อัฟกานิสถาน : การกลับมาของฏอลิบาน (จบ)/มุมมุสลิม จรัญ มะลูลีม

จรัญ มะลูลีม

มุมมุสลิม

จรัญ มะลูลีม

 

อัฟกานิสถาน

: การกลับมาของฏอลิบาน (จบ)

 

ในตอนเริ่มต้น ประธานาธิบดีร็อบบานีถึงกับสรรเสริญความพยายามในการใช้หลักการอิสลามของฏอลิบาน และเชิญชวนฏอลิบานให้เข้ามามีบทบาทในการแก้ไขวิกฤตการณ์ของอัฟกานิสถาน

ขณะเดียวกันร็อบบานีก็เริ่มมีความสงสัยว่าประเทศภายนอกบางประเทศซึ่งมีจุดหมายอยู่ที่อัฟกานิสถานต้องมีส่วนเข้าแทรกแซงโดยใช้ฏอลิบานเป็นเครื่องมือ

แม้ประธานาธิบดีร็อบบานีจะมองโลกในแง่ดีว่าขบวนการนักเรียนเหล่านี้คงจะไม่ยอมให้ต่างชาติเข้าไปแทรกแซงก็ตาม กุลบุดดีน ฮิกมัตยาร นายกรัฐมนตรีในเวลานั้นกลับมีความคิดว่าขบวนการนักเรียนเหล่านี้มิใช่ขบวนการฏอลิบานที่แท้จริง หากแต่เป็นกองกำลังที่เช่ามาจากภายนอก และเข้าทำงานกับฝ่ายศัตรูที่เป็นปรปักษ์กับการต่อสู้เพื่อศาสนา (ญิฮาด)

ดังคำพูดที่เขากล่าวว่า พวกฏอลิบานคือผู้ที่ยึดมั่นต่อการญิฮาดแต่กองกำลังใต้ดิน (ซึ่งเรียกตัวเองว่าฏอลิบาน) เป็นศัตรูกับการญิฮาด

ฮิกมัตยาร นายกรัฐมนตรีและผู้นำพรรคหิซบีอิสลามี (Hizb-e-Islami) กล่าวเพิ่มเติมว่าฏอลิบานมิใช่ขบวนการที่แยกตัวเองเป็นอิสระ แต่เป็นขบวนการที่มาจากการวางแผนของประเทศตะวันตก ควบคุมโดยอดีตข้าหลวงใหญ่อังกฤษในอิสลามาบัด และได้รับการช่วยเหลือทางการเงินจากกลุ่มประเทศอิสลามบางประเทศ

แต่ไม่ว่าฏอลิบานจะมาจากไหนใครเป็นผู้สนับสนุนก็ตาม ประธานาธิบดีร็อบบานีและนายกรัฐมนตรีฮิกมัตยารก็ต้องถอยกรูดออกจากที่มั่นของตนเองที่เคยควบคุมอยู่

 

อาจกล่าวได้เช่นกันว่า นักต่อสู้ในอัฟกานิสถานไม่ว่าฝ่ายใด ล้วนมีอิทธิพลจากภายนอกเข้ามาอยู่เบื้องหลังการต่อสู้ทั้งสิ้น

พันธมิตรฝ่ายเหนือที่ได้รับการหนุนหลังจากสหรัฐและพันธมิตรตะวันตกให้เข้ายึดอำนาจจากฝ่ายฏอลิบานหลังเหตุการณ์ 9/11 ก็เป็นกลุ่มเดียวกันที่สหรัฐและประเทศมุสลิมบางประเทศเคยสนับสนุนให้เอาชนะโซเวียตมาแล้ว

สหรัฐกับประเทศมุสลิมบางประเทศอีกเช่นกันที่สนับสนุนให้ฝ่ายฏอลิบานเอาชนะรัฐบาลของร็อบบานี ทั้งนี้ ก็เพื่อตัดอิทธิพลของอิหร่านที่หนุนร็อบบานีลงไป และตัดช่องทางมิให้อิทธิพลของอิหร่านขยายออกสู่ประเทศมุสลิมในเอเชียกลาง

แต่เมื่อฏอลิบานไม่สามารถแยกตัวออกจากอุสามะฮ์ บิน ลาดิน (ผู้ประกาศตัวเป็นปรปักษ์กับสหรัฐและรัฐบาลซาอุดีอาระเบีย) และถูกกล่าวหาว่าเป็นผู้อยู่เบื้องหลังเหตุการณ์ 9/11 สหรัฐก็หันมาใช้พันธมิตรฝ่ายเหนือต่อต้านฝ่ายฏอลิบานอีกครั้งด้วยการส่งกองกำลังของสหรัฐเข้าร่วมโค่นอำนาจของฏอลิบานเพื่อไล่ล่าบิน ลาดิน

20 ปีในการเข้ามาของสหรัฐ แม้จะประสบความสำเร็จในการล่าสังหารบิน ลาดิน แต่ก็ไม่อาจเอาชนะฏอลิบานที่หลังจากถูกโค่นอำนาจลงไปก็รวมตัวโต้กลับมาสู้ใหม่จนได้รับชัยชนะในวันที่ 15 เดือนสิงหาคม ปี 2021 อย่างเหนือความคาดหมายแม้จะใช้เวลาถึง 20 ปีก็ตาม

ทั้งนี้ การต่อสู้แบบกองโจรของพวกเขาได้นำไปสู่การสิ้นสุด 20 ปีแห่งการครองอำนาจของรัฐบาลอัฟกานิสถานภายใต้การสนับสนุนของสหรัฐที่ต้องนำกองกำลังของตนเองกลับบ้านไปอย่างขมขื่น

ฏอลิบานจึงกลับมาอีกครั้ง ท่ามกลางสารพันปัญหาที่รุมเร้าพวกเขาอยู่ ทั้งนี้ พวกเขาจะดำรงอยู่ในฐานะประเทศที่ฟื้นตัวมาได้อย่างแท้จริงหรือไม่ คือคำตอบที่หลายฝ่ายจับจ้องดูอยู่

 

จากสถานการณ์ที่กล่าวมาทั้งหมดในอัฟกานิสถานจากอดีตจนถึงการกลับาของฏอลิบานอีกครั้งอาจสรุปได้ในท้ายที่สุดในรูปแบบของพื้นที่และ Time line ได้ดังนี้

อัฟกานิสถานเป็นประเทศที่อยู่ในเอเชียใต้และมีพื้นที่ซึ่งอยู่ติดกับเอเชียกลาง มีชายแดนที่เป็นแหล่งยุทธศาสตร์ซึ่งอยู่ใกล้ชิดกับประเทศสำคัญหลายประเทศ

อัฟกานิสถานมีประชากร 39 ล้านคน มีที่ราบที่อยู่บริเวณหุบเขาที่เพาะปลูกได้ รวมทั้งพื้นที่สูงและแห้งแล้งทางตอนใต้ มีพื้นที่ที่เป็นทะเลทรายอยู่ทางตะวันตกเฉียงใต้ และมีเมืองบางเมืองที่มีความสำคัญมาตั้งแต่อดีตอย่างเฮรัตซึ่งอยู่ทางตะวันตกเฉียงเหนือ

ทั้งนี้ ประวัติศาสตร์ช่วงสำคัญของอัฟกานิสถานเริ่มจากปี 1816 เมื่อราชวงศ์ซาสนิก เปอร์เซีย บุกยึดเฮรัตได้แต่ถูกตอบโต้จากผู้ปกครองอัฟกานิสถานจนต้องถอนตัวออกมาในที่สุด โดยเหตุการณ์สำคัญที่ตามมาในปีต่างๆ มีดังต่อไปนี้

1816 มีการก่อกบฏภายในประเทศ

1819 ถูกผู้นำซิกข์จากปัญจาบของอินเดียบุกโจมตี

1836-1838 เปอร์เซียหรืออิหร่านในปัจจุบันเข้ารุกรานอีกครั้ง

1838 อังกฤษพยายามเข้ามามีอิทธิพลในอัฟกานิสถานเพื่อสกัดกั้นอิทธิพลของเปอร์เซียและรัสเซียจากพื้นที่

1939-1942 สงครามอังกฤษอัฟกานิสถาน ครั้งที่ 1 ในปี 1983 โดยสงครามได้ดำเนินต่อไปอย่างต่อเนื่องจากทางตอนเหนือของอินเดียจนถึงปี 1842

1838-1840 ซิกข์จากปัญจาบซึ่งมาจากตอนเหนือของอินเดียบุกอัฟกานิสถานครั้งที่ 2

1978-1980 สงครามอังกฤษ-อัฟกานิสถาน ครั้งที่ 2 ในปี 1978 มีการสู้รบครั้งใหญ่หลายครั้งจนสิ้นสุดสงครามในปี 1880

1919 สงครามอังกฤษ-อัฟกานิสถาน ครั้งที่ 3 ที่แม้ว่าอังกฤษจะได้รับชัยชนะ แต่ต้องยอมให้อัฟกานิสถานได้รับเอกราช

1920 เกิดกบฏชาวนา 1938 กษัตริย์นาดีร ข่าน (Nadir Khan) ถูกลอบปลงพระชนม์ ซอฮิร ชาฮ์ (Sohir Shah) ขึ้นเป็นกษัตริย์องค์ต่อมา

1963 ซอฮีร ชาฮ์ ประกาศรัฐธรรมนูญ

1973 ระบอบกษัตริย์ถูกเปลี่ยนเป็นระบอบสาธารณรัฐเหมือนกับอีกหลายๆ ประเทศในเอเชียตะวันตกหรือตะวันออกกลาง

1978 เกิดการรัฐประหาร ซึ่งตามมาด้วยการต่อสู้ทางการเมืองอย่างหนักหน่วงรุนแรง

1978 กองทัพของสหภาพโซเวียตบุกอัฟกานิสถาน

1986 สหภาพโซเวียตถอนตัวออกจากอัฟกานิสถาน

1986 การประชุม 4 ฝ่ายที่กรุงเจนิวา (ประกอบด้วยสหภาพโซเวียต สหรัฐ ปากีสถาน และอัฟกานิสถาน) และการสิ้นสุดการถอนทหารของหสภาพโซเวียตในปี 1989

1991 การรัฐประหารของกลุ่มที่สหภาพโซเวียตให้การสนับสนุนประสบความล้มเหลว

1996 มีการประกาศให้อัฟกานิสถานเป็นสาธารณรัฐอิสลามโดยกองกำลังฏอลิบาน

2001 7 ตุลาคม 2001 สงครามสหรัฐ-ฏอลิบาน ซึ่งฏอลิบานถูกบีบให้ถอนตัวออกจากกรุงคาบูล (14 พฤศจิกายน)

2021 สหรัฐและพันธมิตรถอนตัวออกจากอัฟกานิสถาน

ปิดฉากสงคราม 20 ปีด้วยความพ่ายแพ้และการหมดเงินไปจำนวนล้านล้านเหรียญสหรัฐ

ในขณะที่สหรัฐโจมตีฏอลิบานครั้งแรกนั้นฏอลิบานเข้าครองอัฟกานิสถานไปแล้วร้อยละ 90 ในขณะที่ฝ่ายต่อต้านรัฐบาลมีพื้นที่แค่ร้อยละ 10 เท่านั้น

ก่อนหน้านี้พื้นที่ส่วนใหญ่เคยถูกพันธมิตรฝ่ายเหนือปกครองมาก่อน แต่ต้องมาประสบความพ่ายแพ้ต่อฏอลิบานในที่สุด

 

แม้ว่ากลุ่มต่อต้านฏอลิบานจะเป็นกลุ่มก้อนของผู้เคร่งศาสนาก็ตาม แต่ความขัดแย้งในอัฟกานิสถานส่วนใหญ่ตลอดประวัติศาสตร์จะเป็นเรื่องเชื้อชาติหรือปัญหาที่มาจากชาติพันธุ์เป็นส่วนใหญ่

ส่วนใหญ่ฏอลิบานจะใช้การรบแบบจรยุทธ์หรือแบบกองโจร อาวุธสำคัญของฏอลิบานคือปืนแบบประทับไหล่สติงเยอร์ (Stinger Missiles) สำหรับกำลังทางอาวุธด้านอากาศยานนั้น ฏอลิบานในช่วงปี 1996 มีอาวุธปล่อยจากพื้นสู่อากาศแบบสกั๊ด (Scud)

เมื่อฏอลิบานเข้าสู่อำนาจครั้งแรกพวกเขามีเครื่องบินไม่ถึง 20 ลำอย่างเช่น มิก 21 ซู 22 แอล-39 อัฟกานิสถานมีสภาพเป็นรัฐ-ชาติครั้งแรก ในปี 1747

อัฟกานิสถานเป็นจุดเชื่อมระหว่างอินเดียกับตะวันออกกลาง เป็นดินแดนที่มีการยึดอำนาจระหว่างกลุ่มต่างๆ มาโดยตลอด ต่อสู้กับสหภาพโซเวียตที่ตัดสินใจเข้ายึดครองอัฟกานิสถานในปี 1979

อุซามะฮ์ บิน ลาดิน รบกับสหภาพโซเวียตในนามมุญาฮิดีนได้อย่างเข้มแข็ง สหรัฐแพ้เวียดนามอย่างไร โซเวียตก็แพ้อัฟกานิสถานอย่างเดียวกัน

หากพิจารณาว่าเพิร์ล ฮาร์เบอร์แห่งปี 1914 เป็นจุดกำเนิดของสงครามโลกครั้งที่ 2 การโจมตีเวิลด์เทรดเซ็นเตอร์ก็เป็นเพิร์ล ฮาร์เบอร์ แห่งปี 2001 และจบลงในปี 2021 โดยในขณะที่เพิร์ล ฮาร์เบอร์ เป็นการมุ่งโจมตีที่ตั้งทางทหารนั้น เหตุการณ์ 9/11 เป็นการมุ่งโจมตีเป้าหมายทางพลเรือนเป็นด้านหลัก แม้ว่าจะมีการโจมตีเพนตากอนหรือกระทรวงกลาโหมในกรุงวอชิงตันด้วยในเวลาเดียวกันก็ตาม

 

ตลอด 20 ปี อัฟกานิสถานตกอยู่ภายใต้โลกที่ถูกกำหนดด้วยระเบียบของสหรัฐ (Pax Americana) โดยการต่อต้านการก่อการร้ายจะเป็นลักษณะสำคัญของการสงครามแห่งศตวรรษที่ 21 ก่อนหน้านี้สหภาพโซเวียตติดอยู่ในหล่มโคลนความขัดแย้งในอัฟกานิสถานอยู่ 10 ปี

สภาพพื้นที่ในอัฟกานิสถานไม่ได้เปิดโล่งแบบทะเลทราย การใช้อาวุธของสหรัฐและอดีตสหภาพโซเวียตไม่มีประสิทธิภาพเหมือนในสงครามอ่าวเปอร์เซีย เมื่อเข้าสู่ฤดูหนาวการรบในพื้นที่อย่างอัฟกานิสถานจะเป็นอุปสรรคสำคัญต่อการทำงานของระบบอาวุธนำวิถีที่ทันสมัยทั้งหลาย (ดูรายละเอียดในเรื่องในสุรชาติ บำรุงสุข สงครามอัฟกานิสถาน กรุงเทพ : สถาบันวิถีทรรศน์, 2545)

ในช่วงต้นที่ถูกสหรัฐโจมตีอย่างหนักหน่วงนั้นดูเหมือนว่ากองกำลังฏอลิบานอยู่ในสภาพที่อ่อนแอ

แต่พวกเขาก็อยู่ในภูมิประเทศที่มีความยากลำบากในการทำสงคราม

ภูมิประเทศดังกล่าวจึงมีส่วนทำให้ฏอลิบานประสบชัยชนะในเวลาต่อมาจากยุทธวิธีของพวกเขาเองที่ใช้การรบแบบกองโจมเป็นหลัก นับตั้งแต่ออกจากกรุงคาบูลในปี 2001 เมื่อกองกำลังสหรัฐเข้าโจมตีพวกเขา พวกเขาได้ใช้การถอยทางยุทธวิธีมาโดยตลอด

5 สัปดาห์หลังกองกำลังสหรัฐบุกถล่มอัฟกานิสถาน พวกเขาต้องออกจากเมืองหลวงมุ่งสู่ป่าเขาลำเนาไพรเพื่อทำสงครามปลดปล่อย

กอนดาฮาร์เป็นพื้นที่สำคัญของภาคใต้ และเป็นพื้นที่ซึ่งเป็นเขตอิทธิพลของชาวพาซตุน เป็นที่ฏอลิบานเลือกให้เป็นหนึ่งในการจัดตั้งกองกำลังของพวกเขาเพื่อเข้าสู่การรบแบบกองโจร

ลักษณะภูมิประเทศของกอนดาฮาร์ที่เหมาะสำหรับทำสงครามกองโจรในทุกๆ ด้านทำให้ฏอลิบานตอบโต้ผู้รุกรานได้อย่างมีพลัง

ฏอลิบานได้รับบทเรียนมาแล้วในสมัยที่ส่วนหนึ่งของพวกเขาสังกัดอยู่ในกลุ่มก้อนของมุญาฮิดีนที่เข้าห่ำหั่นกับโซเวียต (1979-1989) โดยชัยชนะในครั้งนั้นส่วนหนึ่งก็มาจากสงครามในรูปแบบของกองโจรเช่นกัน

ทั้งนี้ ยุทธศาสตร์สำคัญของฏอลิบานที่ทำให้พวกเขาได้รับชัยชนะในที่สุดนั้นมาจากการปิดล้อมฐานที่มั่นของฝ่ายรัฐบาลอัฟกานิสถานที่ได้รับการสนับสนุนจากสหรัฐได้อย่างต่อเนื่องนั่นเอง