การเมืองไทย 2565 ในสายตา ‘ทิม’ พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ จะปรับทัพพา ‘ก้าวไกล’ ไปทางไหน?/รายงานพิเศษ

รายงานพิเศษ

พิชญ์เดช แสงแก่นเพ็ชร์

 

การเมืองไทย 2565

ในสายตา ‘ทิม’ พิธา ลิ้มเจริญรัตน์

จะปรับทัพพา ‘ก้าวไกล’ ไปทางไหน?

 

พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล มองว่าปี 2565 เป็นจะปีหัวเลี้ยวหัวต่อสำคัญ เป็นปีที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกฯ ครบ 8 ปี และจะเป็นปีแรกที่จะต้องฟื้นฟูประเทศไทยอย่างเป็นจริงเป็นจัง เป็นปีที่จะมีการเลือกตั้งซ่อมถึง 3 ครั้ง ทั้งที่ชุมพร สงขลา และกรุงเทพฯ แล้วก็จะมีการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. ต่อด้วยนายกพัทยา จากนั้นคงจะตามมาด้วยการเลือกตั้งใหญ่

สิ่งทั้งหมดนี้เป็นโอกาสของประชาชนที่จะแสดงถึงพลังและแสดงเจตจำนง ว่าต้องการการเปลี่ยนแปลง หรือต้องการที่จะอยู่อย่างเดิม ซึ่งเป็นการแสดงออกอย่างสันติ และเป็นการแสดงออกที่ยั่งยืน ว่าอยากจะอยู่กันแบบไหนในประเทศไทย

เพราะฉะนั้น มันอาจจะไปในทิศทางว่าจะมีปีที่ 9 ปีที่ 10 ของ พล.อ.ประยุทธ์ ของรัฐบาลทหารแบบนี้

หรือจะเป็นปีใหม่แห่งการฟื้นฟู ที่ประชาชนจะแสดงออกให้เห็นหลายๆ อย่าง

ผลการเลือกตั้งที่จะออกมาจะไม่ใช่แค่เป็นตัวเลขที่จะบอกว่าใครชนะไม่ชนะ แต่มันจะสะท้อนถึงว่าประชาชนไทยอยากจะเดินไปข้างหน้า หรืออยากจะอยู่แบบเดิม อยากจะเห็นอะไรที่เปลี่ยนแปลง

หรือยังคงจะต้องการแรงเฉื่อย ในการเมืองแบบเดิม

 

พิธามองว่า ความเปลี่ยนแปลงจะเกิดขึ้นได้ ประชาชนจะต้องแสดงออกผ่านการเลือกตั้ง ในหลายๆ ครั้งยกตัวอย่างเช่นในประเทศชิลี ที่มีการเลือกตั้งประธานาธิบดี ผลออกมาก็เป็นการแสดงให้เห็นแล้วว่า คนชิลีไม่ต้องการแรงเฉื่อยอีกต่อไป เขาต้องการสังคมที่ก้าวหน้า เขาต้องการสิ่งใหม่ๆ เขาต้องการความเปลี่ยนแปลง

ปี 2565 สำหรับประเทศไทยจึงจะเป็นปีที่สำคัญ เป็นทางสองแพร่งและเป็นทางหัวเลี้ยวหัวต่อของสังคม

สำหรับ “ของขวัญ 2565” ที่คนไทยควรจะได้รับ คือการเปลี่ยนแปลงของขั้วอำนาจ การยอมรับให้มีคนรุ่นใหม่ๆ ที่มีวิสัยทัศน์ใหม่ๆ มีนโยบายใหม่ๆ มีวิธีการทำงานแบบใหม่ ในการเข้ามาบริหารประเทศ

ผมเองคงจะตอบเหมือนหัวหน้าพรรคเสรีรวมไทยว่า “ไม่มีอะไรดีกว่าการลาออกของนายกรัฐมนตรี และการปฏิรูปอำนาจ ที่ไม่ให้ ส.ว. 250 คนมานั่งอยู่ในสภา ก่อนที่จะมีพระราชกฤษฎีกาการเลือกตั้งเสียอีก”

ผมคิดว่า 2-3 ประเด็นนี้ เป็นนิมิตหมายที่ดีว่า ควรจะทำให้ฉันทามติของประเทศไทยที่มันเอียงไป อยู่ในฝั่งของอนุรักษนิยมมากจนเกินไป หันกลับมาอยู่ในระดับที่เท่ากัน จากนั้นก็เปลี่ยนมาแข่งขันกันทางนโยบาย ในทางชุดความคิด ให้เกิดเสรีภาพ อิสรภาพ และมีความเท่าเทียมกัน ในการแข่งขันกัน เพื่อเข้าไปสู่การบริหารประเทศ

และสิ่งที่สำคัญที่สุดคือการยึดความเดือดร้อนของพี่น้องประชาชนเป็นที่ตั้ง ต้องคำนึงว่าไม่เอาอีกแล้วรัฐบาลหรือหน่วยงานรัฐ ที่จะอยู่เพื่อผลประโยชน์ตัวเอง โดยสามารถที่จะสามารถรักษาอำนาจตัวเองผ่านกลไกของรัฐ ผ่านการซื้องูเห่า ผ่านการซื้อกล้วย

2 ปีที่ผ่านมาเขาสามารถรักษาอำนาจของเขาได้ จากเสียงปริ่มน้ำกลายเป็นเสียงพ้นน้ำได้ ล้วนมาจากยุทธวิธีที่ไม่ได้ยึดโยงกับประชาชน ต่อให้เขารักษาอำนาจได้แต่เขาก็บริหารไม่ได้

ดังจะเห็นได้จากเขาไม่สามารถตอบสนองต่อการแก้ปัญหาน้ำท่วมได้ เขาไม่สามารถตอบสนองต่อการแก้ปัญหาโควิดได้ เขาไม่สามารถตอบสนองกรณีไฟไหม้โรงงานได้

เราก็เห็นแล้วว่าพวกเขาทำงานช้ามาก แต่สิ่งที่เขาตอบสนองได้คือการปราบปรามคนเห็นต่าง เรื่องแบบนี้เร็วมาก มาถึงอย่างไว รัฐบาลแบบนี้มันเป็นรัฐบาลที่ย้อนแย้ง

 

หัวหน้าพรรคก้าวไกลระบุอีกว่า ต้องเข้าใจด้วยว่า พล.อ.ประยุทธ์เป็นแค่เบี้ย 1 ตัว ที่ยังมีอีกอะไรอีกมากมายอยู่ข้างหลัง เขาเป็นเพียงอิฐก้อนหนึ่งจากประตูบานนี้ เพราะฉะนั้น ถ้าผมสัญญากับคนที่ฟังผมอยู่ ว่าทุกสิ่งทุกอย่างมันกลับเข้ามาสู่สามัญสำนึก กลับมาอยู่ในรากฐานที่มันเกิดความเท่าเทียมกัน ไม่ว่าจะเป็นการเลือกตั้ง ส.ส.ร. เพื่อให้เกิดรัฐธรรมนูญใหม่ ไม่ว่าจะเป็นการเลือกตั้ง ส.ส. ให้เกิดความหลากหลาย ในการแข่งขัน มันจะไม่มีใครที่จะผูกขาดชุดความคิดทางการเมืองไว้ได้หรอก แต่ว่าระบอบประชาธิปไตยเป็นระบอบที่สามารถที่จะเกลี่ยความคิดต่างๆ อย่างนี้

และถ้าเรายอมรับในกติกาที่มันยุติธรรมจริงๆ ที่มันเท่าเทียมกันอย่างแท้จริง มันก็จะกลายเป็นสถาบันการเมืองที่ไม่ว่าผู้เล่นจะเข้ามาอย่างไร ก็สามารถที่จะไปต่อได้

แต่ถ้าคุณต้องการที่จะให้กติกาเป็นไปในทิศทางของคุณ เช่น ใช้ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีมาบีบบังคับ ไม่ให้การออกนโยบายใหม่ๆ ตอบโจทย์ได้

หรือทำให้มีพรรคการเมืองที่ใหญ่ที่สุด 250 คน ก่อนจะมีพระราชกฤษฎีกาการเลือกตั้งออกมาเสียอีก อย่างที่ผมพูดไปแล้ว มันจะทำให้เป็นการต่อสู้ระหว่าง 1% กับ 99% ตลอด

แล้วมันก็จะกลับสู่วงจรอุบาทว์แบบเดิมๆ ไปเรื่อยๆ ที่ก็รู้อยู่แล้วว่าไปต่อไม่ได้

แต่ถ้าเกิดคุณยอมให้เกิดสิ่งที่เป็นสากลที่โลกเขากระทำกัน ทำให้มันยุติธรรมที่สุดอย่างแท้จริงผมคิดว่า ผมคิดว่ามันน่าจะเป็นโอกาสในการสร้างประเทศไทยที่เท่าเทียม

และ 1% ที่เคยเป็นชนชั้นนำ ก็จะได้ประโยชน์จากการขยายฐานเศรษฐกิจ ในการขยายพลังของคนหมู่มาก ทำให้ประชาชนลืมตาอ้าปากได้ ทำให้ตลาดภายในประเทศใหญ่ขึ้น

สามารถที่จะทำให้กรุงเทพฯ และหัวเมืองแออัดน้อยลงเพราะทุกที่มีงานทำ

ข้าราชการรุ่นใหม่ที่เข้ามาก็รู้สึกว่ามีกำลังใจเพราะเขารู้สึกว่า สามารถที่จะทำงานแก้ปัญหาในท้องถิ่นได้อย่างแท้จริงโดยที่ไม่ต้องรอให้นายอธิบดี/ปลัดจากส่วนกลางมาเยี่ยม ชวนกันทำสัมมนานิดหน่อยแล้วก็แยกย้ายกันไป แต่เขาจะเข้าไปแก้ไขท้องถิ่นกันจริงๆ ว่าทำอย่างไรจะให้มีชลประทานเกิดขึ้นในภูมิภาคของเขา จะทำยังไงให้ที่ดินทำกินในชุมชนสามารถทำประโยชน์ได้ ทำให้ทรัพยากรทั้งประเทศสามารถที่จะลุกขึ้นมาใหม่ได้

พูดง่ายๆ ก็คือ วิธีที่จะทำได้ ไม่ใช่การจะปล่อยให้ 10 บริษัทใหญ่ของประเทศมาพัฒนาเศรษฐกิจ แต่พวกคุณจะต้องใช้อีก 90 เปอร์เซ็นต์ของทุกพลัง ทุกเพศทุกวัย ในการที่จะก้าวไปข้างหน้า เราจะได้ไปแข่งขันกับชาวบ้านชาวช่องเขาได้

 

ส่วน 3 คำที่พิธาอยากให้ พล.อ.ประยุทธ์พูดและทำคือ “พักเถอะลุง” ผมอยากจะแถมให้ด้วยอีก 3 คำสำหรับประชาชน คือ “อยู่ที่เรา” นั่นก็คือโอกาสในการที่จะทำให้ประเทศไทยกลับมามีความหวังอีกครั้งได้ อยู่ที่ตัวของพวกเราที่จะออกมาเรียกร้อง ออกมาเลือกตั้ง ออกมาแสดงให้เห็นว่าเรายังมีความหวังที่จะทำให้ประเทศไทยเรากลับมารุ่งเรืองได้มากกว่าเดิม

ยังไม่สายเกินไป มันอาจจะเป็นงานที่ยาก ประเทศอื่นเช่นเกาหลีใต้เขามีเวลาปรับตัวกันเยอะ เขาก็สามารถกลับมาผงาดยิ่งใหญ่ได้ เขามี Soft Power ประเทศไทยกลับทิ้งหลายอย่างออกไปหมด ยังหวังพึ่งอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ ยานยนต์ และการท่องเที่ยวอยู่ ในขณะที่เกาหลีใต้ไปไกลมากแล้ว

การที่จะบอกว่าปี 2565 จะเป็นปีหัวเลี้ยวหัวต่อที่ประเทศไทยจะขยับ พรรคการเมืองจะขยับ สภาจะขยับ ประชาชนจะขยับ ก็คิดว่าไม่สายเกินไป

ดังนั้น ทุกสิ่งทุกอย่างอยู่ที่มือคุณ อยู่ที่เรา ส่วนคนที่มีอำนาจ ที่ยังคิดว่าจะถ่วงโลกเอาไว้ แถมยังคิดถึงวันที่ดีในอดีตวันคืนเก่าๆ ก็ถึงเวลาแล้วที่เขาจะต้องพัก และให้คนรุ่นใหม่ที่มีประสบการณ์ใหม่ๆ เข้ามา

คุณต้องยอมรับว่าประสบการณ์ไม่ใช่ทุกอย่างอีกต่อไปแล้ว โดยเฉพาะอย่างยิ่งในโลกสมัยใหม่ มันคือความคิดสร้างสรรค์ การทำงานอย่างหนักคือการรับฟังความคิดเห็นต่างๆ อย่างรอบด้าน มันคือการสร้างประเทศไทย ที่มีส่วนร่วมมากขึ้น

ประเทศไทยที่มีสิทธิในการทำมาหากิน สิทธิในชุมชน สิทธิในทรัพยากรธรรมชาติสิ่งแวดล้อมของแต่ละพื้นที่

ถ้าเกิดว่าคุณเข้าใจว่ามันเป็นแบบนี้ สิ่งที่จะเป็นคุณูปการให้กับปประเทศไทยมากที่สุดคือ “พวกคุณกลับบ้านไปเลี้ยงหลาน”

 

สําหรับการเดินหน้าของพรรคก้าวไกล พิธาบอกว่า ผมมองว่าจุดแข็งของเราตั้งแต่ก่อตั้งมาคือความหลากหลาย เราเป็นพรรคการเมืองที่มี ส.ส.จากกลุ่มชาติพันธุ์ มี ส.ส.ที่เป็นพี่น้องแรงงานจริงๆ เราเป็นพรรคเดียวที่มี ส.ส.ที่มีที่มาจากกลุ่มหลากหลายทางเพศ มี ส.ส.ที่มาจากกลุ่มคนพิการ แถมยังมีทั้งนักธุรกิจ นักวิชาการ หลากหลายสาขาอาชีพ

เหมือนกับเอาสังคมหนึ่งในประเทศไทยที่เป็นความจริงมารวมไว้ เพราะประเทศนี้ไม่ได้มีแค่ทหาร และผู้ชายเท่านั้น เรามีความหลากหลายทางอาชีพ ทางอายุ และทางเพศ

ทั้งหมดทั้งมวล ผมคิดว่ามันแสดงออกผ่านการทำงานในสภาและนอกสภาว่า เราก็เหมือนตัวแทนของประชาชนคนหนึ่ง เราเข้าใจความทุกข์ยากลำบาก

ขณะเดียวกันคนที่เป็นผู้นำได้จะต้องรู้ทั้งจุดอ่อนและจุดแข็ง ในขณะที่เรามีจุดแข็งด้านนี้ แน่นอนความหลากหลายก็เป็นจุดอ่อนได้ ตรงที่ว่า เราต้องการการทำงานแบบสร้างสรรค์และมีส่วนร่วม

ดังนั้น ก็จะมีการถกการอภิปรายกันภายในพรรค โดยที่ไม่สามารถจะให้ผู้นำใช้อำนาจนิยมจิ้มได้ ว่าต้องเป็นอย่างนั้นอย่างนี้ ผมไม่สามารถและไม่ต้องการที่จะไปบอกว่าส่วนกลางจะเอาอย่างนี้ เราต้องการให้มีการปรึกษาหารือ ให้มีการอภิปราย ซึ่งก็อาจจะทำให้เราไม่สามารถที่จะเคลื่อนตัวได้รวดเร็วไวอย่างที่ต้องการ

ผมคิดว่าเมื่อเลือกเดินแล้ว หากเดินคนเดียวก็เดินได้ไว แต่ถ้าจะเดินได้ยาวต้องไปด้วยกัน

ผมก็เลือกเอายาวมากกว่าไว

ชมคลิป