‘ตีน หรือ ปีก’ / หลังเลนส์ในดงลึก : ปริญญากร วรวรรณ

ม.ล.ปริญญากร วรวรรณ

หลังเลนส์ในดงลึก

ปริญญากร วรวรรณ

 

‘ตีน หรือ ปีก’

 

“ผมอยากมีปีก ไม่มีเหตุผลอื่นใดมากไปกว่า ปีกคือเครื่องหมายแห่งอิสระ”

ผมเคยเขียนประโยคนี้ในงานชิ้นหนึ่ง เพราะเชื่อว่า การมีปีกและได้โบยบินไปทั่วท้องฟ้ากว้างนั่นคือความอิสระเสรี

โดยเฉพาะอย่างยิ่งเวลาเดินอย่างเหน็ดเหนื่อยอยู่ในหนทางรกทึบ ไต่ขึ้นทางชัน เมื่อแหงนหน้ามองเห็นนกกำลังบินอย่างรวดเร็วในทิศทางที่เรากำลังมุ่งหน้าไป ดูคล้ายกับว่ามันไม่ต้องใช้เรี่ยวแรงมาก หรือไม่เหน็ดเหนื่อย ใช้เวลาไม่นานก็ถึงจุดหมาย

ผ่านวันเวลา รวมทั้งเริ่มเข้าใจบทเรียนต่างๆ ที่เหล่าสัตว์ป่าสอน ผมจึงไม่แหงนหน้ามอง เพราะความจริงไม่ได้อยู่ข้างบน ไม่ได้อยู่ที่จุดหมายไกลๆ มันอยู่ใกล้ๆ

ใกล้กระทั่งผมมองข้ามไปเสมอ…

 

อวัยวะต่างๆ ในร่างกายสัตว์ป่าสำคัญ พวกมันจะสามารถดำเนินชีวิต และทำหน้าที่ไปตามวิถีปกติได้อย่างที่ควร ต้องมีอวัยวะอันสมบูรณ์

อย่างเช่น ปีก เป็นอวัยวะที่สำคัญของนก เป็นเครื่องมือที่ทำให้พวกมันเดินทางเคลื่อนที่ไปในอากาศได้ และปีกอันเป็นอวัยวะปกติของนกนี่แหละ ที่เราเชื่อกันว่า มันคือเครื่องมือแห่งอิสระ

หากมีปีก ย่อมบินไปได้ทุกแห่งตามใจปรารถนา

ครั้งหนึ่งผมเคยคิดอยากมีปีก จนกระทั่งลืมไปว่าควรฝึกฝนอวัยวะที่มี คือ ตีน ให้คล่องแคล่ว เพราะตีนคือเครื่องมือสำคัญ ทำให้เคลื่อนที่ เดินทาง บนหนทางรกทึบ สูงชัน และพาไปถึงจุดหมาย

 

อีกนั่นแหละ นกบางชนิดมีปีกเป็นเครื่องมือสำหรับบิน แต่คล้ายพวกมันจะไม่ใช้ปีกในชีวิตประจำวันสักเท่าไหร่

ไม่ว่าจะเป็นในการหาอาหาร หรือเคลื่อนที่จากที่หนึ่งไปยังอีกที่

บางชนิด ซึ่งอาศัยอยู่ในที่กันดาร แห้งแล้งไร้ต้นไม้ พวกมันมีทักษะในการใช้ตีนวิ่งไล่เหยื่อได้อย่างรวดเร็ว

แต่แน่นอนว่า มีนกหลายชนิดใช้ประโยชน์จากปีกของตัวเอง เป็นเครื่องมือสำหรับดำเนินไปตามวิถีอย่างเชี่ยวชาญ ทั้งการทำหน้าที่ และเดินทางย้ายถิ่นตามฤดูกาล บนเส้นทางยาวไกล นับพันกิโลเมตร

นกแก๊ก – นกเงือกขนาดเล็ก ที่มีปีกและใช้เป็นเครื่องมือเคลื่อนที่อย่างคล่องแคล่ว แต่บางครั้งมันก็รู้จักวิธีใช้ตีนในเวลาที่หมาะสม

 

นกส่วนใหญ่มีชีวิตอยู่ได้โดยอาศัยปีก แต่มีนกจำนวนไม่น้อยใช้ปีกที่มีน้อยมาก บางตัวไม่ได้ใช้ปีกเพื่อบินเลย

ไม่ได้หมายความว่านกเหล่านั้นพยายามฝืนกระทำในสิ่งที่ตนไม่ได้ถูกกำหนดให้เป็น

แต่เป็นเพราะนกเหล่านั้นรู้จักตัวเอง รู้ว่าเมื่อใด หรืออยู่ในสิ่งแวดล้อมอย่างไร จะเลือกใช้เครื่องมืออย่างใดให้เหมาะสม

ที่สำคัญ รู้ว่าตัวเองเกิดมาเหมาะกับเครื่องมือชนิดใด

 

ผมอยากมีปีก ครั้งเริ่มดูนกแรกๆ ต่อเมื่อผ่านการดูนกไปสักระยะ ผมมีคำถามกับตัวเองว่า ปีกของนกคือความหมายแห่งอิสระจริงหรือ

หรือในความเป็นจริง นกใช้ปีกเพื่อเคลื่อนที่จากที่หนึ่งไปยังอีกที่ การเคลื่อนที่ของพวกมันมีแหล่งอาหารเป็นตัวกำหนด ไม่ว่าจะเดินทางใกล้ๆ หรือไกลข้ามโลก อย่างเหล่านกซึ่งเดินทางหลบความขาดแคลนอาหารในช่วงฤดูหนาว จากทางตอนเหนือของโลก มาสู่โซนใต้ๆ

แหล่งอาหารเป็นสิ่งกำหนดให้นกเดินทางทุกปี ในเส้นทาง และจุดหมายเดิม อย่างซ้ำซาก จำเจ

นกสอนให้รู้ว่าพวกมันมีปีกไว้เพียงเพื่อเป็นเครื่องมือเดินทาง

หากความหมายของความอิสระ คือการมีชีวิตอยู่โดยไร้สิ่งควบคุม

วิถีของนกเฉลยความจริงให้ผมรู้ บนโลกนี้ความอิสระอย่างที่ผมเข้าใจ คล้ายไม่มีจริง

 

ตอนที่เงยหน้ามองนก และอยากมีปีก ผมไม่รู้หรอกว่า จริง ๆ แล้ว ขณะบินนกต้องใช้พละกำลังไม่น้อยในการขยับปีกเดินทาง

เวลาผ่านไป เริ่มเข้าใจ ผมคุ้นชินกับการใช้ “ตีน” มากขึ้น

รู้ว่าขณะขึ้นเขา หรือลงเขาชันๆ ต้องวางเท้าอย่างไร

เรียนรู้จังหวะการเดินของตัวเอง ว่าช้าหรือเร็วขนาดไหนจึงจะสัมพันธ์กับระบบการหายใจ

ถึงที่สุด ผมก็รู้ว่า สิ่งเหล่านี้ได้รับการควบคุมมาจากอวัยวะอันเรียกว่า หัวใจ

 

ผมเริ่มต้นด้วยการอยากมีปีก

แต่วันหนึ่ง สัตว์มีปีกอย่างนก ได้สอนให้รู้จักการใช้ “ตีน”

ที่จริงมันอาจเป็นเรื่องง่ายๆ ที่หลายคนรู้ แต่ผมใช้เวลานานพอสมควรจึงเข้าใจ และยอมรับว่า ชีวิตบนดาวเคราะห์ใบเล็กๆ นี้ต่างล้วนถูกควบคุม

นกถูกควบคุมโดยท้องฟ้า เช่นเดียวกับปลา ที่ชีวิตต้องขึ้นอยู่กับผืนน้ำ

นกสอนให้รู้ว่า เมื่อใดควรเลือกใช้ “ตีน หรือ ปีก”

เมื่อเลือกใช้ได้อย่างเหมาะสม

ดูเหมือนจะเห็นว่า ความ “อิสระ” ที่แท้จริง อยู่ที่ใด…