‘วรเจตน์’ มองมุมต่าง กรณีฟัน ‘สิระ’ เราอย่า ‘เฮโลสาระพา’ กับวิธีคิดผิดๆ/เปลี่ยนผ่าน ทีมข่าวการเมือง มติชนทีวี

เปลี่ยนผ่าน

ทีมข่าวการเมือง มติชนทีวี

 

‘วรเจตน์’ มองมุมต่าง กรณีฟัน ‘สิระ’

เราอย่า ‘เฮโลสาระพา’ กับวิธีคิดผิดๆ

 

ทีมข่าวการเมือง มติชนทีวี เพิ่งไปสนทนากับ “ศ.ดร.วรเจตน์ ภาคีรัตน์” นักกฎหมายมหาชนคนสำคัญของประเทศ และอาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เมื่อช่วงส่งท้ายปีเก่า

หนึ่งในประเด็นที่พูดคุยกันคือ กรณีที่ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญเสียงข้างมากวินิจฉัยให้ “สิระ เจนจาคะ” นักการเมืองพรรคพลังประชารัฐ ต้องพ้นสภาพการเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ท่ามกลางความยินดีปรีดาของ “ฝ่ายประชาธิปไตย”

อย่างไรก็ตาม อาจารย์วรเจตน์กลับเป็นเสียงหนึ่งที่ไม่เห็นด้วยกับคำวินิจฉัยดังกล่าว

ด้วยเหตุผลต่อไปนี้

 

อาจารย์วรเจตน์เริ่มต้นด้วยการให้เหตุผลว่าการต้องพ้นสภาพ ส.ส.ของสิระนั้น สะท้อนให้ถึงปัญหาของตัวรัฐธรรมนูญอย่างไร

“เคสของคดีคุณสิระเนี่ย ผมยังไม่ได้วิจารณ์ตัวคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญโดยตรง คือมันเป็นเรื่องที่ผมวิจารณ์ตัวรัฐธรรมนูญ ว่าการกระทำความผิดเกี่ยวกับทรัพย์แบบนี้ แล้วคุณตัดสิทธิ์เขาตลอดชีวิตเลย ถ้ารัฐธรรมนูญนี้ยังใช้อยู่ มันโอเคไหมไอ้ระบบวิธีคิดแบบนี้? คือผมกำลังจะบอกว่าเราอย่าเฮโลสาระพาไปในวิธีคิดแบบนี้

“ผมยกตัวอย่างบ่อยๆ อย่างเคสของคุณหมอสุรพงษ์ สืบวงศ์ลี ขออนุญาตเอ่ยนาม ที่โดนศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองตัดสินศาลเดียวแล้วจบเลย

“ผมอ่านคำพิพากษาแล้ว ผมก็ไม่เห็นว่าคุณสุรพงษ์ผิดอะไร ในความเห็นผมนะ ก็บริหารสัญญาอะไรไป แต่มันเป็นคดีที่สืบเนื่องมาจากคดียึดทรัพย์ตั้งแต่ตอนนั้นเลย เป็นแบบนี้

“ศาลก็ตัดสินแบบนั้น แล้วก็ถูกตัด (สิทธิ์การเมือง) ตลอดชีวิต มันไม่ได้ถูกต้อง ในแง่นี้ ถ้าจะว่าไป เราก็ต้องพูดให้มันเสมอกันทุกคน”

 

จากนั้น อาจารย์วรเจตน์จึงเริ่มลงรายละเอียดว่าด้วยคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญในกรณีของสิระ

“เคสของคุณสิระ ถ้าจะวิเคราะห์กันในทางตัวคำพิพากษาหรือคำวินิจฉัย มันเป็นอีกประเด็นหนึ่ง ซึ่งมีประเด็นเหมือนกัน เพราะเรื่องนี้ (มติ) มันออกมา 7:2

“แล้วก็ความเห็นฝ่ายข้างน้อยเนี่ย ผมว่าน่าฟังอยู่ คือ หนึ่ง คดีนี้ ข้อเท็จจริงมันเถียงกัน ศาลข้างมากเชื่ออย่างหนึ่ง ข้างน้อยเขาเชื่ออย่างหนึ่ง ตอนที่คดี (ฉ้อโกง) มันจบ ว่าจบอย่างไร

“เพราะว่ามันเป็นการยันกันของพยานบุคคล มันไม่ได้พิสูจน์กันทางเอกสาร มันพิสูจน์ไม่ได้ว่าคดีนี้ ถึงที่สุดมันเป็นแบบไหน มีการถอนคำร้องทุกข์หรือเปล่า

“ฝ่ายข้างมากเขาเชื่อว่าจบไปเพราะคำพิพากษาของศาล อีกฝ่ายหนึ่งเขาเชื่อว่ามีการถอนคำร้องทุกข์กันไป หลังจากที่มีคำพิพากษาอะไรประมาณนี้

“อีกอันก็คือเรื่องนี้ เรื่องทรัพย์มันเป็นเรื่องฉ้อโกง แต่ไม่ใช่ฉ้อโกงประชาชน มันเป็นความผิดที่ยอมความได้ ดังนั้น การตีความอันนี้และมีผลเป็นการตัดสิทธิ์ลงสมัครรับเลือกตั้งเลย มันจึงต้องระมัดระวัง ซึ่งมีเหตุผลอยู่

“แต่อันนี้มันเถียงกันได้ ผมไม่ได้เคร่งครัดขนาดนั้น เพราะว่าเขาก็มีการเถียงกัน ผมเห็นว่าพวกตุลาการศาลรัฐธรรมนูญที่มาจากฝ่ายศาลจะคิดตามนั้น (ว่าสิระพ้นสภาพ ส.ส.) แต่ถ้ามาจากฝ่ายวิชาการสองท่านก็จะมองอีกแบบหนึ่ง อันนี้คล้ายๆ กับที่ผมจะมอง

“ก็จะมองต่างกันในแง่ของข้อเท็จจริง ว่ามันไม่เคลียร์ มันต้องยกประโยชน์ไหม? เพราะว่าผลมันร้ายแรงนะครับ”

 

นักวิชาการผู้ยึดหลักการทางกฎหมายอย่างหนักแน่นมั่นคงมาโดยตลอด ยังมองด้วยว่าแม้แต่ผลต่อเนื่องที่เกิดขึ้นหลังจากคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญในเคสสิระ ก็มีปัญหาอยู่ไม่น้อย

“ส่วนที่จะพูดกันต่อไป ว่าต้องคืนเงินทั้งหมดตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ ม.151 อันนี้มันเป็นปัญหาเรื่องวิธีคิด คือ หนึ่ง จะเอาเงินคืนได้ มันต้องเป็นคดีอาญาก่อน คือต้องมีการฟ้อง แล้วคุณสิระต้องรู้ว่าตัวเองขาดคุณสมบัติ (ตั้งแต่ต้น)

“คำถามคือว่า เขาจะรู้ไหมครับ? มันเหมือนเคสคุณธนาธรน่ะ คือพูดเคสนี้ก็ต้องพูดเคสคุณธนาธร เหมือนกันเลย เพราะอันเดียวกัน

“ของคุณธนาธรก็คือเรื่องหุ้นใช่ไหม ที่เป็นเรื่องการโอนหุ้นอะไรประมาณนี้ แล้วจะไปดำเนินคดีคุณธนาธร ฐานเขารู้ว่าตัวเองขาดคุณสมบัติลงสมัครรับเลือกตั้ง หรือเซ็นชื่อให้คนอื่นสมัครรับเลือกตั้ง ถามว่าคุณธนาธรจะรู้ไหมว่าศาลจะตีความแบบนี้?

“เข้าใจไหมครับ? เขาจะรู้ไหมว่า เขาคิดว่าเขาโอนแบบนี้ แล้วศาลรัฐธรรมนูญจะตีความแบบนี้ แล้วถือว่าเขารู้อยู่แล้ว (ว่าตัวเองขาดคุณสมบัติลงสมัคร ส.ส.) อันนี้ยากนะ

“หรือแม้แต่เคสของคุณสิระก็เหมือนกัน คุณสิระอาจจะเข้าใจว่าคดีมันจบไปอีกแบบหนึ่ง ไม่อยู่ในความหมายอันนี้ แล้วก็ลงสมัครรับเลือกตั้ง เราจะพิสูจน์อย่างไรล่ะ? (ว่าเขารู้ว่าตัวเองขาดคุณสมบัติแต่แรก)

“แล้วนี่เป็นคดีอาญา มีติดคุก แล้วเพิกถอนสิทธิ์เลือกตั้ง 20 ปี อันนี้ไม่ใช่สิทธิ์สมัครรับเลือกตั้งนะ แล้วก็จะตามด้วยเรียกเงินทุกอย่างกลับคืน แล้วถามว่า (ที่ผ่านมา) เขาไม่ได้ทำงานเหรอ?

“ผมพูดแบบนี้นะว่า หนึ่ง คือผมไม่รู้จักกับคุณสิระ ไม่เกี่ยวอะไรกับคุณสิระ ไม่ได้มีความประทับใจบทบาทของคุณสิระ ไม่แม้กระทั่งเห็นด้วยตอนที่มีการสนับสนุนให้คุณสิระเป็นประธานกรรมาธิการกฎหมาย (สภาผู้แทนราษฎร) โดยพรรคก้าวไกลตอนนั้น นึกออกไหมครับ อันนั้นเป็นเรื่องการเมืองไป

“แต่ตอนนี้ เรากำลังพูดถึงเกณฑ์ทางกฎหมาย แล้วถ้าเกิดว่าผมไม่กล้าพูด ไม่เคารพตัวเองว่าคิดอย่างไร ผมก็ควรจะเลิกสอนหนังสือไป”