ศึกศักดิ์ศรี หรือสนามลองของ วัดพลังเลือก กทม.เขต 9 ชี้ชะตาผู้ชนะ 30 ม.ค./บทความในประเทศ

บทความในประเทศ

 

ศึกศักดิ์ศรี หรือสนามลองของ

วัดพลังเลือก กทม.เขต 9

ชี้ชะตาผู้ชนะ 30 ม.ค.

 

การเมืองในกรุงเทพฯ เริ่มคึกคักขึ้นทันตาเห็น เมื่อ “สิระ เจนจาคะ” อดีต ส.ส.กทม. พรรคพลังประชารัฐ ที่ถูกศาลรัฐธรรมนูญตัดสินให้พ้นจากความเป็น ส.ส.จากคดีฉ้อโกง

สนามเลือกตั้งซ่อม ส.ส.เขต 9 หลักสี่-จตุจักร (แขวงเสนานิคม แขวงจันทรเกษม และแขวงลาดยาว) จึงมีการโหมโรง ทั้งขึ้นป้ายหาเสียงของผู้แข่งขัน ป้ายเชิญชวนให้ประชาชนไปใช้สิทธิ์เลือกตั้ง โดยทางคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ได้ประกาศให้มีการรับสมัครตั้งแต่วันที่ 6-10 มกราคม และหย่อนบัตรเลือกตั้งวันที่ 30 มกราคมนี้ ไปเรียบร้อยแล้ว และมีการเตรียมสถานที่รับสมัครไว้ที่สำนักงานเขตหลักสี่แล้ว

ดูแล้วน่าจะมีเพียง 5 พรรคการเมืองที่ลงแข่งขันในสนามนี้ ทั้ง “เจ้หลี” นางสรัลรัศมิ์ เจนจาคะ จากพรรคพลังประชารัฐ, นายสุรชาติ เทียนทอง จากพรรคเพื่อไทย, “เพชร” นายกรุณพล เทียนสุวรรณ จากพรรคก้าวไกล, นายอรรถวิชช์ สุวรรณภักดี จากพรรคกล้า และนายพันธุ์เทพ ฉัตรนะรัชต์ จากพรรคไทยภักดี

ขณะที่พรรคประชาธิปัตย์ ซึ่งถือเป็นพรรคใหญ่ ชัดเจนแล้วว่าจะไม่ส่งใครลงเลือกตั้งซ่อม

“องอาจ คล้ามไพบูลย์” รองหัวหน้าพรรค ดูแลพื้นที่ กทม. ซึ่งเป็นแม่ทัพดูแลเลือกตั้งในกรุงเทพฯ บอกว่า “ถ้าวันรับสมัคร ประชาธิปัตย์ไม่ไปสมัคร ก็ถือว่าไม่ส่งคนลงชิง”

ซึ่งเป็นที่แน่ชัดว่าประชาธิปัตย์ไม่ส่งผู้สมัครลงชิง ส.ส.เขตนี้แน่

แม้ “ผู้การแต้ม” พล.ต.ต.วิชัย สังข์ประไพ จะบอกว่า การเลือกตั้งครั้งที่แล้วได้คะแนน 1.6 หมื่นคะแนน มาเป็นอันดับสี่ และครั้งนี้หากพรรคให้ลงสมัครอีก เจ้าตัวก็มีความพร้อม เพราะลงพื้นที่ตลอดและได้เสียงตอบรับดีพอควร โดยเฉพาะบ้านมีรั้ว

แกนนำพรรคประชาธิปัตย์มองว่า สนามนี้ใครได้เป็น ส.ส.ก็เป็นได้ไม่กี่เดือนต้องมีเลือกตั้งใหม่อยู่ดี และคู่แข่งทั้งเจ้าของพื้นที่เดิม “สิระ เจนจาคะ” ที่ส่งภรรยาลง ต้องรักษาที่นั่งไว้ให้ได้ และ “สุรชาติ” จากพรรคเพื่อไทย ก็ทำพื้นที่อย่างหนักซึ่งมีคะแนนมาเป็นอันดับสองเมื่อการเลือกตั้งที่ผ่านมา ก็สู้ไม่ถอยเช่นกัน นัยว่าในพื้นที่นี้มีการใช้กระสุนกันอย่างมหาศาล

ประชาธิปัตย์จึงขอไปทุ่มให้กับการหาเสียงเลือกตั้งซ่อมที่ จ.ชุมพร และ จ.สงขลา ยังมีโอกาสได้ที่นั่ง ส.ส.มาครองมากกว่า แต่การไม่ส่งผู้สมัครเลือกตั้งซ่อมในเขตหลักสี่ครั้งนี้ พรรคประชาธิปัตย์ก็คงต้องมีคำชี้แจงให้บรรดาผู้สนับสนุนได้เข้าใจว่าเพราะอะไร

เพราะการตัดสินใจครั้งนี้อาจส่งผลกระทบต่อการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. ที่จะมีขึ้นในไม่ช้านี้ได้ จึงต้องรอดูว่า ก่อนวันรับสมัคร 6-10 มกราคม พรรคประชาธิปัตย์จะอธิบายอย่างไร หรือจะอ้างว่าทำตามารยาทที่ต้องหลีกทางให้พรรคแกนนำที่ได้คะแนนอันดับหนึ่ง

 

บรรดานักวิเคราะห์จึงมองว่าสนามเลือกตั้งซ่อมเขตหลักสี่ครั้งนี้ คะแนนที่ออกมาจะกระจายเป็นเบี้ยหัวแตกแน่ เพราะคู่แข่งจาก 5 พรรค ที่ดูเหมือนจะมาแบ่งคะแนนกันเองเสียแล้ว

แต่มองกันว่าเจ้าของพื้นที่เดิมน่าจะมาแรง เพราะ “สิระ” ไม่มีทางปล่อยให้เก้าอี้ ส.ส.ตัวนี้หลุดไปอยู่ในมือคนอื่นแน่ หาก “เจ๊หลี” ไม่ได้เป็น ส.ส.คราวนี้ สิระอาจไม่มีอะไรคุ้มครอง เพราะมีคดีอีกเพียบที่กำลังรอสะสางอยู่ และชื่อของ “สิระ” ก็จะจางหายไป ซึ่งอาจทำให้สิระต้องตกที่นั่งลำบาก

ดังนั้น “สิระ” ต้องทำทุกอย่างเพื่อให้ “เจ๊หลี” ผู้เป็นภรรยาได้นั่งเก้าอี้ ส.ส.ในครั้งนี้ให้ได้ การหาเสียงจึงมีการชูคำว่า “เลือกสรัลรัศมิ์ เหมือนได้สิระคืนมา” เหมือนเลือก “สรัลรัสมิ์” ได้ “สิระ” ไว้ใช้งานเหมือนเดิม เรียกว่าไม่ต้องเสียใครไป

แม้ในสภาผู้แทนราษฎรที่ผ่านมา “สิระ” จะมีพฤติกรรมที่แสดงออกไม่ค่อยจะถูกใจชาวบ้านชาวช่องสักเท่าไหร่ แต่ในพื้นที่ดูเหมือนสิระจะดูแลดี ใครขออะไรให้

ดังนั้น ผลการเลือกตั้งอาจพลิกได้ ใครว่าสิระจะไม่ได้กลับมาอีก ก็ไม่แน่ เพราะอย่าลืมว่าการเลือกตั้งครั้งนี้เพียงเขตเดียว ยังวัดอะไรยาก

 

ขณะที่ “สุรชาติ” แม้ใครจะบอกว่ามาแรงไม่แพ้เจ้าของพื้นที่เดิม เพราะการเลือกตั้งที่ผ่านมา มีคะแนนมาเป็นอันดับสอง รองจากสิระ เรียกว่าคะแนนห่างกันไม่มาก หายใจลดกันเลยทีเดียว ประกอบกับลงพื้นที่อย่างหนักต่อเนื่อง แต่ครั้งนี้ในพรรคเพื่อไทยมองว่า อาจสู้เจ้าของพื้นที่เดิมได้ยาก จึงไม่ทุ่มสุดตัว เพราะสู้จนกระสุนหมดไม่รู้เท่าไหร่ อาจไม่ได้เป็น ส.ส. หรือถ้าได้เป็น ส.ส.ก็คงเป็นได้ไม่กี่เดือน ต้องเลือกตั้งใหม่อยู่ดี สู้เก็บแรงเก็บกระสุนไว้ไปสู้กันตอนลงสนามใหญ่น่าจะดีกว่า

ประกอบกับคะแนนของพรรคเพื่อไทยอาจถูก “เพชร กรุณพล” จากพรรคก้าวไกล แม้จะเป็นดาราดัง เป็นที่รู้จักของชาวบ้าน แต่ผู้สนับสนุนพรรคก้าวไกลก็ยังถือเป็นฐานเดียวกับพรรคเพื่อไทย มาแบ่งคะแนนไปอีก อาจทำให้พรรคเพื่อไทยได้คะแนนไม่เต็มจำนวน

ทำให้ “สุรชาติ” คิดว่าสู้ไปอาจไม่คุ้มกับที่ได้มาก็เป็นได้ และเจ้าของพื้นที่เดิมคงสู้ไม่ถอยแน่

 

ส่วนอีกสองพรรค ทั้งพรรคกล้า และพรรคไทยภักดี ซึ่งยังไม่มี ส.ส.ในสภาเลยแม้แต่คนเดียว ต่างหวังว่าในการเลือกตั้งซ่อมครั้งนี้ จะได้ ส.ส.พาพรรคเข้าไปนั่งในสภา เป็นปากเป็นเสียงให้ประชาชนได้

แต่นักวิเคราะห์มองว่า ทั้งสองพรรคเป็นพรรคใหม่เพิ่งเกิด ดังนั้น การลงสนามเลือกตั้งซ่อมครั้งนี้ น่าจะเป็นแค่ไม้ประดับให้การหาเสียงคึกคัก และมีการแข่งขันกันเท่านั้น แต่น่าเรียกว่าเป็นการชิมลาง ลองสนามของพรรคใหม่จะดีกว่า

เพราะ “อรรถวิชช์” ที่พ่วงตำแหน่งเลขาธิการพรรคกล้ามาด้วย แม้จะเคยเป็นเจ้าของพื้นที่เดิมสมัยอยู่ประชาธิปัตย์ แต่ก็ห่างพื้นที่มา 14 ปีแล้ว ดังนั้น การเลือกตั้งครั้งนี้ จึงเหมือนกับเป็นการรื้อฟิ้นผู้สนับสนุนใหม่อีกครั้ง และหวังทวงคืนเก้าอี้ ส.ส.เขตหลักสี่คืนมาให้ได้ แม้ผลที่ออกมาอาจได้ไม่คุ้มเสีย อย่างที่เคยมีคนเตือนไว้ก็ตาม

ขณะที่พรรคไทยภักดี แม้จะเป็นพรรคการเมืองน้องใหม่ ภายใต้การนำของ นพ.วรงค์ เดชกิจวิกรม หัวหน้าพรรค ที่หวังคะแนนสนับสนุนจากกลุ่ม กกปส. และกลุ่มผู้รักสถาบัน จึงส่ง “พันธุ์เทพ” ดีกรีผู้บริหารระดับซีอีโอ บริษัทร่วมทุนในต่างประเทศ ลงสนามด้วย

ซึ่ง “บิ๊กหยม” พล.ต.ท.ชาญเทพ เสสะเวช ที่ลาออกจากการเป็นนายตำรวจราชองครักษ์พิเศษ มารับตำแหน่งเลขาธิกาพรรรคไทยภักดี ก็ประกาศว่าขอสู้ศึกเต็มที่ และจะปักหลักในเขตหลักสี่ให้ได้ ถือเป็นการลองงานเพื่อเตรียมตัวลงเลือกตั้งสนามใหญ่ที่จะมีขึ้นในเดือนมีนาคม 2566 หรืออาจเกิดขึ้นเร็วกว่าที่คิดก็เป็นได้

จึงจะเห็นว่า แต่ละพรรคต่างงัดกลยุทธ์ กลเม็ดมาสู้กัน เพื่อหวังให้ได้รับความไว้วางใจจากชาวหลักสี่มากที่สุด แม้บางพรรคจะรู้ตัวว่าเป็นรองแต่ถอยไม่ได้แล้ว

ดังนั้น ก็ต้องจับตาดูว่าคะแนน 1.6 หมื่นคะแนนของ “ผู้การแต้ม” จากประชาธิปัตย์ จะสะวิงไปให้ผู้สมัครจากพรรคใดบ้าง 30 มกราคมนี้รู้กัน