‘ไทยทำ ไทยใช้ ไทยเจริญ’ สร้างชาติทางเศรษฐกิจ : จินตภาพสังคมใหม่ของนักศึกษา มธก./My Country Thailand ณัฐพล ใจจริง

ณัฐพล ใจจริง

My Country Thailand

ณัฐพล ใจจริง

 

‘ไทยทำ ไทยใช้ ไทยเจริญ’

สร้างชาติทางเศรษฐกิจ

: จินตภาพสังคมใหม่ของนักศึกษา มธก.

 

“สภาพการณ์ [การเอารัดเอาเปรียบ] เช่นนี้เป็นเป็นมานานหลายสิบปีจนกระทั่งก่อนเปลี่ยนแปลงการปกครอง…ประเทศไทยถูกกระทบกระเทือนจากวิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจอย่างหนัก ชาวไทยส่วนมากพากันร้องว่ายากจนลง…พวกเราต้องแบกรับไว้ซึ่งภาระในการเสียภาษีอากรค่อนข้างสูง สถานการณ์เช่นนี้ รัฐบาลในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ไม่สามารถแก้ไขให้คืนดีขึ้นได้…”

บุญสม ณ เชียงใหม่, 2483

 

คนหนุ่มสาวสมัยปฏิวัติ 2475 มีความใฝ่ฝันถึงอะไร? หรือคิดอย่างไรกับระบอบเก่าที่ผ่านพ้นไป

วิธีการที่เราจะเข้าใจความรู้สึกนึกคิดของผู้คนในประวัติศาสตร์ คือ การอ่านงานเขียนของพวกเขา/เธอที่สะท้อนความคิด ความใฝ่ฝันร่วมสมัยออกมาเป็นลายลักษณ์อักษร ดังในความเรียงงานในการประกวดเรียงความฉลองรัฐธรรมนูญที่รัฐบาลให้เยาวชนร้อยเรียงความฝันด้วยตัวอักษรขึ้นมา

สำนักงานโฆษณาได้จัดประกวดเรียงความฉลองรัฐธรรมนูญ ในระดับมัธยมและอุดมศึกษาขึ้น ทั้งนี้ คณะกรรมการตัดสิน ประจำปี 2483 ประกอบด้วย เดือน บุนนาค หลวงสิทธิสยามการ พระยาอนุมานราชธน สัญญา ธรรมศักดิ์ เชื้อ พิทักษากร วิจิตร ลุลิตานนท์ ไพโรจน์ ชัยนาม ว่าที่พันตรีขุนวิสุทธิจรรยา สมประสงค์ หงสนันท์ และพระราชธรรมนิเทศ

ซึ่งหัวข้อระดับอุดมศึกษา คือ “รัฐบาลในระบอบรัฐธรรมนูญได้ส่งเสริมการอาชีพของชาวไทยอย่างไร?”

มีผู้ส่งเรียงความประกวดจำนวน 47 คน

ผลปรากฏว่า รางวัลตกเป็นของนายบุญสม ณ เชียงใหม่ นักศึกษาชั้นปีที่ 3 มหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง (มธก.)

“เดชะบุญที่ชาติไทยไม่ถึงคราวอับจน”

ทะเบียนรายชื่อร้านค้าของคนไทยที่รัฐบาลรวบรวมแจกจ่ายประชาชน

บุญสมเริ่มต้นเรียงความด้วยการกล่าวถึงความอุดมสมบูรณ์ในประเทศ และตั้งคำถามว่า เหตุใดชาวนาไทยจึงตกอยู่ในความยากไร้ สรุปได้ว่า สาเหตุที่ชาวนายากจน คือ การปกครองระบอบเก่าไม่ปกป้องชาวนาไทยจากพ่อค้าต่างด้าวที่เอารัดเอาเปรียบ

เขาวิจารณ์ความอยุติธรรมในระบอบเก่าว่า มันคือ “การทำนาบนหลังคน ไม่ชอบด้วยหลักภราดรภาพและมนุษยธรรม”

จากข้อเขียนนี้ สอดคล้องกับประกาศคณะราษฎรที่เคยดังก้องลานพระบรมรูปทรงม้า เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2475 ว่า “รัฐบาลของกษัตริย์ได้ถือเอาราษฎรเป็นทาส (ซึ่งเรียกว่าไพร่บ้าง ข้าบ้าง) เป็นสัตว์เดียรัจฉาน ไม่นึกว่าเป็นมนุษย์ เหตุฉะนั้น แทนที่จะช่วยราษฎร กลับพากันทำนาบนหลังราษฎร”

เขาวิจารณ์ต่อไปว่า แม้นรัฐบาลระบอบเก่าจะพยายามแก้ไขเศรษฐกิจด้วยการหนทางต่างๆ แล้วก็ตาม แต่เป็นวิธีการที่ขาดปัญญา ยิ่งแก้ปัญหา ปัญหายิ่งเพิ่มพูนจนต้องดุนข้าราชการออก

ทว่า บุญสมเห็นว่า รัฐบาลใหม่ในระบอบประชาธิปไตย ตระหนักดีถึงปัญหาเศรษฐกิจของชาวนา กรรมกร จึงลดภาษีอากรนาเกลือ ไร่อ้อย ตาลโตนด และอากรสมพัตสร ออกกฎหมายยกเลิกการยึดทรัพย์สินเกษตร เนื่องจากกฎหมายเก่าให้เจ้าหนี้ยึดพืชผลที่ยังไม่ถึงเวลาเก็บเกี่ยวของเกษตรกรไปได้ ทำให้ชีวิตของเกษตรกรแร้นแค้นมาก

ตลอดจนรัฐบาลใหม่ห้ามเก็บดอกเบี้ยเกินกำหนด ในขณะที่ระบอบเก่าปล่อยปละการควบคุมการเอาเปรียบทำให้ชาวไทยมีหนี้สินรุงรัง

ความรู้สึกของบุญสมที่สื่อผ่านเรียงความนี้ คล้ายคลึงกับความรู้สึกของจอมพล ป.พิบูลสงคราม ที่เคยกล่าวปาฐกถา 24 มิถุนายน 2477 ว่า

“เมื่อพูดถึงเศรษฐกิจแล้ว รู้สึกว่าประเทศชาติของเราได้รับความทรุดโทรมมาจนสุดขีด สภาพการณ์ที่ได้กระทำมาแล้วเป็นเวลา 150 ปีนั้น เกือบจะกล่าวได้ว่า ราษฎรส่วนมากมีผ้านุ่งเพียง 1 ผืนต่อครอบครัว เงินมีเกือบไม่ถึง 10 สตางค์ต่อครอบครัว โรคภัยไข้เจ็บมีประจำอยู่เกือบทั้งสิ้น ท่านจะเห็นความหรูหราแต่เฉพาะในพระนครเท่านั้น ส่วนในชนบทนั้น มีสภาพน่าสังเวชอย่างสุดแสนจะทนอยู่ได้ ” (กรุงเทพฯ วารศัพท์, 29 มิถุนายน 2477)

บัณฑิต มธก. กับความใฝ่ฝันในหนังสือเรียงความฉลองรัฐธรรมนูญ 2483

บุญสมเห็นว่า รัฐบาลต้องการให้พลเมืองทุกคนขยันทำกินด้วยการส่งเสริมอาชีพ ด้วยการสร้างค่านิยมว่า “อย่าตั้งข้อรังเกียจว่า งานชนิดนี้สบายและมีเกียรติ งานชนิดนั้นเป็นงานชั้นต่ำไม่มีเกียรติ ซึ่งเป็นความเข้าใจผิดของคนไทยบางหมู่บางพวก ให้ถือว่า ผู้ประกอบอาชีพโดยสุจริตจะเป็นชาวสวนชาวนา พ่อค้า กรรมกร หรือข้าราชการย่อมควรได้รับการยกย่องในชุมชนดุจกัน” รัฐบาลพยายามส่งเสริมให้คนไทยช่วยกันอุดหนุนสินค้าไทย หากคนไทยสามารถผลิตสินค้าใดได้ นายกรัฐมนตรีจะกล่าวยกย่อง กรมวิทยาศาสตร์จะตรวจสอบให้การรับรองสินค้านั้น

รัฐบาลจัดตั้งกรมประชาสงเคราะห์ให้ สำรวจที่ดินรกร้างว่างเปล่าเพื่อจัดตั้งนิคมสร้างตนเองให้กับคนที่ไม่มีที่ทำกิน เช่น นิคมสร้างตนเอง สระบุรี โดยรัฐบาลออกทุน และหาเครื่องมือประกอบอาชีพให้เกษตรกรก่อน พร้อมรับซื้อพืชผลที่ผลิตได้ โดยให้เกษตรกรผ่อนทุนคืนรัฐบาล ในนิคมมีสวัสดิการรักษาสมาชิกนิคมโดยไม่คิดมูลค่า รัฐบาลมีแผนที่จะขยายนิคมสร้างตนเองออกไปทุกจังหวัด

บุญสมเห็นว่า โครงการเหล่านี้ “สมดังคำประกาศของคณะราษฎรที่ว่า จะบำรุงความสุขสมบูรณ์ให้กับราษฎรในทางเศรษฐกิจ โดยรัฐบาลใหม่จะหางานทำให้ราษฎรทุกคน จะวางโครงการเศรษฐกิจแห่งชาติ ไม่ปล่อยให้ราษฎรอดอยากโดยแท้”

นอกจากนี้ รัฐบาลยังส่งเสริมเกษตรกรรม มีการแจกพันธุ์ข้าวปิ่นแก้ว พวงเงิน จำปาดะ เหลืองอ่อน ซึ่งเป็นพันธุ์ข้าวอย่างดีเป็นที่ต้องการของตลาดให้ชาวนา มอบหมายให้บริษัทข้าวไทยรับซื้อข้าวจากชาวนา มิให้พ่อค้าคนกลางขูดรีดชาวนา จัดตั้งสหกรณ์พืชผลและสหกรณ์ออมทรัพย์ ให้กรมไปรษณีย์โทรเลขแจ้งราคาข้าวติดประกาศหน้าไปรษณีย์และแจ้งไปยังนายอำเภอทุกแห่งเพื่อให้ชาวนาทราบราคาข้าว มีการจัดตั้งยุ้งฉางรับซื้อข้าวจากชาวนาตามสถานีรถไฟบางแห่ง ส่งเสริมให้ชาวนาปลูกฝ้าย ถั่วเหลืองหลังเก็บเกี่ยว รวมทั้งรัฐบาลออก พ.ร.บ.จัดหาเงินกู้เพื่อเกษตรกรไทย 2481 เป็นจำนวน 25 ล้านบาท

สำหรับการส่งเสริมการค้านั้น รัฐบาลส่งเสริมให้คนไทยทำการค้าเล็กๆ น้อยๆ ก่อน รัฐบาลจัดตั้งบริษัทบุกเบิก เช่น บริษัท ข้าวไทย จำกัด บริษัท จังหวัดพาณิชย์ จำกัด ส่งเสริมให้ข้าราชการเกษียณหัดทำการค้า และจัดตั้งตลาดนัดของนักเรียนสำหรับฝึกหัดทำการค้า

ร้านชำของคนไทย จุดเริ่มต้นการประกอบการเศรษฐกิจ หลัง 2475

ในด้านการส่งเสริมอุตสาหกรรมนั้น บุญสมเห็นว่า ไทยมีแร่ธาตุมาก แต่เหมืองกลับตกอยู่ในมือของชาวต่างชาติ รัฐบาลจึงจัดตั้งบริษัทเหมืองแร่จำกัดขึ้น มีการทำเหมืองแร่ที่ตำบลปิล็อก กาญจนบุรี เหมืองที่เกาะพงันและเกาะสมุย สุราษฎร์ธานี สร้างงานให้คนไทยจำนวนมาก รัฐบาลได้ชักชวนให้คนไทยที่ยังไม่มีงานทำไปทำงานเหมืองด้วย

นอกจากนี้ รัฐบาลยังลงทุนบุกเบิกอุตสาหกรรมใหญ่ๆ เช่น โรงงานทำน้ำตาล โรงงานฝ้าย โรงงานกระดาษ โรงงานสาวไหม โรงงานทอผ้า บุญสมเห็นว่า แม้นการลงทุนโรงงานอุตสาหกรรมต้องใช้เงินมาก แต่รัฐบาลเห็นความจำเป็นในการสร้างอุตสาหกรรม จึงมีการออก พ.ร.บ.จัดการกู้เงินในประเทศเพื่อการอุตสาหกรรม 2481 จำนวน 20 ล้านบาท สอดคล้องกับการขยายโรงเรียนอาชีวะให้แพร่หลาย ให้มีช่างฝีมือเพียงพอ

เขาเล่าว่า รัฐบาลพยายามการสร้างค่านิยมใหม่ให้กับการทำงาน เช่น การอบรมวิชาชีพให้แก่ผู้ต้องขังให้มีอาชีพ รัฐบาลขอร้องให้พระสงฆ์สั่งสอนให้ประชาชนขยันพากเพียรเพื่อสร้างตนเองให้มั่นคงเป็นหลักเป็นฐาน

ในสายตาของบุญสม นักศึกษาชั้นปี 3 มธก. เขาสรุปทิ้งท้ายเรียงความถึงคุณูปการที่รัฐบาลดำเนินการไว้ว่า “รัฐบาลในระบอบรัฐธรรมนูญได้ทำการส่งเสริมการอาชีพของพี่น้องชาวไทยในทุกๆ วิถีทาง…ย่อมแสดงให้เห็นประจักษ์แล้วว่า รัฐบาลในระบอบรัฐธรรมนูญเป็นรัฐบาลของประชาชน โดยประชาชน และบริหารราชการแผ่นดินด้วยความมุ่งหมายที่จะให้ประชาชนชาวไทยได้รับความสุขสมบูรณ์อย่างแท้จริง”

ร้านไทยอุตสาหกรรมคือศูนย์กลางขายสินค้าไทยทำและนิตยสารสร้างตนเอง
นายกรัฐมนตรีและนายปรีดี พนมยงค์ ในชุดชาวนากับงานประกวดพันธุ์ข้าว บางบัวทอง 2476
พระยาพหลฯ ตรวจการก่อสร้างโรงงานกระดาษ กาญจนบุรี 2478