อนุสรณ์ ติปยานนท์ : ซานไห่ เก้าคนหลังฉาก ในประวัติศาสตร์ผลัดใบ (17)

ความสัมพันธ์ระหว่าง ไต้ ลี่ กับ หู ตี้ หรือผีเสื้อหู (Butterfly) นางเอกหนังผู้โด่งดัง แม้จะเป็นความสัมพันธ์ที่ฝืนใจแต่ก็ไม่ใช่ความสัมพันธ์ที่ผิดปกติเลย

ในช่วงเวลานั้นเหล่านายทุนขุนศึกหรือผู้มีอิทธิพลในสังคมจีนล้วนมีภรรยามากกว่าหนึ่งคนแทบทั้งสิ้น

หากแต่ในกรณี หู ตี้ นั้นอาจเป็นเพราะว่าการเป็นดาราภาพยนตร์ของเธอทำให้เรื่องราวของเธออยู่ในความสนใจของสาธารณชน

เธอเองจำต้องทนอยู่ในชีวิตอันแสนเศร้าในฐานะภรรยาลับของ ไต้ ลี่ ตั้งแต่ปี 1944-1946

โดยช่วงเวลานั้นเธอถูกกักตัวอยู่ที่เสฉวนโดยไม่อาจปรากฏตัว

ในขณะที่สามีตามกฎหมายของเธอถูกพรากจากสาบสูญไป จนหลังการตายของ ไต้ ลี่ นั่นเองที่ หู ตี้ ได้รับอิสระและได้พบกับสามีอีกครั้งก่อนที่ทั้งคู่จะย้ายไปใช้ชีวิตบั้นปลายอันสุขสงบที่ฮ่องกง

หู ตี้ นั้นเป็นดาราที่มีชื่อเสียงในทศวรรษที่สามศูนย์ควบคู่กับดาราหญิงอีกคนคือ หยวน หลิง อี้

การแจ้งเกิดของ หู ตี้ นั้นคู่เคียงไปกับการจบสิ้นของภาพยนตร์เงียบ ด้วยเหตุที่ว่าภาพยนตร์เสียงนั้นต้องการเทคนิคและอุปกรณ์ที่เฉพาะและซับซ้อนกว่า อันเป็นสาเหตุให้สตูดิโอถ่ายหนังขนาดเล็กไม่อาจอยู่รอดต่อไปได้

ภาพยนตร์จีนที่ถูกผลิต (โดยเฉพาะในซานไห่) จึงตกไปอยู่ในมือของสตูดิโอภาพยนตร์ขนาดใหญ่

ผลกระทบนี้รวมถึงดาราที่เคยชินกับการแสดงภาพยนตร์เงียบก็ต้องยุติบทบาทตนเองลงด้วย

ข้อจำกัดสำคัญที่เกิดขึ้นคือการที่ภาษาจีนซึ่งแม้จะมีตัวเขียนในแบบเดียวกัน หากแต่สำเนียงพูดในแต่ละท้องถิ่น แต่ละพื้นที่กลับมีความแตกต่างกันอย่างมาก

ดาราที่มีถิ่นกำเนิดแถวชานตงหรือเจียงหนานมักประสบปัญหาในการพูดภาษาจีนแบบทางการหรือภาษาแมนดาริน โดยเฉพาะในบทพูดที่มีความยาวมากๆ ซึ่งเรียกร้องให้พวกเขาต้องทำการฝึกฝนหรือฝึกซ้อมอย่างหนัก

การกังวลกับการพูดที่ถูกต้องเมื่อผนวกเข้ากับการเคลื่อนไหวของตัวละครทำให้การแสดงนั้นเพิ่มความยากเย็นขึ้นอีก

ทว่า ปัญหาเหล่านี้หาได้เกิดขึ้นกับ หู ตี้ เลย

เธอเกิดในครอบครัวที่มีฐานะ ใช้ชีวิตอยู่ทั้งในปักกิ่งและเทียนสิน พูดภาษาแมนดารินได้คล่อง และเข้ารับการศึกษาในโรงเรียนภาพยนตร์จงหัว (China Film Academy)

โอกาสทองเช่นนี้ทำให้เธอได้รับบทสำคัญในภาพยนตร์เรื่องแล้วเรื่องเล่าโดยเฉพาะในภาพยนตร์เสียงเรื่องแรกของจีนในปี 1931 ที่ชื่อว่า Sing-song girl Red Peony

หลังจากภาพยนตร์เรื่องนั้น เธอรับบทนำในภาพยนตร์อีกจำนวนนับไม่ถ้วน

และความสำเร็จของเธอทำให้เธอถูกเลือกให้เป็นดาราที่เข้าร่วมงานเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติที่นครมอสโกในปี 1935

ช่วงเวลาห้าเดือนนับจากเดือนกุมภาพันธ์ปีนั้น หู ตี้ ตระเวนไปในมอสโก เบอร์ลิน ปารีส ลอนดอน เจนีวา และโรม

โดยในช่วงการเดินทางนั้นเอง ที่ หู ตี้ รับผิดชอบทั้งตำแหน่งทูตวัฒนธรรม และตัวแทนของประเทศที่เพิ่งเกิดขึ้นใหม่หลังการปฏิวัติซินไห่ภายใต้การนำของพรรคก๊กมินตั๋ง

จดหมายจากแดนไกลของเธอถูกตีพิมพ์ทั้งในหนังสือพิมพ์ นิตยสารผู้หญิงรายเดือนและรายสัปดาห์

หลังกลับมาถึงซานไห่ในวันที่ 7 มิถุนายน 1935 หู ตี้ ก็กลายเป็นดารายอดนิยมที่มีผู้คนคลั่งไคล้จำนวนมากไปเสียแล้ว

จดหมายของเธอทำให้เธอกลายเป็นดาราผู้ทรงภูมิปัญญาและมีความรู้รอบตัวมากมายนอกเหนือจากการแสดง อาทิ ในจดหมายฉบับหนึ่งที่เธอเขียนว่า “ฉันรู้สึกมีความสุขที่ได้อ่านงานเขียนชิ้นเยี่ยมสองชิ้น ชิ้นแรกคือความรู้รอบโลก อีกชิ้นได้แก่ บันทึกการสังเกตโลกภาพยนตร์ ทั้งสองชิ้นนี้ทำให้ฉันได้ความรู้ที่เชื่อว่าแม้การแสวงหาชั่วชีวิตก็ไม่อาจให้ได้”

ในขณะที่ทศวรรษที่สองศูนย์เป็นทศวรรษของหญิงสาวจากกลุ่มด้อยโอกาสที่อยากไต่เต้าเป็นดารา ทศวรรษที่สามศูนย์กลับเป็นทศวรรษของหญิงสาวผู้มีความสามารถและปรารถนาจะผลักดันอาชีพนักแสดงให้เป็นที่ยอมรับว่ามีเกียรติโดยทั่วไป

ว่าไปแล้วทศวรรษที่สามศูนย์เป็นทศวรรษที่ผลักดันเพศหญิงในจีนออกมาสู่แถวหน้าและทำให้พวกเธอไปไกลกว่าหญิงสาวรัดเท้าที่ช่วยตนเองไม่ได้ในศตวรรษก่อน และทศวรรษที่สามศูนย์นี้เองที่ประเทศจีนมีนักกีฬาหญิงที่เชื่อว่าจะคว้าเหรียญทองโอลิมปิกปี 1936 ได้เป็นคนแรกนาม หยัง เสี่ยว ฉง-Yang Xiuqiong

หยัง เสี่ยว ฉง เกิดในปี 1918 ที่ด้าเกิง ซึ่งขึ้นชื่อว่าเป็นเมืองที่มีการทำฟาร์มโคนมอย่างแพร่หลายในกว่างดง

พ่อของเธอเป็นครูสอนว่ายน้ำให้กับสมาคมหนานหัวและทำให้เธอหลงใหลในการว่ายน้ำนับแต่เด็ก

เมื่ออายุได้เพียงสิบสองปี หยังฯ สามารถกำชัยชนะการว่ายน้ำในแบบฟรีสไตล์ห้าสิบเมตรและร้อยเมตรในการแข่งขันว่ายน้ำนานาชาติที่ฮ่องกงปี 1930

ในปี 1933 เมื่อเธอชนะที่หนึ่งทั้งในการว่ายน้ำฟรีสไตล์ห้าสิบเมตรและร้อยเมตร แบ๊กสโตรกหนึ่งร้อยเมตร และบรีสต์สโตรกสองร้อยเมตร จากการแข่งขันกีฬาประจำชาติ หยังฯ ก็ได้รับสมญานามว่าเงือกสาวเจ้าสระ ผลจากชัยชนะครั้งนั้นทำให้รัฐบาลก๊กมินตั๋งเลือกเธอเป็นตัวแทนในการแข่งขันว่ายน้ำกีฬาโลกตะวันออก (ซึ่งเป็นต้นกำเนิดของกีฬาเอเชี่ยนเกมส์) ที่มีขึ้นในมะนิลาปี 1934

หยังฯ และนักกีฬาคนอื่นเดินทางด้วยเรือไปยังมะนิลา

การแข่งขันครั้งนั้น หยังฯ ชนะที่หนึ่งถึงสามรายการ และหากเธอไม่ถูกตัดสิทธิในการว่ายสองร้อยเมตร เธอก็จะชนะครบทุกรายการ ผลจากชัยชนะครั้งนี้ทำให้การเดินทางกลับของเธอจากที่นั่งธรรมดาในเรือกลายเป็นที่นั่งเฟิร์สคลาสทันที

ความสำเร็จของ หยัง เสี่ยว ฉง ไม่สิ้นสุดเพียงเท่านี้ การแข่งขันกีฬาแห่งชาติในปีรุ่งขึ้น หยังฯ เป็นที่หนึ่งในการว่ายฟรีสไตล์ร้อยเมตรและบรีสต์สโตรกร้อยเมตร

ความสำเร็จที่ว่าส่งผลให้สื่อในประเทศจีนคาดเดาว่าเธอจะเป็นนักกีฬาหญิงคนแรกของจีนที่จะคว้าชัยในกีฬาโอลิมปิกเหนือนักกีฬาตะวันตก

ยิ่งการแข่งขันโอลิมปิกปี 1936 ที่นครเบอร์ลินใกล้เข้ามาเพียงใด ข่าวสารของ หยัง เสี่ยว ฉง ก็มากขึ้นเท่านั้น แม้ว่าจะมีคำเตือนจากผู้สื่อข่าวกีฬาบางคนว่าสถิติของหยังฯ นั้นแม้จะเหนือกว่านักกีฬาจีนคนอื่น แต่ก็ยังตามหลังนักกีฬาในระดับสากลอยู่มาก

ไม่เว้นแม้แต่นักกีฬาหญิงชาวญี่ปุ่นที่ไม่ได้มาร่วมแข็งกีฬาโลกตะวันออกในครั้งนั้นด้วย

แต่รัฐบาลจีนและทีมโค้ชไม่สนใจคำเตือนเช่นนั้น พวกเขาส่งหยังฯ ไปยังนครเบอร์ลินในปี 1936 ทว่า หยัง เสี่ยว ฉง ต้องกลับมาสู่ประเทศจีนพร้อมกับความพ่ายแพ้

แม้จะไม่ได้ตำแหน่งอะไรกลับมา ทว่า หยัง เสี่ยว ฉง ยังคงรุดหน้าต่อในการกีฬา

ในปีรุ่งขึ้นคือปี 1937 ภายหลังจากกองทัพญี่ปุ่นบุกนครซานไห่ได้ไม่นาน กีฬาประจำชาติครั้งที่เจ็ดก็ถูกจัดขึ้นที่ฉงชิ่ง ครานี้ หยังฯ ได้ชัยชนะถึงแปดตำแหน่งด้วยกัน

ความสำเร็จครั้งนี้ของเธอทำให้กีฬาว่ายน้ำกลายเป็นกีฬายอดนิยมในหมู่เด็กสาวชาวจีนทั่วไป

สำหรับโลกปัจุบัน กีฬาว่ายน้ำและชุดว่ายน้ำดูจะเป็นเรื่องปกติธรรมดา แต่ในช่วงเวลานั้นที่หญิงสาวชาวจีนเพิ่งปลดที่รัดเท้าออกได้ไม่ถึงครึ่งศตวรรษด้วยซ้ำไป การใส่ชุดว่ายน้ำที่อวดเรือนร่างเป็นสิ่งที่ยังชวนให้ตะขิดตะขวงใจยิ่งนัก

โชคดีที่ความสำเร็จของ หยัง เสี่ยว ฉง ทำให้กีฬาว่ายน้ำและชุดว่ายน้ำกลายเป็นที่ยอมรับในเวลาอันรวดเร็ว

ด้วยใบหน้าที่สวยสงบและเป็นมิตร ทำให้ภาพของ หยัง เสี่ยว ฉง ขึ้นปกนิตยสารสำหรับผู้หญิงอย่างต่อเนื่อง

หยังฯ เปลี่ยนความพ่ายแพ้ในโอลิมปิกครั้งที่ผ่านมาไปสู่ความเป็นชาตินิยม เธอให้สัมภาษณ์นิตยสารหลายเล่มว่าการเข้าร่วมการแข่งขันครั้งนั้นหาได้เป็นไปเพื่อการหวังเหรียญทองหรือชัยชนะเป็นหลัก หากแต่เป็นไปเพื่อประกาศจิตวิญญาณอันเข้มแข็งและโดดเด่นของชาวจีนให้เป็นที่รู้จักกันโดยทั่วไปในระดับสากล

เธอชี้แจงว่าความพ่ายแพ้นั้นมาจากการเดินทางที่เหนื่อยอ่อนและการขาดแคลนโภชนาการที่เหมาะสมสำหรับนักกีฬา เช่นเดียวกับ หู ตี้ หยัง เสี่ยว ฉง เล่าถึงประสบการณ์ในเวนิซที่เหล่านักข่าวชาวอิตาเลียนเรียกเธอว่าเบลล่าหรือหญิงงาม เธอเล่าถึงอาหารเยอรมันที่เธอชื่นชอบโดยเฉพาะไส้กรอก ความประทับใจในสวนสัตว์ที่นครเบอร์ลิน คู่ขนานไปกับ หู ตี้ สื่อต่างๆ จัด หยัง เสี่ยว ฉง ไว้ในฐานะหญิงสาวรุ่นใหม่ เธอปรากฏตัวตามงานการกุศลต่างๆ ไม่ผิดจากดารา

และในขณะที่ หู ตี้ มีบันทึกการเดินทางในยุโรปของเธอตีพิมพ์ออกมาในปี 1935 หยัง เสี่ยว ฉง ก็มีบันทึกการเดินทางไปแข่งกีฬาในยุโรปของเธอตีพิมพ์ถัดมาเช่นกัน

ทว่า ในท่ามกลางความสำเร็จเหล่านั้น เหตุการณ์ร้ายก็เกิดขึ้น มารดาของหยังฯ กลับล้มป่วยด้วยโรคมะเร็งและจากไปในปลายปี

หยังฯ ตัดสินใจแต่งงานกับ เต๋า โป หลิน นักกีฬาฮอกกี้เพื่อเยียวยาจิตใจและแม้ว่าเธอจะหวังที่จะกลับไปสู่ศึกโอลิมปิกอีกครั้งในปี 1940

หากแต่หนทางกลับไม่ราบรื่นเสียแล้ว การที่เป็นบุคคลผู้มีชื่อเสียงโด่งดัง วัยเยาว์และมีใบหน้างดงาม ทำให้ หยัง เสี่ยว ฉง ตกเป็นที่หมายปองของพวกนายทุนขุนศึกและผู้มีอิทธิพลทั้งหลาย

หยังฯ พยายามไม่สนใจคำซุบซิบเหล่านั้นและมุ่งมั่นกับการฝึกซ้อมเพื่อโอลิมปิกครั้งหน้า

แต่แล้วสงครามโลกครั้งที่สองก็เกิดขึ้น