THE MATRIX : RESURRECTION ‘โลกเสมือน’ / ภาพยนตร์ : นพมาส แววหงส์

นพมาส แววหงส์

ภาพยนตร์

นพมาส แววหงส์

 

THE MATRIX : RESURRECTION

‘โลกเสมือน’

 

กำกับการแสดง

Lana Wachowski

นำแสดง

Keanu Reeves

Carrie-Anne Moss

Yahya Abdul Mateen II

Neil Patrick Harris

Jonathan Groff

Jessica Henwick

 

The Matrix ออกสู่สายตาคนดูครั้งแรกเมื่อ ค.ศ.1999

และกลายเป็นหนังไซไฟที่ “โดนใจ” ผู้คนอย่างมาก ด้วยองค์ประกอบหลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็นเนื้อเรื่องอันเร้าใจของการต่อสู้ฟาดฟันระหว่างมนุษย์กับเครื่องจักร งานออกแบบโปรดักชั่นที่ติดตาตรึงใจ คอสตูมเท่ระเบิดของพระเอกนางเอก ฉากต่อสู้ที่ใช้การออกแบบท่าวิทยายุทธ์จากหนังจีนกำลังภายใน

และที่ชวนพิศวงยิ่งคือ เนื้อหาที่เป็นปรัชญาชวนคิดเกี่ยวกับความจริงของโลกที่เราอยู่นี้

ในแง่นี้แล้ว The Matrix ซึ่งเป็นโลกเสมือนที่เครื่องจักรสร้างไว้เพื่อกักขังมนุษย์นับล้านที่นอนอยู่ใน “พ็อด” เชื่อมต่อสายระโยงระยางเพื่อประโยชน์ของการนำพลังงานที่มนุษย์สร้างนั้นไปขับเคลื่อนโลกต่อไป ซึ่งแน่นอนว่านั่นคือ “ดิสโทเปีย” หรือโลกอนาคตที่น่าหดหู่

ถ้าพูดด้วยศัพท์แสงทางวรรณกรรม ศิลปะและปรัชญา เนื้อหาของ The Matrix เรื่องดั้งเดิม เป็นเรื่องของอภิปรัชญา หรือฟิสิกส์ที่อยู่เหนือโลก (metaphysics) หรืออัตถิภาวนิยม (existentialism) ซึ่งชวนให้คิดต่ออย่างพิศวงงงงุน ถกประเด็นและเถียงคอเป็นเอ็น

โดยเปิดเวทีอภิปรายกันอย่างกว้างขวางไม่รู้จบ

 

หลังจากความสำเร็จระเบิดเถิดเทิงแบบเขย่าโลกของหนัง ก็ตามต่อมาด้วยภาคสองและภาคสาม (2003) ซึ่งหันมาเป็นเรื่องราวของการต่อสู้เอาชีวิตรอดของมนุษย์กลุ่มหนึ่งท่ามกลางศัตรูอันทรงพลังคือ เครื่องจักรที่กักขังมนุษย์ไว้ให้อยู่ในการควบคุม

ภาคสองและสามจึงเป็นเรื่องของการต่อสู้ดิ้นรนของกลุ่มต่อต้านเครื่องจักรกล ซึ่งหลบหนีไปอยู่ในดินแดนไซออนอันอดอยากยากแค้น เพื่อความมีเสรีภาพในการควบคุมชีวิตของตนเอง และช่วยปลดปล่อยมนุษยชาติให้เป็นอิสระอย่างลำบากยากเย็นจากการควบคุมและครอบงำของจักรกลที่ครองโลกอยู่ แม้จะต้องแลกมาด้วยชีวิตและการเสียสละอย่างยิ่ง

แม้ว่าจะยังคงความต่อเนื่องในด้านเนื้อหา แต่แนวทางของหนังก็หักเหไปในอีกทิศทาง เพื่อป้อนความกระหายให้แก่เหล่าสาวกเมทริกซ์ที่ยังอยากรู้อยากเห็นต่อว่าจะเกิดอะไรขึ้นกับฮีโร่ในดวงใจ

เวลาผ่านไปอีก 18 ปี ระหว่างนั้นเมทริกซ์ก็กลายเป็น “ลัทธิ” ที่มีผู้ติดตามอยู่มากและอาจเพิ่มมากขึ้นอีกในรูปของหนังสือการ์ตูนภาพ (comics) วีดีโอเกม และหนังแอนิเมชั่น

กว่าจะได้ฤกษ์สร้างภาคสี่ต่อมาในชื่อ Resurrection เนื่องจากในภาคสามนั้น ดูเหมือนว่าพระเอกนีโอ จะสละชีวิตในฐานะที่เป็น The One (ผู้ปลดปล่อย หรือผู้หาญต่อกรกับเครื่องจักร)

แต่ในเมทริกซ์ ต่อให้ตายแล้วก็ยังทำให้กลับฟื้นคืนชีพขึ้นมาได้อีก

ดังนั้น เมื่อเวลาในเรื่องผ่านไป 60 ปี เราจึงได้เจอมิสเตอร์แอนเดอร์สัน หรือนีโอ อีกครั้ง ใช้ชีวิตเป็นโปรแกรมเมอร์ของวีดีโอเกมยอดนิยมของยักษ์ใหญ่ในวงการบันเทิง คือวอร์เนอร์ บราเดอร์ส ซึ่งคือค่ายหนังต้นสังกัดนั่นเอง

จะว่าไปแล้วภาคสี่นี่มีความคล้ายคลึงกับภาคแรกมากที่สุด เพราะนีโอกลับคืนไปสู่ชีวิตของโปรแกรมเมอร์ อย่างที่เราเคยเห็นเขาเป็นครั้งแรกในภาคแรกอีกแล้ว

นอกจากนั้น หลายสิ่งหลายอย่างยังซ้ำรอยเดิม เป็น “เดจาวู” (deja vue) อย่างที่ในภาคแรกก็พูดไว้เหมือนกัน

 

กลุ่มพวกต่อต้านเครื่องจักรภายใต้การนำของกัปตัน “บักซ์” (เจสซิกา เฮนวิกส์) หลบหนีการล้างผลาญของมนุษย์เครื่องจักร และเผอิญได้พบกับอวตารของ “มอร์เฟียส” ในร่างหนุ่มแน่นกว่าเดิม (ยาห์ยา อับดุล มาทีน ที่สอง) ซึ่งมาแทนลอว์เรนซ์ ฟิชเบิร์น ผู้เชื่อมั่นว่านีโอเป็น “เดอะ วัน”

และประโยคแรกที่อวตารของมอร์เฟียสทักทายนีโอ คือ “ในที่สุด (ก็ได้เจอกันซะที)!” เหมือนกับในภาคแรกไม่มีผิด นอกจากนั้น มอร์เฟียสยังต้องฝึกให้นีโอต่อสู้อีกครั้งในฉากที่เป็น “เดจาวู” อีกแล้ว

และอีกครั้ง นีโอต้องตัดสินใจเลือกระหว่างยาเม็ดสีแดง (ซึ่งจะทำให้เขาตื่นขึ้นจากโลกเสมือน) หรือสีฟ้า (ซึ่งจะทำให้เขายังหลับใหลอยู่ในโลกเมทริกซ์)

ในภาคสี่นี้ เจ้าหน้าที่สมิธกลับมาในร่างอวตารใหม่ (โจนาธาน กรอฟฟ์) แทนฮิวโก วีฟวิง ผู้ร้ายตายยากที่ตามล้างตามผลาญนีโอในภาคแรก แต่ภาคนี้กลายเป็นผู้ช่วยของนีโอไปในหลายฉาก

ตัวร้ายสุดในภาคสี่คือ “นักวิเคราะห์” (นีล แพทริก แฮร์ริส) ซึ่งสวมแว่นกรอบสีฟ้าเหมือนสีของยาเม็ดสีฟ้าไม่มีผิด ผู้พยายามแยก “นีโอ” ออกจาก “ทรินิตี้” (แคร์รี-แอนน์ มอสส์) เพราะถ้าคนคู่นี้รวมพลังเข้าด้วยกัน นั่นจะหมายถึงความหายนะของเมทริกซ์

 

หลังดูจบใหม่ๆ ผู้เขียนสรุปในใจว่าเรื่องราวย้อนกลับไปตั้งต้นใน “ลูป” เดิมอีกแล้ว แถมยังไม่น่าตื่นเต้นเร้าใจเหมือนในภาคแรก จนกระทั่งดูเหมือนไม่มีความจำเป็นต้องเอามาเล่าซ้ำอีกครั้งเลย

แต่พอเริ่มได้ย่อยรายละเอียดต่างๆ ซึ่งมีนัยความหมายที่โยงใยไปในลักษณะของสัญลักษณ์และการพาดพิงถึงจุดต่างๆ ก็เริ่มนึกสนุกไปกับหนังมากขึ้น และได้คิดต่อไปถึงโลกปัจจุบันที่ผู้คนยินดีและพอใจจะใช้ชีวิตอยู่ใน “โลกเสมือน” มากขึ้นทุกที ทั้งโดยรู้ตัวและไม่รู้ตัว

มีอยู่ฉากหนึ่งในลิฟต์ที่ติดตามาก คือนีโอยืนมองตรงออกมา ท่ามกลางคนอื่นๆ ร่วมสิบคน ทุกคนก้มหน้าดูมือถือของตัวเอง หลงติดอยู่ในโลกที่ถูกสร้างมาล่อให้หลงวนเวียนอยู่โดยหาทางออกไม่ได้ หรือไม่อยากหาทางออกมาใช้ชีวิตในโลกจริงรอบกาย

และนึกๆ ดูแล้ว คนสมัยนี้ใช้ชีวิตดำดิ่งอยู่ลึกลงไปใน “โลกเสมือน” มากยิ่งกว่าเมื่อสิ้นสหัสวรรษที่แล้วด้วยซ้ำ

และแนวโน้มก็น่าจะยิ่งเป็นมากขึ้นไปอีก ในเมื่อเฟซบุ๊กยังเปลี่ยนชื่อเป็น Meta เพื่อสร้าง “จักรวาลเสมือน” หรือ metaverse ให้ผู้คนหลงติดวนเวียนจนไม่ลืมตาขึ้นมาดูโลกจริงที่อยู่ตรงหน้าอีกแล้ว

ดังนั้น ผู้เขียนจึงเปลี่ยนใจและไม่คิดว่าภาคสี่เป็นสิ่งไม่จำเป็นที่จะต้องสร้างออกมาเลย แต่ปรากฏการณ์ของโลกเสมือนที่กำลังคุกคามมนุษยชาติอยู่นี้

ระยะเวลา 22 ปีนับจากภาคแรก รุ่นอายุของคนเราก็เปลี่ยนไปเป็นคนรุ่นใหม่ที่ไม่มีประสบการณ์ร่วมอยู่อีกแล้ว

เพราะงั้น “สาร” เดิมๆ ที่ดูเหมือนเป็นการกล่าวซ้ำย้ำเตือนนี้นำมาเล่าซ้ำอีกทีก็ไม่ผิดกติกาอะไรค่ะ