วันนี้ ‘เรตอาร์’ / จ๋าจ๊ะ วรรณคดี : ญาดา อารัมภีร (1)

ญาดา อารัมภีร

จ๋าจ๊ะ วรรณคดี

ญาดา อารัมภีร

 

วันนี้ ‘เรตอาร์’ (1)

 

เพศสัมพันธ์ของตัวละครในวรรณคดีมีเส้นบางๆ ระหว่าง ‘ศิลปะ’ และ ‘อนาจาร’ กวีไทยไม่นิยมพูดถึงเพศสัมพันธ์หรือการร่วมรักอย่างเปิดเผยตรงไปตรงมา จึงใช้วิธีเคลือบคำด้วยความหมายเปรียบเทียบที่ต้องตีความ

เกิดเป็นศิลปะการประพันธ์ที่ปรุงแต่งให้งดงามทั้งเสียงคำ ความหมาย และอารมณ์ประณีต หาได้เร่งเร้าให้เกิดอารมณ์ดิบเถื่อนตามธรรมชาติที่ปราศจากการขัดเกลาแต่อย่างใดไม่

บทสังวาส หรือ บทอัศจรรย์ ที่บรรยายการร่วมรักระหว่างชายหญิงเป็น ‘ขนบ’ หรือแบบแผนอย่างหนึ่ง ซึ่งกวียึดถือปฏิบัติสืบทอดกันมา ต่อให้เป็นกวีที่ใช้ชีวิตในผ้าเหลืองมาแต่เยาว์วัยจนถึงวันสุดท้ายแห่งชีวิต ไม่เคยรู้รสโลกียวิสัย เช่น สมเด็จพระมหาสมณเจ้าฯ กรมพระปรมานุชิตชิโนรส ก็สามารถที่จะทรงพระนิพนธ์ได้ตามขนบโบราณ

ดังตอนหนึ่งของ “สรรพสิทธิ์คำฉันท์” ทรงนำภาพผึ้งหรือแมลงภู่คลุกเคล้าเกสรดอกบัวมาแทนภาพชายหญิงที่แนบร่างสนิทเป็นเนื้อเดียวกัน

“ภุมเรศร่อนเคล้าคลึงคัน – ธรสเรณูจรัล

จรดทุกบ่อนแบะบัว

โกสุมชุ่มชื่นชมชัว ซอกกลีบชรมัว

ภมรมาซราบศรีสลาย”

(ภุมเรศ, ภมร = แมลง, โกสุม = ดอกบัว)

ความปั่นป่วนของอารมณ์ที่เกิดขึ้น สื่อผ่าน ‘พิชุลดา’ หรือสายฟ้าแลบ เมฆที่ส่งเสียงร้องครื้นครั่น กิ่งไม้แกว่งไกวตามแรงลมกล้า พายุคลื่นคลั่งถั่งโถมในทะเลมหาสมุทร ลงท้ายด้วยสายฝนที่โปรยปรายลงมายังดอกบัว สุขสมด้วยกันทั้งสองฝ่าย ดังที่กวีบรรยายว่า

“พรรษาฉ่าสินธุ์น่านนอง หลั่งล้นชรลอง

กระเซนกระเษียรวารี

ตกต้องกระบอกบุษปมาลี เลวงคนธุ์สุรภี

ตระหลบตระเลาลานเกษม

สองเสวอยรสรมย์อันเปรม ปราโมทย์ในเหม

มห้องพิมานแมนเสมอ”

(อักขรวิธีตามต้นฉบับ)

 

ในเสภาเรื่อง “ขุนช้างขุนแผน” เมื่อฝ่ายชายล่วงล้ำร่างกายของฝ่ายหญิง ชายคือเรือ หญิงคือคลองหรือทะเล ดังตอนที่พลายแก้วได้นางพิมพิลาไลยเมื่อแรกรุ่น ยังไม่มีประสบการณ์ด้วยกันทั้งคู่ กวีเปรียบว่า

“เรือไหหลำแล่นล่องเข้าคลองน้อย ฝนปรอยฟ้าลั่นสนั่นเลื่อน

ไต้ก๋งหลงบ่ายศีรษะเชือน เบือนเข้าติดตื้นแตกกับตอ”

ต่างจากกรณีของพลายแก้วกับนางสายทองพี่เลี้ยงของนางพิมที่พลายแก้วรำพึงว่า ‘แก่กว่าเราสี่ปีเท่านั้นเอง’ อายุที่มากกว่ามาพร้อมกับประสบการณ์เหนือกว่า สันทัดจัดเจนกว่า ในที่นี้พลายแก้วคือเรือสำเภา สายทองเปรียบเสมือนพายุและคลื่นคลั่งกลางทะเลที่โหมกระหน่ำใส่เรือไม่ยั้ง ดังที่กวีบรรยายว่า

“ลมพัดซัดคลื่นสำเภาเอียง ค่อยหลีกเลี่ยงแล่นเลียบตลิ่งมา

พายุหนักชักใบได้ครึ่งรอก แต่เกลือกกลอกกลับกลิ้งอยู่หนักหนา

ทอดสมอรอท้ายเป็นหลายครา เภตราหยุดแล่นเป็นคราวคราว”

กวีเปรียบเทียบ ‘คนเคย’ กับ ‘คนไม่เคย’ ทั้งนี้เพราะเพศสัมพันธ์เป็นเรื่องของประสบการณ์ชั่วโมงบิน ‘คนไม่เคย’ ย่อมไม่คล่องแคล่ว เรียบง่ายไร้ลูกเล่น ส่วน ‘คนเคยแล้ว’ จะมีท่าทีชั้นเชิงแพรวพราว ดังที่กวีสรุปลีลาร่วมรักกับนางพิมและสายทองไว้ว่า

“สมพาสพิมดุจริมแม่น้ำตื้น ไม่มีคลื่นแต่ระลอกกระฉอกฉาว

ปะสายทองดุจต้องพายว่าว พอออกอ่าวก็พอจมล่มลงไป”

‘ล่มปากอ่าว’ เป็นอย่างนี้เอง

 

ขั้นตอนที่ฝ่ายชายใช้แรงหรือกำลังเร่งให้ถึงเป้าหมายมักเปรียบกับม้าและช้างที่คลุ้มคลั่ง ควบคุมไม่ได้ ดังตอนที่กล่าวถึงท่าทีของพระลอที่มีต่อ ‘พระแพง’ หลังจาก ‘พระเพื่อนสมสมรแล้ว’

ดุจอัสดรหื่นห้า แรงเร่งแรงฤทธิ์กล้า (อัสดร = ม้า)

เร่งเร่งฤๅเบาฯ

ดุจสารเมามันบ้า งาไล่แทงงวงคว้า (สาร = ช้าง)

อยู่เคล้าคลุกเอา ฯ”

นี่คือเพศสัมพันธ์ใน “ลิลิตพระลอ” ที่ยินยอมพร้อมใจด้วยกันทั้งสองฝ่าย

มีบ้างบางครั้งฝ่ายหญิง ‘พร้อม’ ฝ่ายชาย ‘ไม่พร้อม’ ฝ่ายหญิง ‘อยาก’ ฝ่ายชาย ‘ไม่อยาก’ ก็จะเกิดดังกรณีของพระรามวงศ์กับนางอองออย ผีป่าในเรื่อง “สิงหไตรภพ” รามวงศ์เปรียบได้กับช้างที่ต่อต้านควาญ ไม่ยอมลงน้ำ

“พระอิงแอบแนบเคล้าทั้งเศร้าสร้อย นางอองออยคล้อยตามความประสงค์

เหมือนคชสารควาญหมอขึ้นคอทรง จะไส่ลงท่าน้ำทำกระบวน

ขยั้นย่อรอรั้งถอยหลังกลับ กระดิกผลับขืนขัดฮึดฮัดหวน

ยิ่งไสสั่นหันเหซุนเซซวน กระหมวดม้วนงวงเงยเสยส่ายงา

ต้องเกี่ยวหูลู่ลากกระชากชัก กลับฮึกฮักฮูมแปร๋นแล่นถลา

ลงเล่นน้ำดันเดือกเสือกสุธา”

ถึงไม่อยากแค่ไหน เมื่อกระบวนการเริ่มแล้วก็หยุดไม่ได้ ต้องไปต่อ ช้างที่ขัดขืนในตอนแรก

“กลับเป็นบ้าแทงกระทั่งถึงฝั่งชล

ถีบสบัดวัดเหวี่ยงเสียงสนั่น ด้วยซึมมันมันย้อยดังฝอยฝน

คำรามร้องก้องกระหึ่มครึมคำรณ ทั้งผุดพ่นน้ำฟุ้งพอรุ่งราง”

ทำให้นางอองออยอิ่มเอมใจนัก

“นางอองออยช้อยชดรู้รสชาติ จนเลือดฝาดขึ้นหน้าดังทาฝาง”

เมื่อพระรามวงศ์รู้ตัวว่าเสียท่า “เป็นบ้าผัวผีดิบอีฉิบหาย” จึงลงโทษด้วยการ

“พระโกรธนางขว้างจักรอันศักดา ถูกขาขวาขาดสิ้นยังตีนเดียว”

จาก “รัก” จบด้วย “รบ” เสียนี่