‘ทวารวดี’ ไม่ใช่เมืองพุทธ แต่เป็นเมืองศาสนาพราหมณ์ / สุจิตต์ วงษ์เทศ

สุจิตต์ วงษ์เทศ

‘ทวารวดี’ ไม่ใช่เมืองพุทธ

แต่เป็นเมืองศาสนาพราหมณ์

 

ทวารวดี เป็นเมืองของพระกฤษณะ อวตารที่ 8 ของพระวิษณุในศาสนาพราหมณ์-ฮินดู (พระวิษณุเป็นเทพเจ้าสูงสุดของลัทธิไวษณพ)

ดังนั้น ทวารวดีเป็นเมืองนับถือศาสนาพราหมณ์-ฮินดูเป็นศาสนาหลัก (และแน่นอนมีศาสนาผีกับศาสนาพุทธปะปนอยู่ด้วย) มีศูนย์กลางอยู่ฟากตะวันออกของแม่น้ำเจ้าพระยาที่เมืองศรีเทพ (อ.ศรีเทพ จ.เพชรบูรณ์) ลุ่มน้ำป่าสัก และเครือข่ายเมืองละโว้ (อ.เมืองฯ จ.ลพบุรี) ลุ่มน้ำป่าสัก-ลพบุรี

ที่สรุปมานี้พบหลักฐานโบราณคดีสนับสนุนจำนวนมากอยู่ในบทความวิชาการของนักปราชญ์กรมศิลปากร ได้แก่ มานิต วัลลิโภดม (พ.ศ.2515) และ พิเศษ เจียจันทร์พงษ์ (พ.ศ.2562) โดยเฉพาะงานสำคัญล่าสุดของ พิริยะ ไกรฤกษ์ เรื่อง ศรีเทพ ทวารวดี ราชธานีแห่งแรกของสยาม (พ.ศ.2564)

แต่สังคมไทยถูกครอบงำให้เข้าใจคลาดเคลื่อนมานานมากจากหน่วยงานของรัฐราชการรวมศูนย์ ว่าทวารวดีเป็นเมืองนับถือศาสนาพุทธ นิกายเถรวาท เป็นศาสนาหลัก มีศูนย์กลางอยู่ฟากตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยาที่เมืองนครปฐมโบราณ (อ.เมืองฯ จ.นครปฐม) ลุ่มน้ำท่าจีน-แม่กลอง

เรื่อง “ศาสนาหลัก” ของทวารวดีว่าพราหมณ์หรือพุทธเป็นประเด็นสำคัญแรกสุดที่ต้องแก้ไขให้ถูกต้อง เพราะนักวิชาการกระแสหลักถืออำนาจรัฐราชการรวมศูนย์ควบคุมเนื้อหาการเรียนการสอนด้วยข้อมูลชุดเดียวมานานนับศตวรรษว่าทวารวดีเป็นพุทธ

พระกฤษณะเป็นเทวดาเจ้าของเมืองทวารวดี เป็นที่เคารพนับถือของชนชั้นนำในบ้านเมืองบริเวณฟากตะวันออกของแม่น้ำเจ้าพระยาถึงโตนเลสาบในกัมพูชา แล้วแผ่กว้างถึงลุ่มน้ำมูลในอีสาน พบหลักฐานเป็นประติมากรรมจำหลักหินรูปแบบต่างๆ จำนวนมาก (ซ้าย-ขวา) พระกฤษณะโควรรธนะ เล่าเรื่องพระกฤษณะยกภูเขาโควรรธนะด้วยแขนซ้าย เพื่อใช้เป็นที่กำบังพายุฝนให้แก่ฝูงโคและผู้เลี้ยงโค [ประติมากรรมสลักหินลอยตัว อายุราวหลัง พ.ศ.1000 พบที่เมืองศรีเทพ อ.ศรีเทพ จ.เพชรบูรณ์ (ปัจจุบันอยู่ในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร) จากหนังสือ รากเหง้าแห่งศิลปะไทย โดย พิริยะ ไกรฤกษ์ สำนักพิมพ์ริเวอร์บุ๊คส์ พิมพ์ครั้งแรก พ.ศ.2553 หน้า 108-109]

ต้นทางไทยจากทวารวดี

ทวารวดีเป็นต้นทางของประเทศไทย เพราะมีความเป็นมาเจริญเติบโตเกี่ยวข้องกับบ้านเมืองและผู้คนในประเทศไทยตั้งแต่หลัง พ.ศ.1000 สืบเนื่องต่อมาจนปัจจุบัน โดยพบหลักฐานมากนับไม่ถ้วน แต่เท่าที่พบและสำคัญยิ่งคือนามเมืองอย่างเป็นทางการของกรุงศรีอยุธยาอยู่ในเอกสารโบราณว่า “กรุงเทพทวารวดีศรีอยุธยา”

หมายถึงกรุงศรีอยุธยามาจากสวรรค์เป็นเมืองของพระรามที่มั่นคงแข็งแรงไม่มีใครเอาชนะได้ ซึ่งสืบเนื่องจากเมืองทวารวดีของพระกฤษณะที่มั่งคั่งด้วยช่องทางไปมาค้าขายสะดวกสบายและอุดมสมบูรณ์

ดังนั้น จึงพบนาม “ทวารวดี”-พระกฤษณะและสิ่งเกี่ยวข้องอยู่ทั่วไปตั้งแต่สมัยก่อนกรุงศรีอยุธยาสืบเนื่องตลอดสมัยกรุงศรีอยุธยา และพบอีกว่าวรรณกรรมเรื่องอนิรุทธคำฉันท์ยังอธิบายไม่ได้ว่ามีต้นตอจากไหน? เพราะถูกมองข้ามเรื่องพระกฤษณะ ดังนี้

1. “ทวารวดี” เป็นนามศักดิ์สิทธิ์ที่ได้รับยกย่องจากคนชั้นนำของบ้านเมืองเก่าแก่เรือน พ.ศ.1000 จึงพบนามนี้เป็นคำจารึกบนเหรียญเงินและผนังถ้ำ นอกจากนั้นยังพบในศิลาจารึกทั้งในกัมพูชาและในไทย

2. พระกฤษณะ รูปสลักหินชูพระกรซ้ายแสดงปางกฤษณะโควรรธนะ หรือพระกฤษณะยกภูเขาโควรรธนะ ฝีมือช่างราวเรือน พ.ศ.1000 พบที่เมืองศรีเทพ อ.ศรีเทพ จ.เพชรบูรณ์

มีเรื่องเล่าว่า “พระกฤษณะผ่านไปทางภูเขาโควรรธนะ พบคนเลี้ยงวัวกำลังทำพิธีบูชายัญวัวถวายพระอินทร์ เมื่อเห็นดังนั้นพระกฤษณะจึงห้ามไว้ แล้วชักจูงคนเลี้ยงวัวเหล่านั้นหันมาบูชาภูเขาโควรรธนะดีกว่า ซึ่งเป็นแหล่งให้หญ้า ให้น้ำ ให้ความอุดมสมบูรณ์กับฝูงวัวและคนเลี้ยงวัว พระอินทร์รู้ก็พิโรธแล้วบันดาลความเดือดร้อนเป็นพายุฝนห่าใหญ่ตกต่อเนื่องไม่หยุด พระกฤษณะยกภูเขาโควรรธนะขึ้นบังฝนห่าใหญ่ให้ฝูงวัวกับคนเลี้ยงวัวทั้งหลายนาน 7 วัน 7 คืน จนพระอินทร์ต้องยอมแพ้ แล้วยอมให้คนเลี้ยงวัวหันไปนับถือภูเขาโควรรธนะตามคำชี้ชวนของพระกฤษณะ”

3. พระกฤษณะภาพสลักบนทับหลัง ราว 6 ชิ้น ระหว่าง พ.ศ.1600-1800 พบที่ปราสาทต่างๆ บริเวณลุ่มน้ำมูล (ดูบทความเรื่อง “พระกฤษณะในประเทศไทย” ของ ดร.จิรพัฒน์ ประพันธ์วิทยา เอกสารประชุมวิชาการเรื่องโบราณคดีไทย ครั้งที่ 1 กรมศิลปากร จัดที่ จ.อุบลราชธานี ระว่างวันที่ 25-28 สิงหาคม 2535 หน้า 10-12)

(ซ้าย) พระกฤษณะปราบช้างและสิงห์ (รูปสลักทับหลัง ราว พ.ศ.1650 ปราสาทพนมรุ้ง จ.บุรีรัมย์) (ขวา) พระกฤษณะปราบช้างและสิงห์ เป็นหลักฐานความเชื่อเรื่องทวารวดีและพระกฤษณะสืบเนื่องถึงสมัยหลัง (ปูนปั้น เรือน พ.ศ.1800 บนทับหลังศิลาแลงมุขด้านทิศใต้ พระปรางค์วัดพระศรีรัตนมหาธาตุ จ.ลพบุรี ภาพและคำอธิบาย โดย รุ่งโรจน์ ภิรมย์อนุกูล คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง)

4. พระกฤษณะปราบช้างและสิงห์ ลายปูนปั้นฝีมือช่างเรือน พ.ศ.1800 บนทับหลังศิลาแลงมุขด้านทิศใต้ พระปรางค์วัดพระศรีรัตนมหาธาตุ อ.เมืองฯ จ.ลพบุรี

5. พระกฤษณะ, พระราม, พระนารายณ์ พบชื่อพร้อมกันในจารึกสุโขทัย หลักที่ 2 (วัดศรีชุม) แสดงว่าเทวดาทั้ง 3 องค์ เป็นที่นับถือยกย่องอย่างสูงในหมู่เจ้านาย, เชื้อวงศ์ที่ปกครองบ้านเมืองทั้งตอนบนและตอนล่างของลุ่มน้ำเจ้าพระยา ภาคกลาง ตั้งแต่สมัยการค้าโลกเริ่มแรก เรือน พ.ศ.1000 สืบเนื่องไม่ขาดสายถึงเรือน พ.ศ.1900

6. พญากง พญาพาน เป็นตำนานพระมหาธาตุหลวงเมืองนครปฐม (ปัจจุบันคือ พระปฐมเจดีย์) ได้เค้าโครงจากเรื่องพระกฤษณะปราบพระเจ้ากังสะ โดยพระยากงกลายจากชื่อ “พระเจ้ากังสะ” ส่วนพระยาพาน กลายจากชื่อ “พาลกฤษณะ” หมายถึงพระกฤษณะตอนเป็นเด็ก (คำอธิบายนี้ได้จาก ดร.จิรพัฒน์ ประพันธ์วิทยา)

นิทานพญากงพญาพาน (ตำนานพระปฐมเจดีย์) นักปราชญ์ไทยหลายท่านเคยบอกนานแล้วว่ามีต้นตอจากตำนานกรีกที่ส่งผ่านอินเดีย (เรื่องพระกฤษณะ) จากนั้นแพร่หลายถึงไทย แล้วถูกเล่าใหม่เป็นพญากงพญาพาน

ตำนานกรีกมีตำรับตำราเล่าว่าถูกดัดแปลงเป็นบทละครเรื่อง Oedipus Rex (หรือ Oedipus the King) เขียนโดย “โซโฟคลีส” เมื่อ 2,500 ปีมาแล้ว แสดงในโรงละครกลางแจ้ง เมืองเอเธนส์ [จากหนังสือ วรรณกรรม : ประวัติศาสตร์เรื่องเล่าแห่งจินตนาการ โดย สุรเดช โชติอุดมพันธ์ แปลจากเรื่อง A Little History of Literature by John Sutherland สำนักพิมพ์บุ๊คสเคป พิมพ์ครั้งแรก พ.ศ.2561 หน้า 44-46]

7. อนิรุทธคำฉันท์ วรรณกรรมเกี่ยวกับพระกฤษณะ แต่งสมัยอยุธยาตอนต้น เมื่อเรือน พ.ศ.2000 (ต้นแบบวรรณกรรมเรื่องอุณรุทในสมัยต่อไป)

8. อุสา-บารส โครงเรื่องหลักเดียวกับเรื่องอนิรุทธ แต่แพร่หลายอยู่ลุ่มน้ำโขงบริเวณเวียงจันทน์และอีสานเหนือ (อุดรธานี)

9. อุณรุท โครงเรื่องหลักเดียวกับเรื่องอนิรุทธ แต่ถูกแต่งเป็นบทละครสมัยกรุงรัตนโกสินทร์

ข้อมูลที่รวบรวมมานี้เป็นเบื้องต้นเท่านั้น น่าจะยังไม่ครบถ้วนและอาจอธิบายคลาดเคลื่อนได้ จึงควรเพิ่มเติมและตรวจสอบต่อไปอีกให้มากกว่านี้