อะไร(แม่ง)ก็เป็นศิลปะ : องค์ประกอบที่ไม่ถูกจัด งานศิลปะที่ว่าด้วยวัตถุที่ถูกมองข้าม (1)

ภาณุ บุญพิพัฒนาพงศ์

เมื่อวันที่ 5 สิงหาคมที่ผ่านมา ผมมีโอกาสได้ไปชมนิทรรศการศิลปะที่น่าสนใจมา เลยถือโอกาสเก็บเอามาเล่าสู่ให้อ่านกันตามเคย

นิทรรศการนั้นมีชื่อว่า (Un)composition หรือในชื่อภาษาไทยว่า องค์ประกอบที่ไม่ถูกจัด

ซึ่งเป็นนิทรรศการแสดงศิลปะเดี่ยวครั้งแรกของ ลัทธพล ก่อเกียรติตระกูล ศิลปินรุ่นใหม่ที่มีความสนใจในการแปรสภาพและเปลี่ยนสถานะใหม่ให้กับวัตถุรอบๆ ตัว

ผลงานศิลปะในนิทรรศการ องค์ประกอบที่ไม่ถูกจัด นำเสนอการสร้างสรรค์ผลงานภาพวาดที่ไร้การควบคุมองค์ประกอบโดยศิลปิน

ผลงานจิตรกรรมที่เกิดจากการลงมือจรดแปรงลงบนผืนผ้าใบให้เรียบเนียบจนไม่ทิ้งรอยฝีแปรง

ไปจนถึงจากการทิ้งร่องรอยของเศษชิ้นส่วนที่หลุดรุ่ยจากแปรงทาสี ไปจนถึงฝุ่นละอองที่ลอยอยู่ในอากาศลงบนสีที่ยังไม่แห้งบนผืนผ้าใบ ประกอบกันจนเกิดเป็นองค์ประกอบที่คล้ายกับภาพวาดแบบนามธรรม ที่ไม่มีรูปทรง ไม่มีเรื่องราว ไม่มีตัวแสดง

ไม่มีแม้แต่สัญลักษณ์ใดๆ ซ่อนอยู่ในภาพให้ขบคิดหรือตีความไปมากกว่าสิ่งที่ตาเห็น

มีแต่เพียงผืนผ้าใบที่เรียบกริบ ขนที่เป็นเส้น ฝุ่นที่เป็นจุด และมวลสารของสีที่ใช้วาดภาพขับเน้นให้เกิดการแสดงตนของวัสดุที่เป็นองค์ประกอบ (ที่ไม่ถูกจัด) อันสำคัญในภาพวาดเหล่านี้ ที่ไม่เพียงท้าทายการรับรู้ของผู้ชม หากยังล่อลวงและชวนให้สงสัยถึงพื้นที่ไร้ระยะที่กว้างกว่าพรมแดนสี่เหลี่ยมของกรอบภาพ

ผลงานเหล่านี้แสดงให้เห็นถึงธรรมชาติและความเป็นตัวตนของศิลปินผ่านภาษาในการสร้างสรรค์ผลงาน ด้วยเทคนิควิธีการที่ดูเสมือนสามัญธรรมดาแต่เต็มไปด้วยความมานะและอุตสาหะของศิลปิน

ลัทธพลมีวิธีการสร้างสรรค์ที่เป็นเอกลักษณ์ของตนเอง ไม่ว่าจะเป็นการขัดออกหรือการวาดเพิ่มเติม

ทั้งหมดนั้นไม่เพียงทำให้ลักษณะทางกายภาพของวัตถุแปรเปลี่ยนไป แต่รวมถึงสถานะของวัตถุด้วยเช่นกัน ท้ายที่สุดผลงานชุดนี้จึงมีความก้ำกึ่งระหว่างการอยู่ในพรมแดนของศิลปะแบบรูปธรรมและนามธรรม

และความเป็นภาพวาดสองมิติกับความเป็นวัตถุสามมิติแบบประติมากรรม

“ชื่อของนิทรรศการนี้ มาจากการที่ ปกติ โดยส่วนใหญ่เวลาเราวาดรูปมันเป็นการจัดองค์ประกอบศิลป์ มันเป็นทฤษฎีหลักที่ใช้ในการทำงานศิลปะ แต่งานของผมคือการไม่จัดองค์ประกอบศิลปะ”

“เวลาที่ผมทำงาน ผมมักจะเล่นกับสื่อที่ผมใช้ โดยเป็นการกลับค่าของสื่อเสมอ อย่างสมัยเรียนผมทำงานวาดเส้น ผมเอากระดาษเปล่าขนาด 14 X 14 ซ.ม. ไปชั่งว่ามันมีน้ำหนักเท่านี้ หลังจากนั้นผมก็เอากระดาษนั้นมาฝนด้วยดินสอจนเต็มแผ่นกระดาษ แล้วเอาไปชั่งอีกที น้ำหนักจากการวาดเส้นตรงนั้นมันเพิ่มมา 0.1 กรัม”

“ผมก็เอากระดาษแผ่นนั้นไปส่งอาจารย์ แล้วบอกว่ามันเป็นการวาดเส้นที่เป็นกายภาพ คือสมัยเรียนวาดเส้น ผมวาดเส้นไม่เก่ง อาจารย์ก็จะบอกว่า คุณวาดเส้นดูไม่มีน้ำหนักเลย ผมก็เลยเอางานวาดเส้นที่มีน้ำหนักไปส่ง”

“แนวคิดของงานชุดนี้คือการเอาสิ่งที่ไม่ถูกใช้ประโยชน์มาใช้ให้เป็นงาน หรือสิ่งที่เป็นวัตถุรอง อย่างเวลาผมไปดูภาพวาดที่มันเนี้ยบมากๆ ผมมักจะมองลึกเข้าไปในฝีแปรงของเขา บ่อยครั้งผมมักจะเห็นขนพู่กันติดอยู่ ผมก็คิดว่า ศิลปินเขาตั้งใจไหม? หรือมันเป็นสิ่งรบกวนในผลงานเหล่านั้นหรือเปล่า? (ในแง่ของงานจิตรกรรม โดยเฉพาะงานจิตรกรรมเชิงพาณิชย์ ขนพู่กันที่หลุดติดอยู่บนภาพเป็นสิ่งที่แสดงออกถึงความไม่สะอาดเรียบร้อยของภาพวาด และเป็นส่วนที่ทำให้ภาพวาดราคาตกลง / ผู้เขียน) ผมอยากหยิบเอาองค์ประกอบเหล่านั้นมาอยู่ในงาน ไม่ใช่ในฐานะสิ่งรบกวน แต่เป็นองค์ประกอบหลักของภาพ”

“ผมตั้งคำถามว่า มันเป็นไปได้ไหมว่าจะเอาขนพู่กันมาทำงาน ขนที่เห็นบนภาพวาดของผม เป็นขนพู่กันจริงๆ ที่ใช้ในกระบวนการทำงาน โดยผมจะวางเฟรมผ้าใบไว้บนพื้น แล้วผมก็จะเดินวนรอบๆ วาดลงสีบนผ้าใบ สีที่ใช้คือสีอะครีลิกที่ผสมน้ำจนบางมาก พอวาดไปมันก็จะมีขนร่วงหล่นลงบนผืนผ้าใบ ทับซ้อนเป็นชั้นขึ้นมาเรื่อยๆ จนกลายเป็นองค์ประกอบที่ไม่ถูกจัดขึ้นมา”

“ผมเริ่มทำงานชุดนี้ตั้งแต่ปี 2014 งานบางชิ้นใช้เวลาประมาณสี่ถึงเจ็ดเดือน เพราะสีมันวาดบางมาก และมันต้องใช้เวลากว่าที่ความชื้นของผ้าใบมันจะหายใบ”

“ส่วนใหญ่ผมคิดว่าผมทำงานภายใต้กระบวนการมากกว่าวิธีคิด ตัวงานอาจจะเริ่มจากวิธีคิด แต่ส่วนที่ทำให้งานเป็นงานจริงๆ มันคือกระบวนการ” ลัทธพลกล่าวถึงกระบวนการในการทำงานชุดนี้ของเขา

ซึ่งกระบวนการทำงานที่ว่านี้ ทำให้เรานึกไปถึงกระบวนการทำงานของศิลปินแอบสแตรกเอ็กซ์เพรสชั่นนิสต์ชาวอเมริกัน แจ๊กสัน พอลล็อก (Jackson Pollock) ที่วางผืนผ้าใบไว้บนพื้น และเดินหยด, สะบัด หรือสาดสีลงไปบนผ้าใบให้ทับซ้อนกันไปเรื่อยๆ ซึ่งลักษณะในการทำงานเช่นนี้ถูกเรียกว่า “แอ๊กชั่นเพนติ้ง” (Action painting)

“มันคือแอ๊กชั่นเพนติ้งเหมือนของพอลล็อกไหม? ผมไม่รู้ แต่แอ๊กชั่นในการทำงานของผมเป็นแอ๊กชั่นที่นิ่งๆ และค่อนข้างเงียบๆ ไม่ได้แสดงออกผ่านการสะบัดหรือสาดสีอะไรแบบพอลล็อก งานของผมเป็นแอ๊กชั่นอีกแบบหนึ่งมากกว่า และแอ๊กชั่นแบบนั้นมันก็ทำให้เกิดเป็นงานแบบที่เห็น”

“เหตุผลที่ผมวางผ้าใบบนพื้น เพราะผมผสมสีกับน้ำเยอะมาก จนเหมือนกับสีน้ำ ถ้าผมวาดมันในแนวตั้ง สีมันจะไหลและหยด ซึ่งผมไม่ต้องการแบบนั้น การทำงานของผมเป็นเรื่องของตัววัตถุและกายภาพของมัน”

“เวลาผมวาดภาพผมใช้พู่กันหน้ากว้างประมาณคืบนึง โดยในตอนแรกผมค่อยๆ วาดรูปตั้งแต่ตอนที่พู่กันเปียกสีชุ่ม และเดินวาดไปรอบๆ งานจนสีบนพู่กันแห้ง และกลายเป็นความเรียบของฝีแปรง”

“ดังนั้น พื้นผิวเรียบลื่นของผ้าใบที่เห็นในภาพ เกิดจากการลงสีทับซ้อนไปเรื่อยๆ หลายชั้น จนพื้นผิวที่เป็นเม็ดหยาบของผ้าใบหายไป”

“จากนั้นผมจึงเคลือบผิวหน้าของภาพด้วยวานิชใสทับซ้อนลงไปหลายๆ ชั้นจนพื้นผิวของงานเรียบลื่นโดยไม่ได้ผ่านการขัดเงาเลยแม้แต่น้อย”

“ที่ผมเลือกกระบวนการแบบนี้ เพราะผมพยายามเลือกอุปกรณ์หรือสื่อที่ใช้ให้สอดคล้องกับวิธีคิดของผม