายลูก ก็จะยึดตามแนวเดิมที่เคยดำเนินการมาเป็นลำดับ

แต่หากวันนี้เริ่มไม่มั่นใจว่า กติกาดังกล่าวจะนำไปสู่การสร้างความได้เปรียบแก่พรรคเพื่อไทยซึ่งเป็นฝ่ายตรงข้ามรัฐบาล กฎหมายลูกที่ว่ากันว่าร่างไม่ยาก ถึงเวลาอาจมีการออกแบบที่ซับซ้อนและเต็มไปด้วยอิทธิปาฏิหาริย์

ปีเสือมีแนวโน้มที่จะเป็นเสือดุ ที่สร้างความลำบากแก่ผู้มีอำนาจไม่น้อย ตราบใดที่ยังไม่คิดลงจากหลังเสือ