ธุรกิจริมฝั่งเจ้าพระยา / วิรัตน์ แสงทองคำ

วิรัตน์ แสงทองคำviratts.wordpress.com

วิรัตน์ แสงทองคำ

https://viratts.com/

 

ธุรกิจริมฝั่งเจ้าพระยา

 

ทิศทางหนึ่งที่จะเป็นไป ด้วยแรงขับเคลื่อนเต็มกำลัง ไปยังหมุดหมายใหม่ พลิกโฉมหน้าเมืองหลวงเชื่อมโยงกับแม่น้ำ

จากชิ้นส่วนเล็กๆ ก่อกระแสหนึ่ง เมื่อปลายปีที่แล้ว (22 พฤศจิกายน 2564) เครือข่ายธุรกิจกลุ่มทีซีซีได้ดีลเช่า “ล้ง 1919” ของตระกูลหวั่งหลี ตั้งอยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยา เนื้อที่ 8 ไร่กว่า เป็นระยะเวลายาวกว่า 64 ปี มีค่าเช่า 1,269.2 ล้านบาท ตามแผนจะมีการลงทุนเพิ่มอีก 2,166.8 ล้านบาท

“…พัฒนาสถานที่ที่มีความสำคัญทางประวัติศาสตร์…เป็นศูนย์กลางการท่องเที่ยวด้านสุขภาพระดับโลก ซึ่งจะเชื่อมโยงกับโครงการอื่นๆ ที่ตั้งอยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยาสอดคล้องกับแนวคิด “‘The River Journey’ ประสบการณ์ท่องเที่ยวริมน้ำที่สำคัญของประเทศไทย” ผู้เช่าว่าไว้อย่างนั้น ซึ่งจะดำเนินการอย่างกระชับให้แล้วเสร็จภายในสิ้นปี 2568

เป็นดีลที่น่าสนใจ เกี่ยวกับครอบครัวธุรกิจเชื้อสายจีนต่างยุค ระหว่างตระกูลเก่าแก่ฝั่งรากเหง้าก่อนสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง กับรุ่นหลังๆ เติบโตหลังยุคสงครามเวียดนาม ห่างกันกว่าศตวรรษ

ต้นตระกูลหวั่งหลี ตั้งรกรากในสยามเมื่อราวๆ 150 ปีที่แล้ว “ตันฉื่อฮ้วง (2393-2468) เดินทางมากับเรือสำเภาถึงเมืองไทยครั้งแรกประมาณปี 2414 หนุ่มน้อยแซ่ตันคนนี้คือเสมียนคุมสินค้าของบิดา ขึ้นล่องระหว่างฮ่องกงกับไทย โดยนำผ้าไหมจากเมืองจีนมาขายในไทย และนำข้าวจากไทยกลับไปขายยังฮ่องกง เขากับบิดาจอดเรือสำเภาเทียบท่าใกล้วัดทองธรรมชาติ ในเขตคลองสานในปัจจุบัน” (บางตอนจากเรื่อง “หวั่งหลี FAMILY SAGA เหนือความสำเร็จทางธุรกิจ คือความภูมิใจ” โดยวิรัตน์ แสงทองคำ นิตยสารผู้จัดการ ธันวาคม 2529)

เป็นไปได้ว่า จุดหมายที่ว่าเป็นท่าเรือ “ฮวยจุ่งล้ง” ที่มีอยู่ก่อนแล้ว (ปี 2395) เจ้าของเป็นชาวจีนโพ้นทะเลอีกรุ่น ซึ่งมาก่อน เป็นพวกแรกๆ รับใช้ราชสำนัก ในฐานะนายอาการบ่อนเบี้ย จนมีบรรดาศักดิ์ ในเวลาต่อมาบ้านหวั่งหลีได้สร้างขึ้นในบริเวณใกล้เคียงนั้นด้วย (ปี 2424) และจากนั้นได้ครอบครองพื้นที่กว้างขึ้นครอบคลุมท่าเรือ ซึ่งก็คือ “ล้ง 1919” ในปัจจุบัน ทั้งนี้ “1919” เป็นปีคริสต์ศักราช หรือปี พ.ศ.2462 คือปีที่มีความหมายสำคัญว่า ท่าเรือ “ฮวยจุ่งล้ง” เปลี่ยนมือมาเป็นของตระกูลหวั่งหลี รุ่นที่ 2 ที่มีผู้นำชื่อ ตันลิบบ๊วย

“ตันลิบบ๊วย (2424-2480) เข้าสืบทอดบิดาเพียงอายุ 19 ปี โดยดำเนินรอยเท้าบิดาอย่างดี สร้างกิจการค้าใหญ่โตเป็นลำดับ แวดล้อมการค้าส่งออกข้าว-โรงสี รวมทั้งเป็นตัวแทนบริษัทเดินเรือระหว่างกรุงเทพฯ-ฮ่องกง-ซัวเถา และก่อตั้งธนาคารหวั่งหลีจั่น (หมายเหตุ 2476-ก่อตั้ง 2536-เปลี่ยนชื่อเป็นธนาคารนครธน 2542-ขายหุ้นให้ธนาคารต่างชาติ) เพื่อสนับสนุนการค้าของตระกูล” (อีกตอน อ้างแล้ว)

 

อย่างที่ทราบกัน “ล้ง 1919” เกิดขึ้นจากการบูรณะอาคารเก่าสถาปัตยกรรมจีน ก่ออิฐถือปูนและมีโครงสร้างไม้ เป็นโกดังเก่า ศาลเจ้า ท่าเรือ รวมทั้งลานกว้างกลางแจ้ง เปิดตัวเป็นย่านการค้าแบบใหม่เมื่อปลายปี 2560

ส่วนเครือข่ายทีซีซี ที่มีเจริญ สิริวัฒนภักดี เป็นผู้ก่อตั้งและผู้นำ “คุณเจริญเกิดและเติบโตในย่านธุรกิจทรงวาด ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของไชน่าทาวน์ ในครอบครัวชาวจีนโพ้นทะเลจากเมืองซัวเถา อำเภอเท่งไฮ้ คุณเจริญได้เริ่มทำการค้าตั้งแต่เยาว์วัย ต่อมาได้สมรสกับคุณหญิงวรรณา สิริวัฒนภักดี จากนั้นได้ร่วมกันพัฒนากิจการจากเล็กสู่ใหญ่” (อ้างจาก http://www.tccholding.com/)

ถ้าว่าอีกเวอร์ชั่น-เจริญ สิริวัฒนภักดี สร้างฐานธุรกิจจากระบบเศรษฐกิจเก่า มีความสัมพันธ์กับระบบอุปถัมภ์ และสัมปทานสุรา ตั้งแต่เมื่อทศวรรษ 2530 สามารถขยายอาณาจักรธุรกิจอย่างกว้างขวางในช่วง 2-3 ทศวรรษที่ผ่านมานี้เอง โดยเฉพาะได้มาซึ่งอสังหาริมทรัพย์อย่างมากมาย เน้นในพื้นที่เมืองหลวง และมีความพิเศษสามารถครอบครองทรัพย์สินเก่าแก่ไว้ในมือมากที่สุดก็ว่าได้ กลายเป็นเรื่องราวสีสันว่าด้วยนักธุรกิจหน้าใหม่ กับธุรกิจที่ไม่น่าชื่นชมนัก กลับมีโอกาสสัมผัส ร่องรอยและกลิ่นอาย ธุรกิจทรงอิทธิพลในประวัติศาสตร์ซึ่งมีสายสัมพันธ์ลึกซึ้ง

หนึ่งในนั้น ในความภาคภูมิใจคือ เอเชียทีค เดอะ ริเวอร์ฟร้อนท์ (เปิดบริการ 2555)

“ศูนย์กลางการท่องเที่ยวเชิงไลฟ์สไตล์ริมแม่น้ำเจ้าพระยา กับวิวโค้งน้ำแบบพาโนรามาที่สวยที่สุดในกรุงเทพมหานคร หนึ่งในแลนด์มาร์กของประเทศไทย โดยการนำท่าเรือสินค้าระหว่างประเทศแห่งแรกของไทยในสมัยรัชการที่ 5 มาปรับปรุงและตกแต่งเพิ่มเติมในสไตล์โคโลเนียล ซึ่งเป็นสถาปัตยกรรมที่ผสมผสานระหว่างศิลปะตะวันตกและของท้องถิ่นเข้าไว้ด้วยกัน นับเป็นการพลิกโฉมวงการรีเทลของเมืองไทย” สาระที่ปรากฏ คล้ายๆ โบรชัวร์ (Brochure) พัฒนาจากบริเวณท่าเรือเก่าอีสต์ เอเชียติ๊กในยุคอาณานิคม ที่มีอายุกว่า 100 ปี เป็นทำเลที่น่าสนใจอยู่ฝั่งตรงข้ามไม่ไกลกับ “ล้ง 1919”

ที่จริงไม่ห่างจากตึกเก่า (สร้างปี 2434) อีกแห่ง ริมน้ำเจ้าพระยาเช่นกัน อยู่ในซอยเจริญกรุง 40 ติดกับท่าเรือโอเรียนเต็ล อาคารอนุรักษ์ เคยเป็นสำนักงาน The East Asiatic Company กิจการค้ายุคอาณานิคมของชาวเดนมาร์ก สถาปัตยกรรมเรอแนซ็องส์ ออกแบบโดย Annibale Rigotti สถาปนิกชาวอิตาเลียน คนเดียวกับที่ออกแบบธนาคารไทยพาณิชย์ ตลาดน้อย (ปี 2451) มีฐานะสำคัญเป็นสำนักงานใหญ่แห่งที่ 2 ของธนาคารสยามกัมมาจล (ชื่อเดิม) ท่ามกลางช่วงเวลาไม่ค่อยราบรื่นก่อนสงครามโลกครั้งที่ 1 ระเบิดขึ้น ขณะนั้นธนาคารอยู่ภายใต้อำนาจการบริหารโดยชาวต่างชาติ

เช่นเดียวกับท่าเรือ ตึกสำนักงานอีสต์ เอเชียติ๊ก เปลี่ยนมือราวๆ ปี 2530 มาเป็นทรัพย์สินของกลุ่มทีซีซี ว่ากันว่าอยู่ในแผนการปรับโฉมเป็นหนึ่งในเครือข่ายโรงแรมเก่าแก่ของฝรั่งเศส-Hotel Plaza Ath?n?e

 

ขณะช่วงเวลาเอเชียทีค เดอะ ริเวอร์ฟร้อนท์ เปิดบริการ มีโครงการใหญ่ที่สุด เปิดตัวอย่างครึกโครม มูลค่าลงทุนขยับขึ้นไปกว่า 50,000 ล้านบาท สะท้อนแนวคิดและแผนการอันตื่นเต้น คล้ายๆ กัน “เพื่อถ่ายทอดความงดงามของแม่น้ำเจ้าพระยาแหล่งรวมอารยะธรรมไทยสู่ใจชาวไทยและชาวโลกพร้อมปั้นกรุงเทพฯ เมืองฟ้าอมรเป็นแดนสวรรค์ระดับโลกที่คนทุกชาติอยากมาเยี่ยมยลที่สุด” สาระตอนสำคัญของเรื่องราวว่าด้วยความร่วมมือทางธุรกิจครั้งสำคัญ

ภาพผู้ร่วมงานในงานแถลงข่าวใหญ่ (ปี 2555) เปิดตัว ไอคอนสยาม โครงการพัฒนาอย่างผสมผสานตามแบบแผนสมัยใหม่ มีผู้เกี่ยวข้องอย่างสำคัญ ฝ่ายหนึ่งมี-ธนินท์ เจียรวนนท์ (ขณะนั้นประธานกรรมการและประธานคณะผู้บริหารเครือซีพี) พารณ อิศรเสนา ณ อยุธยา ที่ปรึกษากิตติมศักดิ์ บริษัท แมกโนเลีย ควอลิตี้ ดีเวล็อปเม้นต์ คอร์ปอเรชั่น และ ศุภชัย เจียรวานนท์ (ขณะนั้นเป็นประธานกรรมการบริหาร ทรูคอร์เปอเรชั่น ปัจจุบันคือประธานกรรมการบริหารเครือซีพี) กับอีกฝ่ายหนึ่ง ธารินทร์ นิมมานเหมินท์ ประธานกรรมการบริษัทสยามพิวรรธน์ พนัส สิมะเสถียร (ประธานกรรมการบริหาร สยามพิวรรธน์) และบันเทิง ตันติวิท (ประธานกลุ่มเอ็มบีเค ผู้ถือหุ้นใหญ่ สยามพิวรรธน์)

ภาพกลุ่มผู้มีรากฐานในสังคมและเกี่ยวข้องสถาบันสำคัญ ร่วมมือกันครั้งสำคัญ เครือข่ายธุรกิจรากฐานซึ่งลงหลักปักฐาน ก่อให้กระแสสมทบอย่างมีพลัง จากนั้นในปลายปี 2560 โฉมหน้ากรุงเทพฯ ใหม่ริมเจ้าพระยาอันคึกคักบังเกิดขึ้น แต่โชคไม่เข้าข้างนัก ผ่านไปไม่กี่เดือนวิกฤตการณ์โรคระบาดระดับโลกอุบัติขึ้นขัดจังหวะ ดูจะเป็นเวลาที่ยืดเยื้อพอควร

เป็นเดิมพันที่น่าสนใจ ในฐานะเป็นดัชนีหนึ่งว่าด้วยพลังขับเคลื่อนสังคมธุรกิจไทย