ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 14 - 20 มกราคม 2565 |
---|---|
คอลัมน์ | พื้นที่ระหว่างบรรทัด |
ผู้เขียน | ชาตรี ประกิตนนทการ |
เผยแพร่ |
พื้นที่ระหว่างบรรทัด
ชาตรี ประกิตนนทการ
พระพรหมพิจิตร
กับงานสถาปัตยกรรมไทยใหม่
ในระบอบประชาธิปไตย (1)
ในรอบศตวรรษที่ผ่านมา หากถามว่า มีสถาปนิกทางด้านสถาปัตยกรรมไทยคนใดบ้างที่สร้างสรรค์ผลงานในระดับชิ้นเอกที่สังคมไทยควรยกย่อง
เชื่อแน่ว่า ในจำนวนที่มีอยู่ไม่มากนั้น จะต้องมี พระพรหมพิจิตร อยู่ในลิสต์รายชื่อดังกล่าวอย่างไม่ต้องสงสัย
และหากถามโดยส่วนตัว ผมอยากจะยกให้เป็นอันดับหนึ่งเลยด้วยซ้ำไป
ที่ผมยกย่องขนาดนี้ มิได้เกิดจากการพิจารณาผลงานในเชิงปริมาณนะครับ
เพราะหากดูแค่ปริมาณ พระพรหมพิจิตรคงแพ้สถาปนิกหลายคนที่มีผลงานมากมาย (แต่งานกลับไร้เสน่ห์และคุณค่าควรแก่การจดจำ)
และก็มิใช่เป็นเพราะว่าท่านคือผู้ก่อตั้งคณะสถาปัตยกรรมไทยขึ้นที่มหาวิทยาลัยศิลปากร ซึ่งทำให้เกิดระบบการเรียนการสอนทางด้านสถาปัตยกรรมไทยอย่างเป็นระบบครั้งแรก
ในทัศนะผม สิ่งสำคัญที่ทำให้สถาปนิกท่านใดก็ตามควรถูกยกย่องนั้น เกิดขึ้นจากเหตุผล 3 ประการคือ
หนึ่ง สามารถสร้างสรรค์งานที่แสดงออกถึงเอกลักษณ์เฉพาะที่โดดเด่นเฉพาะตัวสูง
สอง คือ ผลงานสามารถสนองตอบต่ออุดมคติร่วมของยุคสมัย ณ ขณะที่ผลงานนั้นๆ ถูกสร้างขึ้นได้
และสาม คือ ผลงานยังคงส่งอิทธิพลสืบเนื่องมาจวบจนกระทั่งปัจจุบัน
ซึ่งเกณฑ์ทั้งสามข้อดังกล่าว ล้วนปรากฏให้เห็นอย่างชัดเจนในงานของพระพรหมพิจิตร

พระพรหมพิจิตร (อู๋ ลาภานนท์) เกิดเมื่อ 27 กันยายน พ.ศ.2433 โดยเข้ารับการศึกษาในวัยเด็กที่โรงเรียนมหาพฤฒาราม และในปี พ.ศ.2447 ท่านได้สมัครเข้าเป็นนักเรียนช่างเขียนในกรมโยธา กระทรวงโยธาธิการ
เมื่อเรียนจบ ได้เริ่มชีวิตการทำงานอย่างจริงจังในปี พ.ศ.2451 โดยบรรจุเป็นช่างเขียนในกรมโยธา ต่อมาในปี 2455 ย้ายมารับราชการในกรมศิลปากร สังกัดกระทรวงวัง ต่อมาในปี พ.ศ.2469 ได้โอนย้ายไปรับราชการในหน้าที่อาจารย์แผนกศิลปากรสถาน ราชบัณฑิตยสภา
ภายหลังการปฏิวัติ 2475 ราชบัณฑิตยสภาถูกยุบโอนมาตั้งเป็นกรมศิลปากร สังกัดกระทรวงธรรมการแทน ท่านเองก็ถูกโอนย้ายมารับราชการในกรมศิลปากรนับตั้งแต่บัดนั้นจวบจนกระทั่งเกษียณอายุราชการเมื่อ พ.ศ.2493
ผลงานสำคัญชิ้นสุดท้ายหลังออกจากกรมศิลปากร คือ การดำรงตำแหน่งคณบดีคณะสถาปัตยกรรมไทยคนแรกของมหาวิทยาลัยศิลปากร เมื่อ พ.ศ.2498
พระพรหมพิจิตรเสียชีวิตในปี พ.ศ.2508 หลังจากออกจากตำแหน่งคณบดีคณะสถาปัตยกรรมไทยราว 7 ปี
ในช่วงต้นของชีวิตการทำงานของท่าน แม้จะไม่มีหลักฐานแน่ชัดว่า ได้ฝึกฝนร่ำเรียนมาในรูปแบบแนวทางใด และกับผู้ใดอย่างชัดเจน
แต่ก็สันนิษฐานได้อย่างไม่ไกลจากความเป็นจริงมากนักว่า ท่านคงได้รับการฝึกฝนวิชาช่างสมัยใหม่จากนายช่างชาวต่างประเทศที่เข้ามารับราชการมากมายในสังคมสยามขณะนั้น
จุดเปลี่ยนสำคัญในชีวิตการทำงาน ที่จะส่งผลต่อแนวทางการออกแบบของท่านไปตลอดชีวิต คือ การได้เข้าไปช่วยงานสมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ (นายช่างใหญ่แห่งกรุงสยาม)
อาจกล่าวได้ว่า พระพรหมพิจิตรเป็นลูกศิษย์คนสำคัญที่สุดคนหนึ่งที่สมเด็จฯ กรมพระยานริศฯ สอนวิชาความรู้ทางศิลปะให้อย่างมากมาย โดยงานส่วนใหญ่ที่ได้รับมอบหมายให้ทำ คือ การลอกลายเส้น และเขียนขยายแบบงานออกแบบของพระองค์
การช่วยงานดังกล่าว ทำให้พระพรหมพิจิตรเรียนรู้วิธีการทำงานช่างสถาปัตยกรรมไทยที่มีคุณภาพระดับสูงอยู่เสมอ ประสบการณ์ดังกล่าวมีส่วนอย่างสำคัญที่ช่วยบ่มเพาะความรู้และช่วยขัดเกลาฝีมือทางช่างให้แก่ตัวพระพรหมพิจิตรอย่างชนิดที่จะหาผู้มีโอกาสเช่นนี้ได้ยากนัก
พื้นฐานดังกล่าว เมื่อผนวกกับพรสวรรค์และความตั้งใจจริงในการทำงานของท่านเอง จึงทำให้ผลงานการออกแบบสถาปัตยกรรมไทยของท่านในระยะเวลาต่อมา มีเอกลักษณ์เฉพาะที่โดดเด่น
แต่น่าเสียดาย ที่ผ่านมา การวิเคราะห์งานออกแบบของพระพรหมพิจิตรมักให้ความสำคัญไปที่การสืบสานแนวทางการออกแบบจากสมเด็จฯ กรมพระยานริศฯ เป็นด้านหลัก โดยละเลยด้านที่เป็นแนวทางออกแบบเฉพาะตัวอย่างใหม่บางประการที่พระพรหมพิจิตรได้พัฒนาขึ้น
แม้งานศึกษาที่ผ่านมา จะมีการพูดถึงความพิเศษในงานออกแบบของท่านอยู่บ้าง แต่ส่วนใหญ่ล้วนอธิบายความพิเศษดังกล่าวบนฐานของการประยุกต์วัสดุสมัยใหม่ (คอนกรีต) เข้ามาสู่การออกแบบสถาปัตยกรรมไทยเพียงเท่านั้น
ในทัศนะผม การเน้นย้ำในประเด็นดังกล่าว เป็นเพียงการพูดถึงมิติเล็กๆ ในงานออกแบบของพระพรหมพิจิตรเท่านั้น ซึ่งยังมีความพิเศษอีกหลายด้านที่ยังไม่ถูกอธิบายมากนัก
ความพิเศษซึ่งงานศึกษาที่ผ่านมามักไม่พูดถึง ก็คือแนวคิดเบื้องหลังในการออกแบบ (ทั้งโดยตั้งใจและไม่ตั้งใจ) ของพระพรหมพิจิตร ที่ไม่อาจแยกออกได้เลยจากอุดมคติอย่างใหม่ที่เกิดขึ้นภายหลังการปฏิวัติ 2475
พระพรหมพิจิตรแม้จะเริ่มทำงานมานานมากกว่า 20 ปีแล้วก่อนการปฏิวัติ แต่หากเราพิจารณาให้ดีก็จะพบว่า งานออกแบบชิ้นสำคัญเกือบทั้งหมดล้วนถูกสร้างขึ้นในช่วงเวลา 15 ปีหลังการปฏิวัติ ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่คณะราษฎรมีอำนาจทั้งสิ้น
เป็นที่ทราบกันดีอยู่แล้วนะครับว่า การปฏิวัติ 2475 ได้นำมาซึ่งชนชั้นปกครองใหม่ การเมืองแบบใหม่ และวัฒนธรรมแบบใหม่ ที่ก่อให้เกิดเป็นบรรยากาศของอุดมคติร่วมทางสังคมรูปแบบใหม่ ที่หลายด้านตัดขาดออกจากอุดมคติแบบจารีตอย่างสิ้นเชิง
ในช่วงเวลาดังกล่าว ถือกันว่าปี 2475 คือเส้นแบ่งสำคัญที่แยกสังคมไทยออกเป็น 2 ยุคคือ ยุคเก่าที่ล้าหลังภายใต้ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ กับยุคใหม่อันเป็นอารยะที่มาพร้อมกับระบอบประชาธิปไตย
แนวคิดเรื่องเส้นแบ่งยุคสมัยเช่นนี้ จะเกิดขึ้นไม่ได้เลย หากขาดรูปธรรมที่ชัดเจนที่ปลุกเร้าความรู้สึกของประชาชนให้ตระหนักรู้และสัมผัสได้ถึงเส้นแบ่งดังกล่าวว่ามีอยู่จริง
ซึ่งวิธีการที่ประสบผลอย่างดีเยี่ยมก็คือ การสร้างนวัตกรรมทางวัฒนธรรม และสิ่งแวดล้อมทางกายภาพในแนวทางใหม่ที่สนองตอบต่ออุดมการณ์ใหม่ โดยเฉพาะในมิติของผังเมืองและงานสถาปัตยกรรม ให้พลเมืองในระบอบใหม่ได้สัมผัสอย่างชัดเจน
ประเด็นนี้ ผมเองได้เคยอธิบายไว้ในงานหลายชิ้นที่เขียนเกี่ยวกับสถาปัตยกรรมคณะราษฎร ดังนั้น จะไม่ขอลงรายละเอียดนะครับ
แต่ในที่นี้ ผมอยากจะขยายความในอีกประเด็นที่ยังไม่ค่อยได้พูดถึงมากนัก นั่นก็คือ งานออกแบบสร้างสรรค์ของพระพรหมพิจิตร ซึ่งถูกผลิตขึ้นอย่างผสานแนบแน่นแยกไม่ได้จากอุดมการณ์ใหม่หลังการปฏิวัติ 2475
ควรกล่าวไว้ก่อนว่า งานศึกษาที่ผ่านมา มักอธิบายพระพรหมพิจิตรในฐานะนายช่างสถาปัตยกรรมไทยที่สืบสานแนวทางสถาปัตยกรรมไทยแบบประเพณี แต่ผมอยากจะชี้ชวนให้มองพระพรหมพิจิตรในมุมใหม่ ในฐานะนายช่างสถาปัตยกรรมไทยในยุคคณะราษฎร ที่สร้างสรรค์รูปแบบสถาปัตยกรรมไทยใหม่
ตัวของพระพรหมพิจิตรในฐานะข้าราชการที่ทำงานให้แก่รัฐบาลคณะราษฎร ย่อมหลีกไม่พ้นที่จะตกอยู่ภายใต้บรรยากาศทางความคิดทางการเมืองและสังคมของระบอบใหม่ที่กำลังแพร่กระจายไปในทุกปริมณฑลทางสังคม ณ ขณะนั้น
หากเราสังเกตผลงานการออกแบบสถาปัตยกรรมไทยของท่านให้ดี จะพบลักษณะการออกแบบที่ต้องการแสดงออกถึงเส้นแบ่งของยุคสมัยแห่งการปฏิวัติอย่างชัดเจน
ซึ่งแทบไม่แตกต่างกันเลยจากความพยายามสร้างสถาปัตยกรรมคณะราษฎร ที่เต็มไปด้วยภาษาใหม่ทางสถาปัตยกรรม เพื่อสื่อสารถึงยุคสมัยใหม่ของระบอบประชาธิปไตย
ผมเองได้เคยมีโอกาสสัมภาษณ์ลูกสะใภ้ของพระพรหมพิจิตรเมื่อหลายปีมาแล้ว ซึ่งประโยคหนึ่งที่ผมยังจำได้แม่นก็คือ การบอกเล่าว่า พระพรหมพิจิตรนั้นชอบกล่าวกับลูกหลานอยู่เสมอว่า การทำงานออกแบบสถาปัตยกรรมไทยของท่าน มีเป้าหมายอยู่ที่การสร้างสถาปัตยกรรมไทยใหม่ ที่เป็นของยุคสมัยปัจจุบัน มิใช่การสร้างงานในรูปแบบที่เหมือนของเก่า
คำกล่าวนี้สะท้อนให้เห็นวิธีคิดและบรรยากาศทางสังคมที่แวดล้อมตัวของพระพรหมพิจิตร ณ ขณะนั้น อันเป็นบรรยากาศที่สังคมกำลังเรียกร้องทุกสิ่งอย่างในแนวทางใหม่ที่สะท้อนเส้นแบ่งของยุคสมัยใหม่ หลังการปฏิวัติ 2475
เมื่อบรรยากาศแห่งยุคสมัยเป็นใจ (บรรยากาศที่เรียกร้องให้มองหาสิ่งใหม่) ผสานเข้ากับลักษณะแนวคิดในการทำงานที่ไม่ยึดติดกับแนวทางแบบจารีตอย่างแข็งเกร็งจนเกินไป (ซึ่งอาจเป็นอิทธิพลทางความคิดที่ได้รับมาจากการทำงานให้สมเด็จฯ กรมพระยานริศฯ) และยังผนวกเข้ากับพื้นฐานความรู้ในเชิงช่างแบบไทยและฝรั่งที่ดีเยี่ยมของพระพรหมพิจิตร
ทั้งหมดข้างต้น ได้หลอมรวมและก่อตัวขึ้นเป็นแนวคิดที่ทำให้พระพรหมพิจิตรคิดสร้างสรรค์งานสถาปัตยกรรมไทยในแนวทางใหม่ ที่ถือว่าเป็นพัฒนาการที่สำคัญที่สุดครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์วสถาปัตยกรรมไทย นั่นก็คือ งานสถาปัตยกรรมไทยใหม่ในระบอบประชาธิปไตย