เปิดไฮไลต์แผนกระทรวงเศรษฐกิจ ผสานพลังเข็นเศรษฐกิจ ปี 2565 ถึงฝั่ง…ไขว่คว้า จีดีพี 4%/บทความเศรษฐกิจ

บทความเศรษฐกิจ

 

เปิดไฮไลต์แผนกระทรวงเศรษฐกิจ

ผสานพลังเข็นเศรษฐกิจ ปี 2565

ถึงฝั่ง…ไขว่คว้า จีดีพี 4%

 

ปีใหม่ 2565 เป็นอีกปีที่รัฐบาลแบกความฝัน และความหวังอนาคตเศรษฐกิจไทยไว้

โดยรัฐบาล และภาคเอกชน ประเมินพร้อมตั้งเป้าหมายผลักดันตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศ (จีดีพี) ปี 2565 ไว้ที่ 4%

ซึ่งในแต่ละกระทรวงด้านเศรษฐกิจ ต่างมีการวางยุทธศาสตร์และแผนงาน เพื่อชิงแต้มในส่วนของหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้อง และเป็นผลงานด้านการเมือง ปูทางไว้หากเกิดการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองอีกครั้งหนึ่ง ไม่เกินปี 2566!!

ก่อนจะมีการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้น สิ่งที่ต้องโฟกัสในปี 2565 คือนโยบายของแต่ละกระทรวงเศรษฐกิจว่าจะส่งผลต่อเศรษฐกิจมากน้อยแค่ไหน

โดยหัวเรือใหญ่อย่าง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ตั้งเป้าแก้ไขปัญหาหนี้ครัวเรือนให้ลดลงภายในปี 2565

ส่วนการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของกระทรวงการคลัง เบื้องต้นได้เสนอมาตรการเรื่องของการฟื้นฟูและกระตุ้นเศรษฐกิจในที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ไปเมื่อวันที่ 21 ธันวาคมปีก่อน

ประกอบด้วย 3 มาตรการ ได้แก่

1. มาตรการเพิ่มกำลังซื้อของภาคประชาชนจะออกเป็นโครงการ อาทิ โครงการช้อปดีมีคืน โครงการคนละครึ่งระยะที่ 4 รวมถึงมาตรการลดค่าธรรมเนียมจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมสำหรับที่อยู่อาศัย

2. มาตรการลดภาระผู้ประกอบการและประชาชน อาทิ ยกเว้นค่าธรรมเนียมการอนุญาตขายสุรา ยาสูบ และไพ่ เพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการสถานบันเทิงและร้านที่จำหน่ายสุราที่ต้องปิดระหว่างที่มีมาตรการควบคุมโควิด

และ 3. มาตรการทางการเงิน ซึ่งผ่านสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ อาทิ โครงการสร้างงานสร้างอาชีพของธนาคารออมสิน ซึ่งรัฐบาลช่วยสนับสนุนวงเงินประกัน กรณีการเกิดหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ เป็นต้น

 

ขณะที่แผนขับเคลื่อนเศรษฐกิจของกระทรวงคมนาคม ในปี 2565 ได้เตรียมเม็ดเงินลงทุนภาครัฐอัดฉีดเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจไว้มากถึง 1.4 ล้านล้านบาท ภายใต้ 40 โครงการสำคัญ ครอบคลุมการลงทุนครบทั้ง 4 มิติ คือภาคการขนส่งทางถนน ภาคการขนส่งทางราง ภาคขนส่งทางน้ำ และภาคการขนส่งทางอากาศ ซึ่งทางคมนาคม มั่นใจว่าการแพร่ระบาดของโควิด-19 ในปัจจุบัน จะไม่ส่งผลกระทบต่อโครงการก่อสร้างทั้งขนาดใหญ่และขนาดเล็ก

ส่วนการดำเนินการของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ มีเป้าหมายเพิ่มรายได้ให้กับเกษตรกรอย่างต่ำ 10% ต่อปี

ต้องยอมรับว่ารายได้ของเกษตรกรในปัจจุบันนี้ยังไม่มาก ซึ่งเป็นโจทย์ของกระทรวงที่ต้องเพิ่มรายได้ให้กับเกษตรกรให้ได้

โดยปัจจุบันรัฐมีการอุดหนุนโครงการประกันรายได้พืชต่างๆ ที่เป็นการสร้างหลักประกันในกับเกษตรกรว่าจะมีรายได้ที่เกษตรกรควรจะได้ ไม่ได้คิดว่าจะดำเนินโครงการนี้ตลอดไป แต่ต้องการช่วยเกษตรกรให้ผ่านช่วงวิกฤตโควิด-19 ซึ่งจากการตรวจสอบ พบว่า สามารถช่วยได้กว่า 8 ล้านครอบครัว

รวมถึงในปี 2565 จะเพิ่มการสร้างความรู้เรื่องเทคโนโลยีต่างๆ ปรับเปลี่ยนให้เกษตรกร เข้าสู่เกษตร 5.0 เพื่อสร้างรายได้จากพืชผล และผลิตภัณฑ์ที่มีอยู่อีกด้วย

 

ในส่วนของแผนงานปี 2565 ของกระทรวงพาณิชย์ ภายใต้แนวโน้มการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจท่ามกลางปัจจัยท้าทาย อาทิ ความผันผวนของเศรษฐกิจ การเงินโลก และแรงกดดันจากภาวะเงินเฟ้อที่สูงขึ้น เป็นต้น

ดังนั้น การขับเคลื่อนเศรษฐกิจในปี 2565 ภาครัฐจึงต้องต่อยอดนโยบายที่เป็นประโยชน์กับการสนับสนุนการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ และมาตรการยกระดับศักยภาพทางเศรษฐกิจในประเทศให้แข็งแกร่ง สอดรับกับการเจรจากับต่างประเทศในกรอบความร่วมมือต่างๆ เพื่อขยายโอกาสทางการค้าและการลงทุน ควบคู่ไปกับมาตรการด้านสาธารณสุข ในระยะสั้นด้วยการเร่งฉีดวัคซีนให้ครอบคลุมมากที่สุด และในระยะยาวโดยการพัฒนาด้านสาธารณสุขอย่างครอบคลุมให้สามารถรับมือกับสถานการณ์ทั้งในปัจจุบันและอนาคต

ประกอบด้วย การส่งเสริมศักยภาพไมโครเอสเอ็มอี โดยกระทรวงพาณิชย์ได้วางนโยบายส่งเสริม สนับสนุน และผลักดันผู้ประกอบการธุรกิจแบบเชิงรุก ส่งเสริมโอกาสความเท่าเทียมในการเข้าถึงแหล่งเงินทุน และการเข้าถึงตลาดทั้งในและต่างประเทศ เพื่อให้ภาคธุรกิจมีความเข้มแข็ง พร้อมรับมือกับทุกสถานการณ์

สำหรับนโยบายและโครงการที่จะดำเนินการต่อเนื่องจากปี 2564 อาทิ โครงการจับคู่กู้เงิน สถาบันการเงินกับร้านอาหาร และโครงการจับคู่กู้เงิน สถาบันการเงินกับผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ภาคส่งออก อนุมัติเงินกู้ให้เอสเอ็มอีภาคส่งออก มุ่งเน้นการเสริมสร้างสมรรถนะของผู้ประกอบการและภาคธุรกิจ ผ่านการยกระดับ และปรับศักยภาพ

รวมถึงเดินหน้าผลักดันยุทธศาสตร์ด้านการส่งออกสินค้าไทยในปี 2565 เริ่มที่เร่งผลักดันส่งออกสินค้า BCG เน้นรักษาตลาดเดิม เปิดตลาดใหม่ ฟื้นฟูตลาดเก่าที่สูญเสีย การส่งเสริมเศรษฐกิจแพลตฟอร์ม พัฒนาศักยภาพผู้ประกอบการให้พร้อมรับการเปลี่ยนแปลงสู่เศรษฐกิจยุคใหม่ และยกระดับการให้บริการด้านการค้าระหว่างประเทศโดยการนำเทคโนโลยีดิจิตอลมาประยุกต์ใช้งาน

กระทรวงพาณิชย์มีเป้าหมายในการเปิดการเจรจาเขตการค้าเสรี (เอฟทีเอ) ฉบับใหม่ เพื่อเร่งขยายการค้าให้กับไทย และมีเป้าหมายเร่งรัดสรุปผลการเจรจาเอฟทีเอคงค้าง อาทิ เอฟทีเอ ไทย-ตุรกี ไทย-ปากีสถาน ไทย-ศรีลังกา และอาเซียน-แคนาดา เป็นต้น

 

ปิดท้ายด้วยกระทรวงที่ต้องจับตาเป็นพิเศษอย่างกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา โดยในปี 2565 ภายใต้แนวคิดการพลิกโฉมท่องเที่ยวไทย เปิดประเทศรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ โดยมีจุดขายในเรื่องความสดใหม่ของแหล่งท่องเที่ยว และสถานที่ท่องเที่ยวไทย หลังจากปิดประเทศไปในช่วงเกือบ 2 ปีที่ผ่านมา ไม่มีนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามา การเดินทางของนักท่องเที่ยวคนไทยก็ไม่ได้มีมากนัก ทำให้แหล่งท่องเที่ยวได้รับการฟื้นฟู โดยเฉพาะแหล่งท่องเที่ยวตามธรรมชาติ ที่ความสวยงามกลับคืนมาอีกครั้ง

รวมถึงแม้มีการเปิดประเทศต้อนรับแล้วนักท่องเที่ยวต่างชาติครั้งใหญ่ เมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน ที่ผ่านมา แต่ก็ยังมีนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามาไม่เท่าครั้งในอดีต ความสวยงามของธรรมชาติที่ได้รับการฟื้นฟูแล้วจึงยังคงอยู่ เตรียมพร้อมให้นักท่องเที่ยวได้กลับมาชื่นชมต่อไป

ขณะเดียวกัน การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) และการกีฬาแห่งประเทศไทย (กกท.) จะจับมือกันสร้างอีเวนต์ขนาดใหญ่ขึ้นมา เพื่อกระตุ้นให้เกิดการเดินทางในประเทศ และดึงดูดนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามามากขึ้น ผ่านมหกรรมกีฬาระดับโลกต่างๆ ที่จะพยายามดึงมาจัดงานแข่งขันในประเทศไทย

เหมือนกรณีที่นายกรัฐมนตรีได้แนะนำว่า ปี 2565 อยากให้จัดการแข่งขันอีสปอร์ตชิงแชมป์โลกในประเทศไทย

รวมถึงรายการกีฬาขนาดใหญ่ระดับโลก ที่ดึงดูดการเข้าชมการแข่งขันจากแฟนคลับทั่วโลก

เหมือนการแข่งกรังด์ปรีซ์มอเตอร์ไซเคิลเรซซิ่ง เป็นการแข่งขันชิงแชมป์ที่สำคัญที่สุดของจักรยานยนต์ทางเรียบ หรือโมโตจีพี ที่ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพในช่วงที่ผ่านมา ซึ่งจะทำให้นักท่องเที่ยวสามารถเข้าร่วมการแข่งขัน และเล่นกีฬาได้ รวมถึงท่องเที่ยวไปในตัวด้วย เพราะเราจะจัดกิจกรรมร่วมกันทั้งการท่องเที่ยวและกีฬา ซึ่งถือเป็นมหกรรมการท่องเที่ยวที่จะได้เห็นแน่นอนในปี 2565

ขณะที่กระทรวงการคลัง ประกาศรักษาสมดุลการบริหารการเงินการคลัง บนการใช้งบฯ ด้านสาธารณสุข ดูแลการแพร่ระบาดของโควิด กับด้านเศรษฐกิจ ออกมาตรการช่วยเหลือและเยียวยาผลกระทบจากโควิดต่อเนื่อง ที่สำคัญขุนคลังประกาศเองว่าปีนี้จะลดสัดส่วนการขาดดุลงบประมาณให้ต่ำลง แต่ยังคงผลักดันจีดีพีให้เติบโตให้ได้ 4%

คงต้องติดตาม…ท้ายที่สุดแล้ว ผลงานเหล่านี้ จะมีศักยภาพเพียงพอผลักดันไทยคว้าจีดีพีโตตามเป้า 4% หรืออาจช้ำ ซ้ำรอยปี 2564 ที่ตั้งจีดีพีไว้โต 4% แต่ไปไม่ถึงหวัง เครื่องยนต์หลายตัวติดๆ ขัดๆ จึงโตแค่ 1% เท่านั้น