ศัพท์บัญญัติพระองค์วรรณ (1)/บทความพิเศษ เรืองชัย ทรัพย์นิรันดร์

บทความพิเศษ

เรืองชัย ทรัพย์นิรันดร์

 

ศัพท์บัญญัติพระองค์วรรณ (1)

 

“ทุกๆ วัน เมื่อดิฉันได้ยินการใช้ศัพท์ท่านพ่อทางโซเชียลมีเดีย เช่นคำว่า สื่อสารมวลชน ปฏิรูป ปฏิวัติ รัฐธรรมนูญ วารสารศาสตร์ นวัตกรรม ประชาธิปไตย มลพิษ และศัพท์อื่นๆ ก็มีความปลาบปลื้มปีติที่สังคมไทยยังสืบสานผลงานของท่านพ่ออยู่ต่อไป ภูมิใจมาก ท่านเป็นผู้คิดค้นศัพท์ให้คนไทยเราใช้มากกว่าพันคำ ใช้กันทั่วประเทศ…”

เป็นคำกล่าวของท่านผู้หญิงวิวรรณ วรวรรณ เศรษฐบุตร ทายาทพระองค์วรรณ ที่พันธุ์ทิพย์ ธีระเนตร บันทึกไว้ในเรื่อง มรดก “พระองค์วรรณฯ” ศัพท์บัญญัติ วันนี้ของประชาชาติ พรุ่งนี้ของศูนย์นราธิปฯ ในหน้า 13 หนังสือพิมพ์มติชนรายวัน ฉบับวันเสาร์ที่ 28 สิงหาคม 2564 เนื่องในวโรกาสครบรอบวันประสูติ (25 สิงหาคม 2434) 130 ปี 25 สิงหาคม 2564 ของพระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมหมื่นนราธิปพงษ์ประพันธ์ “พระองค์วรรณฯ” พระนามเดิม “หม่อมเจ้าวรรณไวทยากร”

เมื่อขรรค์ชัย บุนปาน ประธานกรรมการ บริษัท มติชน จำกัด (มหาชน) ขอประทานอนุญาตชื่อหนังสือพิมพ์ประชาชาติมาเพื่อทำหนังสือพิมพ์ตามอุดมการณ์ที่ยึดประโยชน์ของสังคมและประเทศชาติเป็นสำคัญ ข้าพเจ้าจึงมีโอกาสเข้าร่วมงานด้วย ขณะเป็นหนังสือพิมพ์ประชาชาติรายวัน

เนื่องในโอกาสครบรอบ 100 ปี วันประสูติ พ.ศ.2544 เป็นปีที่สมาคมนักเขียนแห่งประเทศไทยก่อตั้งครบ 30 ปี ประจวบกับเป็นปีที่ครบ 110 พรรษาของศาสตราจารย์พลตรีพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าวรรณไวยากร กรมหมื่นนราธิปพงศ์ประพันธ์ และครบรอบ 10 ปีที่องค์การศึกษาวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (UNESCO) ประกาศยกย่องให้พระองค์เป็นบุคคลสำคัญของโลกที่มีผลงานดีเด่นด้านวัฒนธรรม สมาคมนักเขียนแห่งประเทศไทย โดยนายประภัสสร เสวิกุล เป็นนายกสมาคม จึงดำริให้มีรางวัลนราธิปฯ ขึ้น

ทั้งนี้ ด้วยความเห็นชอบของท่านผู้หญิงหม่อมราชวงศ์วิวรรณ เศรษฐบุตร ทายาทของพระองค์ ในการเชิญพระนาม “นราธิปพงศ์ประพันธ์” มาเป็นชื่อรางวัล

รางวัล “นราธิปพงศ์ประพันธ์” เป็นรางวัลที่มอบให้นักเขียน นักหนังสือพิมพ์ กวี นักแปล และบรรณาธิการอาวุโสผู้สร้างสรรค์ผลงานมาอย่างต่อเนื่อง ยาวนาน และผลงานเป็นที่ยกย่องอย่างกว้างขวาง เพื่อมอบโล่เชิดชูนักเขียนอาวุโสที่มีอายุ 80 ปีขึ้นไป

ต่อมาเมื่อ พ.ศ.2561 ได้ปรับเป็นอายุ 75 ปี ผู้รับโล่ “นราธิปพงศ์ประพันธ์” ปีแรก พ.ศ.2544 จำนวน 14 คน

ข้าพเจ้าได้รับพิจารณารับโล่รางวัล “นราธิปพงศ์ประพันธ์” ในปี พ.ศ.2561 มีผู้ได้รับ 19 คน

โล่รางวัล “นราธิปพงศ์ประพันธ์” จารึกไว้ว่า

“ขอประกาศเกียรติคุณและและมอบรางวัลนราธิปพงศ์ประพันธ์ (พลตรีพระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมหมื่นนราธิปพงศ์ประพันธ์) ประจำปีพุทธศักราช 2561 แด่นายเรืองชัย ทรัพย์นิรันดร์ ในฐานะนักเขียน นักหนังสือพิมพ์ กวี นักแปล และหรือบรรณาธิการอาวุโส ผู้สร้างสรรค์ผลงานอันทรงคุณค่าแห่งวรรณกรรมไทยมาเป็นเวลานาน ต่อเนื่อง และเป็นที่นิยมยกย่องอย่างกว้างขวาง มอบให้ ณ วันที่ 26 มกราคม 2562”

ประกาศ ณ วันที่ 24 ธันวาคม พ.ศ.2561 นางกนกวลี กันไทยราษฎร์ นายกสมาคมนักเขียนแห่งประเทศไทย

วันที่มอบรางวัล ผู้ได้รับรางวัลยังได้รับหนังสือ “พระบิดาแห่งการบัญญัติศัพท์” ศัพท์บัญญัติพระองค์วรรณฯ ครบ 125 ปี วันคล้ายวันประสูติ 25 สิงหาคม 2559 จากท่านผู้หญิงหม่อมราชวงศ์วิวรรณ เศรษฐบุตร ซึ่งไปร่วมเป็นเกียรติครั้งนี้

หนังสือเล่มดังกล่าว ท่านผู้หญิงยังเขียนมอบให้ทุกคนที่ได้รับรางวัลด้วยลายมือ ว่า

ขอมอบหนังสือนี้ให้ (เอ่ยนามผู้รับมอบ) คุณเรืองชัย ทรัพย์นิรันดร์ และขอแสดงความยินดีในโอกาสที่ท่านได้รับรางวัล “นราธิปพงศ์ประพันธ์” ประจำปี 2561 ซึ่งนับเป็นเกียรติอย่างสูงสุด ด้วยความปรารถนาดียิ่ง (ลายเซ็น “วิวรรณ”) ทายาทพระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมหมื่นนราธิปพงศ์ประพันธ์ 26 ม.ค. 62

 

“คํานำ” หนังสือเล่มนี้แจ้งไว้ว่า

…ในโอกาสอันเป็นวันคล้ายวันประสูติครบ 125 ปี พลตรีพระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมหมื่นนราธิปพงศ์ประพันธ์ สำนักงานราชบัณฑิตยสภา รำลึกในคุณูปการที่ทรงกระทำให้กับสถาบันแห่งนี้ เพื่อแสดงความกตัญญูกตเวทิตาและเผยแพร่พระเกียรติคุณของพระองค์ จึงแต่งตั้ง “คณะกรรมการจัดทำหนังสือในโอกาสครบ 125 ปี แห่งวันคล้ายวันประสูติ พลตรีพระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมหมื่นนราธิปพงศ์ประพันธ์” จัดทำหนังสือ ศัพท์บัญญัติพระองค์วรรณฯ และเสนอที่ประชุมแห่งราชบัณฑิตยสภาให้ความเห็นชอบเสนอต่อคณะรัฐมนตรีเทิดพระเกียรติพระองค์ทรงเป็นพระบิดาแห่งการบัญญัติศัพท์ พร้อมกันในโอกาสนี้ด้วย

คำขอบคุณของท่านผู้หญิงวิวรรณ วรวรรณ เศรษฐบุตร แจ้งไว้ว่า

“…ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับราชบัณฑิตยสภานั้น เสด็จในกรมนราธิปพงศ์ประพันธ์ หรือพระนามเดิมย่อว่า ‘พระองค์วรรณ’ ได้ทรงมอบให้ไว้คือ งานบัญญัติศัพท์ ซึ่งเป็นงานที่พระองค์ท่านโปรดและทรงคิดค้นอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ทรงสำเร็จการศึกษาจากต่างประเทศ และเข้ารับราชการในกระทรวงการต่างประเทศถึงวาระใกล้สิ้นพระชนม์ ศัพท์ของพระองค์ท่านในหลากหลายสาขาจึงเป็นที่นิยมใช้กันอย่างแพร่หลายในทุกวงการ และได้ใช้สืบต่อกันมาจนถึงปัจจุบัน โดยเป็นที่รู้จักหรือเรียกกันว่า ‘ศัพท์พระองค์วรรณ’…”

สารบัญของหนังสือเล่มนี้ประกอบด้วยเรื่องทั้งหมด 19 เรื่อง มีเรื่องที่น่าสนใจนอกจาก “รวมศัพท์บัญญัติพระองค์วรรณฯ (ทรงแก้ไข พ.ศ.2510)” ยังมีเรื่อง “บันทึกการเสด็จพระราชดำเนินพระราชทานกระแสพระราชดำริเรื่อง ปัญหาการใช้คำไทย” ในการประชุมทางวิชาการของชุมนุมภาษาไทย คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ณ ห้องประชุมคณะอักษรศาสตร์ เมื่อวันที่ 29 กรกฎาคม พ.ศ.2505 ด้วย

ความบางตอน มีดังนี้

 

ชุมนุมภาษาไทย คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้จัดให้มีการประชุมทางวิชาการขึ้นในวันที่ 29 กรกฎาคม 2505 เวลา 10.00 นาฬิกา พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 9) ได้เสด็จพระราชดำเนินมาทรงร่วมประชุมด้วยพระองค์เอง…

เมื่อรถพระที่นั่งเทียบบันไดระเบียงที่เชื่อมตึกหอสมุดกลางและตึกคณะอักษรศาสตร์ พระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมหมื่นนราธิปพงศ์ประพันธ์ ศาสตราจารย์ศุภชัย วานิชวัฒนา รองอธิการบดีฝ่ายบริหาร ศาสตราจารย์รอง ศยามานนท์ รองอธิการบดีฝ่ายปกครอง และศาสตราจารย์หม่อมราชวงศ์สุมนชาติ สวัสดิกุล หัวหน้าแผนกวิชาภาษาไทย และประธานชุมนุมภาษาไทย ฯลฯ กราบบังคมทูลอัญเชิญเสด็จพระราชดำเนินขึ้นสู่ห้องประชุมคณะอักษรศาสตร์…

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงจุดธูปเทียนถวายสักการะพระบรมรูปพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ที่ประดิษฐานอยู่ในห้องโถงกลาง ทรงลงพระปรมาภิไธยในสมุดของชุมนุมภาษาไทย แล้วศาสตราจารย์รอง ศยามานนท์ รองอธิการบดีฝ่ายปกครอง และคณะบดีคณะอักษรศาสตร์ ได้กราบบังคัมทูลพระกรุณา… ช่วงท้ายของคำกราบบังคมว่า

…ที่ใต้ฝ่าละลองธุลีพระบาทได้ทรงพระมหากรุณาธิคุณเสด็จพระราชดำเนินมาร่วมการประชุมของชุมนุมภาษาไทย คณะอักษรศาสตร์ เป็นการส่วนพระองค์ในวันนี้… –เพื่อปรึกษาหารือถึงเรื่องปัญหาความเสื่อมโทรมและข้อบกพร่องในการศึกษาภาษาไทย การที่ใต้ฝ่าละลองธุลีพระบาททรงพระราชอุตสาหะเสด็จพระราชดำนินมาในครั้งนี้ เป็นการแสดงให้เห็นว่าทรงห่วงใยและสนพระราชหฤทัยในเรื่องของภาษาไทยเป็นอย่างยิ่ง

ข้าพระพุทธเจ้าทั้งหลายที่ร่วมประชุม ณ ที่นี้รู้สึกเป็นเกียรติอย่างสูงแก่ที่ประชุมนี้ และระลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณครั้งนี้อย่างมิรู้ลืม

บัดนี้ได้เวลาอันสมควรแล้ว ข้าพระพุทธเจ้าขอพระราชทานพระราชวโรกาสกราบบังคมทูลเบิกนายเจือ สตะเวทิน ประธานกรรมการดำเนินงานชุมนุมภาษาไทย คณะอักษรศาสตร์ เริ่มดำเนินการประชุมโดยปรกติ

ด้วยเกล้าด้วยกระหม่อม ขอเดชะ

 

ครั้นแล้ว นายเจือ ศตะเวทิน ได้ดำเนินการประชุมตามระเบียบวาระ… แล้วเชิญศาสตราจารย์หม่อมราชวงศ์สุมนชาติ สวัสดิกุล ประธานชุมนุมภาษาไทย ดำเนินการประชุมต่อไป หม่อมราชวงศ์สุมนชาติ สวัสดิกุล ได้กราบบังคมเชิญพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวประทับเป็นประธานของที่ประชุม

ทรงกระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้หม่อมราชวงศ์สุมนชาติ สวัสดิกุล เป็นเลขานุการของที่ประชุม และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมหมื่นนราธิปพงศ์ประพันธ์ ฯพณฯ นายสุกิจ นิมมานเหมินท์ และหม่อมหลวงหญิงบุญเหลือ เทพยสุวรรณ เข้าร่วมการชี้แจงปัญหาด้วย…

เมื่อเริ่มการประชุม หม่อมราชวงศ์สุมนชาติแจ้งที่ประชุมว่า เรื่องที่จะพูดกันในวันนี้ คือ ชี้แจงปัญหาการใช้คำไทย เหตุที่จะพูดถึงหัวข้อนี้เพราะทรงมีพระราชปรารภว่า การใช้คำไทยที่แปลจากภาษาต่างประเทศทุกวันนี้นั้น มักไม่ค่อยจะตรงต่อความหมายในภาษาเดิมนัก สมควรจะได้วางแนวทางการใช้ให้เป็นหลักที่จะปฏิบัติให้สะดวกสืบไป…

ในชั้นต้นเพียงแต่จะมีพระราชดำรัสพระราชทานคณะกรรมการชุมนุมภาษาไทยเพื่อให้ช่วยกันคิดเท่านั้น แต่ต่อมา คิดกันว่าเมื่อจะเสด็จพระราชดำเนินมาพระราชทานกระแสพระราชดำรัสแล้ว ก็น่าจะได้ให้สมาชิกของชุมนุมภาษาไทยและท่านผู้สนใจในวิชาภาษาไทยได้มีโอกาสเข้าเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทรับฟังพระราชกระแสด้วย เพื่อจะได้ช่วยกันคิดแก้ไขตามที่ทรงได้ตั้งข้อสังเกตไว้ให้เป็นไปตามพระราชประสงค์ และด้วยเหตุที่ไม่ได้เรียนให้ทราบล่วงหน้าถึงการเสด็จพระราชดำเนินในวันนี้ จำต้องขออภัยต่อท่านสมาชิกทั้งหลายด้วย เพราะการเสด็จพระราชดำเนินในคราวนี้เป็นการส่วนพระองค์จริงๆ…

สำหรับปัญหาเรื่องการใช้คำไทยนี้ ผมเองถนัดแต่ใช้เท่านั้น ไม่ถนัดในการคิดหรือบัญญัติคำใหม่ เมื่อได้รับพระราชทานหัวข้อมาแล้วก็คิดถึงครูอาจารย์ที่ประสิทธิ์ประสาทวิชาภาษาไทยให้ผม คือพระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมหมื่นนราธิปพงศ์ประพันธ์ ที่ประทับอยู่ทางด้านโน้น ทรงดำรงตำแหน่งราชบัณฑิตและกรรมการบัญญัติศัพท์และตำแหน่งอื่นๆ อีกหลายตำแหน่ง รวมทั้งรองนายกรัฐมนตรีด้วย ท่านที่ได้รับเชิญมาอีกท่านหนึ่งคือ ฯพณฯ เอกอัครราชทูตประจำประเทศอินเดีย อ๊าฟกานิสถาน (ประกาศราชบัณฑิตยสถาน เรื่องกำหนดชื่อประเทศ ฯลฯ พ.ศ.2545 ใช้อัฟกานิสถาน) และลังกา นายสุกิจ นิมมานเหมินท์ ท่านผู้นี้เคยดำรงตำแหน่งอื่นๆ อีกมาก รวมทั้งเคยเป็นรองนายกรัฐมนตรีด้วย ทางด้านสุดโน้นก็คือหม่อมหลวงหญิงบุญเหลือ เทพยสุวรรณ ผมไม่ต้องแนะนำมาก เพราะท่านเป็นผู้หนึ่งที่ได้เริ่มก่อตั้งชุมนุมภาษาไทยนี้ขึ้น และขณะนี้ท่านเป็นรองประธานกรรมการดำเนินงานของชุมนุมภาษาไทยนี้

หม่อมราชวงศ์สุมนชาติจบการแนะนำผู้ร่วมชี้แจง

(อ่านต่อฉบับหน้า)