AN EDUCATION มีชาถ้วยหนึ่งกับบิสกิตอยู่ข้างนอก/บทความพิเศษ

บทความพิเศษ

มีเกียรติ แซ่จิว

 

AN EDUCATION

มีชาถ้วยหนึ่งกับบิสกิตอยู่ข้างนอก

 

‘เจนนี่’ เด็กสาวนักเรียนชั้นมัธยมปลาย ตำแหน่งเชลโลวงดนตรีเยาวชนของโรงเรียน พ่อแม่คาดหวังให้เธอเรียนต่อออกซ์ฟอร์ด เธอเป็นเด็กหัวดี ครูประจำชั้นเอ็นดูและเป็นที่รักของเพื่อนๆ แต่วิชาภาษาละตินของเธอยังได้คะแนนไม่ดี เธอยังต้องฝึกเขียน อ่าน ท่องจำให้มากกว่านี้ หากเธออยากเข้ามหาวิทยาลัยอันดับหนึ่ง

แต่ทั้งหมดจบลงเมื่อเธอมาพบกับ ‘เดวิด’ หนุ่มวัยฉกรรจ์ ผู้พาเธอออกไปเปิดหูเปิดตา ‘เร็วกว่ากำหนด’ เธอไม่ต้องรอจนเรียนจบมหาวิทยาลัย ไม่ต้องอดหลับอดนอนอ่านหนังสือเตรียมสอบ เธอได้ใช้ชีวิตตามที่ปรารถนา ได้บินไปเที่ยวปารีส ฟังเพลงฝรั่งเศส ดูหนังรางวัล ร่วมงานดินเนอร์ งานประมูลภาพงานศิลปะของศิลปินคนโปรด ได้ทำอะไรต่อมิอะไรที่อยากทำ

รวมถึงเรื่อง ‘แต่งงาน’ ที่เดวิดคุกเข่าขอ ทั้งที่เธออายุเพิ่งจะ 17 ปี

จนกระทั่งเธอมาล่วงรู้ความจริง ‘ภายใต้หน้ากาก’ ของคนที่เธอรักว่าเขาแต่งงานแล้ว และบ้านของเขาก็อยู่แค่ถนนถัดไปไม่ไกลจากบ้านเธอ เธอบากหน้าไปที่บ้านของเขา และพบภรรยาของเขาพร้อมลูกชายวัยหกขวบอีกหนึ่งคน เธอไม่กล้าสู้หน้า แต่ด้วยความเป็นผู้หญิงด้วยกัน อีกฝ่ายจึงรู้ทันที และขอบคุณเธอที่เธอไม่ได้ท้องกับเขา “นี่ไม่ใช่ครั้งแรก”

เธอหัวใจแตกเป็นเสี่ยงๆ กลับมาบ้าน เจ็บปวดที่สุดในชีวิต เธอทิ้งการเรียน ทิ้งทุกสิ่งทุกอย่างเพื่อมาใช้ชีวิตอยู่กับเขา แต่เขาก็หนีหน้าหายไปไม่กล้ามาบอกความจริงให้พ่อแม่เธอรับรู้ว่าเกิดอะไรขึ้น หายไปจากชีวิตของเธอนับจากวันนั้น วันที่ความจริงปรากฏ เธอแทบไม่เหลืออะไรอีกแล้วในตอนนี้ สิ่งเดียวที่เหลืออยู่คือครอบครัวที่ยังอยู่เคียงข้าง

เธอเป็นคนเก่ง ฉลาด แต่เธอไม่เท่าทันคน เธอยังไม่รู้จักคนดีพอ โลกนี้ช่างกว้างใหญ่ ยังอีกยาวไกล

เดวิดอาจจะเป็น ‘มหาวิทยาลัยชีวิต’ ของเธอ แต่มหาวิทยาลัยที่เธอต้องเข้าไปศึกษาเรียนรู้ใช้ชีวิตด้วยตัวเองนั้นก็ใช่จะยาวนานเกินไป อายุเธอยังน้อย ผิดพลาด ล้มลงแล้วลุกขึ้นใหม่ได้ ประสบการณ์จะสอนเธอ และจดจำไว้เป็นบทเรียนว่า โลกนี้ ‘ไม่มีทางลัด’ ไม่มีใครออกแบบชีวิตที่สะดวกสบายพร้อมไว้รอเธอ

เธอต้องออกแบบชีวิตด้วยตัวของเธอเอง

 

แม้เรื่องราวใน AN EDUCATION จะฉายภาพบ้านเมืองทวิกเคนแฮม ลอนดอนในปี 1961 (ปีเดียวกับที่กำแพงเบอร์ลินได้ถูกสร้างขึ้น) ตอนที่ทุกคนยังเขียนจดหมายส่งหากัน ยังไม่มีโทรศัพท์มือถือติดตัว ยังคงพกวรรณกรรมติดกระเป๋า ศึกษาหาข้อมูลในตำราเรียนเป็นส่วนใหญ่

แต่คำถามเดิมๆ จากในภาพยนตร์ ก็ยังคงเป็นโจทย์ที่ถูกถามอยู่เนืองๆ จนถึงปัจจุบันว่า การเรียนยังคงมีความสำคัญอยู่จริงหรือไม่ หากเรียนจบแล้วแต่งงาน ใช้ชีวิตเป็นแม่บ้าน ทำอาหาร เลี้ยงลูก และรอสามีกลับบ้าน

อาจจะเป็นความ ‘ข้างเดียว’ ที่ผู้เขียนยกมาพูด แต่ความจริงก็คือความจริงว่า เรียนจบได้ใบปริญญามาก่อนก็ไม่เสียหายอะไร จากนั้นจะไปทำอะไรต่อ แต่งงานแล้วใช้ชีวิตครอบครัวเป็นแม่บ้านก็ไม่ผิดอะไร หรือจะทำงานหาเลี้ยงตัวโดยไม่แต่งงานก็ไม่ผิดอะไรอีกเช่นกัน (เมื่อมีใบปริญญาติดตัวแล้ว)

แต่อย่างน้อยการเรียนก็ทำให้เราได้รู้จักสังคม ได้มีกลุ่มเพื่อนใหม่ๆ ได้ใช้เวลาช่วงวัยหนึ่งของชีวิตที่จะมีแค่ครั้งเดียวแล้วผ่านไป ดีกว่าปล่อยโอกาสนั้นให้หลุดมือแล้วมานึกเสียใจภายหลัง

หากเราทิ้งขว้างช่วงเวลา 4-6 ปีในมหาวิทยาลัยไป ทิ้งช่วงเวลาที่จะได้รู้จักสังคมและเพื่อนในวัยเดียวกัน ไม่ว่าจะออกไปหาทำงานหรือแต่งงานและใช้ชีวิตที่เหลือนับจากนั้น แต่ ‘ช่องว่าง’ ที่ขาดหายไปตรงนี้ เราต้องยอมรับอย่างตรงไปตรงมาว่ามันจะผ่านเลยไปและไม่หวนกลับมาอีก

เวลานั้นเมื่อเติบใหญ่มากกว่านี้ ลูกเติบโตขึ้น เราแก่ตัวลง อาจจะมานั่งนึกย้อนถึงวันเก่าๆ ช่วงเวลาที่เราน่าจะมีโอกาสได้อยู่ร่วมในเฟรมภาพ แต่เราก็ปล่อยมือจากไป ไม่มีประสบการณ์ร่วมให้ระลึกเหมือนเปิดสมุดภาพวันรับปริญญาที่ไม่มีเราอยู่ตรงนั้น

 

ดีที่ ‘เจนนี่’ ถูกหลอกเร็ว (เพราะเธอเพิ่ง 17) แต่ประสบการณ์ที่น้อยกว่าที่ทำให้เด็กคนหนึ่งต้อง ‘เสียท่า’ เพราะหลงไปกับมายาภาพฉาบฉวยที่โฉบเข้ามาเร็วกว่ากำหนด เดวิดมอบประสบการณ์ที่เจนนี่ได้แต่ฝันว่า “ถ้าฉันเข้ามหาวิทยาลัยได้ จะอ่านสิ่งที่อยากอ่าน จะฟังสิ่งที่อยากฟัง และจะดูภาพเขียน และดูหนังฝรั่งเศส และคุยกับคนที่รู้เรื่องโน้น เรื่องนี้” เดวิดมาพร้อมสิ่งเหล่านั้นที่เจนนี่ต้องการ เท่าทันสิ่งที่เธออยากดื่มด่ำรื่นรมย์ในโลกที่เขาร่ายมนต์และพาเธอหลงเข้าไป

เธอถูกพ่อที่เข้มงวดกวดขันเรื่องการเรียน (จนเธอต้องแอบฟังเพลงฝรั่งเศส) แต่เธอไม่รู้ว่าเพราะอะไร เธอรู้แต่ว่าพ่ออยากให้เธอตั้งใจเรียนเพื่อสอบเข้ามหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด

และเมื่อเดวิดผู้รอบรู้ก้าวเข้ามาในบ้านและ ‘เข้าขา’ ได้ดีกับครอบครัว เขาเป็นคนคุยสนุก มีอารมณ์ขัน ปากหวาน ตอบได้ทุกคำถามที่พ่อเจนนี่อยากรู้ (“ว่าแต่เซนต์จอห์น สมิธสแควร์อยู่ที่ไหน”) และรู้ใจว่าถ้าอยากพาเจนนี่ไปไหนต่อไหนต้องพูดจาหว่านล้อมอย่างไร เดวิดจึงได้ใจคนในครอบครัวไปอย่างง่ายดาย

และเป็นสาเหตุให้เขาพาเจนนี่ออกจากกรอบของพ่อ (ห้ามกลับเกินสี่ทุ่ม) ไปยังสถานที่ต่างๆ ในหลายต่อหลายครั้ง

จะว่าใจเธอเตลิดไปไกลจนกู่ไม่กลับก็คงไม่ผิด เมื่อไม่มีคำตอบในสิ่งที่เธออยากรู้ว่าทำไมต้องเรียนต่อ ในเมื่อเราสามารถใช้ชีวิตและทำสิ่งที่ต้องการได้ทันที

ครั้งหนึ่งตอนที่ครูใหญ่เรียกพบเรื่องที่เลื่องลือไปไกลว่าเธอหมั้นแล้ว ฉากปะทะคารมของ ‘ความไม่รู้และอยากรู้’ ของเด็กกับผู้ใหญ่ ‘ผู้อาบน้ำร้อนมาก่อน’ จึงเป็นอะไรที่น่าหยิบยกมาพูดถึงเป็นอย่างมากในฉากนี้

“ไม่มีใครทำอะไรสำเร็จหรอกถ้าขาดปริญญา…รวมทั้งครูคนอื่นๆ พวกเราคงไม่ได้มานี่ถ้าไม่มีใบปริญญา เธอตระหนักดีและก็แน่นอน การเรียนเป็นเรื่องยากและก็น่าเบื่อ”

“แล้วครูสอนยากน่าเบื่อไหม ฉะนั้นตัวเลือกคือ ทำบางอย่างที่ยากและน่าเบื่อ ไม่ก็แต่งงานกับคนยิวแล้วไปเที่ยวปารีส เที่ยวโรม ฟังแต่เพลงแจ๊ซ กินของดีๆ ในร้านหรูๆ มีความสุข แค่เรียนอย่างเดียวสำหรับเราไม่พอหรอกคุณวอลเตอร์ คุณจะต้องบอกเหตุผลว่าทำไมคุณถึงทำ”

“จริงๆ ไม่จำเป็นต้องสอนอย่างเดียวหรอก รับราชการก็ได้”

“หนูไม่ได้อยากจะโอหังคุณนายวอลเตอร์ แต่โต้แย้งไว้ก่อนจะเป็นไรไป จะรู้ได้ไงเผื่อจะมีคนอยากรู้ประเด็นนี้ขึ้นมาก็ได้”

ใช่ เพราะเธอยังไม่กระจ่างชัดในคำตอบ ประสบการณ์ในชีวิตยังไม่มากพอ เด็กสาวจึงไม่เข้าใจว่าทำไมจึงต้องทนเรียนในสิ่งที่ “ยากและน่าเบื่อ” ในเมื่อชีวิตมีทางลัดให้เลือกเดิน

มองในมุมของผู้อาบน้ำร้อนมาก่อนและเห็นการศึกษาเป็นเรื่องสำคัญ “กระดาษแผ่นเดียว” แผ่นนี้ สามารถใช้เป็นใบเบิกทางในอาชีพการงานในวันข้างหน้าได้อีกมาก

แต่ดูเหมือนว่า พูดไปก็เท่านั้น อารมณ์รักมันก้องกลบหูมากจนเกินจะรับสาระสำคัญ ครูใหญ่จึงไม่มีอะไรจะพูดอีก และเธอก็เดินออกจากห้องไปพร้อมกับสิ่งที่เธอคิด เชื่อ ว่าเป็นเรื่องที่ถูกต้องแล้ว

จนเมื่อมาประสบเข้ากับตัวเอง ไฮไลต์สำคัญของชีวิตที่เธอเคยมองข้ามกลับสะดุดตาขึ้นมาอีกครั้ง เธอเริ่มเข้าใจด้วยตัวเองในสิ่งที่ครูใหญ่เคยเตือนและกำลังจะสูญเสียมันไป เมื่อเธอตัดสินใจลาออก ทิ้งชีวิตกลางคันไปฝากไว้กับคนที่หลอกลวงเธอมาตลอด เธอกลายเป็นคนอย่างที่พ่อเคยพูดเปรียบเปรยว่า

“ถ้าลูกสวยแต่โง่ เขาก็ไม่อยากได้หรอก” เธอกลายเป็นคนนั้นไปแล้วจริงๆ เธอแทบจะกลับตัวกลับใจไม่ทันกับสิ่งที่เกิดขึ้น หากเธอไม่ได้รับโอกาส หากไม่มีใครหยิบยื่นมือมาช่วยเหลือ…

 

ฉากที่ดีที่สุดฉากหนึ่งน่าจะอยู่ตรงนี้ เมื่อพ่อถือถ้วยชาและจานขนมบิสกิตมาเรียกลูกสาวอยู่หน้าห้อง

“เจนนี่ พ่อขอโทษนะ พ่อรู้ว่าพ่อทำให้ทุกอย่างวุ่นวาย พ่อคอยแต่กลัวโน่นกลัวนี่และพ่อไม่อยากให้ลูกกลัว เพราะงั้นถึงอยากให้ลูกไปที่ออกซ์ฟอร์ด จากนั้นเดวิดก็เข้ามา และเขารู้จักนักเขียนชื่อดัง รู้จักไปดูคอนเสิร์ตเพลงคลาสสิค แต่เขาไม่ใช่คนอย่างที่เขาพูด และไม่ใช่คนอย่างที่ลูกบอกด้วย…”

เราจะเห็นว่าพ่อตั้งใจดีมาตลอดเพื่อลูกสาวคนเดียวคนนี้ เขาพร้อมจ่ายเพื่อการศึกษาเล่าเรียนทุกอย่างให้กับลูก ไม่อยากให้ลูกเถลไถล ออกนอกลู่นอกทาง

พอเดวิดมาหว่านล้อมว่าตนรู้จักครูในออกซ์ฟอร์ด ราวกับเป็นใบเบิกทาง เขาก็พร้อม ‘เปิดทาง’ ให้ลูกได้ไปทำความรู้จักซึมซับบรรยากาศก่อนที่จะไปศึกษาต่อ เช่นเดียวกับที่เดวิดอ้างว่ารู้จักนักเขียนชื่อดังอย่าง ซี.เอส.ลิวอิส และอยากพาเจนนี่ที่ชื่นชอบหนังสือเล่มนี้ไปขอลายเซ็นนั่นก็เหมือนกัน เราจะรับรู้ได้ว่า ‘เพื่อลูก’ เขาจึงยอมใจอ่อนให้ไป

และในตอนนี้ที่ลูกกำลังเสียใจ คนเป็นพ่อจึงเจ็บปวดเสียใจยิ่งกว่าที่ไม่สามารถปกป้องลูกตัวเองได้

“…มีชาถ้วยหนึ่งกับบิสกิตอยู่ข้างนอกนะลูก”

เจนนี่ยังนับว่าโชคดีที่เธอมีครอบครัวที่อบอุ่น และครูคนหนึ่งที่ยังเมตตาห่วงใยอาทรลูกศิษย์คนนี้

เธอจึงก้าวข้ามความเสียใจไปได้เร็วกว่าอีกหลายคนที่ไม่ได้มี ‘ชาถ้วยหนึ่งกับบิสกิต’ รออยู่ที่หน้าประตู