วิกฤตเมียนมา ปัญหาท้าทายอาเซียน/บทความต่างประเทศ

บทความต่างประเทศ

 

วิกฤตเมียนมา

ปัญหาท้าทายอาเซียน

 

เข้าสู่ศักราชใหม่ปี 2022 หากมองสถานการณ์ในภูมิภาคอาเซียนเรา วิกฤตความขัดแย้งในเมียนมายังคงเป็นปัญหาท้าทายอย่างยิ่งสำหรับไทย ในฐานะเพื่อนบ้านที่มีพรมแดนติดกัน และต่ออาเซียน ที่เป็นเวทีความร่วมมือสำคัญของประเทศในภูมิภาคนี้ ที่ไม่สามารถนิ่งดูดายต่อความเป็นไปอันเลวร้ายที่เกิดขึ้นในเมียนมาได้

เพราะผลพวงจากวิกฤตความขัดแย้งที่เกิดขึ้น ย่อมจะไม่จำกัดวงอยู่เฉพาะในเมียนมา หากแต่ส่งผลสะเทือนถึงเพื่อนบ้านที่มีเขตแดนติดกันอย่างไทยเรา ดังที่ได้เห็นการทะลักไหลเข้ามาของผู้อพยพเมียนมาจำนวนมาก ซึ่งหนีภัยการสู้รบของทหารทัตมาดอว์กับกองกำลังฝ่ายต่อต้านรัฐบาลทหารเมียนมา เข้ามาหลบภัยพักพิงในฝั่งไทย ซึ่งเราก็ต้องอ้าแขนรับให้ความช่วยเหลือตามหลักมนุษยธรรม

ขณะเดียวกันก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าเหตุความไม่สงบรุนแรงที่เสี่ยงนำเมียนมาดำดิ่งสู่ “สงครามกลางเมือง”นั้น กำลังสั่นคลอนสันติสุข เสถียรภาพความมั่นคง และความร่วมมือกันอย่างเป็นปึกแผ่นของทั้งภูมิภาคด้วย

ดังนั้น อาเซียนก็คงจะอยู่เฉยไม่ได้

 

ยิ่งไปกว่านั้น อาเซียนยังถูกคาดหวังจากประชาคมโลกว่าน่าจะเป็น “กลไก” จากภายนอกที่ดีที่สุด ที่จะสามารถช่วยเมียนมา หาทางออกจากวิกฤตความขัดแย้งและนำประเทศกลับคืนสู่วิถีประชาธิปไตยได้ ในฐานะเป็นมิตรประเทศและมีความร่วมมือใกล้ชิดภายใต้กรอบอาเซียน ที่ผ่านมาเราจึงเห็นแรงกดดันจากประชาคมโลก โดยเฉพาะจากสหรัฐอเมริกา อังกฤษและสหภาพยุโรป ถาโถมเข้าใส่อาเซียนให้เร่งยื่นมือหาทางยุติความขัดแย้งในเมียนมาโดยเร็ว

ทว่านักวิเคราะห์มองว่า หลัก “ฉันทามติและนโยบายการไม่แทรกแซงกิจการภายใน” ที่กลุ่มอาเซียนยึดมั่นมาตลอด เป็นอุปสรรค เป็นข้อจำกัดในการจะแก้ปัญหาเมียนมาของอาเซียน

โดยยังชี้ว่าหากอาเซียนไม่สามารถทลายอุปสรรคเหล่านี้ลงได้ ผลพวงจากความล้มเหลวที่เกิดขึ้นก็ย่อมจะส่งผลย้อนกลับมาที่กลุ่มอาเซียนเอง

นักวิเคราะห์ส่วนหนึ่งยังให้ความเห็นว่า เป็นไปได้ยากที่อาเซียนจะละทิ้งนโยบายไม่แทรกแซงกิจการภายใน เนื่องจากมีความเห็นแบ่งแยกแตกต่างกันอยู่ โดยยก อินโดนีเซีย สิงคโปร์ และมาเลเซีย เป็น 3 ชาติในอาเซียนที่แสดงท่าทีประณามอย่างแข็งกร้าวต่อผู้ปกครองทหารเมียนมาที่จุดวิกฤตนองเลือดขึ้นในประเทศ

ขณะที่มองว่าผู้นำอาเซียนบางชาติมีท่าทีอ่อนเบาไปเสียหน่อยกับการตอบโต้รัฐบาลทหารเมียนมา ด้วยอาจเป็นรัฐกึ่งเผด็จการอำนาจที่ไม่ต่างกัน จุดนี้เป็นตัวแปรหนึ่งที่ทำให้เกิดความลังเลในหมู่อาเซียนในการจะหาจุดยืนอย่างหนักแน่นแข็งกร้าวต่อเมียนมาร่วมกัน

 

กระนั้นเรายังคงเห็นอาเซียนดำเนินความพยายามทางการทูตทั้งอย่างเปิดเผยและการเคลื่อนไหวในเชิงลึกที่มุ่งคลี่คลายความขัดแย้งในเมียนมาต่อไป

การประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียนที่กรุงจาการ์ตา ประเทศอินโดนีเซีย เมื่อเดือนเมษายนปีที่ผ่านมา ซึ่งมี พล.อ.อาวุโสมิน อ่อง ลาย ผู้ปกครองทหารเมียนมาเข้าร่วมด้วย เป็นหนึ่งในความพยายามทางการทูตนั้น ที่มุ่งจะแก้ไขปัญหาตามครรลองที่มีอยู่ภายใต้กรอบความร่วมมืออาเซียน

เวทีหารือนั้นนำไปสู่การบรรลุฉันทามติ 5 ข้อของอาเซียน ที่รวมถึงมุ่งยุติความรุนแรงในเมียนมา ทำให้เกิดความปรองดองผ่านการเจรจาอย่างสร้างสรรค์ และการให้ผู้แทนพิเศษอาเซียนเยือนเมียนมาเพื่อจะได้พบปะพูดคุยกับคู่ขัดแย้งทุกฝ่าย

หรือการดำเนินการทูตเงียบอย่างไทย ที่กลายเป็นข่าวโลกรู้เมื่อมีภาพของนายดอน ปรมัตถ์วินัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ นั่งหารือกับนายวันนะ หม่อง ลวิน รัฐมนตรีต่างประเทศเมียนมา โดยมีนางเร็ตโน มาร์ซูดี รัฐมนตรีต่างประเทศอินโดนีเซีย ร่วมวงหารือด้วยที่สนามบินดอนเมืองหลังเกิดรัฐประหาร ถูกเผยแพร่ออกมา

ก็เป็นความเคลื่อนไหวทางลึกทางหนึ่ง ที่เชื่อว่าก็อาจมีหลายฝ่ายที่อาจใช้การทูตหลังฉากเช่นนี้ควบคู่ไปด้วยเช่นกัน

 

แต่ปรากฏการณ์ที่ไม่คาดคิดและไม่เคยมีมาก่อนจากอาเซียนคือ การตัดสินใจเด็ดขาดไม่เชิญ พล.อ.อาวุโสมิน อ่อง ลาย เข้าร่วมในการประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียนที่มีขึ้นระหว่างวันที่ 26-28 ตุลาคมที่ผ่านมา เพื่อตอบโต้ที่เมียนมาไม่มีความคืบหน้าในการปฏิบัติตามฉันทามติ 5 ข้อที่ตกลงกันไว้ โดยเฉพาะการไม่ยอมเปิดทางให้นายเอรีวัน ยูซอฟ รัฐมนตรีต่างประเทศบรูไน ในฐานะผู้แทนพิเศษของประธานอาเซียน ได้พบปะพูดคุยกับนางซูจี คู่ขัดแย้งสำคัญในวิกฤตเมียนมา

นับเป็นครั้งแรกที่อาเซียนตอบโต้อย่างแข็งกร้าว ที่เป็นการหักหน้าผู้ปกครองทหารเมียนมาเช่นนั้น และอีกครั้งในการประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียน-จีน ในโอกาสครบรอบ 30 ปีความสัมพันธ์อาเซียน-จีน เมื่อวันที่ 22 พฤศจิกายน ซึ่งเป็นการประชุมทางออนไลน์ ก็ยังคงไร้เงา พล.อ.อาวุโสมิน อ่อง ลาย เข้าร่วม

รายงานเชิงลึกระบุว่า ก่อนหน้าการประชุมจะเริ่มขึ้น จีนมหาอำนาจในภูมิภาคและพันธมิตรใกล้ชิดของเมียนมา ได้ส่งผู้แทนระดับสูงเดินทางไปล็อบบี้ชาติอาเซียนเพื่อขอให้ พล.อ.อาวุโสมิน อ่อง ลาย ได้เข้าร่วมในเวทีอาเซียน-จีนซัมมิตด้วย แต่ถูกอินโดนีเซีย มาเลเซีย สิงคโปร์ และบรูไน ปฏิเสธอย่างไม่อ่อนข้อให้ ภายใต้ความมุ่งมั่นที่จะเพิ่มความกดดันให้กับผู้ปกครองทหารเมียนมามากขึ้น ซึ่งเป็นอีกท่าทีแข็งกร้าวของสมาชิกส่วนหนึ่งของอาเซียน

และเป็นที่น่าจับตาในการจะก้าวขึ้นมารับตำแหน่งประธานอาเซียนของกัมพูชาในต้นปีหน้า ว่าจะเกิดบรรยากาศอึมครึมในหมู่อาเซียนมากขึ้นไปอีกหรือไม่

โดยที่สมเด็จฯ ฮุน เซน นายกรัฐมนตรีกัมพูชา ออกมาประกาศก่อนส่งท้ายปีว่า กัมพูชาจะทำงานร่วมกับผู้นำทหารเมียนมา พร้อมย้ำชัดว่า พล.อ.อาวุโสมิน อ่อง ลาย มีสิทธิที่จะเข้าร่วมในการประชุมสุดยอดอาเซียน หากนั่นเป็นการประชุมระดับผู้นำ!

 

ก็ไม่แน่ใจว่า สถานการณ์ความรุนแรงในเมียนมาที่ยังคุกรุ่น ทั้งยังมีภาพการเข่นฆ่าสังหารฝ่ายตรงข้ามรัฐบาลทหาร ถูกเข่นฆ่าอย่างโหดเหี้ยมปรากฏออกมา จะทำให้ได้เห็นผู้นำชาติอาเซียนทั้ง 10 ประเทศ ที่รวมถึง พล.อ.อาวุโสมิน อ่อง ลาย กลับมาร่วมวงเจรจากันพร้อมหน้าอย่างที่สมเด็จฯ ฮุน เซน ลั่นวาจาไว้ได้ในเร็ววันนี้หรือไม่

ขณะที่สมาชิกอาเซียนส่วนหนึ่งยังมีท่าทีแข็งกร้าวกับผู้นำทหารเมียนมา ก็จะต้องจับตาดูกันให้ดี

วิกฤตความขัดแย้งเมียนมา จึงเป็นปัญหาเปราะบางและท้าทายอย่างมากสำหรับอาเซียน ที่จักต้องเร่งหาทางคลี่คลาย เพราะต่างมีผลประโยชน์แห่งชาติและผลประโยชน์ของภูมิภาค

เป็นเดิมพันร่วมกัน