ดูใหม่ ‘เทพศิลป์ อินทรจักร’ ‘รามเกียรติ์’ ฉบับบ้านๆ ‘เทพนิยายกรีก’ แบบไทยๆ / คนมองหนัง

คนมองหนัง

คนมองหนัง

 

ดูใหม่ ‘เทพศิลป์ อินทรจักร’

‘รามเกียรติ์’ ฉบับบ้านๆ

‘เทพนิยายกรีก’ แบบไทยๆ

 

“เทพศิลป์ อินทรจักร” คือละครจักรๆ วงศ์ๆ เรื่องสำคัญที่ถูกสร้างขึ้นอย่างทะเยอทะยานในปี 2542

หลายคน (รวมทั้งผม) มักจดจำได้ว่าละครเรื่องนี้เป็น “รามเกียรติ์ฉบับวัฒนธรรมราษฎร์” ที่นำโครงเรื่องของมหากาพย์ยิ่งใหญ่ มาลดทอนรายละเอียดและย่อสเกลลง

นอกจากนั้น บางคนอาจประทับใจกับบทสนทนาเปิดเรื่องระหว่าง “พระสยมภูวญาณ” ผู้เป็นใหญ่ กับ “ท้าวจตุรพักตร์” พญายักษ์ผู้มีฤทธิ์แห่งนครกลางหาว/กลางเวหา/อุโฆษ (ละครเรียกชื่อเมืองสลับกันไปมาสามแบบ)

ซึ่งฝ่ายยักษ์โวยวายกับฝ่ายเทพว่า “พระองค์ทรงมีอคติต่อพวกยักษ์ตลอดมา เทวดาทำอะไรก็ไม่ผิด แต่พอยักษ์ทำบ้าง กลับถูกตำหนิติเตียน ทำไมข้าพระองค์จะไม่รู้ว่าทรงเข้าข้างพวกเทวดา ในเมื่อลำเอียงจนเห็นได้ชัดอย่างนี้ ก็เลิกเคารพ เลิกนับถือ กันซะที ต่อไปนี้ข้าจะไม่กลัวไม่เกรงใครหน้าไหนทั้งนั้น”

จนส่งผลให้ “พระสยมภูวญาณ” ตัดสินใจสาปให้ “ท้าวจตุรพักตร์” และเผ่าพงศ์วงศ์ยักษ์ต้องตายลงด้วยน้ำมือมนุษย์

 

อย่างไรก็ดี มีอีกหนึ่งองค์ประกอบสำคัญที่หลายคนมักไม่ค่อยกล่าวถึงกัน นั่นคือ “เทพศิลป์ อินทรจักร” นั้นพยายามเลียนแบบขนบการเล่าเรื่องของ “เทพนิยายกรีก”

ผ่านการขับเน้นให้ความสำคัญกับบทบาทของสองมหาเทพผู้ยิ่งใหญ่บนสรวงสวรรค์อย่าง “พระสยมภูวญาณ” และ “พระอุมาเทวี” (ประหนึ่ง “ซุส” กับ “ฮีรา”) ในการแทรกแซงความเป็นไปต่างๆ ในโลกเบื้องล่าง และกำหนดผลล่วงหน้าของมหาศึกสงครามระหว่างยักษ์กับมนุษย์

ทุกเรื่องราวที่จะดำเนินไปในละครจึงถูกกำหนด-ขีดเส้นเอาไว้เรียบร้อยหมดแล้ว ด้วยการวางหมากของสองเทพแห่งเขาไกรลาส

มองในแง่นี้ โครงสร้างเรื่องราวของ “เทพศิลป์ อินทรจักร” จึงมีความเป็นอนุรักษนิยมอย่างยิ่ง

แม้แต่ใน “จักรวาลสามเศียร” เอง โครงสร้างเรื่องราวทำนองนี้ก็จะถูกท้าทายโดยละครรุ่นหลังๆ เช่น “เกราะกายสิทธิ์” (2549) และ “จันทร์ สุริยคาธ” (2556) ที่ทดลองมองต่างมุมว่า เทพเจ้าเบื้องบนไม่สามารถกำหนดทุกสิ่งทุกอย่างในโลกมนุษย์ได้โดยเด็ดขาดดังใจปรารถนา

 

กระนั้นก็ตาม “เทพศิลป์ อินทรจักร” ยังมีประเด็นน่าสนใจอยู่ไม่น้อย

ไม่ว่าจะเป็นการกำหนดอัตลักษณ์ของตัวละครนำที่ชวนขบคิด กล่าวคือ “เทพศิลป์” นั้นเป็นเทวดาชื่อ “พระพิเนตร” ที่จุติลงมาบนโลกมนุษย์เพื่อปราบพญายักษ์

ทว่า บุคคลผู้ใกล้ชิด “เทพศิลป์” ที่สุด กลับมีสถานภาพเป็นสิ่งของ-พืช ซึ่งกลายร่างมาเป็นมนุษย์ โดยน้องชายอย่าง “อินทรจักร” ก็คือ “จักรแก้ว” อาวุธคู่ใจของ “พระพิเนตร” ขณะที่ “เทพมณฑา” คนรักของ “เทพศิลป์” ก็เป็นดอกไม้บนสรวงสวรรค์ที่ถูกเสกให้มีชีวิตโดยมหาเทพ

เท่ากับว่าเทวดาที่ลงมาเกิดเป็นมนุษย์ผู้นี้ได้ถูกแวดล้อมด้วยคนใกล้ตัวที่เป็นมนุษย์ก็ไม่ใช่เป็นเทพก็ไม่เชิง แต่เป็น “อาวุธ” และ “ดอกไม้” ที่ถูกสร้างให้มีชีวิต

ละครจักรๆ วงศ์ๆ ต้นทศวรรษ 2540 เรื่องนี้ จึงมีประเด็นที่สอดคล้องกับแนวคิดใหม่ๆ ของแวดวงสังคมศาสตร์-มนุษยศาสตร์ยุคปัจจุบัน ซึ่งพยายามศึกษาว่าวัตถุสิ่งของและสิ่งมีชีวิตอื่นๆ (ทั้งสัตว์และพืช) นั้นมีความสัมพันธ์กับมนุษย์อย่างไร

 

อีกประเด็นที่ผมชอบมากคือซับพล็อตว่าด้วยความรักระหว่าง “อินทรจักร” กับ “จันทร์รัตน์” ธิดา “ท้าวจตุรพักตร์”

ใน “รามเกียรติ์” หรือ “รามายณะ” ตัวละคร “พระลักษมณ์” นั้นดูไม่ค่อยมีชีวิตจิตใจและไม่ค่อยเป็นตัวของตัวเอง ทว่า เป็นเหมือนกลไก/องค์ประกอบหนึ่งในภารกิจทวงคืน “นางสีดา” และล้างวงศ์” ทศกัณฐ์/ราวณะ”

ถ้านำพล็อตแบบมหากาพย์เช่นนั้นมาทำเป็นละครจักรๆ วงศ์ๆ ตอนเช้า ซึ่งต้องการฉาก “เข้าพระเข้านาง” อยู่บ้างตามสมควร เรื่องราวคงออกมาจืดชืดน่าเบื่อไม่น้อย

แต่เมื่อ “เทพศิลป์” ต้องเป็น “พระราม” และ “เทพมณฑา” ต้องเป็น “นางสีดา” “พระ-นาง” ตัวจริงของละคร “เทพศิลป์ อินทรจักร” ที่มีบทเกี้ยวพาราสี-พ่อแง่แม่งอนใส่กันแทบทุกตอน จึงได้แก่ “อินทรจักร” และ “จันทร์รัตน์”

“อินทรจักร” เลยเป็นคล้าย “พระลักษมณ์” ที่มีชีวิตจิตใจและมีความเป็นตัวของตัวเองมากยิ่งขึ้น

ประเด็นที่น่าสนใจมากๆ อีกข้อก็คือ แม้หลายคนอาจเบื่อหน่ายกับตอนอวสานของ “เทพศิลป์ อินทรจักร” เพราะฉากรบครั้งสำคัญ การสังหารตัวร้าย และการพลีชีพของผู้ช่วยพระเอก ได้ไปเกิดขึ้นในตอนก่อนสุดท้ายหมดแล้ว

แต่เรื่องราวในบทสรุป ซึ่งเต็มไปด้วยบทบาทของสตรีและการหาทางคลี่คลายปัญหาชีวิตให้แก่บรรดาตัวละครหญิง ไม่ว่าจะเป็นนางร้ายอย่าง “สุนีย์ราชกานดา” นางรองอย่าง “จันทร์รัตน์” ตัวละครเด็กซึ่งเป็นยักษ์จิ๋วในผอบอย่าง “น่าเอ็นดู” และนางเอกอย่าง “เทพมณฑา” (โดยที่ “พระอุมาเทวี” มีบทบาทอย่างสูงในการกำหนดชะตากรรมของสตรีเหล่านี้)

กลับเป็นการเปิดที่ทางให้แก่ “ผู้หญิง” ที่พบเจอได้ไม่บ่อยนักในละครจักรๆ วงศ์ๆ ไทยยุคก่อน

 

อย่างไรก็ตาม มีบางองค์ประกอบใน “เทพศิลป์ อินทรจักร” ที่อาจถูกประเมินว่า “ไม่ถูกต้องทางการเมือง” ตามบรรทัดฐานทางสังคมวัฒนธรรมยุคปัจจุบัน

เช่น การเล่นมุขตลกกับความบกพร่องทางร่างกายของตัวละครสมทบ

การเขียนบทให้วานรผู้ช่วยพระเอกอย่าง “วายุขัณฑ์” (ซึ่งได้รับแรงบันดาลใจจาก “หนุมาน” ผสม “เห้งเจีย” อย่างชัดเจน) แปลงกายเป็น “ท้าวจตุรพักตร์” แล้วบุกเข้าไปขืนใจ/ร่วมหลับนอนกับ “สุนีย์ราชกานดา” จนกระทั่งมนุษย์ผู้หญิงที่เป็นมเหสีของกษัตริย์เมืองยักษ์คลอดบุตรออกมาเป็นวานรน้อย “วานรินทร์”

รวมถึงเหตุการณ์ตอนหนึ่งที่ “อินทรจักร” เข้าไปช่วยพรรคพวกที่ถูกจับขังอยู่ในเมืองครุฑ/ด่านสุบรรณ ซึ่งเป็นเมืองหน้าด่านของนครกลางเวหา

ละครฉายภาพให้เห็นว่าเมืองครุฑนั้นเป็นเมืองใหญ่ที่มีข้าราชบริพารชายหญิงมากมาย (ส่วนใหญ่ไม่ได้เกี่ยวข้องกับศึกสงครามระหว่างมนุษย์กับยักษ์ซึ่งถูกกำหนดโดยเทพเจ้า)

แต่ผลกลับลงเอยด้วยการที่ “อินทรจักร” ได้กลายร่างตนเองเป็น “จักรแก้ว” ขนาดใหญ่ แล้วพิฆาตทำลายเมืองครุฑและสิ่งมีชีวิตในเมืองลงจนหมดสิ้น

นี่คือพฤติกรรมที่ชวนให้ถูกตั้งคำถามในเชิงจริยธรรมเป็นอย่างยิ่ง

(แง่มุมนี้ยังขับเน้นให้ผู้ชมตระหนักว่า “อินทรจักร” นั้นคือ “จักรแก้ว” ที่ลงมาเกิดบนโลก พูดง่ายๆ คือเขามีสัญชาตญาณความเป็น “อาวุธสังหาร” มากกว่าเป็น “มนุษย์” แต่ละครก็เพิ่มเติมมิติซับซ้อนย้อนแย้งด้วยการกำหนดให้ “อินทรจักร” มีอารมณ์ความรู้สึกรักใคร่มากกว่า “เทพศิลป์” ดังได้กล่าวไปแล้ว)

 

องค์ประกอบเสริมที่สร้างสีสันให้แก่ “เทพศิลป์ อินทรจักร” ได้เป็นอย่างดี ก็คือเหล่าตัวละครสมทบ

ผมค่อนข้างแปลกใจที่เห็นคอมเมนต์ในยูทูบจำนวนมากแสดงความชื่นชอบ “ตรีพักตร์” ไม่แน่ใจว่าเป็นเพราะรัศมีดาราของผู้สวมบทนี้อย่าง “ศาสตรา ศรีวิไล” หรือเป็นเพราะบุคลิกลักษณะของตัวละครที่คล้ายๆ “อินทรชิต” บวก “กุมภกรรณ” คือไม่ใช่คนเลวร้ายอะไร แต่ต้องมาอยู่ฝ่ายร้ายตามโครงสร้างหน้าที่และพันธกิจทางสายเลือด

ตัวละครฝ่ายยักษ์อีกรายที่มีบทแค่ไม่กี่ตอนช่วงท้ายเรื่อง แต่กลับสร้างภาพจำได้ดี คือ “กาลอัคคี” (รับบทโดย “อำภา ภูษิต”) หนึ่งในมเหสีของ “ท้าวจตุรพักตร์” ที่มี “ตาไฟ” อันทรงพลานุภาพ และเป็นผู้เฝ้ารักษา “หัวใจ” ของพญายักษ์

ขณะเดียวกัน ตัวละครอมนุษย์ผู้ช่วยพระเอกบางราย (จากทั้งหมด “แปดสหาย”) ก็มีเสน่ห์น่าประทับใจ แถมยังได้ดาราชื่อดังมาสวมบทบาท

เช่น “นิลราช” เงาะป่าที่รับบทโดย “ตู้-ดิเรก อมาตยกุล” หรือ “พาลราช” ครึ่งคนครึ่งวานรที่รับบทโดย “รอง เค้ามูลคดี”

แต่สมาชิก “แปดสหาย” ที่ผมชอบมาก คือ “สหัสชาติ” อมนุษย์ครึ่งคนครึ่งช้างที่รบเก่ง ทรงพลัง (แต่หูตึง) ซึ่งรับบทโดย “หมู บางซื่อ” นักแสดงสมทบเจ้าประจำของค่ายดาราวิดีโอ-ดีด้า-สามเศียรในยุค 2530-2540 ผู้โดดเด่นด้วยรูปร่างอ้วนโตพร้อมกับการไว้ผม-หนวดรกยาว

รวมทั้ง “กาฬกาศ” ที่สวมบทโดย “วัชระ สิทธิกุล” (นักแสดงร่างผอมผิวคล้ำที่แฟนละครช่อง 7 น่าจะคุ้นเคยกันดี) ซึ่งเป็นตัวละครครึ่งกาครึ่งมนุษย์ และเป็นผู้ช่วยพระเอกเพียงตนเดียวที่บินได้

โดยปกติ เวลาพูดถึงอมนุษย์ที่เหาะเหินเดินอากาศได้ในละครจักรๆ วงศ์ๆ คนส่วนใหญ่มักนึกถึงพญาครุฑ แต่สามเศียรกลับคิดแหวกแนว ด้วยการออกแบบให้ผู้ช่วยพระเอกเป็น “อีกา” แถมยังมีชื่อเท่ๆ ที่สื่อตัวตนของเขาได้อย่างเด่นชัด

การมีนักแสดงสมทบเกรดดีๆ มาร่วมแสดงด้วยเป็นจำนวนมากคือจุดเด่นของ “เทพศิลป์ อินทรจักร” ทว่า หากจะมีการรีเมกละครเรื่องนี้ในทศวรรษ 2560 นี่คงเป็นปัญหาท้าทายของค่ายสามเศียร เพราะปัจจุบัน ทางค่ายไม่ได้มีนักแสดงเก๋าๆ มากดีกรีอยู่ในมือมากเท่ายุคก่อน

 

อย่างไรก็ดี มีตัวละคร “แปดสหาย” บางส่วนเช่นกันที่ถูกออกแบบคาแรกเตอร์มาไม่ชัด-ไม่ละเอียด ว่าเป็นครึ่งคนครึ่งอะไร? แถมบางรายก็กลายเป็นแค่ตัวประกอบที่บทอ่อนจนต้องถูกทำลายทิ้งในที่สุด

(วิธีฆ่าผู้ช่วยพระเอกของละครเรื่องนี้นั้นน่าสนใจมาก เพราะมีการสังหารตัวละครสมทบที่เก่งและเป็นที่จดจำของคนดูมากที่สุด ไปพร้อมๆ กับการสังหารกลุ่มตัวละครสมทบที่ถูกหลงลืมมากที่สุด)

นอกจากนี้ มีปัญหาเรื้อรัง/เอกลักษณ์ข้อหนึ่งของค่ายสามเศียรที่ยังดำรงอยู่ใน “เทพศิลป์ อินทรจักร” กล่าวคือเมื่อแรกเริ่ม ละครจะระบุว่า “แปดสหาย” เป็นเหล่าเทพบุตรที่ “พระสยมภูวญาณ” ส่งลงมาช่วย “เทพศิลป์” และ “อินทรจักร” (คล้ายคลึง “วานร 18 มงกุฎ” ใน “รามเกียรติ์”)

แต่ไปๆ มาๆ หนึ่งในตัวละครกลุ่มนี้กลับหายหน้าหายตาจากจอทีวีไปเสียเฉยๆ แบบไม่มีปี่มีขลุ่ย จนเหลือแค่ “เจ็ดสหาย” ในช่วงท้ายเรื่อง

โดยรวมแล้ว หากประเมินที่ความสนุกสนานของเรื่องราวการผจญภัยและฉากต่อสู้ “เทพศิลป์ อินทรจักร” ก็ทำได้ถึงรสครบเครื่องกว่าละครจักรๆ วงศ์ๆ ยุคหลัง

แต่จุดเด่นของละครจักรๆ วงศ์ๆ (บางเรื่อง) ยุคปลาย 2540 เป็นต้นมา จะไปอยู่ตรงโครงสร้างเรื่องราวที่ซับซ้อนร่วมสมัยกว่าละครยุคก่อนหน้า และการมีเนื้อหาวิพากษ์วิจารณ์/หยอกล้ออำนาจที่แหลมคมกว่าเดิม