ความเหลื่อมล้ำด้านวัคซีนแอนตี้โควิดในโลก (2)/การเมืองวัฒนธรรม เกษียร เตชะพีระ

เกษียร เตชะพีระ

การเมืองวัฒนธรรม

เกษียร เตชะพีระ

 

ความเหลื่อมล้ำด้านวัคซีนแอนตี้โควิดในโลก (2)

 

ในภาวะเหลื่อมล้ำยิ่งของการเข้าถึงวัคซีนแอนตี้โควิด-19 ในโลกปัจจุบัน การฉีดวัคซีนเข็มเสริม (booster shot) จะถือเป็น “ความฟุ่มเฟือยของเหล่าประเทศร่ำรวย” หรือไม่?

ที่ผ่านมาได้มีการจัดตั้งโครงการและกลไกต่างๆ เพื่อค้ำประกันการเข้าถึงวัคซีนแอนตี้โควิดอย่างเป็นธรรมขึ้นในโลก ที่รู้จักกันดีที่สุดได้แก่โครงการโคแวกซ์ (COVAX) ซึ่งร่วมกันบริหารจัดการโดยองค์กรพันธมิตรเพื่อวัคซีนกาวี (Gavi) องค์การอนามัยโลก (WHO) และกลุ่มพันธมิตรความร่วมมือด้านนวัตกรรมเพื่อรับมือโรคระบาด (Coalition for Epidemic Preparedness Innovations : CEPI, ดู https://www.unicef.org/thailand/th/stories/โครงการโคแวกซ์-เพื่อความเท่าเทียมในการเข้าถึงวัคซีนโควิด-19-ทั่วโลก)

ปรากฏว่าถึงกลางเดือนธันวาคมศกก่อน มี 40 ประเทศทั่วโลกได้เริ่มการรณรงค์ฉีดวัคซีนแอนตี้โควิดแล้วโดยอาศัยโครงการโคแวกซ์ ความเอื้อเฟื้อสมานฉันท์นี้พึ่งพาการบริจาคของบรรดาประเทศอุตสาหกรรมกับภาคธุรกิจเอกชนให้แก่เหล่าประเทศรายได้ต่ำและปานกลางทั้งหลาย

แต่กระนั้นผลสำเร็จของโคแวกซ์ก็ยังต่ำกว่าคำมั่นสัญญาที่ให้ไว้

ดังที่ ดร.เธียรี เลอฟรองซัวส์ สมาชิกสภาวิทยาศาสตร์ฝรั่งเศสชี้ว่า : “โคแวกซ์ควรต้องประกันการจัดหาวัคซีนมาให้ฉีดได้ 2 พันล้านโดสในปี ๒๐๒๑2021 โดยที่กึ่งหนึ่งของจำนวนนั้นมุ่งให้สำหรับเหล่าประเทศรายได้ต่ำและปานกลาง ทว่าถึงวันที่ 16 ธันวาคม ก็จัดส่งให้ได้เพียง 725 ล้านโดสเท่านั้น”

อย่างไรก็ตาม จำนวนที่ว่าก็เป็นถึงสามในสี่ของวัคซีนแอนตี้โควิดที่แจกจ่ายในเหล่าประเทศรายได้ต่ำ

มารี-พอล คีนีย์ นักไวรัสวิทยาและผู้เชี่ยวชาญด้านสาธารณสุขหญิงชาวฝรั่งเศสประเมินและวิจารณ์แนวทางดำเนินงานของโคแวกซ์ว่า :

“ในความเห็นของฉัน มันผิดพลาดที่ดำเนินโครงการโคแวกซ์ในเชิงพาณิชย์ เอาเข้าจริงมันต้องกำหนดให้บรรดาผู้ผลิตวัคซีนทั้งหลายส่งมอบวัคซีนที่ผลิตได้ส่วนหนึ่งให้โคแวกซ์ในเวลาที่ผลิตได้จริงเลยทีเดียว”

โดยอาจตั้งเป็นเงื่อนไขเอากับบริษัทผู้ผลิตวัคซีนให้ต้องบริจาควัคซีนที่ผลิตได้ส่วนหนึ่งแก่โคแวกซ์แลกกับการสามารถเข้าถึงตลาดวัคซีนราคาแพงในประเทศรายได้สูงทั้งหลาย

ภาพซ้าย : สัดส่วนร้อยละของประชากรในทวีปต่างๆ ที่ได้รับวัคซีนแอนตี้โควิดอย่างน้อย 1 โดส-แอฟริกา, โอเชียเนีย, ยุโรป, เอเชีย, อเมริกาเหนือ, อเมริกาใต้ และเฉลี่ยทั่วโลก;
ภาพขวา : อัตราส่วนจำนวนโดสของวัคซีนแอนตี้โควิดที่จัดฉีดให้ต่อประชากร 100 คนทั่วโลกจำแนกตามระดับรายได้-กลุ่มประเทศรายได้สูง, กลุ่มประเทศรายได้ปานกลางระดับสูง, กลุ่มประเทศรายได้ปานกลางระดับต่ำ และกลุ่มประเทศรายได้น้อย จากเดือนมกราคม-กรกฎาคม-15 ธันวาคม 2021; ข้อมูลจาก น.ส.พ. Le Monde, 18 ธันวาคม 2021

 

โครงการกระจายวัคซีนให้ทั่วถึงอีกโครงการหนึ่งซึ่งไม่ค่อยเป็นที่รู้จักกันได้แก่ African Vaccine Acquisition Trust (AVAT โครงการมอบหมายให้จัดหาวัคซีนสำหรับแอฟริกา https://www.unicef.org/supply/african-unions-african-vaccine-acquisition-trust-avat-initiative)

อันเป็นการร่วมกันซื้อวัคซีนแบบรวมหมู่ขององค์การสหภาพแอฟริกาโดยได้เงินอุดหนุนจากธนาคารโลก

ดร.เลอฟรองซัวส์ประเมินว่า : “ลำพังโครงการโคแวกซ์ไม่น่าจะเพียงพอสำหรับการระดมขับเคลื่อนนานาประเทศแอฟริกัน ในอนาคต คงต้องร่วมกันสร้างหลายๆ โครงการขึ้นมาเพื่อช่วยเหลือประเทศในซีกโลกใต้จะเป็นการดีกว่า”

สำหรับประเด็นการฉีดวัคซีนแอนตี้โควิดเข็มเสริม (booster shot) ในบรรดาประเทศร่ำรวยทั้งหลาย ขณะที่ประเทศซีกโลกใต้ยังฉีดวัคซีนสองเข็มกันได้น้อยนักนั้น จะถือเป็น “ความฟุ่มเฟือย” หรือไม่? มีความเห็นเรื่องนี้แตกแยกเป็นสองทาง กล่าวคือ :

ทางหนึ่ง เมื่อ 21 ตุลาคมศกก่อน องค์การอนามัยโลกได้ประกาศคัดค้านการรณรงค์ฉีดวัคซีนเข็มเสริมจนกว่าการจัดหาวัคซีนให้เหล่าประเทศซีกโลกใต้จะดีขึ้นเสียก่อน

อีกทางหนึ่ง ผู้เชี่ยวชาญบางรายรวมทั้ง ดร.เลอฟรองซัวส์ เห็นว่าเอาเข้าจริงไม่ได้มีปัญหาคอขวดตีบตันที่ยับยั้งหรือชะลอการผลิตโดสวัคซีนออกมา ฉะนั้น จึงไม่มีอุปสรรคใดๆ ที่จะดำเนินการรณรงค์ฉีดวัคซีนเข็มเสริมในบรรดาประเทศร่ำรวยควบคู่ไปกับการฉีดวัคซีนเข็มต้นในกลุ่มประเทศรายได้ต่ำ

(https://www.lemonde.fr/planete/article/2021/12/17/covid-19-l-arrivee-du-variant-omicron-relance-le-debat-sur-la-fracture-vaccinale-nord-sud_6106385_3244.html)

 

อย่างไรก็ตาม นอกจาก 1) ปัญหาการเข้าไม่ถึงวัคซีนข้างต้นแล้ว ยังมีอุปสรรคอื่นอีก ได้แก่ :

2) ปัญหาการท้าทายด้านโลจิสติกส์ (การจัดระบบการดำเนินงาน) ด้วย

ดังที่ศาสตราจารย์ยัพ บูม ผู้แทนศูนย์กลางสำหรับแอฟริกาซึ่งเป็นหน่วยวิจัยสาขาขององค์การแพทย์ไร้พรมแดน (M?decins sans fronti?res) ชี้ว่า : “ตัวอย่างเช่นในบางประเทศแอฟริกัน การขาดแคลนเข็มฉีดยากลายเป็นอุปสรรคขัดขวางการรณรงค์ฉีดวัคซีนแอนตี้โควิด ในอีกบางประเทศ การสะดุดขาดตอนในการจัดส่งวัคซีนโดยเฉพาะวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า กลายเป็นตัวชะงักพลวัตของการฉีดวัคซีนที่เริ่มต้นขึ้นในเดือนมีนาคมไปเสีย ทั้งนี้เพราะอินเดียซึ่งถูกถล่มโจมตีด้วยคลื่นโควิดระบาดลูกที่สามอย่างจังไม่มีสมรรถนะที่จะจัดส่งโดสวัคซีนให้อีกต่อไป”

และแน่นอนว่าปัญหาสุดท้ายได้แก่ 3) การยอมรับวัคซีนในหมู่ประชากร หากเปรียบเทียบสถานการณ์ฉีดวัคซีนแอนตี้โควิดในชิลีกับรัสเซียจะช่วยให้เห็นได้ชัด กล่าวคือ :

ชิลีฉีดวัคซีนให้ประชากรไปแล้วกว่า 85% อาศัยที่สามารถโน้มน้าวมวลประชากรให้ยอมฉีดวัคซีนขนานใหญ่อย่างยืนนานได้

ส่วนรัสเซียฉีดวัคซีนให้ประชากรเต็มที่ไปได้แค่ 42.5% เท่านั้น ทั้งๆ ที่รัสเซียผลิตวัคซีนแอนตี้โควิดสปุตนิกวีของตัวเองได้ ทว่า “อำนาจทางการรัสเซียไม่รู้จะทำให้ประชากรมั่นใจการฉีดวัคซีนได้อย่างไร อย่างประธานาธิบดีปูตินก็รีๆ รอๆ อยู่นานเหลือเกินกว่าจะยืนยันออกมาว่าตัวเองฉีดวัคซีน”

ตามข้อสังเกตของ ดร.คีนีย์

 

สํานักงานขององค์การอนามัยโลกประจำภูมิภาคอเมริกายอมรับว่า “เห็นได้เด่นชัดว่าความลังเลที่จะรับการฉีดวัคซีนเนื่องจากได้ข่าวสารปลอมเกี่ยวกับผลของวัคซีนมีบทบาทใหญ่หลวงมากโดยเฉพาะในย่านแคริบเบียน”

อาทิ บนเกาะกวาเดอลูปของฝรั่งเศสนั้น ความลังเลที่จะฉีดวัคซีนแอนตี้โควิดมีพอๆ กับความมั่นใจการแพทย์พื้นเมืองดั้งเดิมในหมู่ประชากรบางกลุ่ม ดังนั้น เพื่อเอาชนะความลังเลดังกล่าวและเสนอสนองข้อมูลที่เชื่อถือได้เกี่ยวกับวัคซีน การรณรงค์ด้านการสื่อสารและเข้าหาชุมชนในพื้นที่เป็นเครื่องมือที่มีค่ายิ่ง

ในทวีปแอฟริกา พบว่าการยอมฉีดวัคซีนของประชากรแปรผันหลากหลายกันยิ่งจากประเทศหนึ่งไปอีกประเทศหนึ่ง และจากภูมิภาคหนึ่งไปอีกภูมิภาคหนึ่ง

ดังที่ศาสตราจารย์บูมระบุว่า : “ที่ประเทศแคเมอรูน ผลการศึกษาร่วมกันของเรากับกระทรวงสาธารณสุขแสดงว่าประชากรกว่า 75% ในภูมิภาคต่างๆ ทางเหนือของประเทศยอมฉีดวัคซีน เปรียบเทียบกับประชากรไม่ถึง 20% ที่ยอมฉีดวัคซีนในภูมิภาคชายฝั่งซึ่งเป็นที่ตั้งของดูอาลา เมืองหลวงทางเศรษฐกิจของประเทศด้วย”

นอกจากนี้ ข่าวสารข้อมูลเชิงลบเกี่ยวกับวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าที่แพร่สะพัดออกมาเมื่อเดือนมีนาคมศกก่อนซึ่งส่งผลผลักดันให้เลิกใช้วัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าในหมู่ประเทศทางเหนือของแอฟริกา ก็สร้างความระแวงสงสัยขึ้นในหมู่ประเทศทางใต้ของแอฟริกาด้วย

ดังที่ยาซดาน ยาซดานพานาห์ หัวหน้าแผนกโรคติดเชื้อและโรคเขตร้อนของโรงพยาบาลบิชาต์ในกรุงปารีสเปิดเผยว่า : “ผลกระทบเกิดขึ้นแน่ๆ เพราะทุกวันนี้ทุกคนเชื่อมต่อถึงกัน”

 

อลิซ เดส์คลอซ์ กับคูเดย โซว์ สองนักมานุษยวิทยาด้านสุขภาพอนามัยสังกัดสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาของฝรั่งเศสได้เผยแพร่ผลการศึกษาวิเคราะห์ปัญหาการยอมรับวัคซีนแอนตี้โควิดในประเทศเซเนกัลไว้ในสื่อออนไลน์กึ่งวิชาการของออสเตรเลียเมื่อเดือนกันยายนศกก่อนว่า (https://theconversation.com/covid-19-apres-le-defi-de-lacces-au-vaccin-en-afrique-lhesitation-vaccinale-167015) :

“การสังเกตการณ์ซึ่งทำกันที่เซเนกัลแสดงว่าความคิดเห็น ท่าทีและพฤติกรรมต่อวัคซีนและการฉีดวัคซีนนั้นคลี่คลายขยายตัวไปและมีเหตุมีผลตามบริบท ในเซเนกัลความลังเลจะขึ้นมาเป็นเจ้าเรือนเมื่อวัคซีนยังแค่อยู่ใต้อิทธิพลของสื่อมวลชน ทว่าประสบการณ์ตรงจะเอื้ออำนวยให้หันมายอมรับวัคซีนและกลายเป็นความเรียกร้องต้องการวัคซีนในบริบทที่ผู้คนตื่นตระหนกกับคลื่นโควิด-19 ระบาดระลอกใหม่ เมื่อเดือนกรกฏาคม (ศกก่อน) ท่าทีเชิงบวกต่อวัคซีนเริ่มปรากฏขึ้นและถึงขั้นล้นเกินสมรรถภาพของระบบสาธารณสุขที่จะตอบสนอง นอกจากนี้ ขีดจำกัดและอุปสรรคบางระดับในการเข้าถึงวัคซีนที่ไม่ได้คาดการณ์กันไว้ล่วงหน้าก็มีส่วนลดทอนการยอมรับวัคซีนลงไปด้วย”

ในทางกลับกัน ศาสตราจารย์ยัพ บูม เน้นย้ำว่า “การฉีดวัคซีนแอนตี้โควิดไม่ใช่วาระเร่งด่วนแรกสุดทื่อๆ เถรตรงแบบนั้นสำหรับหลายประเทศแอฟริกัน ซึ่งด้านหนึ่งไม่ได้ประสบการที่ผู้ป่วยโควิดเสียชีวิตจำนวนมากอย่างมีนัยสำคัญ และอีกด้านหนึ่งก็เผชิญกับโรคภัยอื่นๆ ที่คร่าชีวิตผู้คนร้ายกาจกว่าอย่างเช่นมาลาเรียเป็นต้น”

สภาพเคราะห์ซ้ำกรรมชัดดังกล่าวทำให้แอฟริกามีผู้เสียชีวิตจากเหตุเกี่ยวโยงกับโรคมาลาเรียสมทบเข้าไปอีกถึง 47,000 รายในปี ค.ศ.2020 เนื่องจากบริการสาธารณสุขต้องมัวปั่นป่วนวุ่นวายกับการรับมือโควิด-19 ระบาดโดยตรง

(ต่อสัปดาห์หน้า)

ใต้ภาพ

ภาพซ้าย : สัดส่วนร้อยละของประชากรในทวีปต่างๆ ที่ได้รับวัคซีนแอนตี้โควิดอย่างน้อย 1 โดส-แอฟริกา, โอเชียเนีย, ยุโรป, เอเชีย, อเมริกาเหนือ, อเมริกาใต้ และเฉลี่ยทั่วโลก;

ภาพขวา : อัตราส่วนจำนวนโดสของวัคซีนแอนตี้โควิดที่จัดฉีดให้ต่อประชากร 100 คนทั่วโลกจำแนกตามระดับรายได้-กลุ่มประเทศรายได้สูง, กลุ่มประเทศรายได้ปานกลางระดับสูง, กลุ่มประเทศรายได้ปานกลางระดับต่ำ และกลุ่มประเทศรายได้น้อย จากเดือนมกราคม-กรกฎาคม-15 ธันวาคม 2021; ข้อมูลจาก น.ส.พ. Le Monde, 18 ธันวาคม 2021