คำ ผกา | หน้าที่ของเขาคือทำให้เราเสียสติ

คำ ผกา

หนึ่งในสิ่งที่รัฐบาลภายใต้การนำของนายกฯ ที่ชื่อ ประยุทธ์ จันทร์โอชา คือเป็นรัฐบาลที่ขับเคลื่อนด้วยการ “ด่า” ถ้าประชาชนหรือสื่อไม่ออกมาด่าเยอะๆ จะไม่ทำ แล้วพวกเราเลยรู้สึกว่ามีหน้าที่ต้องด่า ต้องจ้ำจี้จ้ำไช ต้องกระโชกให้แรงทุกวัน ไม่อย่างนั้นรัฐบาลก็จะเอ๋อไปเอ๋อมาไปวันๆ

ขณะเดียวกันในทางทฤษฎี รัฐบาลที่ไม่ได้มาโดยวิถีทางประชาธิปไตย และโดยเฉพาะอย่างยิ่งนายกรัฐมนตรีที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง ไม่เคยเป็น ส.ส. ไม่มีความจำเป็นต้องแคร์เสียงด่า ไม่ต้องมีส่วนรับผิดรับชอบกับการวิจารณ์ของประชาชน แต่เอ๊ะ แล้วทำไมการด่าถึงไปขับเคลื่อนรัฐบาลได้ล่ะ?

ทำไมรัฐบาลที่ไม่จำเป็นต้องแคร์ความรู้สึกของประชาชน ต้องออกมาทำอะไรบางอย่างเพราะการถูก “ด่า”

ฉันนั่งมองปรากฏการณ์นี้ด้วยความกังวล

เพราะรัฐบาลที่ทำงานไปตามเสียงด่าของประชาชนไม่ใช่รัฐบาลที่ทำงานบน accountability หรือความรับผิดชอบที่มีต่อประชาชนแน่นอน

และขอย้ำว่า การตอบสนองต่อเสียงด่า กับการฟังเสียงประชาชน นั้นเป็นคนละเรื่องกันโดยสิ้นเชิง

ยกตัวอย่างเช่น การบริหารจัดการประเทศในสถานการณ์โควิด-19

รัฐบาลที่ทำงานโดยมีความรับผิดชอบต่อประชาชนโดยเฉพาะต่อเสียงของประชาชนที่โหวตจนตัวเองได้เสียงข้างมากมาบริหารประเทศ สิ่งแรกที่พวกเขาต้องรู้คือ พวกเขาอยู่ในอำนาจได้แค่ 4 ปี ครบวาระแล้วต้องไปลงเลือกตั้งแข่งขันกันใหม่

ดังนั้น สถานการณ์โควิดจึงเป็นโจทย์ที่ท้าทายและชี้ชะตาพรรคการเมืองที่ชนะการเลือกตั้งมาเป็นรัฐบาลด้วยว่า หากทำอะไรพลาดหรือไม่ถูกใจประชาชนนิดเดียว โอกาสที่จะแพ้การเลือกตั้งมีสูงมาก

และหากพรรคคู่แข่งได้โอกาสมาทำงานสักครั้งแล้วทำได้ดี โอกาสที่พรรคของตนจะกลายเป็นพรรคฝ่ายค้านตลอดกาลก็เกิดขึ้นได้

ดังนั้น พรรคการเมืองที่เป็นรัฐบาลต้องคิดหนักมากว่าจะบริหารสถานการณ์โควิดนี้ให้ดีที่สุดและตอบสนองต่อทุกกลุ่มผลประโยชน์ได้อย่างไร

ตรงกันข้าม ถ้ารัฐบาลที่คิดว่าตนเองสามารถ “ชนะการเลือกตั้ง” ได้ด้วยวิธีอื่นๆ ที่ไม่ใช่การชนะใจประชาชน ก็จะใช้พลังงานส่วนใหญ่ไปกับการจัดการกับวิธีที่จะให้ตนเองชนะการเลือกตั้ง

เช่น การแก้กฎหมาย การโยกย้ายข้าราชการ การประวิงเวลาการเลือกตั้งท้องถิ่น การจัดการปัญหามุ้งและความขัดแย้งต่างๆ ในพรรค การกำราบ ส.ว.ให้อยู่หมัด

หรือการตอบสนองต่อ “แรงด่า” ฉาบฉวย ผลก็คือ มาตรการต่างๆ ในการรับมือกับปัญหาจะเข้าข่าย เจ๊กลากไปไทยลากมา วันนี้มีมาตรการนี้ อีกสามวันยกเลิก กลับไปใช้มาตรการเดิม หรือเปลี่ยนคำสั่งกันเป็นว่าเล่น แล้วแต่กระแสสังคมจะพัดไปทางไหน

ถ้าเราอยู่ภายใต้รัฐบาลที่รู้ตัวว่ามีเวลาอยู่ในอำนาจแค่ 4 ปี แถมยังมีความเสี่ยงว่า ถ้าบริหารงานแล้ว “ล้มเหลว” อาจต้องเลือกการยุบสภาเพื่อไม่ให้เสียหายกว่านี้แล้วเลือกตั้งใหม่ เปลี่ยนตัวนายกฯ เสียเลย เช่นกรณีของประเทศญี่ปุ่น ที่เปลี่ยนนายกฯ มา 3 คนแล้วตั้งแต่มีโควิด แต่พรรคแอลดีพียังได้เป็นรัฐบาลเหมือนเดิม

รัฐบาลที่มองภาพใหญ่ ไม่ใช่ทำงานแบบเจ๊กลากไปไทยลากมาเพราะไม่มี accountabilty ต่อโหวตเตอร์หรือฐานเสียงของตัวเอง หากเกิดสถานการณ์โควิดจะต้องเริ่มคิดจากสิ่งใหญ่ แล้วค่อยๆ ลงรายละเอียดไปหาสิ่งที่เล็กลง

เช่น จะเลือกแนวทางไม่ปิดเมือง เน้นเกิดภูมิคุ้มกันหมู่ ด้วยเหตุผลสองประการคือ สถานการณ์การเงินของประเทศไม่สามารถรับผิดชอบการเยียวยาถ้วนหน้าให้ประชาชนได้

และสำคัญกว่านั้น ไม่ว่าอะไรจะเปิดขึ้น “เสรีภาพ” ของประชาชนสำคัญที่สุด

ดังนั้น จะไม่แลกอะไรกับการจำกัดเสรีภาพของประชาชนเด็ดขาด

ประเทศที่เลือกแนวทางนี้มีน้อยมาก เช่น สวีเดน – ซึ่งไม่ว่าจะถูกวิพากษ์วิจารณ์ด่าทอ ทั้งจากในและนอกประเทศอย่างไร รัฐบาลสวีเดนไม่เคยหวั่นไหว เพราะอธิบายได้หมดจดว่าทำไมจะเอาแบบนี้ และหากมันจะไม่ถูกใจประชาชน ก็ไปวัดกันที่การเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้น เมื่อรัฐบาลครบวาระ

เช่นเดียวกัน ประเทศที่เน้นการล็อกดาวน์เข้มๆ อย่างฝรั่งเศส เนเธอร์แลนด์ เยอรมนี ต้องล็อกดาวน์บนรากฐานที่คำนวณแล้วว่า สามารถจ่ายชดเชย เยียวยา จัดการเรื่องการศึกษาของเด็กนักเรียนได้ รักษาเศรษฐกิจของประเทศเอาไว้ คำนวณแล้วประเทศของตนพึ่งตนเองทางเศรษฐกิจได้อีกยาวๆ ก็เลือกทางนี้

และหากจะไม่ถูกใจใครก็นู่น ไปวัดกันอีกครั้งตอนเลือกตั้ง

ฐานคิดที่ใหญ่ที่สุดมีแค่นี้

หันกลับมาดูประเทศไทย ถ้ารัฐบาลมาจากการพรรคการเมืองที่อิงอยู่กับคะแนนเสียงตอนเลือกตั้ง ก็จะเริ่มคิดจากฐานคิดใหญ่นี้เหมือนกัน

มองจากสภาพความเป็นจริง สิ่งที่ต้องนำมาคิดคำนวณด้วยคือ การมีวัคซีน

สมมุติว่า ถ้าเราคิดว่านับตั้งแต่วันแรกที่โควิดอุบัติขึ้น และมีแนวโน้มว่า กว่าเราจะมีวัคซีน และกว่าเราได้วัควีนมาฉีดให้ประชาชนจนครบร้อยละร้อยจะใช้เวลา 4 ปีเป็นอย่างน้อย ในฐานะรัฐบาลก็ต้องนับเงินในกระเป๋าว่า ถ้าล็อกดาวน์แล้วมีเงินมาเลี้ยงดูประชาชนที่ถูกบังคับให้ยุติกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่พวกเขาเคยมีรายรับ ทั้งทางตรงทางอ้อม เรามีเงินในกระเป๋าพอจะชดเชยเยียวยาไปอย่างน้อย 4 ปีหรือไม่?

นับเงินในประเป๋าแล้วมีไม่พอ สิ่งที่ต้องคิดเป็นลำดับถัดไปคือ

เพื่อให้สมดุลกับงบฯ และเงินที่มีอยู่เราจะล็อกดาวน์ 100% ในปีแรกของการระบาด เพื่อให้มีการติดเชื้อในช่วงที่ไม่มีวัคซีนน้อยที่สุดและเพื่อให้เวลาเตรียมความพร้อมเรื่องระบบสาธารณะสุข เช่น เรารู้ว่าต้องมีการกักตัวหากพบผู้ติดเชื้อ ในหนึ่งปีที่เราล็อกดาวน์เต็มรูปแบบ เราจะใช้เวลานั้นคิดระบบการกักตัว สถานที่กักตัว การหาเครื่องช่วยหายใจ ยาต้านไวรัส การเตรียมจัดหาคู่มือดูแลตนเองที่บ้านสำหรับผู้ติดเชื้อแต่ไม่มีอาการ การเตรียมสถานที่ hospitel ต่างๆ

ใน 1 ปีที่ล็อกดาวน์ร้อยเปอร์เซ็นต์ ฉันพูดมาตลอดว่า รัฐบาลที่ฉลาดจะใช้วิธีการประกันรายได้ขั้นต่ำถ้วนหน้าให้ประชาชนต่อหัวต่อคนไปเลยว่าจะแจกเงินให้ประชาชนคนละสามพันบาทต่อเดือน ต่อเนื่อง 1 ปี เขาจะเอาไปทำอะไรก็เรื่องของเขา

เป้าหมายคือ รักษาความสามารถการบริโภคภายในประเทศ

ควบคู่ไปกับการให้เงินกู้ปลอดดอกเบี้ยและไม่ต้องผ่อนชำระหนี้ในห้าปีแรก แต่ทุกธุรกิจ อุตสาหกรรมที่ยื่นเรื่องเข้ามา รวมไปถึงการเยียวยาธุรกิจที่ได้รับผลกระทบโดยตรง เช่น สถานบริการ บันเทิง ร้านอาหาร ผับ บาร์

ทั้งหมดทำไปเพื่อรักษาอุตสาหกรรม รักษาการจ้างงาน และที่สำคัญที่สุดในบริบทของโรคระบาดมันคือการ “ซื้อ” ความร่วมมือ ถ้าปิดร้าน นอนอยู่บ้านแล้วได้เงิน ไม่มีใครลุกขึ้นมาจ่ายเงินใต้โต๊ะตำรวจ เจ้าหน้าที่รัฐ แล้วแอบเปิด จนสุดท้ายกลายเป็นคลัสเตอร์โควิดอันใหม่ไปอีก

ถ้าบ้านเมืองเราเป็นประชาธิปไตย รัฐบาลมาจากการเลือกตั้งจะคิดแบบนี้ คิดแบบวิน-วิน ทุกฝ่าย เพราะไม่อยากเสียคะแนนจากฝั่งไหน

 

ปีที่สอง ปลดล็อกดาวน์ได้ร้อยละห้าสิบ นั่นคือ การเดินทางมาจากต่างประเทศยังต้องผ่านการตรวจและคัดกรองอย่างหนัก ไปจนถึงห้ามคนจากประเทศกลุ่มสีแดงเข้าประเทศโดยสิ้นเชิง แต่กิจกรรมต่างๆ ในประเทศยังทำได้อย่างเป็นปกติ ยกเว้นกีฬา คอนเสิร์ตที่แออัด เสี่ยงต่อการเกิดคลัสเตอร์ใหญ่

เริ่มยกเลิกการจ่ายชดเชย เยียวยาให้ธุรกิจบางประเภทได้

การจ่ายเงินเดือนฟรีประชาชนจากเดือนละสามพันบาทอาจเหลือเดินละสองพันบาท ตามสถานการณ์ล็อกดาวน์ที่คลี่คลายลง

ปลายปีที่สอง รัฐบาลต้องเริ่มดีลวัคซีนไว้หลายๆ แผน แพลนเอ บี ซี มีวัคซีนปุ๊บ ต้องรีบจัดกลุ่มประชาชนตามความเสี่ยงแล้วนำวัคซีนไปฉีดให้กลุ่มที่มีความจำเป็นสูงสุดก่อน แล้วค่อยๆ ไล่ลงมายังกลุ่มคนทั่วไป เข้าปีที่สาม น่าจะฉีดวัคซีนให้ประชาชนได้ร้อยละเจ็บสิบห้า เป็นอย่างต่ำ

ปีที่สามปุ๊บ คลายล็อกดาวน์ได้ร้อยเปอร์เซ็นต์ ปรับมาตรการการรับคนจากต่างประเทศเข้ามาในประเทศในฐานะที่เราพึ่งพิงการท่องเที่ยวถึงร้อยละยี่สิบของจีดีพี

ทั้งหมดนี้ฉันสาธิตให้ดูว่า การออกแบบมาตรการในระดับใหญ่ มันจะต้องมาจากฐานคิดที่ชัดเจน

และแน่นอนว่า เมื่อลงมือทำจากฐานคิดนี้กับคนเจ็ดสิบล้านคน ก็ต้องมีอีกเจ็ดสิบล้านความคิดที่ไม่เห็นด้วย และออกมาด่าๆๆๆ

เช่น ต้องมีคนด่าว่าการแจกเงิน ไร้สาระ ทำให้คนขี้เกียจ

กลุ่มธุรกิจก็อาจจะบอกว่า เงินกู้นั้นไม่ช่วยอะไรเท่าที่ควร ควรเป็นเงินให้เปล่าครึ่งหนึ่ง กู้ครึ่งหนึ่ง

วัคซีนก็อาจหาไม่ได้ตามเป้า แล้วก็โดนคนด่าๆๆ หรือหากจัดลำดับความเสี่ยงจากสุขภาพ

คนอีกกลุ่มหนึ่งอาจจะบอกว่า ควรจัดลำดับจากกลุ่มคนที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจ แรงงานต้องได้วัคซีนก่อน คนในอุตสาหกรรมท่องเที่ยวต้องได้ก่อน

ไปจนถึงเรื่องล็อกดาวน์ ก็อาจมีคนด่าต้องล็อกดาวน์ไปเลยสามปี พ่อแม่ฉันตายเพราะโควิด รัฐบาลเฮงซวยที่ไหนจะเอาชีวิตพ่อแม่ฉันคืนมาได้ บลา บลา บลา

การ “ด่า” รัฐบาลนั้นจะระงมมาจากทุกหนทุกแห่งแน่นอน

แต่รัฐบาลที่คิดจนจบแล้วในภาพใหญ่จะไม่เปลี่ยนมาตรการรายวันตามเสียงด่าหรือไขว้เขวรายเดือนตามเสียงวิจารณ์ ทว่าจะประเมินสถานการณ์รายวัน บริบทที่เปลี่ยนไป ปัจจัยภายนอก ปัจจัยเสี่ยงที่อยู่นอกการควบคุมของเราควบคู่ไปกับ “แผนหลัก” ที่คิดสะระตะเป็นภาพใหญ่เอาไว้แล้ว อาจมีการปรับในรายละเอียดจากสถานการณ์ที่เปลี่ยน/คำท้วงติงของสังคม แต่จะไม่ใช่การเต้นเปลี่ยนตามเสียงด่าแบบไม่มีที่มาที่ไป

และสามารถออกมาอธิบาย ชี้แจงได้ทุกครั้งที่ถูกด่า

ทั้งนี้ การอธิบายได้ ก็เป็นคนละเรื่องกับการทำให้คนเห็นด้วยกับการตัดสินใจของรัฐบาล การอธิบายคืออธิบายว่าที่มาที่ไปของมาตรการคืออะไร เทียบกับมาตรการที่ไม่เลือกทำ มีผลดี ผลเสียต่างกันอย่างไร ทำไมจึงเลือกทำอย่างนี้ไม่ทำอย่างนั้น เพราะคนที่ไม่เห็นด้วยอาจสมาทานมาตรการการรับมืออีกสำนักหนึ่งที่ต่างออกไป ซึ่งรัฐบาลไม่ได้มีหน้าที่ไปบังคับให้เขามาเห็นด้วย และมันเป็นเรื่องธรรมดามากๆ สำหรับการ “เห็นต่าง” – เออ แบบนี้แหละที่เรียกว่าเห็นต่าง

และหาก ครม.มันห่วย นายกฯ มันห่วย ดูทรงแล้วจะทำให้พรรคสอบตกในการเลือกตั้งครั้งหน้า พรรคการเมืองที่ได้เป็นรัฐบาลก็ต้องจัดกระบวนทัพ รับมือกันใหม่

นั่นหมายถึงการปรับทั้งกระบวน ไม่ใช่การลุกขึ้นบ้าจี้ทำอะไรไปตามเสียงด่ารายวัน – อย่างที่มันเกิดขึ้นมาโดยตลอดกับรัฐบาลปัจจุบัน

กรณีมีโอไมครอนเข้ามา รัฐบาลที่ทำงานโดยอิงกับ “ภาพใหญ่-แผนหลัก” จะไม่ตระหนกกับการเจอเชื้อโอไมครอน และไม่ตระหนกกับตัวเลขผู้ติดเชื้อโอไมครอน

แต่สิ่งที่รัฐบาลนั้นทำคือ เอาตัวเลขผู้ที่ยังไม่ได้รับวัคซีนเลย และตัวเลขผู้ที่ต้องได้รับวัคซีนเข็มที่สามและสี่ มากางดู เอาตัวเลขวัคซีนที่เรามีอยู่มากางดู แล้วทำแผนฉีดวัคซีนให้ได้กว้างขวาง ครอบคลุมที่สุด เพราะหัวใจของเรื่องนี้คือ เรายับยั้งการติดไม่ได้ แต่บริบทของการที่ประชาชนเกินร้อยละเจ็ดสิบได้รับวัคซีน แปลว่า คนส่วนใหญ่จะติดโดยไม่มีกอาการหนักจนเป็นภาระทางสาธารณะสุข และผลพลอยได้ที่เราอาจจะได้รับคือการเกิดภาวะภูมิคุ้มกันหมู่เร็วกว่าที่คิด

มาตรการล็อกดาวน์โดยภาครัฐจะไม่เกิด และทิ้งให้การ “ล็อก” เป็นดุลพินิจของปัจเจกบุคคล ใครกลัวก็ล็อกตัวเองไป

แต่สิ่งเดียวที่รัฐบาลทำคือ เดินหน้าฉีดวัคซีน เตรียมยาต้านไวรัส และให้ความรู้แก่ประชาชนที่ได้รับวัคซีนว่า หากติแล้วไม่แสดงอาการ ควรกักตัวสังเกตอาหารตัวเองที่บ้านและไม่ควรกินยาโดยไม่จำเป็น

ที่เหลือจากนั้น ประเทศชาติ สังคม ผู้คนพึงใช้ชีวิตอย่างระมัดระวัง ทว่าไม่ตื่นตระหนกจนกว่าเหตุ เพราะเราไม่ใช่สัตว์เลี้ยงในฟาร์มระบบปิดที่จะทำตัวปลอดเชื้อได้ร้อยเปอร์เซ็นต์จนถึงวันเข้าโรงเชือด

มนุษย์ โลก และโรคระบาด เป็นระบบนิเวศน์ของกันและกัน

มีแต่รัฐบาลที่ไม่มีความรับผิดรับชอบต่อประชาชนเท่านั้นที่เป็นภัยต่อชีวิต อนาคต และคนที่เรารักจริงๆ

รัฐบาลเผด็จการ ปรับมาตรการรายวันตามแรงด่าของสังคม ไม่ใช่เพราะเขาแคร์ประชาชน แต่เพราะเขาสร้างพล็อตมาแล้วว่า ไม่ต้องทำงานแบบมีภาพใหญ่ เบลอๆ ไปจนสังคมด่า พอสังคมด่าก็ออกมาทำอะไรสักอย่างตามที่ถูกด่า

ประชาชนเงียบปาก รัฐบาลเคลมว่า “เห็นไหม ฉันฟังเสียงประชาชน” จากนั้นมีปัญหาอันใหม่ผุดมาอีก ประชาชนด่าอีก รัฐบาลออกมารับลูก ทำๆ ไปนิดนึง – วนกันไปแบบนี้ – ปะผุปัญหาไปวันๆ เผลอแป๊บเดียวเวลาผ่านไปเจ็ด-แปดปี

สุดท้ายระบอบนี้ก็สร้างประชาชนที่สติสัมปชัญญะดับไปเพราะใช้ชีวิตอยู่กับความกลัว จนลืมไปว่าความกลัวเชื้อโรคจนเกินกว่าเหตุนี่แหละที่หล่อเลี้ยงรัฐบาลโง่ๆ ให้มีอำนาจต่อไปได้

เพราะความกลัวคือใบอนุญาตให้รัฐใช้อำนาจในทางบีบบังคับให้เราสิ้นไร้ไม้ตรอกต่อไปอีก

และยิ่งต้องพึ่งพิงรัฐบาลโง่ๆ นี้ต่อไปอีก เขาสั่งให้เราไปเข้าแถวแออัดรอวัคซีนที่ไหนก็ต้องไป เขาเสิร์ฟอะไรมาให้กินก็ต้องกิน เขาโยน “ทาน” อะไรมาให้ก็ต้องเอา

เขาสั่งให้ไปลงทะเบียนชิงโชคอะไรก็ต้องลง เพราะมันดีกว่าไม่มีอะไรเลย สุดท้ายเราเอาชีวิตเรานี่แหละเป็นเดิมพัน

จะตายตอนนี้ หรือมีชีวิตต่อไปอีกหน่อยภายใต้รัฐบาลเผด็จการล่ะ?

สุดท้าย เราก็ไม่เหลืออะไร นอกจากประสาทแดกไปวันๆ แล้วดูพวกมันมีอำนาจต่อไป