อาจินต์รำลึก : แปดปีที่แก่งเสี้ยน (9)/บทความพิเศษ แน่งน้อย ปัญจพรรค์

นกเหมรดน้ำอวยพรแน่งน้อย-อาจินต์

บทความพิเศษ

แน่งน้อย ปัญจพรรค์

 

อาจินต์รำลึก

: แปดปีที่แก่งเสี้ยน (9)

 

แกรี่ คูเปอร์

นายนกเหม พงษ์สามารถ

เมื่อนึกถึงพ่อตอนที่เขียนเรื่องต้นไม้แล้ว ก็เลยอดนึกถึงเรื่องอื่นๆ ของพ่อต่อไปไม่ได้

“แกรี่ คูเปอร์” อาจินต์พูด ยิ้มน้อยๆ แล้วเส้นที่หางตาสองข้างโค้งขึ้นเล็กน้อย ร่องที่หางตานี้จะโค้งงอนขึ้นแบบนี้เสมอเมื่ออาจินต์ยิ้มอย่างอารมณ์ดี

“พี่พูดอะไร”

“แกรี่ คูเปอร์ – นกเหม พ่อเธอเหมือนแกรี่ คูเปอร์” อาจินต์ให้ฉายาพ่อฉันเมื่อพบกันครั้งแรก

เห็นฉันงง อาจินต์อธิบาย

“เธอไม่เคยดูหรือ พระเอกฮอลลีวู้ด สงสัยดูไม่ทัน”

ใช่ ฉันไม่เคยดูเลย เข้ากรุงเทพฯ ก็ 13 ขวบแล้ว ดูหนังก็ยังไม่เป็น กว่าจะรู้จักหนังฮอลลีวู้ดจริงก็เป็นสาวแล้ว แกรี่ คูเปอร์คงแก่หง่อม นึกไม่ถึงว่าพ่อฉันจะเหมือนพระเอกหนังฮอลลีวู้ด

“เหมือนยังไง”

“ก็นกเหม สูงยาว เข่าตรง ก็เหมือนแกรี่ คูเปอร์”

ชื่อพ่อฉันก็เหมือนกัน พวกเราไม่รู้สึกแปลกอะไร แต่คนอื่นรู้สึก เพื่อนสนิทคนหนึ่งเรียกฉันนกเหม แล้วยังจำชื่อพี่น้องพ่อฉันได้ด้วย

“นกแก้ว นกเอี้ยง นกคุ้ม นกยูง นกเหม”

นกเหม พงษ์สามารถ

“ยังมีอีก วิหคบำรุง แปลว่าคนเลี้ยงนก คนนั้นเป็นคนสุดท้อง นานๆ เข้าก็เหลือแค่บำรุง คนนี้เป็นอาผู้หญิงคนสุดท้อง”

ฉันเคยถูกถามว่านกเหมมีจริงหรือ… “ก็มีจริง มีในป่าหิมพานต์ ถ้าป่าหิมพานต์มีจริง นกเหมก็มี เหมือนในนิทาน ในเพลงก็มี ไม่เคยได้ยินหรือ เพลงที่ร้องว่า…หงส์เหมราชเอย สง่าผ่าเผยงามตระการ ณ แดนหิมพานต์ สงวนตัวรักวงศ์วาน หิมพานต์สถาน สำราญมา…ฯลฯ ”

“อ้อ เป็นหงส์น่ะสิ ไม่ใช่นก”

“เออ ฉันก็ไม่รู้เหมือนกัน”

แล้วยังมีอีกนะ คนที่สงสัยมากกว่านี้ คือตอนที่ฉันเรียนหนังสืออยู่อเมริกา ตอนนั้นเวลาจะโทรศัพท์กลับบ้านเมืองไทย เรายังไม่สามารถหมุนเข้าบ้านได้เลย เราต้องโทร.เข้าศูนย์กลางโทรศัพท์ก่อน แล้วเขาจะต่อเข้าบ้านอีกที เขาจะถามชื่อคนที่เราจะพูดด้วย

“ชื่อนกเหมค่ะ”

“อะไรนะ”

“นกเหมค่ะ”

“เอ้อ…อีกทีซิคะ”

“นกเหม น-ก-เ-ห-ม”

“นก…นก…เหม เหรอคะ”

“ใช่ค่ะ”

กว่าจะพูดกันได้ ตั้งไม่รู้กี่นาที

นกเหมรดน้ำอวยพรแน่งน้อย-อาจินต์

เอาละ ฉายาก็ดี ชื่อก็ดี ไม่ใช่ประเด็นหลักที่จะเขียนถึงพ่อ

ฉันว่าพ่อเป็นนักต่อสู้ ชีวิตพ่อต่อสู้มาเยอะ ฉันไม่รู้ ไม่เห็นเองหรอก เพราะช่วงที่พ่อยังต่อสู้ ฉันยังไม่รู้เรื่อง และยังไม่เกิดด้วยซ้ำในบางกรณี

พ่อเกิดที่กบินทร์บุรี ตอนนั้นเป็นมณฑลหรือไงนี่แหละ ตอนหลังเป็นอำเภอ ในจังหวัดปราจีนบุรี พ่อได้เข้ามาเรียนหนังสือที่โรงเรียนบ้านสมเด็จ ตอนนั้นที่นั่นเป็นโรงเรียนมัธยมชายที่มีชื่อ พ่อเรียนเก่ง ได้นั่งโต๊ะทองทุกปี โต๊ะทองสมัยนั้นเป็นโต๊ะที่ตั้งเดี่ยวอยู่หน้าสุดของห้อง สำหรับคนสอบได้ที่หนึ่งจะต้องนั่ง พ่อนั่งมาหลายทีจนคราวหนึ่งได้ที่สอง แต่คนที่หนึ่งก็ไม่ยอมไปนั่ง ครูถามก็ตอบว่าเดี๋ยวนกเหมก็กลับมาเอาคืน

นั่งโต๊ะทองมาจนจบ ม.6 พ่อก็ไม่เรียนต่อ บอกว่าอยากจะออกไปทำงาน จะกลับบ้าน ครูประจำชั้นเสียดายมาก ชักจูงต่างๆ นานา บอกว่าให้เรียนต่อ แล้วจะหาทุนให้ไปเรียนเมืองนอกได้ง่าย

พ่อก็พูดคำไหนคำนั้น

นกเหมสมัยหนุ่ม

กลับมาบ้านที่กบินทร์ ก็ทำงานหลายอย่าง บรรทุกข้าวบ้าง ไม้ซุงบ้าง ลงเรือล่องเข้าไปส่งที่กรุงเทพฯ เมื่อสี่จังหวัดชายแดนของเขมรเป็นของไทยนั้น พ่อก็เข้าไปทำมาหากินที่เขมร พ่อชอบค้าขาย แต่แม่บอกว่าพ่อไม่มีหัวการค้าเลย เอาแต่จ่ายแพงๆ ขายถูกๆ ช่วยคนที่ซื้อและขายด้วย

ระยะที่เขมรเปิดชายแดนด้านอรัญประเทศและสี่จังหวัดเป็นของไทยนั้น มีฝรั่งมาทำงานที่นั่นพอสมควร ชาวบ้านชอบค้าขายกับฝรั่งได้ราคาดี พ่อก็ส่งข้าวปลาอาหารให้ค่ายพวกฝรั่งเหมือนกัน แต่ต่อมาเมื่อสี่จังหวัดถูกส่งคืนให้เขมร คนไทยที่นั่นก็อพยพกลับ

เขมรตอนนั้นอุดมสมบูรณ์มาก พี่ชายคนโตของฉันแก่กว่าฉัน 18 ปี เล่าว่าเวลาเข้าไปเที่ยวในเขมร มีลำห้วยสายหนึ่งปลาชุมมาก ขนาดเอาถังน้ำจ้วงลงไปเฉยๆ ก็จะได้ปลาช่อนมาเยอะแยะ

มิน่า เขมรถึงมีปลากรอบขายมากมายมาแต่ไหนแต่ไร

ตอนที่ผู้คนอพยพกลับมาจากสี่จังหวัดในเขมรนั้น พ่อก็เลยมาปักหลักอยู่อรัญ ไม่ได้กลับกบินทร์ แล้วพ่อก็สร้างโรงสี อรัญประเทศระยะนั้นมีแต่ป่าจึงได้ชื่อว่าอรัญ

พ่อไม่ยอมเรียนต่อ แต่พ่อกลับส่งลูกทุกคนให้เรียนให้ถึงที่สุด พ่ออยู่อรัญระยะบุกเบิก ใช้ม้าเป็นพาหนะ เมื่อฉันโตพอรู้ความ ฉันยังเห็นอานม้าของพ่อ แขวนอยู่บนบ้านเลย แต่เขาเลิกใช้กันแล้ว

ต่อมา ก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2 ญี่ปุ่นบุกไทยสมัยจอมพล ป.พิบูลสงคราม พ่อค้ารื่นเริงกับการค้าขายกับญี่ปุ่น พ่อมีโรงสีแล้ว ญี่ปุ่นมาตั้งค่ายอยู่นอกตลาด วันหนึ่งมีเพื่อนมาตามพ่อบอกให้ไปที่ค่ายญี่ปุ่น

“ญี่ปุ่นมันต้องการข้าวสารเยอะ มึงไปเสนอราคามันเท่าไรมันก็เอา มีโรงสีโรงเดียว มึงจะรวยตายห่า”

“ไม่เอา”

“อ้าว”

“กูไม่เอา ทำยังงั้นมันขายชาติ กูไม่เอาญี่ปุ่น” นั่นคือพ่อของฉัน นายนกเหม แกรี่ คูเปอร์ ของนายอาจินต์

 

พ่อฉันมีความคิดอะไรหลายๆ อย่างที่ไม่เหมือนคนอื่น ตอนที่พี่สาวคนโตของฉันจะแต่งงานกับนายร้อยตำรวจ ตชด.ที่ย้ายมาอยู่ที่อรัญและเขามานั่งเฝ้าพี่สาวอยู่ทุกคืน ตั้งแต่หนึ่งถึงสามทุ่มตรงเป๊ะทุกคืนมาสองสามปีแล้วนั้น พ่อฉันสอนลูกว่า

“แต่งงานกับเขาก็ดี เขาเป็นคนดี แต่เราอย่าไปทำให้เขาเสีย” ฟังดูแปลกๆ ทีแรกฉันฟังพี่สาวเล่าแล้วฉันไม่เข้าใจ โตขึ้นฉันจึงเข้าใจ คือพ่อฉันเป็นคนไม่ชอบคุณนายบ้านนอกที่ชอบมีนอกมีในกับพวกพ่อค้า สมัยนั้นก็คือนักธุรกิจที่ชอบเข้าหลังบ้านนายตำรวจเพื่อขอโครงการขอขายอะไรต่ออะไร แลกกับซองขาวที่ส่งทางหลังบ้านนั่นแหละ

และเมื่อพี่ชายคนหนึ่งของฉันจะเข้าเป็นอัยการ พ่อฉันบอกว่า

“เป็นอัยการก็ดี แต่ต้องรู้ว่าชาวบ้านชาวช่องเขามีชีวิตลำบากลำบน ยากจนกันอยู่แล้ว เราเป็นอัยการก็อย่าไปทำให้เขาเดือดร้อนมากขึ้น”

คราวนี้ฉันโตแล้ว พอเข้าใจได้ว่าอัยการนั้นมีบทบาทสูงมากในการช่วยทำสำนวนคดีต่างๆ ให้ถูกให้ผิดให้บิดเบือนเข้าข้างคนรวยทำร้ายคนจนก็ได้

มีอีกเยอะ ฉันลืมๆ ไปแล้ว แต่จำได้เรื่องสุดท้ายตอนที่ฉันจะไปเรียนต่อที่อเมริกา พ่อเขียนจดหมายลายมือสวยมาแนะนำว่าไม่อยากให้ไปอเมริกา อยากให้ศึกษาจากญี่ปุ่นมากกว่า ต่อไปภายหน้าจะเจริญมาก จะต้องเรียนรู้ญี่ปุ่นไว้ให้ดีๆ ต่อไปอเมริกาจะไม่ดี

นี่คือพ่อฉัน คือนายนกเหม ผู้มีความคิดที่ถือว่าก้าวหน้ามากในสมัยนั้น ก็ห้าสิบกว่าปีแล้ว

 

ไม่เพียงความคิด ความบู๊ก็มีไม่น้อย มีคนหลายคนที่พ่อช่วยไว้เมื่อยุคบุกเบิก คนหนึ่งเคารพพ่อมาก พี่ฉันเล่าให้ฟังว่า สมัยบุกเบิก ถนนหน้าโรงสีเป็นลูกรัง ไม่มีไฟฟ้าติดตามถนน คืนหนึ่งคนคนนั้นผ่านมาแล้วถูกปล้น ถูกลากลงไปข้างถนน พอดีพ่อฉันขี่ม้าผ่านมา พ่อชักม้าลงไปแล้วกวาดแส้ม้าหวดดึงโจรจนพลิกตัวกลิ้งหนีไป เลยช่วยชายคนนั้นไว้ได้

ยังงี้สมเป็นแกรี่ คูเปอร์หน่อย

คิดถึงพ่อ

เสียดาย พ่อฉันอายุไม่ยืนนัก พ่อมางานแต่งงานฉันเมื่อ 7 พฤษภาคม 2520 เสร็จงานก็เข้าโรงพยาบาล หมอนัดมาผ่าตัดไตทิ้งไปข้างหนึ่ง ไตข้างที่เหลือก็ไม่ค่อยดี ออกจากโรงพยาบาลแล้วต้องพักฟื้นอยู่บ้านที่ผ่านฟ้าก่อน พักมาเดือนหนึ่ง กินยาที่หมอให้มา วันหนึ่งก็แพ้ยา กลับเข้าโรงพยาบาล สองเดือนต่อมา ก็ไม่ได้กลับบ้านอีกเลย

หมอบอกว่ายาตัวนี้ มีพ่อเป็นคนที่สองของโลกที่แพ้ขนาดนี้ ถ้าแพ้เสียตั้งแต่เริ่มกินยาเข้าไปไม่กี่วันก็คงยังไม่เป็นไร แต่นี่มันกินสะสมมาตั้งเดือนจึงออกอาการ ระเบิดออกมา เป็นแผลทั่วตัว

พ่อจากไปเมื่ออายุ 73-74 ปี