คุยกับทูต ยูน โอสตร็อม เกรินดอล ไทย-สวีเดน สัมพันธ์อันราบรื่นและยั่งยืน (1)

รายงานพิเศษ / ชนัดดา ชินะโยธิน

[email protected]

 

คุยกับทูต ยูน โอสตร็อม เกรินดอล

ไทย-สวีเดน สัมพันธ์อันราบรื่นและยั่งยืน (1)

 

องค์การสหประชาชาติให้ความสนใจเรื่องการพัฒนาอย่างยั่งยืนมาตั้งแต่ช่วงปี 1972

มีการจัดการประชุมเรื่องสิ่งแวดล้อมในระดับโลกขึ้นเป็นครั้งแรกที่กรุงสตอกโฮม ประเทศสวีเดน

และในปี 1983 ได้จัดตั้งคณะกรรมาธิการโลก ในเรื่อง “สิ่งแวดล้อมและการพัฒนา” เพื่อศึกษาเรื่องการสร้างความสมดุลระหว่างสิ่งแวดล้อมกับการพัฒนา

ซึ่งต่อมาได้เผยแพร่เอกสารชื่อ Our Common Future เรียกร้องให้ชาวโลกเปลี่ยนแปลงวิธีการดำเนินชีวิตที่ฟุ่มเฟือย เพื่อให้มีการพัฒนาที่ปลอดภัยต่อสิ่งแวดล้อม เอกสารฉบับนี้มีส่วนสำคัญต่อการประชุมสุดยอดของโลก (The Earth Summit) ที่กรุงริโอเดอจาเนโร ประเทศบราซิล เมื่อปี 1992

ในการประชุมครั้งนั้นมีหนังสือประกอบการประชุมเล่มหนึ่งที่เรียกว่า Brultland Report ให้คำจำกัดความของ “การพัฒนาที่ยั่งยืน” ว่า เป็นการพัฒนาที่ตอบสนองความจำเป็นของคนยุคปัจจุบันโดยไม่ลดขีดความสามารถในการตอบสนองความจำเป็นของคนในยุคต่อไป

นายยูน โอสตร็อม เกรินดอล (H.E. Mr. Jon Åström Gröndahl) เอกอัครราชทูตราชอาณาจักรสวีเดน

สัปดาห์นี้ เราได้รับเกียรติจาก นายยูน โอสตร็อม เกรินดอล (H.E. Mr. Jon Åström Gröndahl) เอกอัครราชทูตราชอาณาจักรสวีเดนประจำราชอาณาจักรไทย พูดคุยเรื่องความสัมพันธ์ทวิภาคี และแสดงความคิดเห็นในด้านต่างๆ ก่อนที่จะทราบผลการเลือกตั้งนายกรัฐมนตรีสวีเดนคนใหม่ไม่นาน ซึ่งในที่สุด นางมักดาเลอนา อันเดอร์สสัน (Magdalena Andersson) ก็ได้ขึ้นแท่นเป็นผู้นำหญิงในตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเป็นคนแรกในประวัติศาสตร์ของสวีเดน เมื่อวันที่ 30 พฤศจิกายนที่ผ่านมา

“ความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับสวีเดนเป็นไปอย่างราบรื่น มั่นคง และยืนยาว เราเป็นเพื่อนกันมากว่า 150 ปีแล้ว โดยในช่วงหลายทศวรรษที่ผ่านมา ความสัมพันธ์ระหว่างรัฐบาลกับรัฐบาล และประชาชนกับประชาชนของทั้งสองประเทศมีความครอบคลุมกันหลายพื้นที่และปรับปรุงความสัมพันธ์กันอยู่เสมอ”

ไทยและสวีเดนได้ทำสนธิสัญญามิตรภาพ การพาณิชย์ และการเดินเรือ (Treaty of Friendship, Commerce and Navigation of 1868) เมื่อวันที่ 18 พฤษภาคม 1868 (พ.ศ.2411)

ซึ่งถือเป็นจุดเริ่มต้นของการสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างไทยกับสวีเดนเมื่อ 153 ปีที่แล้ว

นางมักดาเลอนา อันเดอร์สสัน (Magdalena Andersson) นายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกในประวัติศาสตร์ของสวีเดน

“หลังเรียนจบกฎหมาย ผมเริ่มต้นทำงานที่กระทรวงการต่างประเทศสวีเดน โดยเป็นเจ้าหน้าที่แผนกสิทธิมนุษยชนและกฎหมายระหว่างประเทศ สำหรับคนที่สนใจการเมืองระหว่างประเทศ ผมคิดว่าก็ควรสมัครงานที่กระทรวงการต่างประเทศ ซึ่งผมทำงานที่กระทรวงนานกว่า 20 ปีแล้ว”

“งานที่นับว่ามีความท้าทายมากที่สุดคือ ตอนที่ผมไปประจำที่ประเทศอัฟกานิสถานปี 2006-2008 เป็นช่วงที่มีสงคราม”

“ไม่ถึงกับหวั่นกลัว แต่ทำให้ต้องเพิ่มความระมัดระวัง และได้เรียนรู้มากขึ้นจากประสบการณ์ ซึ่งสำหรับผู้สังเกตการณ์ นักข่าว หรือนักการทูต หากปราศจากประสบการณ์ การรายงานก็จะไม่สมบูรณ์ ดังนั้น การมีประสบการณ์จึงเป็นเรื่องสำคัญ”

มาถึงวันนี้ สิ่งที่ผู้คนทั่วโลกกำลังเผชิญอยู่ เป็นหายนะด้านสุขภาพที่รุนแรงที่สุดเท่าที่คนในรุ่นปัจจุบันเคยประสบมา และต้องต่อสู้กับเชื้อโรคชนิดใหม่จากการแพร่ระบาดของโรค COVID-19 นับเป็นสงครามที่สร้างความเสียหายมหาศาลต่อชีวิตความเป็นอยู่ของผู้คน สุขภาพ และเศรษฐกิจ

“เป็นเรื่องสำคัญที่จะต้องพูดถึงไวรัสโคโรนา ซึ่งยังคงส่งผลกระทบต่อสวีเดนเช่นเดียวกับในทุกประเทศ ผมรู้สึกขอบคุณทุกการตัดสินใจที่รัฐทำในสวีเดน ที่สำคัญคือ ไม่ปิดโรงเรียนหลายแห่ง เรามีข้อจำกัดที่เข้มงวด แต่ไม่ถึงกับล็อกดาวน์อย่างจริงจัง”

นายยูน โอสตร็อม เกรินดอล ชี้แจง

สถานทูตในกลุ่มนอร์ดิก ประจำกรุงเทพฯ จัดงานภาพยนตร์เนื่องในวันสิทธิมนุษยชน

ประเทศสวีเดนซึ่งอยู่ในกลุ่มนอร์ดิก (Nordic) ล้วนเป็นประเทศที่มีระบบเศรษฐกิจแบบเปิดขนาดเล็ก จึงต้องพึ่งพาการค้าระหว่างประเทศเป็นหลัก ไม่ได้กำหนดมาตรการล็อกดาวน์ ทำให้แตกต่างจากประเทศอื่นๆ และยังคงเปิดกว้างในสังคมส่วนใหญ่

ทั้งนี้เป็นเพราะรัฐธรรมนูญของสวีเดนปกป้องเสรีภาพในการเคลื่อนไหวเพื่อประชาชนอย่างถูกกฎหมาย จึงปิดกั้นการล็อกดาวน์ในช่วงเวลาสงบ โดยคาดว่าประชาชนชาวสวีเดนจะปฏิบัติตามคำแนะนำที่ไม่ได้บังคับ จากหน่วยงานรัฐบาลที่รับผิดชอบพื้นที่

หน่วยงานสาธารณสุขของสวีเดนได้ออกคำแนะนำว่า หากเป็นไปได้ ให้ทำงานจากที่บ้าน หลีกเลี่ยงการเดินทางโดยไม่จำเป็นภายในประเทศ มีส่วนร่วมในการเว้นระยะห่างทางสังคม สำหรับคนที่อายุมากกว่า 70 ปี ก็ขอให้อยู่บ้านให้มากที่สุด แนะนำให้ผู้ที่มีอาการเพียงเล็กน้อยที่อาจเกิดจากโควิด-19 อยู่บ้าน เป็นต้น

การแต่งบ้านในเทศกาลคริสต์มาสแบบสวีเดน

ประชากรสวีเดนมีเพียง 10.34 ล้านคน และเป็นประเทศที่มีพื้นที่มากที่สุดประเทศหนึ่งในยุโรป เมื่อเศรษฐกิจของสวีเดนเกี่ยวเนื่องสัมพันธ์กับการค้าโลก จึงย่อมต้องได้รับผลกระทบไม่ต่างจากชาติอื่นๆ ในทวีปยุโรป ถึงแม้ว่ารัฐบาลสวีเดนจะพยายามทลายข้อจำกัดใดๆ ในระหว่างการแพร่ระบาดของโรค Covid-19 ก็ตาม

ล่าสุด องค์การอนามัยโลก (WHO) ออกมาเตือนว่า มีความเป็นไปได้ที่ไวรัสกลายพันธุ์ “โอไมครอน” น่าจะกระจายไปเกือบทุกประเทศแล้ว หลังล่าสุดมีการยืนยันว่าพบผู้ป่วยจากโอไมครอนใน 77 ประเทศ/เขตแดนทั่วโลก

และมีความเป็นไปได้อย่างยิ่งที่จะมีประเทศอีกเป็นจำนวนมากที่ยังตรวจไม่พบผู้ติดเชื้อโอไมครอน ขณะที่มันกำลังแพร่ระบาดไปในอัตราที่รวดเร็วชนิดที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน

การบรรยายสรุปโดยสมาชิกรัฐสภาอาเซียนเพื่อสิทธิมนุษยชน ณ ทำเนียบเอกอัครราชทูต

“ผมคิดว่าทุกประเทศกำลังพยายามที่จะมีภูมิคุ้มกันหมู่โดยใช้วัคซีน เช่นเดียวกับหลายๆ ประเทศ สวีเดนก็พยายามที่จะลดจำนวนผู้ติดเชื้อ ด้วยจำนวนประชากรที่ได้รับการฉีดวัคซีนแล้วจำนวนมาก แต่ด้วยไวรัสสายพันธุ์ใหม่ ทำให้เรายังคงต้องระมัดระวัง เพราะ “ไม่มีใครปลอดภัย จนกว่าทุกคนจะปลอดภัย” ทูตสวีเดนกล่าว

“สวีเดนยังได้บริจาควัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าให้แก่ COVAX เพื่อช่วยเหลือการขาดแคลนวัคซีนทั่วโลก”

อย่างไรก็ตาม สวีเดนมีชื่อเสียงโดดเด่นโดยติดอันดับ 1 ใน 10 ประเทศที่มีความสุขมากที่สุดในโลกทุกปี

เอกอัครราชทูต สวีเดน กล่าวเปิดงาน Young Health Program Open House ซึ่่งจัดโดย AstraZeneca Thailand ร่วมกับ Plan International Thailand

นับตั้งแต่องค์การสหประชาชาติได้เริ่มเผยแพร่รายงานชื่อ “World Happiness Report” ครั้งแรกในปี 2012 ซึ่งเป็นรายงานผลสำรวจข้อมูลดัชนีความสุขมวลรวมของแต่ละประเทศทั่วโลก ประเทศในกลุ่มนอร์ดิก คือ ฟินแลนด์ เดนมาร์ก ไอซ์แลนด์ นอร์เวย์ และสวีเดน มักได้รับการจัดอันดับเป็นประเทศที่มีความสุขอันดับต้นๆ ของโลกมาโดยตลอด

กลุ่มประเทศนี้มีพื้นที่กว้างใหญ่ แต่มีประชากรไม่มาก ถือว่ามีขนาดเศรษฐกิจและรายได้เฉลี่ยต่อหัวในระดับที่สูง แน่นอนว่าต้องจ่ายภาษีในอัตราที่สูงอันดับต้นๆ ของโลก

ปัจจัยที่ใช้ในการพิจารณาดัชนีชี้วัดความสุข ประกอบด้วยผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ต่อหัว สวัสดิการสังคม สุขภาพและอายุค่าเฉลี่ยของประเทศ ระดับความมีเสรีภาพ ความอดทนอดกลั้น และปัญหาการทุจริตคอร์รัปชั่นของประเทศ

“ทำไมเราถึงมีความสุขมาก ผมสามารถให้คำอธิบายได้ ถึงอย่างไรก็ไม่มีคำอธิบายเพียงข้อเดียว แต่ผมขอตอบเพียงว่า เป็นวิธีในการจัดระเบียบสังคมของเรา เป็นแนวคิดของความไว้วางใจ (trust) เป็นความไว้วางใจในสังคม โดยที่ประชาชนมีความไว้วางใจซึ่งกันและกัน แล้วจึงไว้วางใจในอำนาจหน้าที่และรัฐบาลของเรา ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญมาก อย่างน้อยเรื่องดังกล่าวจะช่วยทำให้เรารับมือกับภาวะเศรษฐกิจได้ง่ายขึ้น ผู้คนลำบากน้อยลง มีความเป็นอิสระมากขึ้น ช่วยต่อเติมความฝันให้เกิดความสำเร็จได้ง่ายขึ้น”

“ด้วยวิธีนี้ แน่นอนว่าผู้คนก็จะมีความสุขมากขึ้น อย่างน้อยผมก็หวังว่าจะเป็นอย่างนั้น ซึ่งเกี่ยวกับการมีลูกด้วย สวีเดนเป็นประเทศที่เหมาะสำหรับการมีลูก เพราะได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาล และในฐานะที่เป็นตัวแทนของรัฐบาลที่นี่ ผมจึงภูมิใจในรัฐบาลและประเทศของผมมาก”

หากพูดถึงประเทศที่มีรัฐสวัสดิการที่ดี โดยเฉพาะสวัสดิการเกี่ยวกับครอบครัว และการศึกษาสำหรับเด็กๆ คงไม่พ้นที่เราจะนึกถึงหลายๆ ประเทศในแถบทวีปยุโรปเหนือ

และประเทศสวีเดน ก็เป็นอีกหนึ่งประเทศที่ขึ้นชื่อเรื่องการมีคุณภาพชีวิตที่ดีเป็นอันดับต้นๆ ของโลก ทั้งระบบการศึกษา สาธารณสุข เศรษฐกิจ ความเท่าเทียมทางเพศ สิทธิมนุษยชน ฯลฯ โดยได้รับการพูดถึงในฐานะประเทศต้นแบบที่ประเทศอื่นควรปฏิบัติพัฒนาตามอยู่บ่อยครั้ง