พระพุทธรูปอินเดียปางทรมานช้างนาฬาคีรี กลายมาเป็น ‘พระศีลาวัดเชียงมั่น’ ได้อย่างไร? (จบ) / ปริศนาโบราณคดี : เพ็ญสุภา สุขคตะ

เพ็ญสุภา สุขคตะ

ปริศนาโบราณคดี

เพ็ญสุภา สุขคตะ

 

พระพุทธรูปอินเดียปางทรมานช้างนาฬาคีรี

กลายมาเป็น ‘พระศีลาวัดเชียงมั่น’ ได้อย่างไร? (จบ)

 

ขอกล่าวถึงการเดินทางไกลของพระศีลาเจ้าวัดเชียงมั่นต่อในช่วงสุดท้าย (ช่วงที่สาม)

กล่าวคือ หลังจากที่พระภิกษุสามรูป กอปรด้วย พระสีละวังโส พระญาณคัมภีร์ (สองรูปแรกเป็นชื่อของพระภิกษุล้านนาที่มีตัวตนจริงในนิกายป่าแดง) และพระเรวะโต (ยังไม่เคยพบชื่อนี้ในเอกสารเล่มใด) ได้นำพระศีลาเจ้ามาประดิษฐานที่นครลำปาง อยู่ช่วงระยะหนึ่งแล้ว

ครั้นถึงสมัยที่ “หมื่นด้งนคร” ขึ้นเป็นเจ้าเมืองลำปาง ได้นำพระศีลาเจ้ามาถวายแด่พระเจ้าติโลกราชที่นครเชียงใหม่

ตำนานกล่าวว่า พระเจ้าติโลกราชมีรับสั่งให้อาราธนาพระศีลาเจ้าไปประดิษฐานยังโรงอุโบสถวัดป่าแดง ซึ่งมี “พระมหาญาณโพธิ” เป็นเจ้าอธิการสงฆ์ขณะนั้น

โดยผู้ที่นำพระศีลาเจ้าไปถวายแด่พระมหาญาณโพธิวัดป่าแดง มีนามว่า “หมื่นคำภาเวียงดิน”

ไม่ทราบว่าพระศีลาเจ้าประดิษฐาน ณ วัดป่าแดงนานเพียงใด จู่ๆ อำมาตย์ผู้หนึ่งนาม “หมื่นหนังสือวิมละกิติ” ได้อาราธนาพระศีลาเจ้าจากวัดป่าแดงไปประดิษฐานยังวิหารวัดหมื่นสารซึ่งหมื่นผู้นี้มีอำนาจปกครอง “สังฆการี” และเพิ่งเป็นประธานในการก่อสร้างวิหารเสร็จใหม่ๆ โดยขณะนั้นวัดหมื่นสารมีเจ้าอาวาสนามว่า “พระพุทธญาณะ”

แต่แล้ว “พระพุทธญาณะ ก็ไปอยู่วัดสวนดอกไม้ ท่านก็ยังอาราธนาเอาพระศีลาเจ้าไปเพื่อกระทำสักการบูชา แล้วให้เอากลับมาคืนไว้วัดหมื่นสารดังเดิม”

จากนั้น พระเจ้าติโลกราชก็ให้อาราธนาพระศีลาเจ้าจากวัดหมื่นสารเข้ามายังเขตพระราชฐานของพระองค์ ประดิษฐานพระศีลาเจ้า ณ “หอพระแก้ว” ในปีมะแม จ.ศ.837 (ตรงกับปี พ.ศ.2018) ตั้งแต่นั้นมา ทุกครั้งเมื่อมีการสรงน้ำพระศีลาเจ้า จะบังเกิดฝนตกห่าใหญ่เสมอ

ตำนานช่วงนี้แปลก อยู่ๆ ก็มีการระบุศักราชขึ้นมา ประหนึ่งว่าต้องการตอกย้ำว่าเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจริง ทั้งๆ ที่ตอนต้นของตำนาน ได้โยงเอาพระเจ้าอชาตศัตรูกับพระมหากัสสปะ บุคคลสำคัญในยุคพุทธกาล ให้มาโลดแล่นมีชีวิตร่วมสมัยกับพระญาณคัมภีร์

ตอนจบของตำนานกล่าวถึง “พระราชบุตรพระราชนัดดา” ของพระเจ้าติโลกราช เมื่อได้เสวยราชย์แล้วก็ยังคงทำพิธีสักการบูชาพระศีลาเจ้าสืบต่อมามิได้ขาด

 

วิเคราะห์ตำนานช่วงสาม 8 ประเด็น

ประเด็นแรก การประดิษฐานพระศีลาเจ้าที่นครลำปางในช่วงระยะหนึ่ง ก่อนที่ “หมื่นด้งนคร” จะนำมาถวายพระเจ้าติโลกราช ใครควรเป็นเจ้าเมืองลำปางขณะนั้น

ทางเลือกมีสองข้อ ข้อแรก เป็นยุคหมื่นโลกนคร (พระเจ้าอาวของพระเจ้าติโลกราช) ซึ่งปกครองนครลำปางมาตั้งแต่ยุคพระญาสามฝั่งแกนได้ไหม?

หรือข้อสอง ควรเป็นยุคของหมื่นหาญแต่ท้อง โอรสหมื่นโลกนคร เพราะเจ้าเมืองลำปางสององค์นี้นั่งเมืองมาก่อนหมื่นด้งนคร

หมื่นด้งนครตั้งใจถวายพระศีลาเจ้าให้พระเจ้าติโลกราชเอง หรือพระเจ้าติโลกราชมีพระราชบัญชาให้ย้ายจากลำปางมาเชียงใหม่?

อีกทั้งพระศีลาเจ้าถือว่าเป็นสัญลักษณ์ของการนำนิกายป่าแดงจากลำปางกลับคืนสู่เชียงใหม่ได้หรือไม่?

ประเด็นที่สอง “พระมหาญาณโพธิ” แห่งวัดป่าแดงมีตัวตนจริงไหม พบหลักฐานในจารึกวัดเวฬุวันอาราม จารเมื่อ พ.ศ.2050 ตรงกับยุคพระเมืองแก้ว กษัตริย์ล้านนาลำดับที่ 11 จารึกนี้ระบุนามของพระสงฆ์ชั้นผู้ใหญ่ของเชียงใหม่หลายรูป หนึ่งในนั้นมี “มหาสามีญาณโพธิ” เจ้าอาวาสวัดป่าแดงปรากฏด้วย

หลักฐานชิ้นนี้จึงยืนยันว่า พระมหาญาณโพธิ (เรียกตามตำนานพระศีลาเจ้า) หรือ มหาสามีญาณโพธิ (เรียกตามจารึกวัดเวฬุวันอาราม) คือบุคคลที่มีตัวตนจริง ดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดป่าแดงจริงมาตั้งแต่สมัยพระเจ้าติโลกราชเรื่อยมาจนถึงสมัยพระเมืองแก้ว

ประเด็นที่สาม ใครคือ “หมื่นคำภาเวียงดิน” ชื่อนี้ดิฉันยังไม่ได้สืบค้นอย่างละเอียดนัก แต่ได้พบคนชื่อใกล้เคียงกันในพงศาวดารโยนกว่า “หมื่นคำภาเมืองเชียงราย” มีบทบาทเป็นแม่ทัพผู้หนึ่งที่ไปตายในสนามรบช่วงที่เชียงใหม่ยกทัพไปตีเขมรัฐเชียงตุงปี 2065 (ตรงกับสมัยพระเมืองเกษเกล้า) อาจจะไม่ใช่คนคนเดียวกัน

ประเด็นที่สี่ ตำนานนี้ทำให้เราได้รู้ที่มาแห่งนามเต็มๆ ของวัดหมื่นสาร ว่ามาจากชื่อ “หมื่นหนังสือวิมละกิติ” ข้อสงสัยคือทำไมหมื่นผู้นี้จึงมีอำนาจมากนัก ถึงขนาดกล้าอาราธนาย้ายพระศีลาเจ้าจากวัดป่าแดง ที่พระเจ้าติโลกราชทรงอุปถัมภ์ เอาไปไว้วัดหมื่นสารได้

เอาไปโดยขอพระราชทานนุญาตจากพระเจ้าติโลกราชแล้วยัง หรือว่านำไปดื้อๆ เพราะตำนานหาได้ระบุว่าพระเจ้าติโลกราชพระราชทานให้แต่อย่างใดไม่

ประเด็นที่ห้า ใครคือ “พระพุทธญาณะ” แห่งวัดหมื่นสาร ทำไมพระรูปนี้ต้องนำเอาพระศีลาเจ้าไปไว้วัดสวนดอก (ในช่วงเวลาอันสั้นมาก) จากนั้นก็นำกลับคืนมาวัดหมื่นสารอีกครั้ง สรุปแล้ว วัดหมื่นสารสังกัดนิกายสวนดอกหรือป่าแดง หากสังกัดนิกายสวนดอก ทำไมนิกายนี้จึงกล้ามาเอาพระสำคัญจากนิกายป่าแดง?

จากหนังสือประวัติวัดหมื่นสารระบุว่า วัดนี้เป็นนิกายสวนดอก และมีเจ้าอาวาสลำดับที่ 3 นามว่า “พระมหาพุทธญาณ” ดำรงตำแหน่งในปี 1977 โดยประมาณ

ประเด็นที่หก ใครคือเจ้าอาวาสวัดสวนดอกในช่วงที่มีการนำพระศีลาเจ้ามาประดิษฐาน พบว่าวัดสวนดอกมีเจ้าอาวาสลำดับที่ 4 นามว่า “พระมหาพุทธญาณ” ปกครองวัดระหว่างปี 1961-1963 ทว่า ศักราชนี้ตรงกับรัชสมัยของพระญาสามฝั่งแกน

ทำให้ต้องพิจารณาอีกองค์หนึ่งผู้มีชื่อคล้ายกันคือ “พระมหาญาณรังสี” เป็นเจ้าอาวาสวัดสวนดอกระหว่างปี 1977-1984 ตรงกับสมัยพระเจ้าติโลกราช ควรเป็นพระมหาญาณรังสีรูปนี้หรือไม่ที่นำพระศีลาเจ้าจากวัดหมื่นสารมากระทำพิธีอะไรบางอย่างช่วงสั้นๆ ที่วัดสวนดอกก่อนจะส่งคืนให้แก่วัดหมื่นสารอีกครั้ง?

ประเด็นที่เจ็ด การที่พระเจ้าติโลกนำพระศีลาเจ้ามาเก็บไว้ในวังหลวง ประดิษฐานใน “หอพระแก้ว” ถือเป็นการตัดบท ตัดปัญหาการช่วงชิงพระศีลาเจ้ากันระหว่างพระภิกษุสองนิกายคือป่าแดงและสวนดอกหรือกระไร? ทั้งนี้ยังไม่นับคำถามอีกมากว่า ช่วงนั้นหอพระแก้วตั้งอยู่ที่ไหน ภายในหอพระแก้วประดิษฐานพระอะไรอีกบ้าง (ประเด็นนี้ต้องขยายความยาวมาก ขอเก็บไว้วิเคราะห์คราวหน้าเมื่อมีโอกาสเหมาะสม)

ประเด็นที่แปด ตอนจบของตำนานพระศีลาเจ้า สิ้นสุดลงแค่สมัย “พระราชบุตรพระราชนัดดา” ของพระเจ้าติโลกราช เราทราบกันดีว่าผู้เป็นพระราชบุตรของพระองค์มีชื่อว่า “พ่อท้าวบุญเรือง” ถูกพระเจ้าติโลกราชสั่งประหารชีวิต ไม่ได้ขึ้นครองราชย์ ส่วนพระราชนัดดาผู้เป็นหลานปู่นั้น ได้เป็นกษัตริย์ครองล้านนาสืบมามีนามว่าพระยอดเชียงราย

คำว่า “พระราชนัดดา” หากแปลแบบยืดหยุ่นแล้ว อาจหมายถึง หลานหรือเหลนก็ได้ เช่นพระนามของพระเมืองแก้ว ซึ่งเป็นเหลนของพระเจ้าติโลกราชมีสร้อยต่อท้ายว่า “พระราชปนัดดา” ด้วยเช่นกัน

กล่าวโดยสรุปได้ว่า ผู้เขียนตำนานพระศีลาเจ้านี้ ต้องเขียนขึ้นในยุคถ้าไม่พระยอดเชียงรายก็ต้องสมัยพระเมืองแก้ว รัชกาลใดรัชกาลหนึ่งอย่างแน่นอน

ภาพวาดบนผนังทางเข้าพระวิหารที่ประดิษฐานพระศีลาเจ้า วัดเชียงมั่น

ข้อสังเกตในภาพรวมทั้งหมดของพระศีลา

ผู้อ่านที่ติดตามทุกตอน อาจมีข้อสังเกตร่วมกันกับดิฉันบ้างก็ได้ในประเด็นเหล่านี้คือ

ประเด็นแรก เหตุไรตำนานพระศีลาเจ้าจึงตกหล่นไป ไม่ปรากฏแทรกอยู่ในตอนสั้นๆ ของคัมภีร์ชื่อก้อง “ชินกาลมาลีปกรณ์” ยุคเมื่อ 500 ปีก่อน ผิดกับเรื่องราวของพระพุทธสิหิงค์และพระแก้วมรกต ทั้งๆ ที่เนื้อหาของพระศีลาเจ้ามีลักษณะใกล้เคียงกันกับพระปฏิมากรสององค์ที่กล่าวมา

คือตำนานในช่วงต้นต่างอิงเหตุการณ์ยุคแรกสร้างอันไกลโพ้นถึงอินเดียบ้าง ลังกาบ้างในท่วงทำนองเดียวกัน ทุกองค์เป็นพระพุทธรูปเดินทางไกล แรมรอนไปประทับเมืองต่างๆ ในที่สุดมาจบลงยังนครเชียงใหม่

ประเด็นที่สอง เรื่องการประดิษฐานพระศีลาเจ้าในลำปางช่วงระยะเวลาหนึ่ง ก่อนที่จะย้ายมาอยู่เชียงใหม่ ทำไมตำนานส่วนนี้จึงละม้ายกับตำนานพระแก้วมรกต มีคำถามตามมามากมายว่าช่วงที่พระแก้วมรกตประดิษฐานที่วัดพระแก้วดอนเต้าสุชาดารามนั้น พระศีลาเจ้าเล่าประดิษฐานอยู่ที่วัดไหนของนครลำปาง?

จะใช่วัดพระธาตุลำปางหลวงหรือไม่ เหตุที่วิหารด้านทิศตะวันตกปัจจุบันมีการประดิษฐาน “พระศิลานาคปรก” องค์หนึ่ง เป็นพุทธศิลป์แบบขอมรุ่นหลัง ใครสร้าง สร้างเพื่อรำลึกถึงพระศีลาเจ้าว่าครั้งหนึ่งเคยอยู่เมืองลำปางหรือเช่นไร

ประเด็นที่สาม การสืบสาวราวเรื่องถึงยุคผู้เขียนตำนานพระศีลานั้น ณ ปัจจุบันเรามีหลักฐานอ้างอิงได้เก่าสุดแค่ยุคพระเจ้ากาวิละ ที่มอบหมายให้พระภิกษุรูปหนึ่งแถวป่าซางคัดลอกตำนานเรื่องนี้มาเท่านั้น สอดรับกับเหตุการณ์หลังฟื้นเมืองเชียงใหม่แล้ว พระเจ้ากาวิละนั่นเองที่เป็นผู้อัญเชิญพระศีลาเจ้าเข้ามาประทับ ณ วัดเชียงมั่น คู่กับพระแก้วขาวเสตังคมณีเมื่อปี 2339 อัญเชิญมาจากที่ใดกันเล่า?

น่าสงสัยว่า ยุคที่พระเจ้าไชยเชษฐาธิราชได้รวบเอาพระพุทธปฏิมากรองค์สำคัญๆ ของล้านนามากมายหลายองค์จากเชียงใหม่ไปไว้ที่หลวงพระบางนั้น มีการนำเอาพระศีลาเจ้าไปด้วยหรือไม่ รวมไปถึงยุคที่พม่าปกครองล้านนานานกว่า 217 ปีนั้น เกิดอะไรขึ้นกับหอพระแก้ว พระศีลาเจ้าอยู่ที่ไหน หากไม่อยู่ล้านช้าง?

เราจะพบว่าเรื่องราวของพระศีลาเจ้ามีสองส่วนที่ตัดขาดจากกันโดยสิ้นเชิง ส่วนแรก เป็นพระพุทธรูปที่มีตำนาน แม้ไม่ระบุว่าใครเขียน ก็พอสันนิษฐานได้ว่าต้องเป็นตำนานที่เขียนร่วมสมัยกับชินกาลมาลีปกรณ์ ไม่ใช่เขียนในยุคพระเจ้ากาวิละอย่างแน่นอน

กับส่วนที่สอง เราได้เห็นความสนพระทัยของพระเจ้ากาวิละต่อพระศีลาเจ้าองค์นี้อย่างลึกซึ้ง ถึงขนาดให้พระภิกษุที่อยู่ป่าซางคัดลอกคัมภีร์ มีการสร้างกรอบซุ้มให้พระศีลาพร้อมคำจารึกยาวเหยียด ทั้งยังอัญเชิญพระศีลาเจ้าให้มาประดิษฐานคู่กับพระแก้วขาวเสตังคมณี พระคู่บ้านคู่เมืองลำพูน-เชียงใหม่

ประเด็นสุดท้าย พระแก้วมรกตก็ดี พระพุทธสิหิงค์ก็ดี มีการผูกตำนานอ้างอิงถึงอินเดีย-ลังกา ทว่า ในด้านพุทธศิลป์แล้ว ทั้งพระแก้วมรกตกับพระพุทธสิหิงค์ กลับมีรูปแบบศิลปะที่กำหนดอายุได้แค่สมัยล้านนา? ส่วนพระศีลาเจ้ากลับเป็นพุทธศิลป์อินเดียสมัยปาละ

ไม่ว่าความพยายามในการไขปริศนาทุกเปลาะทุกประเด็นของดิฉันด้วยการถอดรหัส ค้นหาข้อเท็จจริงจากตำนาน จะใกล้เคียงความเป็นจริงมากน้อยแค่ไหนก็ตาม ทว่าสิ่งที่เป็นความจริงที่ทุกคนมิอาจปฏิเสธได้เลยก็คือ

พระศีลาเจ้าวัดเชียงมั่น คือพระพุทธรูปอินเดียสมัยปาละที่สร้างขึ้นราว พ.ศ.1400-1500 ถือเป็นพระพุทธปฏิมากรองค์ที่น่าจะเก่ามากที่สุดองค์หนึ่งบนแผ่นดินล้านนา