อนุสรณ์ ติปยานนท์ : ซานไห่ เก้าคนหลังฉาก ในประวัติศาสตร์ผลัดใบ (16)

ในหนังสือ เสรีไทย อุดมการณ์ ที่ไม่ตาย ซึ่งจัดพิมพ์ในเดือนสิงหาคม 2546 และเป็นหนังสือที่รวบรวมผลงานของขบวนการเสรีไทยทั้งในและนอกประเทศที่เกิดขึ้นช่วงสงครามโลกครั้งที่สองไว้อย่างละเอียดลออที่สุดได้บรรยายถึงปฏิบัติการของ นายจำกัด พลางกูร ว่า

“…จำกัด พลางกูร เดินทางถึงประเทศจีนในวันที่ 18 มีนาคม 2486 แต่เมื่อจะดำเนินการตามแผนที่วางไว้ ต้องเผชิญกับความยุ่งยากในการติดต่อ เนื่องจากในห้วงเวลาสงครามนั้น ความไว้วางใจซึ่งกันและกันนั้นเป็นไปได้อย่างยากยิ่ง อีกทั้งเมื่อทางการจีนติดต่อไปยัง ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช เพื่อให้การรับรอง จำกัด พลางกูร กลับไม่มีการรับรองมาจากวอชิงตัน ทำให้สถานภาพของ จำกัด พลางกูร ในฐานะของตัวแทนขบวนการเสรีไทยในต่างประเทศเพื่อไปเจรจากับฝ่ายสัมพันธมิตรในการจัดตั้งรัฐบาลพลัดถิ่น กลายเป็นเพียงบุคคลต่างชาติที่ต้องถูกกักตัวไว้

จนเมื่อ ม.จ.ศุภสวัสดิ์วงศ์สนิท สวัสดิวัตน์ ได้เดินทางจากอินเดียเพื่อไปพบกับ จำกัด พลางกูร ในวันที่ 5 สิงหาคม 2486 เพื่อขอรับทราบการดำเนินการต่อต้านญี่ปุ่นในประเทศไทยจนเป็นที่เข้าใจกันทั้งสองฝ่าย แต่ว่าหลังจากนั้นไม่นาน จำกัด ก็ป่วยเป็นมะเร็งในลำไส้และเสียชีวิตในวันที่ 7 ตุลาคม 2486…”


จากข้อความนี้ทำให้เราทราบว่า จำกัด พลางกูร คือหนึ่งในขบวนการเสรีไทยที่เดินทางไปถึงประเทศจีน หากแต่ว่าเขาคือใครและการเดินทางไปถึงประเทศจีนในครานั้นมีส่วนเกี่ยวข้องใดกับ ไต้ ลี่ บุรุษผู้กุมอำนาจรัฐบาลจุงกิงเป็นอันดับสองรองจาก เจียง ไค เช็ก

นี่เป็นเหตุการณ์ที่น่าสนใจยิ่ง

สำหรับชีวประวัติของ จำกัด พลางกูร นั้น มีหนังสือสามเล่มหลักๆ ที่เล่าถึงเรื่องราวและความกล้าหาญของเขาในช่วงสงคราม คือ การกู้ชาติ ที่เขียนโดย จำกัด พลางกูร เอง, วีรบุรุษ นิรนาม โดย ไพศาล ตระกูลลี้ และ เพื่อชาติ เพื่อ Humanity (อันมาเป็นถ้อยคำที่ ปรีดี พนมยงค์ พูดกับ จำกัด พลางกูร ก่อนการเดินทางไปประเทศจีน) โดย ฉัตรทิพย์ นาถสุภา

จากหนังสือสามเล่มนี้ เราสรุปประวัติคร่าวๆ ของ จำกัด พลางกูร ได้ว่าเขาเกิดเมื่อวันที่ 30 ตุลาคม 2457

เป็นบุตรชายคนโตของพระยาผดุงวิทยาเสริม (กำจัด พลางกูร) มีพี่น้องรวมทั้งสิ้น 9 คน

โดย จำกัด พลางกูร ศึกษาชั้นต้นที่โรงเรียนวัดบวรนิเวศ โรงเรียนเทพศิรินทร์ ก่อนจะเข้าศึกษาต่อที่คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

แต่ได้รับทุนไปศึกษาต่อที่ประเทศอังกฤษในปี 2474 และสำเร็จการศึกษาจากมหาวิทยาลัยอ๊อกซ์ฟอร์ด ด้านปรัชญา การเมืองและเศรษฐศาสตร์ ก่อนจะเดินทางกลับประเทศไทยในปี 2481

หลังกลับสู่ประเทศไทย จำกัดเข้ารับราชการที่กระทรวงศึกษาธิการก่อนจะถูกสั่งให้ออกจากราชการเพราะบทความที่เขาเคยเขียนวิจารณ์รัฐบาลของ จอมพลแปลก พิบูลสงคราม ในหนังสือสามัคคีสารของสมาคมนักเรียนไทยในอังกฤษ

จำกัดกลับเข้ามามีบทบาททางการเมืองอีกครั้งในปี 2484 หลังรัฐบาลจอมพล ป. ลงนามเข้าเป็นพันธมิตรกับกองทัพญี่ปุ่น

เขามีความคิดจะก่อตั้งขบวนการกู้ชาติที่เป็นปฏิปักษ์กับรัฐบาลขณะนั้น

โดยในบทที่ 4 ของหนังสือขบวนการกู้ชาติของเขา จำกัดได้บันทึกว่า

“…ตอนบ่ายวันที่ 9 ธันวาคม 2484 ข้าพเจ้าได้ปรึกษากับ นายเตียง ศิริขันธ์ หาทางออกไปนอกอาณาจักรไทยไปยังพม่า ทราบว่ามีทางออกอยู่แม่สอดและกาญจนบุรี แต่ต่อมาอีกสองวันก็ได้ข่าวว่าญี่ปุ่นได้ยึดสองทางนั้นเสียแล้ว เป็นอันว่าการเตรียมตัวของเราต้องล้มเหลวไป ข้าพเจ้าจึงรวบรวมเพื่อนพ้องเพื่อตั้งคณะกู้ชาติโดยมีความประสงค์ที่จะทำลายล้างญี่ปุ่นและรัฐบาลจอมพลต่อไป

แผนการของเราในครั้งนั้นคือ พยายามโค่นอำนาจจอมพลหรือพากันหนีไปจัดตั้งรัฐบาลใหม่อยู่ที่ส่วนใดส่วนหนึ่งของประเทศ แต่ข้อที่สำคัญก็คือแม้ว่าพวกเราจะหนีไปตั้งรัฐบาลได้ เราก็ไม่มีกำลังพอที่จะต่อสู้กับกองทัพของจอมพลได้ ข้าพเจ้าเชื่อมั่นว่าในระหว่างผู้มีอำนาจคงมีใครบ้างที่คิดอย่างเราแล้วรวมคณะเราเข้าไป คงทำประโยชน์ได้บ้างไม่มาก็น้อย ข้าพเจ้าส่ายตาดูก็เห็นมีแต่อาจารย์ปรีดี พนมยงค์ ผู้เดียวซึ่งจะเป็นหัวหน้าเป็นกำลังสำคัญของคณะกู้ชาติของเราได้ ข้าพเจ้าจึงตรงไปหาท่านที่บ้านสีลมทันที…”

จำกัด พลางกูร ไม่ได้คาดการณ์ผิดพลาด ปรีดี พนมยงค์ ได้ตกลงใจรับหน้าที่เป็นหัวหน้าขบวนการเสรีไทยในเวลาต่อมา หลังจากที่ขบวนการเสรีไทยพบว่าเส้นทางออกจากอีสานผ่านอินโดจีน สามารถเดินทางเข้าสู่เมืองจุงกิง ประเทศจีน สามารถใช้การได้ ปรีดี พนมยงค์ ได้นัดหมาย จำกัด พลางกูร มาพบเพื่อมอบภารกิจการเดินทางไปติดต่อกับนายพลเจียง ไค เช็ก ผู้นำของประเทศจีนและเป็นตัวแทนของฝ่ายสัมพันธมิตร ในจีน ลาว ญวน และไทย

โดยจำกัดไปรับประทานอาหารเย็นและลานายปรีดีในคืนก่อนวันออกเดินทางที่ทำเนียบท่าช้าง ถนนพระอาทิตย์ ปรีดีได้มอบธนบัตรจีนที่เรียกว่าจุงกิงมีมูลค่า 13,000 บาท และทองคำสำหรับขายยามขัดสน

จำกัดได้ลาปรีดีกลับในยามค่ำ โดยเขาได้บันทึกคำกล่าวสุดท้ายของนายปรีดีว่า

“เพื่อชาติ เพื่อ humanity นะคุณ เคราะห์ดีที่สุด อีก 45 วัน ก็ได้พบกัน เคราะห์ไม่ดีนักอย่างช้าอีกสองปี ก็ได้พบกัน และเคราะห์ร้ายที่สุด ก็ได้ชื่อว่า สละชีพเพื่อชาติไป”

 

วันอาทิตย์ที่ 28 กุมภาพันธ์ 2486 จำกัดออกเดินทางด้วยรถไฟพร้อมกับ นายไพศาล ตระกูลลี้ ซึ่งแตกฉานภาษาจีน โดยมีนางฉลบชลัยย์ ผู้เป็นภรรยาเดินทางไปส่งยังจังหวัดขอนแก่น เตียง ศิริขันธ์ ได้รับจำกัดไปส่งที่ยังจังหวัดนครพนมเพื่อลงเรือไปท่าแขก ประเทศลาว

หลังจากนั้นเป็นเวลาถึง 53 วัน ที่จำกัดต้องเดินทางผ่านความทุรกันดาร เสี่ยงต่อการถูกทหารญี่ปุ่นจับในข้อหาจารชน เผชิญกับวิกฤตอย่างน้อย 3 ครั้ง ผ่านลาว-เวียดนาม กระทั่งได้เข้าสู่จีนทางชายแดนมณฑลกว่างซี

เขาถูกกักตัวที่กุ้ยหลินนานถึง 14 วัน กว่าจะได้รับอนุญาตให้เดินทางไปนครจุงกิง ที่ตั้งของรัฐบาล เจียง ไค เช็ก ในวันที่ 21 เมษายน 2486

จากหนังสือกับหนังสือ เสรีไทยสายจีน ของ พันตำรวจเอกประสิทธิ์ รักประชา ผู้สำเร็จการศึกษาจากโรงเรียนนายร้อยทหารบกหวังปูรุ่นที่สิบสี่ และได้รับมอบหมายจากรัฐบาลของนายพลเจียง ไค เช็ก ให้เป็นผู้คอยอำนวยความสะดวกให้กับคณะเสรีไทยในช่วงนั้นได้เล่าถึงบุคคลสำคัญที่มีผลต่อการสู้รบกับกองทัพญี่ปุ่นร่วมกับไทยถึงสามคนด้วยกันคือ

“…รัฐบาลจีนส่งเจ้าหน้าที่ชั้นสูงในรัฐบาลสามคนเป็นผู้ติดต่อประสานงานกับคณะเสรีไทยคือ อู๋ ทิ เฉิน เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงโพ้นทะเล (Overse Minister) เป็นกระทรวงพิเศษที่ทำงานควบคู่กับกระทรวงต่างประเทศและยังดำรงตำแหน่งเลขาธิการพรรคของพรรคก๊กมินตั๋งอีกด้วย สอง เจิ้น ไก้ หมิน รองเจ้ากรมข่าวกรองทหาร เป็นชาวจีนที่เกิดในสิงคโปร์ สำเร็จจากโรงเรียนนายร้อยหวังปูรุ่นที่สาม และ ไต้ ลี่ เจ้ากรมข่าวกรองทางทหาร ขึ้นตรงกับนายพลเจียง ไค เช็ก สำเร็จการศึกษาจากโรงเรียนนายร้อยหวังปูรุ่นที่หก โดยทั้งสามคนจะผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนกันมาเยี่ยมเยือนและพบปะคณะเสรีไทยทุกสัปดาห์เพื่อแลกเปลี่ยนข่าวกรองทางทหารและการเมือง

โดยจะเชิญคณะเสรีไทยไปรับประทานอาหารนอกสถานที่ ตามภัตตาคารหรือโรงแรมเดือนละครั้ง”

 

ก่อนหน้าที่จำกัดจะเดินทางมาพบนายพลเจียง ไค เช็ก ในปี 2486 นั้น ประสิทธิ์ รักประชา ได้เล่าว่า ในปี 2484 หลังการบุกของกองทัพญี่ปุ่นในประเทศไทย ไต้ ลี่ ได้จัดตั้งหน่วยสืบราชการลับในไทยขึ้นแล้ว โดย ไต้ ลี่ คัดคนไทยเชื้อสายจีนจำนวนหนึ่งร้อยนายเข้ารับการฝึกอบรมในโรงเรียนการข่าวทหารที่นครจุงกิง หลักสูตรหนึ่งปี เพื่อเตรียมส่งไปปฏิบัติการในประเทศไทย โดยมีสาขาวิชาดังนี้

การข่าว-การอำพราง การแทรกซึม การสังเกตการณ์ การพบปะ การซักถาม การสะกดรอย การวิเคราะห์ข่าว การโต้จารกรรม การเขียนรายงานข่าว

การสื่อสาร-การติดต่อสื่อสาร ส่งผ่านความคิดเห็น คำสั่งข่าวกรอง และวัสดุในระหว่างสายลับ

การปฏิบัติการพิเศษ-การใช้อาวุธประจำกายทุกชนิด การใช้วัตถุระเบิด การก่อวินาศกรรม การทำลายล้างกองกำลังและยุทโธปกรณ์ของข้าศึก และการล่าสังหารบุคคลที่เป็นภัยต่อองค์กรและประเทศชาติ ซึ่งหลักสูตรทั้งสามเหล่านี้เป็นหลักสูตรที่ ไต้ ลี่ ใช้ฝึกฝนคนของเขาก่อนสงคราม

หลังจากนั้นอีกสองปี ภายหลังการเข้าพบนายพลเจียง ไค เช็ก ของ จำกัด พลางกูร ไต้ ลี่ ก็เข้ามารับผิดชอบการเคลื่อนไหวของขบวนการเสรีไทยเต็มตัวดังปรากฏในหนังสือชื่อ Thailand”s Secret War ของ E. Bruce Reynolds ที่เล่าถึงการพบกันระหว่าง จำกัด พลางกูร กับนายพลเจียง ไค เช็ก ในวันที่ 28 มิถุนายน 2486 ว่า

“…จำกัดได้พบกับนายพลเจียง ไค เช็ก เพียง 25 นาที ในวันที่ 28 มิถุนายน และเป็นการพบกันที่ส่งผลดีต่อขบวนการเสรีไทยอย่างยิ่ง นายพลเจียงแสดงความเห็นใจและสนใจที่จะให้ความร่วมมือกับกลุ่มเสรีไทย อันแสดงให้เห็นว่า นายพลเจียงได้มีการพูดคุยหรือได้รับข่าวสารจากคนของเขาที่เคลื่อนไหวในไทยแล้วล่วงหน้า

จำกัดพยายามบอกว่าเขาเป็นตัวแทนของปรีดีซึ่งมีความประสงค์จะตั้งรัฐบาลพลัดถิ่นที่จุงกิง อีกทั้งยังต้องการตั้งกองกำลังร่วมไทย-จีน ในยูนนานเพื่อช่วยเหลือและเปิดทางให้กับกองกำลังของฝ่ายสัมพันธมิตรให้บุกเข้าโจมตีกองทัพญี่ปุ่นในไทยได้สะดวกขึ้น

ข้อเสนอหลังนี้ปรากฏชัดต่อฝ่ายอเมริกันเมื่อ ไต้ ลี่ เสนอเรื่องการบุกประเทศไทยในที่ประชุมกับสหรัฐในวันที่ 14 กรกฎาคม และทำให้จำกัดรู้แล้วว่า การต่อสู้ของฝ่ายเสรีไทยนั้นได้ถูกส่งต่อจากนายพลเจียง ไค เช็ก ให้ไปอยู่ภายใต้การดูแลของ ไต้ ลี่”