‘หานซิ่น เทพนักรบ’ บทเรียน ของคนที่ไม่เข้าใจ การเมือง?

ยิ่งมาก ยิ่งดี

หานซิ่น แม่ทัพใหญ่ ผู้บุกเบิกราชวงศ์ฮั่น

 

สมัยหนุ่มๆ ที่ยังไม่เข้าใจชีวิตเท่าใด

ผมชอบศึกษาประวัติศาสตร์ยุคโบราณของผู้นำการทหารทั้งหลาย เปรียบเทียบว่าใครเก่งกว่ากัน

เพราะคิดเอาเองแบบง่ายๆ

“ใครรบเก่ง คนนั้นได้ครอบครองแผ่นดิน”

ครั้นเมื่อศึกษาเชิงลึกมากขึ้น กลับค้นพบว่า “ชีวิตไม่ได้สวยหรูอย่างที่คิด”

ส่วนใหญ่ แม่ทัพที่รบเก่งๆ กลับมีจุดจบไม่ดีนัก

ทำไม ทำไม และทำไม

คำตอบคือ คนที่รบเก่ง เป็นที่หวาดกลัวของทุกคน โดยเฉพาะผู้มีอำนาจ ย่อมไม่อยากให้ใครมีอำนาจเหนือตนเอง

แม่ทัพที่รบเก่งๆ จึงมีทางออกอยู่ 2 ประการ คือ ก่อการกบฏ หรือสร้างความไว้ใจ

 

การก่อกบฏ หรือล้มล้างอำนาจเดิมไม่ใช่เรื่องง่าย หากว่าพ่ายแพ้ นอกจากสังเวยชีวิตตนเองแล้ว ครอบครัว หรือเพื่อนฝูง อาจต้องติดร่างแหไปด้วย

ข้อดีคือ ได้กำหนดชะตาชีวิตของตนเอง

หากทว่า เมื่อคุณยึดอำนาจแล้ว คุณจะปกครองบ้านเมืองได้หรือไม่

คนที่ไม่เข้าใจการเมือง จะคิดง่ายๆ แบบว่า “มีอำนาจแล้วจะทำอะไรก็ได้”

โลกนี้มีฮ่องเต้จำนวนไม่น้อยที่กระทำตามอำเภอใจอย่างเกินขอบเขต จนกระทั่งจบชีวิตอย่างน่าเศร้าใจ

 

ในกรณีของ “หานซิ่น” ชีวิตของเขาน่าสนใจ

เหมือนจะไม่ได้เข้าโรงเรียนการทหารอย่างเป็นระบบ แต่กลับศึกษาเรื่องการทหารอย่างแตกฉาน สามารถใช้งานได้จริง เพียงแค่รอคอยโอกาสเท่านั้น

โดนคนดูถูก เพราะเคยคลานลอดหว่างขาคนอื่นเพื่อเอาชีวิตรอด

เคยอดอยาก ถึงกระทั่งได้รับเมตตาจากแม่เฒ่ามอบอาหารให้รับประทานเพื่อประทังชีวิต

เมื่อเกิดกบฏล้มล้างราชวงศ์ของจิ๋นซีฮ่องเต้ ซึ่งปกครองอย่างเผด็จการ หานซิ่นเข้าร่วมกับกองทัพของเซี่ยงอวี่ โดยได้รับตำแหน่งเป็นเพียงทหารกองเกียรติยศ ประดับบารมีให้กับเซี่ยงอวี่เท่านั้น

เขาท้อแท้ใจ จึงบุกป่าฝ่าดง เปลี่ยนข้างไปเข้าร่วมกับกองทัพของหลิวปัง ซึ่งจะเป็นคู่แข่งกับกองทัพของเซี่ยงอวี่ในอนาคต

ยังคงไม่ได้ตำแหน่งสำคัญที่จะใช้ความสามารถอย่างเต็มที่ เขาจึงตัดสินใจหลบหนีจากกองทัพ โชคดีที่ได้เซียวเหอ ซึ่งเป็นลูกน้องมือขวาของหลิวปัง ไปตามตัวกลับมา และโน้มน้าวให้หลิวปังแต่งตั้งหานซิ่นเป็นแม่ทัพใหญ่

หานซิ่นแสดงผลงานที่เหลือเชื่อ รบที่ใดชนะที่นั่น ยึดเมืองสำคัญได้มากมาย จนกระทั่งสามารถยึดเมืองฉี ซึ่งเป็นแคว้นใหญ่ไว้ได้

นี่เป็นจุดสำคัญในชิวิตของเขา ที่จะต้องตัดสินใจอะไรบางอย่าง

 

“ลูกน้อง” ที่สร้างผลงานล้ำเลิศในทุกยุคสมัย ย่อมปรารถนาได้รับรางวัลชิ้นใหญ่ เหมาะสมกับสิ่งที่ตนเองสร้างสรรค์ให้กับองค์กร

ในยุคโบราณ ทางเลือกในชีวิตมีไม่มากมายเท่ากับปัจจุบัน ซึ่งคนเก่งสามารถยื่นข้อเสนอขอขึ้นเงินเดือนอย่างตรงไปตรงมา หากว่าไม่ได้รับ ย่อมสามารถลาออกไปทำงานที่ใหม่ หรือสร้างกิจการเป็นของตัวเอง

แม่ทัพใหญ่หานซิ่นน่าจะคิดว่า หากกองทัพของเขาสามารถปราบปรามเซี่ยงอวี่ได้สำเร็จ หลิวปังก้าวขึ้นเป็นฮ่องเต้ ตัวเขาย่อมหมดประโยชน์ หรือมีคุณค่าต่อฮ่องเต้น้อยลงกว่าเดิม การจะร้องขอผลประโยชน์ หรือรอคอยให้ฮ่องเต้ประทานรางวัลใหญ่ให้ ย่อมจะได้น้อยกว่าที่ตนเองต้องการ ดังนั้น ในขณะที่มีอำนาจต่อรองมหาศาลแบบนี้ เขาจึงทำเรื่องที่ผิดพลาด ด้วยการขอให้หลิวปังแต่งตั้งตัวเองเป็น “อ๋องรักษาการเมืองฉี”

หลิวปังรู้สึกโกรธที่หานซิ่นกล้าทำแบบนี้ ในยามที่เจ้านายอย่างเขากำลังลำบาก โชคดีที่ลูกน้องข้างกายหลิวปังได้เตือนให้รู้ถึงสถานการณ์ หลิวปังจึงจำใจแต่งตั้งหานซิ่นเป็นอ๋อง โดยให้เป็นตัวจริง แทนที่จะรักษาการ

ไขว่ทง ที่ปรึกษาของหานซิ่น เคยแนะนำให้หานซิ่นแยกตัวเองเป็นขุมกำลังที่สาม ถ่วงดุลระหว่างเซี่ยงอวี่และหลิวปัง

หานซิ่นไม่ทำตามข้อเสนอของไขว่ทง ยังคงสำนึกบุญคุณของหลิวปัง และตัดสินใจช่วยหลิวปังรบกับเซี่ยวอวี่ จนกระทั่งสามารถรวมแผ่นดินเป็นหนึ่งเดียว สถาปนาราชวงศ์ฮั่นได้สำเร็จ

ผลงานของหานซิ่นยิ่งใหญ่และเกรียงไกร

น่าเสียดายที่จุดจบของเขาคือ การถูกลิดรอนอำนาจครั้งแล้วครั้งเล่า สุดท้ายจึงโดนประหารโดยคำสั่งของหลี่ว์ฮองเฮา ภรรยาคู่ทุกข์คู่ยากของฮ่องเต้หลิวปัง

 

“เสร็จนา ฆ่าโคถึก”

คนส่วนใหญ่ย่อมคิดแบบนี้

พวกเขาไม่ให้น้ำหนักมากเพียงพอกับสิ่งที่หานซิ่นได้ทำให้เกิดความหวาดระแวงต่ออำนาจของฮ่องเต้หลิวปัง

การตัดสินว่า ใครทำผิดคิดร้าย ไม่ควรจะใช้มุมมองแบบเหมารวม แต่ควรพิจารณาจากหลักฐานทั้งหลายอย่างละเอียด

เหตุใดในยุคโบราณ การปกครองส่วนใหญ่จึงนิยมการรวมศูนย์อำนาจอยู่ที่เจ้าชีวิต นั่นเพราะการสื่อสารและคมนาคมยังไม่สะดวกรวดเร็วเท่ากับปัจจุบัน การหลอมรวมดินแดนกว้างใหญ่ ให้มีความรู้สึกเป็นหนึ่งเดียวกัน เป็นชาติเดียวกัน ทำได้ยากมาก ดังนั้น หากไม่มีผู้ปกครองเพียงหนึ่งเดียว ย่อมเกิดภาวะสงครามกันไม่จบสิ้น เมืองนั้นต่อสู้กับเมืองนี้ เมืองนี้ขัดแย้งกับเมืองนั้น

ขณะเดียวกันการรวมศูนย์อำนาจที่เจ้าชีวิต ทำให้การกบฏยึดอำนาจ และเปลี่ยนแปลงผู้นำ แม้จะเป็นภารกิจที่ยากลำบาก แต่ก็มีโอกาสทำได้สำเร็จ และยั่งยืนมากกว่าในยุคปัจจุบัน เพราะประชาชนหรือขุมกำลังในส่วนต่างๆ ยากจะรวมตัวขึ้นต่อต้าน ยกเว้นมีปัจจัยเกื้อหนุนที่เหมาะสม

ฮ่องเต้ทุกยุคสมัย จึงต้องระแวงขุนนาง แม่ทัพคนสำคัญ หรือแม้กระทั่งคนในครอบครัวของตัวเอง

การประหารขุนนาง หรือแม่ทัพใหญ่ที่มีคุณูปการต่อแผ่นดิน จึงเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นบ่อยครั้ง แต่ก็ไม่ใช่สิ่งที่เกิดขึ้นได้ง่ายๆ เพราะทุกอย่างที่ทำ ย่อมส่งผลกระทบต่อดุลอำนาจไม่มากก็น้อย

 

ในกรณีของหานซิ่น เขาได้สร้างความระแวงให้กับหลิวปังอีกหลายเรื่อง นอกเหนือจากการบีบให้หลิวปังแต่งตั้งเป็น “อ๋องรักษาการ”

บางเรื่องอาจเล็กน้อย แต่ก็ไม่ควรทำ อย่างเช่น การตอบคำถามของฮ่องเต้ ประมาณว่า ฮ่องเต้คุมทหารได้ไม่เกิน 1 แสนคน ขณะที่หานซิ่นคุมทหารได้ไม่จำกัด “ยิ่งมาก ยิ่งดี”

เจ้าชีวิตเปรียบเสมือนเสือร้าย คำพูดและการกระทำทุกอย่าง ควรระมัดระวังให้มากไว้

หากว่าจะโทษฮ่องเต้หลิวปัง หรือหลี่ว์ฮองเฮา ที่ประหารแม่ทัพใหญ่ ซึ่งมีคุณูปการต่อแผ่นดิน ความผิดอย่างน้อย 50% ย่อมต้องโยนไปที่หานซิ่น ซึ่งทำให้เกิดความหวาดระแวงทั้งเล็กและใหญ่

บางทีหานซิ่นควรจะเชื่อคำแนะนำของไขว่ทง ที่ให้แยกตัวเองเป็นขุมกำลังที่สาม แต่การเลือกเส้นทางนี้ก็ไม่ใช่ว่าจะอยู่รอดและปลอดภัยมากกว่า เพราะการปกครองดินแดนในระยะยาว ต้องมีทักษะการบริหารมากมาย ซึ่งหานซิ่นอาจไม่เข้าใจ หรือทำไม่ได้

ยังไม่นับว่า ในกองทัพของหานซิ่น อาจมีคนของหลิวปัง หรือคนที่จงรักภักดีแฝงตัวอยู่ ทางเลือกนี้จึงเป็นอันตรายเช่นกัน

เมื่อมองย้อนหลังเหตุการณ์ ทางเลือกนี้ย่อมดีกว่า แต่หากพิจารณาจากบริบทในเวลานั้น การเข้าร่วมกับหลิวปัง น่าจะเป็นทางเลือกที่ปลอดภัยกว่า

ยกเว้นเพียงประการเดียว นั่นคือ การประเมินให้ดีว่า หลิวปังจะผูกใจเจ็บ หรือหวาดระแวงกับการร้องขอตำแหน่ง “อ๋องรักษาการ” ของหานซิ่น หรือเปล่า

เหมือนเป็นเรื่องที่ยอมกันได้ ผิดไปแล้วก็ลืมเลือน และเริ่มต้นใหม่ แต่คนที่เข้าใจการเมืองในยุคโบราณของแผ่นดินจีน จะรู้ว่าเรื่องนี้อันตรายมาก เพราะอำนาจมีโอกาสเปลี่ยนมือได้ตลอดเวลา ดังนั้น คนที่สร้างความหวาดระแวงเพียง 1 ครั้ง อาจกลายเป็นเส้นทางไปสู่จุดจบของชีวิต

หลิวปังอาจเป็นคนใจกว้าง สามารถให้อภัยกับเรื่องนี้ หากว่าเป็นเรื่องส่วนตัว แต่นี่คือการเมือง ในยุคโบราณ ความหวาดระแวงที่มีให้กับขุนนางคนสำคัญ ย่อมนำไปสู่การประหัตประหาร ไม่ช้าก็เร็ว

เมื่อตัดสินใจไปแล้ว ควรกระทำให้ถึงที่สุด นั่นคือ หานซิ่นมีความจำเป็นต้องแยกตัวเป็นขุมกำลังที่สาม ไม่มีทางเลือกอื่นแล้ว

 

หากว่า หานซิ่นเข้าใจการเมืองตั้งแต่แรก เขาก็คงจะไม่กล้าร้องขอตำแหน่งอ๋องรักษาการ

การแยกตัวก็อาจไม่ใช่ทางเลือกที่จำเป็น

แม่ทัพใหญ่ที่เลือกเส้นทางจงรักภักดี และไม่ทำอะไรผิดพลาด บางครั้งก็อาจโดนยุแหย่ให้เกลียดชัง หรือประสบภัยจากความระแวงของฮ่องเต้ได้

หากว่าถึงคราวเคราะร้ายมาเยือน ก็ควรจะเป็นเพราะความโหดร้าย หรือความเข้าใจที่ผิดพลาดของคนอื่น ไม่ใช่มีที่มาจากความโง่เขลาของตัวเราเอง

ทุกคนย่อมมีเรื่องโชคร้ายที่ควบคุมไม่ได้ แต่ว่าคนฉลาดย่อมไม่เพิ่มโอกาสในการเกิดสิ่งเลวร้ายขึ้นกับตัวเอง โดยสามารถจัดการชะตาชีวิตในส่วนที่สามารถควบคุมได้

คนในยุคโบราณมีทางเลือกไม่มาก

ชาวบ้านธรรมดาอาจประสบภัยจากกฎหมายที่เลวร้าย สงคราม ภัยธรรมชาติ หรือการปกครองที่ชั่วช้า

ขุนนาง แม่ทัพใหญ่ เชื้อพระวงศ์ชั้นสูง หรือแม้กระทั่งฮ่องเต้ อาจจะมีชีวิตที่สุขสบายกว่าชาวบ้าน แต่ก็ต้องอยู่ในวังวนของเกมอำนาจ ที่เต็มไปด้วยความหวาดระแวง ชิงไหวชิงพริบ และประหัตประหาร เข่นฆ่ากันไม่สิ้นสุด

ข้อจำกัดของยุคสมัยโบราณ ทำให้ชีวิตของทุกคนยากจะเป็นอิสระเสรีเทียบเท่ากับคนในยุคปัจจุบัน ซึ่งมีระบบการเมืองการปกครองที่มีเสถียรภาพ และกระจายอำนาจมากกว่า

 

ในเชิงการบริหาร มีคำแนะนำว่า พนักงานที่ดีควรมีความรู้แบบตัวที (T) นั่นคือ เชี่ยวชาญเฉพาะทางอย่างลึกซึ้ง 1 เรื่อง และรู้เรื่องที่จำเป็นอย่างกว้างขวาง หลากหลาย ในระดับที่สามารถเอาตัวรอดได้

หานซิ่นมีความรู้เฉพาะทางเรื่องการทหารระดับ A++ เปรียบเสมือนกับโรนัลโด้ เมสซี่ ในวงการฟุตบอล หรือมูฮัมหมัด อาลี ในวงการมวยสากล

ความรู้เรื่องอื่นๆ ผมไม่อาจทราบว่าหานซิ่นมีมากน้อยเพียงใด แต่ว่า เรื่องการเมืองนั้น หากผมให้คะแนน น่าจะไม่ผ่านเกณฑ์ที่จะอยู่รอดได้ ในยุคที่เต็มไปด้วยการช่วงชิง หรือแม้กระทั่งยุคปกติของแผ่นดินจีนสมัยโบราณ

ผมไม่ได้เก่งกว่าหานซิ่น แต่ที่เข้าใจในจุดนี้ เพราะคนในยุคปัจจุบันมีข้อมูลข่าวสาร และช่องทางให้ศึกษาเรื่องต่างๆ ได้มากกว่า

อีกทั้งในยุคสมัยต้นราชวงศ์ฮั่น ยังไม่มีบทเรียนจากราชวงศ์ก่อนๆ ให้ศึกษามากมาย จึงไม่อาจตำหนิหานซิ่นอย่างเต็มที่ว่า “ไม่เข้าใจการเมืองมากเพียงพอที่จะเอาตัวรอดได้”

แม้แต่ตัวผมเอง ในวัยหนุ่มกว่านี้ ก็ยังไม่เข้าใจถึงความโหดร้ายของการเมืองในยุคสมัยโบราณของแผ่นดินจีน