มองอนาคตโควิด-19 การแพร่ระบาดจะสิ้นสุดตรงไหน?/บทความต่างประเทศ

Visitors wearing protective face masks wait to offer prayers on the first business day of the New Year at the Kanda Myojin shrine, frequented by worshippers seeking good fortune and prosperous business, amid the coronavirus disease (COVID-19) outbreak, in Tokyo, Japan, January 4, 2022. REUTERS/Kim Kyung-Hoon

บทความต่างประเทศ

 

มองอนาคตโควิด-19

การแพร่ระบาดจะสิ้นสุดตรงไหน?

 

นับจนถึงเวลานี้ก็เป็นเวลา 2 ปี 1 เดือนแล้ว ที่เชื้อไวรัส Sars-Cov2 ไวรัสก่อโรคโควิด-19 แพร่ระบาดไปทั่วโลก สร้างหายนะทางสังคมและเศรษฐกิจอย่างมากมายมหาศาล

ซ้ำร้ายยังเกิดไวรัสสายพันธุ์ใหม่ตามมาอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะโควิด-19 สายพันธุ์ ‘โอไมครอน’ ที่แพร่ระบาดอย่างรวดเร็ว ในเวลาเพียง 1 เดือนมีผู้ติดเชื้อจำนวนมากกระจายไปใน 130 ประเทศทั่วโลก

“โอไมครอน” ยังถูกคาดการณ์เอาไว้ด้วยว่าจะแพร่ระบาดด้วยความเร็วในระดับที่ทำให้มีผู้ติดเชื้อมากถึง 3,000 ล้านคน ภายในเวลา 4-6 เดือนข้างหน้า เท่าๆ กับจำนวนผู้ติดเชื้อรวมจากโควิด-19 สายพันธุ์เดิมๆ ตลอด 2 ปีที่ผ่านมาเลยทีเดียว

อย่างไรก็ตาม มนุษย์ผ่านประสบการณ์กับโควิด-19 มาแล้วกว่า 2 ปี ประชากรโลกเริ่มมีภูมิคุ้มกันจากวัคซีน ส่งผลให้ยอดป่วยหนักอยู่ในระดับต่ำ ยิ่งกว่านั้นมีการค้นพบว่าเชื้อสายพันธุ์โอไมครอนนั้นไม่ได้ทำให้ผู้ติดเชื้อมีอาการรุนแรงเหมือนกับสายพันธุ์ก่อนหน้านี้ด้วย

นั่นนำไปสู่คำถามสำคัญคือ “การแพร่ระบาดจะสิ้นสุดลงตรงไหน?”

 

คําตอบที่ชัดเจนจากผู้เชี่ยวชาญทั่วโลกก็คือการแพร่ระบาดจะสิ้นสุดลงแน่นอน แต่นั่นจะไม่เกิดขึ้นแบบ “พลิกฝ่ามือ” แต่โลกจะต้องเรียนรู้ที่จะอยู่กับโควิด-19 ที่จะอยู่คู่กับมนุษย์ไปตลอดกาล

และสิ่งที่ต้องทำก็คือการกำหนดเป้าหมายที่จะถือว่าเป็น “จุดสิ้นสุด” ของการแพร่ระบาดอย่างเป็นทางการให้ได้นั่นเอง

แน่นอนว่า “องค์การอนามัยโลก” จะต้องเป็นผู้พิจารณาว่า “เมื่อใด?” ที่จะเรียกได้ว่าเป็นการสิ้นสุดการแพร่ระบาดอย่างเป็นทางการ

เช่น การพิจารณาจำนวนผู้ติดเชื้อในแต่ละประเทศ จำนวนผู้เข้ารับการรักษาตัวในโรงพยาบาล หรือยอดผู้เสียชีวิตที่ลดต่ำลง ซึ่งถึงเวลานี้เกณฑ์ดังกล่าวก็ยังไม่ชัดเจน

แต่ที่พอจะคาดการณ์ได้ก็คือ จุดที่โควิด-19 จะกลายเป็น “โรคประจำถิ่น” เป็นการแพร่ระบาดที่อยู่ในสถานะคงที่และเป็นที่ยอมรับได้ในวันใดวันหนึ่ง

หากจะเปรียบเทียบให้เห็นภาพ เวลานี้ “โควิด-19” ที่ยังมีสถานะเป็น “โรคระบาด” ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตเฉลี่ยปีละ 2.7 ล้านคน เทียบกับ “ไข้หวัด” ที่เป็นโรคประจำถิ่นที่คร่าชีวิตคนปีละ 290,000-650,000 รายต่อปี

ซึ่งก็ยังคาดการณ์ได้ลำบากว่าโควิด-19 จะไปอยู่ในระดับเดียวกับไข้หวัดได้เมื่อใด

 

อย่างไรก็ตาม ด้วยแนวโน้มความรุนแรงของเชื้อสายพันธุ์โอไมครอนที่ต่ำกว่าเชื้อสายพันธุ์ก่อนหน้า หลายประเทศเริ่มปรับแผนการรับมือโควิด-19 ให้กระทบกับสังคมและเศรษฐกิจน้อยลง

เช่นใน “สหรัฐอเมริกา” รัฐบาลประกาศชัดเจนถึงมาตรการแบบ “นิวนอร์มอล” ด้วยการฉีดวัคซีนประชาชน วางมาตรการสวมหน้ากากอนามัยในที่สาธารณะ รวมไปถึงลดระยะเวลากักตัวของผู้ติดเชื้อลงเหลือ 5 วัน

ด้าน “อินเดีย” แม้จะสูญเสียชีวิตผู้คนไปมหาศาลจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 สายพันธุ์ “เดลต้า” แต่หลังจากนั้นยอดผู้ติดเชื้อลดลงต่ำกว่า 10,000 คนต่อวันต่อเนื่องนาน 6 เดือนก่อนที่ยอดจะมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอีกครั้งจากสายพันธุ์ “โอไมครอน” นั่นเป็นสถานการณ์ที่ผู้เชี่ยวชาญในอินเดียมองว่าเป็นแนวโน้มทิศทางเดียวกันกับที่โรคประจำถิ่นอย่าง “ไข้หวัด” และ “โรคหัด” ที่กลับมาแพร่ระบาดเป็นช่วงๆ ไป

ขณะที่ใน “แอฟริกาใต้” จุดเริ่มต้นการแพร่ระบาดของ “โอไมครอน” ตั้งแต่เมื่อเดือนพฤศจิกายน ก็ประกาศผ่อนคลายมาตรการควบคุมโรคลงแล้วหลังยอดผู้ติดเชื้อมีแนวโน้มลดลงเรื่อยๆ

คำถามต่อมาก็คือ สถานการณ์จากนี้จะเป็นอย่างไรต่อไป?

 

สิ่งที่ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคระบาดระดับนานาชาติเห็นตรงกันก็คือ หลังผ่านช่วงสูงสุดของการแพร่ระบาดไปแล้ว ไวรัสสายพันธุ์ “โอไมครอน” ซึ่งจะครองโลกแทนที่สายพันธุ์ “เดลต้า” แน่นอนนั้น จะทำให้ผู้ติดเชื้อมีอาการไม่รุนแรงเหมือนสายพันธุ์เดิมๆ

หนึ่งในข้อเสนอของผู้เชี่ยวชาญก็คือ เชื้อไวรัสที่แพร่ระบาดในช่วงแรกจะทำให้ผู้ติดเชื้อมีอาการรุนแรงแต่จะค่อยๆ รุนแรงน้อยลงเมื่อเวลาผ่านไป

ตัวอย่างมีให้เห็นมาแล้วจากโคโรนาไวรัสที่กระโดดจากสัตว์สู่มนุษย์ 4 ชนิด หนึ่งในนั้นคือ โคโรนาไวรัส OC43 หรือ “หวัดรัสเซีย” ที่ระบาดจากปศุสัตว์สู่คนในปี 1889 ไวรัสดังกล่าวมีอาการป่วยเหมือนโควิด-19 กินเวลาแพร่ระบาดราว 4-5 ปีเท่านั้น

ผู้เชี่ยวชาญคาดการณ์ว่าไวรัสโควิด-19 จะกลายพันธุ์ต่อไป และทำให้มนุษย์ต้องได้รับวัคซีนบูสเตอร์ชนิดที่พัฒนาตามสายพันธุ์ไวรัสบ่อยขึ้น ขณะที่ตัวไวรัสเองแม้จะแพร่ระบาดได้ง่ายแต่มีความรุนแรงลดลงถึงครึ่งหนึ่งเมื่อเทียบกับสายพันธุ์เดิมๆ และจะทำให้ระบบสาธารณสุขลดความหนาแน่นลงไปถึง 95 เปอร์เซ็นต์ในปีนี้

ในส่วนของระบบภูมิคุ้มกันของมนุษย์จะพัฒนาขึ้นเพื่อต่อสู้กับการติดเชื้อไวรัส โดยเฉพาะสายพันธุ์ใหม่ๆ โดยผลวิจัยล่าสุดของมหาวิทยาลัยวอชิงตัน สหรัฐอเมริกา พบว่า วัคซีน “ไฟเซอร์” ช่วยกระตุ้นให้ “เซลล์ทีเฮลเปอร์” ซึ่งทำหน้าที่พัฒนาความสามารถของระบบภูมิคุ้มกัน ให้ผลิตภูมิคุ้มกันที่แข็งแกร่งและหลากหลายมากขึ้นจนถึงขั้นป้องกันไวรัสสายพันธุ์ใหม่ๆ ได้

 

อย่างไรก็ตาม มีการคาดการณ์สถานการณ์ที่เลวร้ายเอาไว้ด้วยเช่นกัน โดยทิม คอลบอร์น ศาสตราจารย์ด้านระบาดวิทยา มหาวิทยาลัยคอลเลจ ลอนดอน ระบุถึงความเป็นไปได้ในกรณีที่ไวรัสโควิด-19 อาจกระโดดจากมนุษย์ไปสู่สัตว์ และกลับมาระบาดในมนุษย์อีกครั้ง ซึ่งจะทำให้เกิดการกลายพันธุ์ขนานใหญ่

รวมไปถึงมีโอกาสที่จะเกิด “เจเนติก รีคอมบิเนชั่น” หรือการผสมยีนระหว่างไวรัสคนละสายพันธุ์ เช่น “โควิด-19” ที่แพร่ระบาดได้อย่างรวดเร็ว กับไวรัส “เมอร์ส” ที่อัตราผู้ติดเชื้อเสียชีวิตสูงถึง 40% ก่อเกิดเป็นไวรัสชนิดใหม่ที่อาจก่อให้เกิดหายนะตามมาได้

อย่างไรก็ตาม คอลบอร์นระบุว่า โอกาสเกิดขึ้นมีอยู่น้อยมาก

และการแพร่ระบาดของโรคอุบัติใหม่ ที่เกิดจาก “เชื้อไวรัสชนิดใหม่” ที่มนุษย์ไม่เคยรู้จักมาก่อนอาจเป็นสิ่งที่ “น่าสะพรึงกลัว” มากกว่านั่นเอง