ผ่ากรุงเทพมหานคร พื้นที่นี้ใครครอง (3)/บทความพิเศษ สมชัย ศรีสุทธิยากร

สมชัย ศรีสุทธิยากร

บทความพิเศษ

สมชัย ศรีสุทธิยากร

ศูนย์วิจัยการเมืองและการพัฒนา มหาวิทยาลัยรังสิต

 

ผ่ากรุงเทพมหานคร

พื้นที่นี้ใครครอง (3)

 

ในการเลือกตั้งทั่วไป เมื่อวันที่ 24 มีนาคม พ.ศ.2562 พื้นที่กรุงเทพมหานคร ฝั่งธนบุรี ประกอบด้วย 9 เขตเลือกตั้ง คือ

เขตเลือกตั้งที่ 22 ประกอบด้วยเขตบางกอกใหญ่ คลองสาน และบางส่วนของเขตธนบุรี

เขตเลือกตั้งที่ 23 ประกอบด้วยเขตจอมทอง และบางส่วนของเขตธนบุรี

เขตเลือกตั้งที่ 24 ประกอบด้วยเขตราษฎร์บูรณะ และทุ่งครุ

เขตเลือกตั้งที่ 25 ประกอบด้วยเขตบางขุนเทียน

เขตเลือกตั้งที่ 26 ประกอบด้วยเขตบางบอน และบางส่วนของเขตหนองแขม

เขตเลือกตั้งที่ 27 ประกอบด้วยเขตทวีวัฒนา และบางส่วนของเขตหนองแขมและเขตตลิ่งชัน

เขตเลือกตั้งที่ 28 ประกอบด้วยเขตบางแค

เขตเลือกตั้งที่ 29 ประกอบด้วยเขตภาษีเจริญ และบางส่วนของเขตตลิ่งชัน

และเขตเลือกตั้งที่ 30 ประกอบด้วยเขตบางกอกน้อยและเขตบางพลัด

ความเป็นเมืองของกรุงเทพมหานคร ฝั่งธนบุรี กลับมีความแตกต่างจากกรุงเทพฯ ชั้นในที่เป็นย่านศูนย์กลางการปกครองและใจกลางธุรกิจ และแตกต่างจากกรุงเทพฯ ทิศเหนือและทิศตะวันออกที่การขยายตัวของเมืองเกิดจากธุรกิจ โรงงานอุตสาหกรรม และบ้านจัดสรร

ฝั่งธนบุรี หากเป็นชั้นในกลับเป็นย่านธุรกิจขนาดเล็กเก่าแก่ มีชุมชนหนาแน่นตามวัดและริมแม่น้ำลำคลองที่อยู่อาศัยกันมาแต่ดั้งเดิม ในขณะที่ชั้นนอกเป็นการปะปนของพื้นที่ซึ่งเป็นเรือกสวนและการเกิดใหม่ของโรงงานอุตสาหกรรม ที่พักอาศัย ตามมาด้วยชุมชนคนยากจนเมื่อมีการอยู่อาศัยกันหนาแน่นขึ้น

ความรู้สึกความเป็นคนฝั่งธนฯ นั้นถูกปลูกฝังมานานและยังคงอยู่กับคนรุ่นเก่า ในขณะที่คนรุ่นใหม่อาจไม่รู้สึกแตกต่างและอาจคิดน้อยใจลึกๆ ถึงการพัฒนาเมืองที่แตกต่างกัน และมารู้สึกดีขึ้นเมื่อมีรถไฟฟ้าข้ามมาถึง

 

ฐานคะแนนพรรคคนรุ่นใหม่?

ผลการเลือกตั้งทั่วไปครั้งที่ผ่านมาเป็นอะไรที่น่าสนใจอย่างยิ่ง

เพราะใน 9 เขตของการเลือกตั้ง พรรคอนาคตใหม่สามารถชนะถึง 6 เขตเลือกตั้ง คือเขตเลือกตั้งที่ 22, 23, 24, 25, 27 และ 28 ในขณะพรรคเพื่อไทยชนะ 2 เขต คือ เขตเลือกตั้งที่ 26 และ 29

ส่วนพรรคพลังประชารัฐชนะเพียงเขตเดียว คือเขตเลือกตั้งที่ 30 ในขณะที่พรรคประชาธิปัตย์ที่มี ส.ส.เป็นเจ้าของพื้นที่เดิมลงแข่งขันทั้ง 9 เขต กลับได้รับเลือกเป็นอันดับ 3 และอันดับ 4 ในทั้ง 9 เขต ดังแสดงในกราฟภาพที่ 1

เมื่อนำคะแนนฝ่ายอนุรักษนิยม ซึ่งได้แก่พรรคพลังประชารัฐและพรรคประชาธิปัตย์มารวมกัน เปรียบเทียบกับคะแนนฝ่ายเสรีนิยม อันได้แก่พรรคเพื่อไทยและพรรคอนาคตใหม่ จะปรากฏผลเป็นตามกราฟที่ 2

จากกราฟดังกล่าว จะเห็นว่าเขตเลือกตั้งที่มีลักษณะแนวโน้มเป็นฐานคะแนนฝ่ายอนุรักษ์ คือ เขตเลือกตั้งที่ 22 (บางกอกใหญ่ คลองสาน ธนบุรี) เขตเลือกตั้งที่ 24 (ราษฎร์บูรณะ ทุ่งครุ) เขตเลือกตั้งที่ 25 (บางขุนเทียน) และเขตเลือกตั้งที่ 30 (บางกอกน้อย บางพลัด)

ซึ่งหากพิจารณาจากลักษณะพื้นที่ จะเห็นว่า เขตเลือกตั้งที่ 22 และ 30 มีพื้นที่เป็นตัวเมืองเก่าของฝั่งธนฯ ที่ติดกับแม่น้ำเจ้าพระยาและฝั่งกรุงเทพฯ ชั้นใน โดยเป็นย่านธุรกิจเดิมและชุมชนผู้อยู่อาศัยริมแม่น้ำลำคลอง ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นผู้อยู่อาศัยดั้งเดิมเช่นเดียวกับเขตกรุงเทพฯ ชั้นใน

ดังนั้น ด้วยพฤติกรรมของผู้อยู่อาศัยมานานจะมีแนวโน้มเป็นกลุ่มอนุรักษนิยมมากกว่าเขตรอบนอกที่เป็นผู้อยู่อาศัยใหม่

ในขณะที่เขตเลือกตั้งที่ 24 และ 25 แม้เป็นเขตรอบนอก แต่มีลักษณะโครงสร้างสังคมในลักษณะพึ่งพาผู้มีบารมีในพื้นที่ที่เป็นผู้นำชุมชน เช่น กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน และมีตระกูลของนักการเมืองในฝ่ายอนุรักษนิยมเกื้อกูลมาอย่างต่อเนื่อง

อย่างไรก็ตาม ผลการเลือกตั้งใน 4 เขตดังกล่าว ฝ่ายอนุรักษนิยมประสบความสำเร็จได้เพียงเขตเลือกตั้งเดียว คือ เขตเลือกตั้งที่ 30 เนื่องจากมีการแข่งขันแย่งคะแนนกันระหว่างพรรคเพื่อไทยและพรรคอนาคตใหม่ ทำให้พลังประชารัฐเป็นฝ่ายได้รับชัยชนะในเขตดังกล่าว

ในขณะที่อีก 3 เขตที่เหลือ คือเขต 22, 24 และ 25 พรรคอนาคตใหม่ได้รับชัยชนะ เนื่องจากไม่มีผู้สมัครจากพรรคเพื่อไทยลงสมัครในเขตเลือกตั้งดังกล่าว

เขตเลือกตั้งที่เหลือที่เป็นกรุงเทพฯ ฝั่งธนบุรีรอบนอก ดูเหมือนจะเป็นฐานคะแนนที่ชัดเจนของพรรคฝ่ายเสรีนิยม ด้วยลักษณะของการเป็นผู้อยู่อาศัยใหม่ที่เป็นชนชั้นกลางจากหมู่บ้านจัดสรร โรงงานอุตสาหกรรมที่ตามมาภายหลังการขยายตัวของเมือง การแข่งขันจึงเป็นการแข่งกันเองระหว่างพรรคเพื่อไทยและพรรคอนาคตใหม่

โดยหากในเขตที่พรรคเพื่อไทยมีผู้สมัครที่โดดเด่นกว่า หรือมีบารมีในพื้นที่มากกว่า เช่น เขตเลือกตั้งที่ 26 (บางบอน) เมื่อผู้สมัครเป็นทายาทของตระกูลอยู่บำรุง ย่อมเป็นแต้มต่อในการได้รับชัยชนะเหนือพรรคคู่แข่ง

หรือในเขตเลือกตั้งที่ 29 (ภาษีเจริญ ตลิ่งชัน) ผู้สมัครของเพื่อไทยที่เป็นครอบครัวของกำนัน ผู้เคยดำรงตำแหน่ง ส.ส.และเคยเป็นแกนนำของมวลชนเสื้อแดงในอดีตเป็นผู้ได้รับเลือกตั้ง

 

วิเคราะห์ฐานคะแนนใน

กรุงเทพมหานครฝั่งธนบุรี

จากผลการเลือกตั้งทั่วไปเมื่อวันที่ 24 มีนาคม พ.ศ.2562 ทำให้เราสามารถจำแนกพื้นที่กรุงเทพมหานคร ฝั่งธนบุรี ออกเป็น 3 กลุ่มคือ

1) กลุ่มกรุงเทพฯ ฝั่งธนบุรีชั้นใน ได้แก่ เขตเลือกตั้งที่ 22 และ 30 ซึ่งประกอบด้วยเขตปกครองรายเรียงฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา ไล่จากทิศเหนือลงทิศใต้ ได้แก่ บางพลัด บางกอกน้อย บางกอกใหญ่ ธนบุรี และคลองสาน กลุ่มนี้เป็นกลุ่มตัวเมืองเดิมและมีพื้นที่ติดกับฝั่งกรุงเทพฯ ชั้นในที่เป็นศูนย์กลางการปกครองและใจกลางธุรกิจ ด้วยความเจริญทางเศรษฐกิจและเป็นผู้อยู่อาศัยดั้งเดิม จึงมีฐานแนวคิดเป็นอนุรักษนิยมสูง พรรคการเมืองในซีกอนุรักษนิยม หากไม่มีการลงสมัครแข่งขันเพื่อตัดคะแนนกัน จะมีโอกาสชนะในการเลือกตั้งมากกว่า

2) กลุ่มกรุงเทพฯ ฝั่งธนบุรีชั้นนอก ที่ปัจจัยด้านผู้สมัครและตระกูลการเมืองยังมีอิทธิพล ได้แก่ เขตเลือกตั้งที่ 24, 25, 26 และ 29 โดยในเขตที่ 24 และ 25 นั้นแม้ผู้สมัครและตระกูลการเมืองในฝั่งพลังอนุรักษ์จะมีมากกว่า แต่พรรคอนาคตใหม่กลับชนะการเลือกตั้ง เนื่องจากพรรคเพื่อไทยไม่ส่งผู้สมัครลงแข่งขัน ส่วนในเขตที่ 26 และ 29 ผู้สมัครและตระกูลการเมืองในฝั่งเสรีนิยมจากพรรคเพื่อไทย ค่อนข้างโดดเด่น มีเครือข่ายและทำพื้นที่มานาน จึงแข่งขันกับพรรคอนาคตใหม่ซึ่งอยู่ในแนวคิดเสรีนิยมด้วยกันและเป็นฝ่ายได้รับชัยชนะในการเลือกตั้ง

3) กลุ่มกรุงเทพฯ ฝั่งธนบุรีชั้นนอก ที่พลังเสรีนิยมแจ่มชัด ได้แก่ เขตเลือกตั้งที่ 23, 27 และ 28 และพรรคการเมืองใหญ่ทั้ง 4 พรรค ลงแข่งขันกันหมดโดยไม่หลีกทางกัน ผลการเลือกตั้งจึงออกมาในผลคะแนนที่ใกล้เคียงโดยพรรคอนาคตใหม่ได้รับเลือกตั้งทั้งสามเขต ส่วนอันดับสองสลับกันระหว่างพลังประชารัฐและเพื่อไทย ที่มีคะแนนใกล้เคียงกับอันดับหนึ่งทั้งสองพรรค ส่วนประชาธิปัตย์แม้เป็น ส.ส.เก่า กลับตกไปเป็นอันดับสี่ โดยมีคะแนนถูกทิ้งค่อนข้างห่าง ซึ่งแปลความหมายได้ว่า คะแนนของฝ่ายอนุรักษ์ที่น้อยกว่าฝ่ายเสรีนิยม ยิ่งเมื่อถูกแบ่งคะแนนกัน ทำให้ฝ่ายเสรีนิยมสามารถขึ้นมามีชัยชนะได้

การเลือกตั้งทั่วไปของกรุงเทพมหานครครั้งใหม่ที่จะเกิดขึ้นในเวลาไม่เกินปีกว่าจากปัจจุบัน แม้อาจมีการแบ่งเขตเลือกตั้งใหม่เป็น 33 หรือ 34 เขต แต่พฤติกรรมการออกเสียงของประชาชนในพื้นที่ดังกล่าวคงไม่เปลี่ยนแปลงจากเดิมนัก แต่ยังมีตัวแปรพิเศษที่ต้องคำนึงถึงคือ การเติมคะแนนเสียงของผู้มีสิทธิเลือกตั้งใหม่ (New Voters) ที่เพิ่มขึ้นใน 3-4 ปี จากการเลือกตั้งเมื่อปี 2562

พลังอนุรักษ์ที่สูงวัยและจากไป ทดแทนด้วยพลังคนหนุ่มสาวที่มีแนวทางเสรีนิยมมากขึ้น ย่อมเป็นตัวชี้ผลการเลือกตั้งในอนาคตได้ไม่ยาก

นี่คือกระแสคลื่นที่ไม่อาจทานต้านได้