ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 12 - 18 สิงหาคม 2559 |
---|---|
คอลัมน์ | ท่าอากาศยานต่างความคิด |
เผยแพร่ |
ในปี 1933 นักเขียนแห่งนครซานไห่จำนวนหนึ่งถูกขอร้องให้ทำนายทายทักอนาคตของนครซานไห่ที่พวกเขาอาศัยอยู่
หมิง ซาน-Ming San นักเขียนคนหนึ่งเขียนคำตอบว่าในอนาคต นครซานไห่จะมีโรงภาพยนตร์ที่มีน้ำร้อนและน้ำเย็นไหลวนอยู่ภายใน ส่วนตัวภาพยนตร์นั้นก็จะมีกลิ่นให้สัมผัสได้อีกด้วย อีกทั้งโรงละครในซานไห่ก็จะเน้นการเต้นฟอกซ์ทรอตสเต็ปล่าสุดโดยนักเต้นจะพากันเปลือยกายกันทุกผู้ทุกคน
ในขณะที่ตามสวนสาธารณะจะมีเจ้าหน้าที่คอยสอนวิธีการจูบที่ถูกต้องให้กับหนุ่มสาวที่ยังไม่เคยงาน
และนอกเหนือจากโรงละคร นครซานไห่จะมีทั้งโรงละครสัตว์ สนามกีฬาขนาดใหญ่ที่ออกกำลังกายได้ทุกชนิด มีสนามแข่งม้า สนามแข่งหมา สนามชนวัว สนามชนไก่ ศาลก็จะวุ่นวายกับการพิจารณาคดีหย่าร้างที่มีมาให้พิจารณาวันละห้าร้อยคดี
ถึงตอนนั้นใครที่อยู่ในซานไห่ก็จะรู้สึกว่ามันคือสวรรค์ที่ตั้งอยู่บนสรวงสวรรค์อีกที
ส่วน หลิว เหมง เฟย-Liu Mengfei นักเขียนอีกคน มองอย่างจริงจังว่า นครซานไห่ในอนาคตจะเป็นสถานที่ที่ประกอบไปด้วยแรงปะทะระหว่างชนชั้นอย่างมหาศาล
โดยจะเป็นแรงปะทะระหว่างพวกชนชั้นสูงที่มีอันจะกินกับพวกเร่ร่อนขอทานตามท้องถนน และจะนำไปสู่ชนวนให้เกิดการต่อสู้ของกลุ่มต่างๆ ในที่สุด
และแล้วชนชั้นแรงงานจะขึ้นมายึดครองนครซานไห่แทนพวกผู้ดีมีเงินต่างๆ พวกเขาจะเปลี่ยนนครซานไห่ให้เป็นนครในอุดมคติที่ไม่มีชนชั้นอีกต่อไป
หวาง สิ่ว เหอ-Wang Xiuhe นักเขียนอีกคนกลับมองต่างจากนักเขียนทั้งสอง เขาไม่คิดว่านครซานไห่จะกลายเป็นดินแดนคนบาป
เขาไม่คิดว่านครซานไห่จะกลายเป็นดินแดนอุดมคติ
หากแต่เขาว่านครซานไห่จะพัฒนาตนเองไปในสองทิศทาง
ทิศทางแรก คือ กลายเป็นดินแดนของพวกตะวันตกอย่างเต็มตัว
ทิศทางที่สอง คือ กลายเป็นรัฐอิสระตามความต้องการของการเปลี่ยนแปลงการปกครอง
อย่างแรกนั้นเกิดขึ้นจากการที่เขตเช่าของพวกตะวันตกขยายตัวไปเรื่อยๆ จนในที่สุดสามารถครอบคลุมนครซานไห่ไว้ได้ทั้งหมดและทำให้ชาวซานไห่ที่มีถิ่นฐานดั้งเดิมต้องตกอยู่ในสภาพของชนเร่ร่อน
อย่างที่สองคือผู้บริหารนครซานไห่เปลี่ยนซานไห่ตามแผนสร้างชาติของนายแพทย์ซุน ยัต เซน และทำให้เขตเช่าของตะวันตกต้องกลายเป็นเมืองร้างที่ไม่มีผู้คน และในที่สุดพวกชาติตะวันตกก็จำยอมคืนเขตเช่านั้นให้กับจีนและเดินทางกลับประเทศของตนเองไป
ทางเลือกไหนจะเป็นไปได้ที่สุดนั้นย่อมขึ้นอยู่กับศักยภาพของชาวนครซานไห่เอง นั่นคือความเห็นของ หวาง สิ่ว เหอ
อนาคตของนครซานไห่นั้นเป็นสิ่งที่น่าสนใจยิ่งเพราะหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองจากราชวงศ์ชิงในปี 1911 แล้ว นครแห่งนี้ได้แปรเปลี่ยนตัวเองไปอย่างมาก
โดยเฉพาะในประเด็นเกี่ยวกับความปลอดภัยทั้งชีวิตและทรัพย์สิน
ในปี 1922 มีสถิติว่ามีการใช้อาวุธชิงทรัพย์เพียง 47 รายในเขตเช่าตะวันตก
แต่อีกสองปีให้หลังการก่อคดีสูงขึ้นเป็น 204 ราย
และเมื่อถึงปี 1926 คดีชิงทรัพย์นั้นพุ่งสูงขึ้นไปถึง 448 ราย
ภายในเวลาเพียงห้าปีอัตราเพิ่มขึ้นของอาชญากรรมในนครซานไห่สูงถึง 950 เปอร์เซ็นต์
นักข่าวต่างชาติถึงกับขนานนามซานไห่อีกนามซึ่งเคียงคู่ไปกับฉายาว่าปารีสตะวันออก คือ ซานไห่-ศูนย์กลางแห่งอาชญากรรมในโลกตะวันออกด้วย
สาเหตุของอาชญากรรมในนครซานไห่นั้นมีด้วยกันหลายประการ
ทั้งการที่อำนาจในประเทศจีนขณะนั้นตกอยู่ในมือของเหล่ากลุ่มทั้งนายทุนขุนศึกที่มีจำนวนนับไม่ถ้วน คนเหล่านี้มีลูกน้องเป็นทั้งทหารและตำรวจซึ่งเมื่อพ้นจากสังกัดก็เข้าประกอบกิจการผิดกฎหมายจำนวนมากโดยเฉพาะในซานไห่ที่มีช่องทางทำมาหากินมากกว่าที่อื่น
อีกสาเหตุหนึ่งคือการที่มีชนชั้นแรงงานจำนวนมากอพยพเข้ามาหางานทำในนครซานไห่
และสำหรับหลายคนที่ไม่ประสบผลสำเร็จในการหาอาชีพสุจริตก็มุ่งเข้าสู่อาชีพอาชญากรรม
ไม่นับว่านครซานไห่เป็นเมืองท่าที่การหลบหนีหลังประกอบความผิดทำได้ง่ายดายยิ่ง
ซานไห่ในยามนั้นถูกแบ่งเป็นห้าเขตปกครองที่มีกฎเกณฑ์ในการปกครองต่างกันถึงสี่แบบ สองในสามเขตปกครองนั้นพวกตะวันตกเป็นใหญ่อันได้แก่ เขตเช่าสากลและเขตเช่าฝรั่งเศส ซึ่งทำให้เหล่าอาชญากรสามารถโยกย้ายตนเองได้อย่างอิสระ เงินทองที่หลั่งไหลเข้ามาในนครซานไห่ไม่รีรอให้มีการจัดการอะไรได้รัดกุมนัก
ไนต์คลับ สถานบันเทิงแห่งใหม่ถูกเปิดให้บริการเพิ่มขึ้นไม่เว้นแต่ละวัน ยามค่ำของนครซานไห่สว่างไสวราวกับดอกไม้ไฟที่ถูกจุดในความมืด
ท่อไฟฟ้าและปูนผสมคอนกรีตคือสองสิ่งที่ถูกนำเข้านครซานไห่มากที่สุดในยุคนั้น
ภาพยนตร์ใหม่จากตะวันตกปรากฏขึ้นที่นครซานไห่ก่อนนครอื่น เพลงใหม่จากตะวันตกปรากฏขึ้นที่นครซานไห่ก่อนนครอื่น และข่าวสารใหม่จากโลกภายนอกปรากฏขึ้นที่นครซานไห่ก่อนนครอื่น นครซานไห่เป็นเมืองท่าที่ไม่ได้รองรับเฉพาะสินค้า หากแต่ยังเป็นเมืองท่าที่รองรับวัฒนธรรมจากโลกภายนอกดินแดนจีนอีกด้วย
ปี 1903 นักเดินทางชาวสเปนคนหนึ่งนาม รามอส-Ramos ได้นำภาพยนตร์เงียบเข้ามาฉายยังนครซานไห่
เขาลงทุนจ้างแรงงานชาวอินเดียให้สั่นกระดิ่งและตะโกนเรียกผู้คนเข้าชมภาพยนตร์ของเขาที่ฉายอยู่บนถนนฟูโจว
การต่อสู้เช่นนั้นกินเวลาถึงห้าปีก่อนที่รามอสจะมีทุนสร้างโรงภาพยนตร์แห่งแรกของเขาขึ้นที่หงโกว โรงภาพยนตร์ของเขานั้นมีขนาด 250 ที่นั่งและตั้งอยู่ที่จุดตัดระหว่างถนนไฮหนิงและถนนชาปู
ธุรกิจภาพยนตร์ของรามอสก้าวหน้าอย่างรวดเร็วนับจากนั้นและดึงดูดนักลงทุนคนอื่นให้ติดตามมา
มีการสร้างโรงภาพยนตร์ชั้นสองที่ฉายหนังที่ออกจากโปรแกรมใหม่ไปแล้ว
มีการออกนิตยสารด้านภาพยนตร์เพื่อประกอบการชมภาพยนตร์
ล่วงมาถึงปี 1930 มีโรงภาพยนตร์ในซานไห่เป็นจำนวนถึงสามสิบหกโรง นิตยสารเดี่ยนหยิง หัวเป่า ที่เจาะลึกด้านวงการภาพยนตร์อ้างว่ามีคนอ่านนิตยสารของพวกเขาถึงหนึ่งล้านคน และพอถึงปี 1933 โรงหนังชั้นนำของซานไห่คือ ต้า กวงหมิง ก็ถูกสร้างด้วยราคาค่าก่อสร้างถึงหนึ่งล้านดอลลาร์ โรงหนังแห่งนี้มีจำนวนที่นั่งสูงถึง 1,951 ที่นั่ง
ในขณะที่คู่แข่งคือโรงหนัง ต้า ซานไห่ นั้นสร้างด้วยเงินแปดแสนดอลลาร์และมีที่นั่งเพียง 1,629 อย่างไรก็ตาม โรงหนังทั้งสองถือว่าทันสมัยที่สุดในเอเชีย ณ เวลานั้นเลยทีเดียว
นอกเหนือจากภาพยนตร์ที่เป็นที่แพร่หลายแล้ว อาชีพขายบริการทางเพศก็เป็นสิ่งที่แพร่หลายด้วยเช่นกันในนครซานไห่
ว่ากันว่าถ้ามีหญิงสาวเดินผ่านหน้าเรามาสิบหกคนในนครซานไห่ จะต้องมีหนึ่งคนที่ประกอบอาชีพโสเภณี
เอ็ดนาร์ ลี บุ๊กเกอร์-Edna Lee Booker นักเขียนที่เดินทางไปนครซานไห่ในยุคนั้นเล่าเปรียบเปรยสภาพของถนนยามค่ำในนครซานไห่ช่วงทศวรรษที่ 20 ไว้ว่า
“ตามทางเดินแคบๆ ที่มีเพียงแสงไฟวอมแวมจากโคมแดงที่แขวนอยู่เหนือประตูของอาคารที่ฝังตัวในเงามืด ท่ามกลางแสงไฟเช่นนั้น ใครบางคนจะเดินผ่านมา อาจเป็นสาวชาวจีนที่ทาแก้มของเธอจนแดงเรื่อ อาจเป็นสาวญี่ปุ่นที่แสดงตัวตนให้เห็นว่าเธอมาจากพวกชนชั้นสูงในโตเกียว
หรืออาจเป็นหญิงแก่ที่ไม่ระบุสัญชาติ และแล้วก็มีเสียงดนตรีแจ๊ซจากบาร์แห่งไหนสักแห่งที่มีนับไม่ถ้วนดังมาพอให้เราได้ยิน ติดตามมาด้วยสาวรัสเซียจากฮาร์บินที่จะใช้คำพูดติดปากยามสนทนาว่า “ที่รัก ช่วยซื้อเหล้าลิตเติ้ลซอนย่าให้ฉันได้จิบสักหน่อยเถิด” ไม่เว้นแม้แต่สาวอเมริกันจากอีกฝั่งของโลกที่จะเดินสวนกับเรารวมถึงสาวฝรั่งเศสจากมาร์เเซลที่มาทำงานเป็นคู่เต้นของพวกนักเต้นเท้าไฟในนครแห่งนี้”
โลกยามค่ำในนครซานไห่แทบไม่เคยหลับนอน บาร์คาบาร์เร่ต์นั้นปิดเอาที่เวลาสองนาฬิกาในยามเช้า และในคืนวันเสาร์มันจะเปิดถึงรุ่งอรุณ โรงน้ำชานั้นเปิดตลอดยี่สิบสี่ชั่วโมง ส่วนโรงนวดที่ถนนจอฟฟี่และถนนเรนจ์นั้นซึ่งสาวจีนแย่งอาชีพมาจากสาวรัสเซียได้สำเร็จจะสามารถเรียกให้เปิดประตูได้ตลอดเวลา
สภาพชีวิตอันแสนหฤหรรษ์สำหรับนักเที่ยวยามราตรีเช่นนี้ในด้านหนึ่งเป็นดังความทุกข์ของผู้ใช้ชีวิตปกติในนครซานไห่ ยาเสพติด การพนัน โสเภณี สิ่งเหล่านี้ทำให้ชีวิตของชาวซานไห่ไม่ปลอดภัยขึ้นทุกขณะ โดยเฉพาะในเขตเช่าฝรั่งเศสที่มีโรงฝิ่นขนาดกว้างขวางสุด มีบ่อนที่ตื่นตาที่สุดและยังมีซ่องโสเภณีที่มีขนาดใหญ่ที่สุด สภาพเช่นนี้แสดงให้เห็นว่าพวกตะวันตกมีอำนาจเหนือรัฐบาลจีนอย่างไรบ้าง และทำให้การจัดการนครซานไห่เป็นไปได้ยากยิ่ง
ความหฤหรรษ์ที่ว่าคงดำเนินไปไม่สิ้นสุด หากเหตุการณ์นองเลือดในวันที่ 14 สิงหาคม 1937 จะไม่เกิดขึ้น เหตุการณ์ครั้งนั้นถูกเรียกว่าเสาร์นองเลือด หรือ Bloody Saturday
เรื่องราวเริ่มขึ้นเมื่อลูกเรือชาวญี่ปุ่นคนหนึ่งหายตัวไปโดยเชื่อว่าจะถูกจับตัวไปเรียกค่าไถ่โดยพวกอั้งยี่ชาวจีน
ทหารญี่ปุ่นตั้งกำลังพร้อมปืนครบมือหลังจากนั้น ทว่า ลูกเรือคนที่ว่ากลับปรากฏตัวขึ้นพร้อมกับแจ้งว่าเขาไม่ได้ถูกลักพาตัว กองทัพญี่ปุ่นรู้สึกเสียหน้าและตัดสินใจเดินหน้าต่อ และเหตุประจวบเหมาะก็เกิดขึ้นเมื่อทหารญี่ปุ่นสองนายขับรถหลงไปทางสนามบินของจีน แม้จะถูกห้ามแต่พวกเขาไม่หยุดและทหารจีนยิงทั้งคู่จนเสียชีวิต
เหตุการณ์นี้ทำให้กองทหารเรือที่สามยกพลขึ้นบกที่แม่น้ำฮวงพูและในไม่ช้าเสียงระเบิดก็ดังขึ้นสี่ลูกติดกันในบ่ายวันเสาร์
แรกเริ่มไม่มีใครคิดว่าเรื่องราวจะเลวร้ายลงเรื่อยๆ แต่แล้วเสียงระเบิดก็ดังไปทั่วเมือง ทหารทั้งฝรั่งเศสและชาติอื่นเริ่มต้นรวมพลเพื่อตั้งรับ แต่สายไปเสียแล้วกองทัพญี่ปุ่นยาตราเข้าสู่นครซานไห่อย่างไม่ลังเล