ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 1 - 7 กรกฎาคม 2559 |
---|---|
คอลัมน์ | ท่าอากาศยานต่างความคิด |
เผยแพร่ |
หากจะนับบุคคลในแผ่นดินจีนช่วงนั้นที่มีชีวิตโลดโผนที่สุด คงไม่อาจพ้น อ้ายชิง เจียวหลอ ปูยี ผู้พลัดตกจากจักรพรรดิสู่สามัญชน
ชีวิตของปูยีนั้นเป็นที่รู้จักกันดีในฐานะที่เป็นภาพยนตร์เรื่อง The Last Emperor และในฐานะที่ถูกรัฐบาลจีนขณะนั้นใช้โหมประโคมถึงชีวิตของผู้ที่สามารถปรับตัวเข้ากับระบอบใหม่ได้อย่างน่าชื่นชม
กระนั้นก็ตาม ชีวิตของ ตู้ ยู เชิง เจ้าพ่อซานไห่ ก็เป็นชีวิตของบุคคลที่ก้าวขึ้นจากเด็กกำพร้าสู่บุคคลที่กุมชะตากรรมของนครซานไห่และระบอบเศรษฐกิจของจีน
ว่ากันว่าทุกเศษเสี้ยวของเหรียญเงินที่คนติดฝิ่นในยามนั้นจับจ่ายเพื่อเสพฝิ่นจะแล่นเข้าไปสู่กระเป๋าของ ตู้ ยู เชิง ไม่นับว่ามิตรสหายของ ตู้ ยู เชิง นั้นมีตั้งแต่ ไต้ ลี่ มือขวาของ เจียง ไค เช็ก จนถึงเจ้าพ่อทั้งหลายในดินแดนและนอกดินแดนจีน เครือข่ายที่ ตู้ ยู เชิง มีอยู่ในขณะนั้นอาจเป็นรองแค่รัฐบาลก๊กมินตั๋งเท่านั้นเอง
และชีวิตของเขาก็ถูกนำมาทำเป็นภาพเคลื่อนไหวหลายต่อหลายครั้ง ทั้งในแบบละครโทรทัศน์และภาพยนตร์ในฐานะของชีวิต-เจ้าพ่อซานไห่
ในช่วงที่ ตู้ ยู เชิง เข้าสู่วงการใต้ดินนั้น นครซานไห่ประกอบไปด้วยพรรคเขียว-ชิงปัง และพรรคแดง-ฮงเหมิน
พรรคแดงนั้นถือว่าเป็นพี่ใหญ่ของพรรคเขียวและมีอาณาเขตปกครองแทบทั้งซานไห่และตลอดลำน้ำฮวงพู
ส่วนพรรคเขียวนั้นปกครองนอกเขตนครซานไห่เป็นต้นไป
สาเหตุที่พรรคแดงปกครองลำน้ำนั้นมีที่มาจากการที่เดิมพรรคแห่งนี้เกิดจากกลุ่มชาวเรือที่ตั้งกลุ่มขึ้นเพื่อปกป้องสินค้าที่ล่องมาตามแม่น้ำมิให้ถูกโจรหรือคนร้ายปล้นชิงโดยแลกเปลี่ยนเป็นค่าคุ้มครองบ้างพอสมควร
ปีที่ ตู้ ยู เชิง เข้าร่วมกับพรรคเขียวหรือชิงปังนั้นคือปี 1908 ช่วงเวลานั้นกลุ่มก้อนที่ทำการคุ้มครองลำน้ำได้เปลี่ยนเป็นอั้งยี่ใต้ดินไปแล้วอย่างสิ้นเชิง
แต่ไม่ว่าจะเป็นพวกอั้งยี่หรือพวกก่อการเพื่อเปลี่ยนระบอบใหม่ ทั้งสองกลุ่มล้วนทำการอย่างผิดกฎหมายทั้งสิ้น
สมาชิกของทั้งสองกลุ่มนี้จึงคบหาเป็นมิตรสหายกัน
เป้าหมายของนายแพทย์ ซุน ยัต เซน ที่จะเปลี่ยนแปลงการปกครองของประเทศจีนให้พ้นจากอำนาจของราชวงศ์เช็งนั้นเป็นเป้าหมายที่ต้องพึ่งพาเงินทองมหาศาล แม้จะได้รับการสนับสนุนด้านการเงินจากชาวจีนโพ้นทะเล แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่าเงินทองในการเคลื่อนไหวครั้งนั้นส่วนหนึ่งก็มาจากกลุ่มอั้งยี่ใต้ดินที่เห็นว่าระบอบเก่ากดขี่พวกเขาซึ่งเป็นชนชั้นล่างมาเนิ่นนานเช่นกัน
ดังนั้น เมื่อนครวูฮั่นประกาศชัยชนะแห่งการเปลี่ยนแปลงการปกครองในวันที่ 10 ตุลาคม 1911 ซานไห่จึงเป็นนครที่ประกาศสนับสนุนและเข้าร่วมด้วยแทบจะทันที
ช่วงเวลานั้นเองมีนายทหารหนุ่มวัยยี่สิบปีคนหนึ่งที่สนับสนุนการเปลี่ยนแปลงอย่างแข็งขัน เขามีนามว่า เจียง ไค เช็ก
นายทหารหนุ่มผู้นี้เห็นถึงสัมพันธภาพอันแนบแน่นระหว่างกลุ่มอั้งยี่กับกลุ่มใต้ดินหัวก้าวหน้าและต้องการจะเข้าเป็นส่วนร่วมในการเปลี่ยนแปลงนี้
เขาเริ่มผูกมิตรกับสมาชิกพรรคชิงปังหรือพรรคเขียวเพื่อผลักดันตนเองให้เป็นผู้ก่อการคนสำคัญ
แต่การผลักดันตนเช่นนั้นต้องผ่านทางนายตำรวจคนสำคัญของซานไห่ที่ ตู้ ยู เชิง เองก็พึ่งพาเขาอย่างมากคือ หวง จิง หรง-Huang Jinrong
หวง จิง หรง นั้นเป็นนายตำรวจที่ทำงานอยู่ในเขตปกครองของฝรั่งเศสมาก่อน และในเขตปกครองฝรั่งเศสนั้นเองที่ฝิ่นจำนวนมากถูกผลิตขึ้น บี แอล ซิมสัน-นักข่าวชาวอังกฤษประจำนครซานไห่ในขณะนั้นถึงกับรายงานว่า
“ศูนย์กลางของการค้าฝิ่นในซานไห่นั้นอยู่ในเขตปกครองพิเศษของฝรั่งเศส โดยที่คลังฝิ่นถูกดูแลเป็นอย่างดีโดยพวกตำรวจ ฝิ่นกว่าสองหมื่นหีบทั้งจากเปอร์เซีย ตุรกีและอินเดีย ถูกนำเข้ามาพักไว้ที่เขตนี้ในทุกๆ ปี และฝิ่นกว่าพันห้าร้อยห่อถูกนำเข้ามาพักทุกเดือน ว่ากันว่ามีเงินรายได้จากการค้าฝิ่นกว่าหกล้านดอลลาร์ หมุนเวียนในธุรกิจนี้ทุกปี”
ฉากหน้าของ หวง จิง หรง คือหัวหน้าหน่วยสวบสวนในซานไห่ที่รับผิดชอบการเคลื่อนไหวของสิ่งผิดกฎหมาย
ทว่า ฉากหลังนั้น เขาคือบุคคลที่เป็นสมาชิกพรรคเขียวหรือชิงปังระดับหัวหน้าเลยทีเดียว
การขนส่งฝิ่นนั้นกระทำการผ่านทางการห่อดังของขวัญที่ไปมอบให้กับบุคคลสำคัญ
ทุกเช้าจะมีการประชุมพรรคชิงปังเพื่อกำหนดพิธีมอบของขวัญเหล่านี้ให้กับบุคคลที่จะกระจายมันต่อไป และผู้ที่เป็นมือขวาของ หวง จิง หรง ในการปกป้องการขนย้ายฝิ่นเหล่านี้คือเด็ดหนุ่มผู้มีความทะเยอทะยานนาม ตู้ ยู เชิง นั้นเอง
หวง จิง หรง นั้นสร้างชื่อขึ้นมาจากคดีลักพาตัวในเขตปกครองพิเศษของฝรั่งเศส แม้ว่าพ่อของเขาจะเป็นตำรวจเก่าในซูโจวมาก่อนแต่ก็หาได้มีผลต่อการตัดสินใจเป็นตำรวจของเขา
แรงจูงใจที่ทำให้ หวง จิง หรง เป็นตำรวจเกิดจากวัยเด็กที่เขาทำงานในร้านกรอบรูปและเมื่อต้องนำกรอบรูปไปส่งลูกค้าที่มีอันจะกิน
เขาจะพบเห็นการเก็บส่วยจากตำรวจในพื้นที่ การเห็นที่มาของเงินง่ายๆ เช่นนี้ทำให้หวงฯ ตัดสินใจเข้าเป็นตำรวจในเวลาต่อมา
ด้วยบุคลิกใจใหญ่และชอบคบค้ากับพวกนักเลงหัวไม้ทำให้หวงฯ มีเส้นสายมากมาย
คดีลักพาตัวที่หวงฯ แก้คดีได้นั้นเกิดขึ้นเมื่อบาทหลวงชาวฝรั่งเศสคนหนึ่งได้หายตัวไป บาทหลวงผู้นั้นมีความสนิทสนมกับกงสุลฝรั่งเศศประจำซานไห่ และเมื่อเทียนสินตัดสินใจสร้างโบสถ์คาทอลิกขึ้นมา บาทหลวงผู้นั้นได้เดินทางไปร่วมพิธีเปิดด้วย
แต่เมื่อเขาจับรถไฟออกจากซานไห่ผ่านไปทางชานตงก็ถูกขุนศึกนาม จาง ฉง จาง-Zhang Zongchang จับตัวไป
จาง ฉง จาง พาบาทหลวงผู้นั้นไปไว้ยังบ้านพักของเขาในชนบทและเรียกร้องค่าไถ่จำนวนมากจากรัฐบาลฝรั่งเศส
ตำรวจในเขตปกครองพิเศษของฝรั่งเศสได้รับคำสั่งให้นำตัวบาทหลวงผู้นั้นกลับมาให้ได้ หากแต่ไม่มีใครรู้สถานที่กักขังเลย
จนในที่สุดทางตำรวจตัดสินใจติดประกาศให้รางวัลกับผู้ที่แจ้งที่คุมขังของบาทหลวงถึงสามพันดอลลาร์
และใครก็ตามที่ช่วยนำบาทหลวงกลับมาได้จะได้รางวัลถึงหนึ่งหมื่นดอลลาร์
เงินจำนวนนั้นมหาศาลโดยเฉพาะเมื่อเราเทียบกับเงินเดือนของบุคคลทั่วไปในซานไห่ที่มีรายได้อยู่เพียงยี่สิบดอลลาร์ต่อเดือนเท่านั้นเอง
หวงฯ เล็งเห็นว่านี่เป็นโอกาสอันดีในการสร้างชื่อ เขาส่งสายของเขาออกตามหาร่องรอยของบาทหลวงชาวฝรั่งเศส หากแต่กลับคว้าน้ำเหลว
ทว่า คดีลักเล็กโขมยน้อยคดีหนึ่งกลับมีผลอย่างมากต่อการสืบสวนของหวงฯ เมื่อผู้ช่วยขุนศึกในแถบชานดงคนหนึ่งเดินทางมาเที่ยวซานไห่และถูกล้วงกระเป๋าไปถึงหนึ่งร้อยดอลลาร์
ขุนศึกผู้นั้นแจ้งความกับหวงฯ ซึ่งยอมเสียเงินตนเองถึงหนึ่งร้อยห้าสิบดอลลาร์เพื่อชดใช้และขอให้เขาร่วมมือในคดีนี้ด้วย โดยถ้าเบาะแสเขามีความจริง ผู้ช่วยขุนศึกคนนั้นจะได้เงินเพิ่มอีกห้าร้อยดอลลาร์
การลงทุนครั้งนี้ของหวงฯ ประสบผลสำเร็จ ข่าวที่ได้มามีความเป็นไปได้สูง
หวงฯ ตัดสินใจเดินทางไปชานตง เขาเอาเงินติดสินบนพวกที่ดูแลสถานที่คุมขังของบาทหลวงและพาบาทหลวงผู้นั้นกลับมาซานไห่ได้อย่างสวัสดิภาพ
ผลงานครั้งนี้ของหวงฯ ได้รับคำชมอย่างมากและทำให้เขาถูกเลื่อนชั้นเป็นนายตำรวจระดับสูงประจำซานไห่
จากตำแหน่งตรงนั้นหวงฯ พบว่ามีการส่งฝิ่นเข้ามาในซานไห่เป็นจำนวนมาก เขาตัดสินใจใช้พวกพ้องตำรวจนอกรีตที่มีขโมยฝิ่นบางส่วนหลังจากฝิ่นถูกลำเลียงขึ้นท่า การมีฝิ่นในครอบครองทำให้หวงฯ ต้องหาทางปล่อยฝิ่นในเวลาต่อมา
และไม่มีใครจะช่วยเหลือเขาได้ดีเท่ากับเครือข่ายของพรรคเขียวคือชิงปังที่มีสมาชิกในพรรคนาม ตู้ ยู เชิง
เมื่อถึงทศวรรษที่ 20 ตลาดยาเสพติดในซานไห่ก็ตกอยู่ในมือของบุคคลสามคนอันได้แก่ หวง จิง หรง ตู้ ยู เชิง และ จาง เซี่ยว หลิง-Zhang Xiaolin ประวัติของ จาง เซี่ยว หลิง นั้นแทบไม่ต่างจาก ตู้ ยู เชิง เขาเดินทางมาซานไห่จากแคว้นซีเจียงเพื่อสร้างอนาคตเเละเข้าร่วมกับพรรคเขียวก่อนหน้าตู้ฯ การผลัดเปลี่ยนผู้นำการควบคุมตลาดค้ายาเสพติดเป็นดังนี้ ในตอนแรกเป็น หวงฯ จางฯ และตู้ฯ ก่อนจะเปลี่ยนเป็น ตู้ฯ หวงฯ และจางฯ ในกลางทศวรรษที่ 20 ด้วยเหตุการณ์สำคัญในปี 1924
เรื่องราวที่ว่าเกิดขึ้นเมื่อหวงฯ ตกหลุมรักนางเอกงิ้วคนหนึ่งนาม หลู หลัน ชุน-Lu Lanchun หวงฯ รักนางเอกงิ้วคนนี้มาก (ซึ่งภายหลังได้เป็นภรรยาเขา) จนถึงกับสร้างเวทีเฉพาะให้เธอแสดง คืนหนึ่งขณะที่หรงฯ กำลังชื่นชมการแสดงของ หลู่ หลัน ชุน อยู่นั้น มีชายหนุ่มคนหนึ่งที่มาพร้อมด้วยผู้ติดตามมาเข้าชมการแสดงของ หลู่ หลัน ชุน ด้วย หากแต่ปรากฏว่าการแสดงในคืนนั้น หลู่ฯ ร้องพลาดไปท่อนหนึ่ง ชายหนุ่มคนนั้นส่งเสียเยาะเย้ยเธอ หรงฯ ผู้ไม่ยอมเสียหน้าสั่งลูกสมุนให้ลากชายหนุ่มคนนั้นไปลงโทษด้วยการซ้อมจนแทบปางตายโดยที่ผู้ติดตามไม่อาจช่วยเหลืออะไรได้
เหตุการณ์ที่ว่าคงสงบเงียบลงตามอำนาจของหวงฯ หากว่าชายหนุ่มผู้นั้นจะไม่ใช่ ลู เซีย เจีย-Lu Xiaojia บุตรชายของ ลู หย่ง เซียง-Lu yongxiang ขุนศึกผู้ทรงอิทธิพลคนหนึ่งของสังคมจีนยุคนั้น สองคืนถัดมาในขณะที่ หลู่ หลัน ชุน กำลังแสดงอยู่ กลุ่มชายในเครื่องแบบติดอาวุธครบก็บุกเข้าไปในโรงงิ้วเอาปืนจ่อหัวของหรงฯ และลากเขาไปยังสถานที่ลับเฉพาะ กลุ่มชายในเครื่องแบบเหล่านี้คือตำรวจที่รับคำสั่งมาจาก หลู หย่ง เซียง ให้แก้แค้นแทนลูกชายของเขา หวงฯ ถูกทุบตีซ้ำแล้วซ้ำเล่าและถูกกักขังต่อไปไม่มีกำหนด
การหายไปของหวงฯ ทำให้วงการค้าฝิ่นปั่นป่วน จางฯ รับหน้าที่ตามหาในขณะที่ตู้ฯ รับหน้าที่ไปเจรจากับตำรวจผู้ลงมือ
เหตุการณ์ครั้งนี้ทำให้ตู้ฯ ตระหนักว่าสมาคมลับหรืออั้งยี่แม้จะทรงอิทธิพลสักเพียงใดก็ตามย่อมไม่อาจขัดใจกองทัพได้
ตู้ฯ ใช้โอกาสนี้ เรียกผู้ค้าฝิ่นทั้งหมดมาและลงเงินกองกลางเพื่อผูกมิตรกับกองทัพโดยเฉพาะกับ เฮอ เฟิง หลิน-He Fenglin ผู้ที่นำชายในเครื่องแบบมาลากตัวหวงฯ ไป