โบสถ์วัดโพธิ์รัชกาลที่ 1 ในบันทึกจอห์น ครอว์เฟิร์ด (จบ)/พื้นที่ระหว่างบรรทัด ชาตรี ประกิตนนทการ

ชาตรี ประกิตนนทการ

พื้นที่ระหว่างบรรทัด

ชาตรี ประกิตนนทการ

 

โบสถ์วัดโพธิ์รัชกาลที่ 1

ในบันทึกจอห์น ครอว์เฟิร์ด (จบ)

 

แม้ภาพลายเส้นเจดีย์และโบสถ์ที่ปรากฏในหนังสือ Journal of an Embassy to the Courts of Siam and Cochin China ของ จอห์น ครอว์เฟิร์ด จะระบุคำอธิบายใต้ภาพแรกเพียงว่า A Prah chidi, or Sacred Spire และใต้ภาพที่สองแค่ว่า Siamese Temple โดยมิได้บอกสถานที่ว่าคือวัดใด

แต่ดังที่ได้กล่าวไปแล้วในสัปดาห์ก่อนถึงคุณภาพและความแม่นยำในการเก็บรายละเอียดของภาพพิมพ์ชุดนี้ ทำให้เราสามารถนำภาพไปเทียบเคียงกับสถานที่จริงได้ และจากการเทียบดูทำให้ผมมีสมมุติฐานว่า ทั้ง 2 ภาพน่าจะเป็นสถาปัตยกรรมของวัดโพธิ์

ด้วยเหตุผลดังต่อไปนี้

ภาพแรก คือภาพลายเส้น “เจดีย์ทรงเครื่อง” ซึ่งเมื่อพิจารณาจากรายละเอียดทางสถาปัตยกรรมพบว่าตรงกับพระมหาเจดีย์ศรีสรรเพชญดาญาณทั้งหมด

อย่างไรก็ตาม เพียงแค่นี้ย่อมไม่พอต่อการระบุได้เนื่องจากเจดีย์รูปทรงนี้นิยมทำโดยทั่วไปในยุคต้นรัตนโกสินทร์ แต่รายละเอียดที่ช่วยระบุว่าเป็นวัดโพธิ์ได้ชัดเจน คือ ในภาพมีการเขียนอาคารรูปทรงคล้ายพระระเบียงล้อมรอบองค์พระเจดีย์เอาไว้ 3 ด้านซึ่งตรงกับจารึกสมัยรัชกาลที่ 1 ที่ระบุว่า

“…ตรงพระวิหารทิศตวันตกออกไปให้ขุดรากพระเจดีย์ใหญ่กว้างสิบวาลึกห้าศอก…แล้วก่อสืบต่อไปจนสำเรจ์ยกยอดสูงแปดสิบสองศอกกระทำพระระเบียงล้อมสามด้าน ผนังนั้นเขียนนิยายรามเกรียรติ์จึงถวายนามพระมหาเจดีย์ศรีสรรเพชญดาญาณ…”

ส่วนภาพที่สอง คือภาพสำคัญที่เป็นประเด็นของบทความนี้ ในภาพปรากฏลายเส้นของโบสถ์หลังหนึ่ง ซึ่งจากภาพเห็นได้ชัดว่ามีแผนผังอาคารเป็นแบบมีเฉลียงทางด้านหน้า โดยแบ่งเป็น 3 ช่วงเสา

เสาทำเป็นเสาเหลี่ยมย่อมุมไม้สิบสอง หัวเสาเป็นบัวจงกลย่อเหลี่ยมและมีคันทวยโดยรอบ โดยหลังคาเป็นทรงจั่ว คลุมด้วยปีกนกสองชั้นทางด้านหน้า

เครื่องบนประดับช่อฟ้า นาคสะดุ้ง ใบระกา หางหงส์ ส่วนลายหน้าบันทำเป็นรูปพระอินทร์ทรงช้างเอราวัณ ซุ้มประตูทางเข้ามี 3 ประตู โดยซุ้มประตูกลางเป็นยอดทรงมณฑป ส่วนซุ้มด้านข้างทั้ง 2 ข้างเป็นซุ้มทรงบันแถลง

รายละเอียดของภาพยังแสดงให้เห็นซุ้มเสมารอบโบสถ์เป็นลักษณะซุ้มเจดีย์ 5 ยอด ถัดออกไปเป็นกำแพงแก้วที่กรุด้วยกระเบื้องปรุ

จากรายละเอียดดังกล่าว หากนำไปเทียบเคียงกับงานสถาปัตยกรรมไทยในยุคสมัยเดียวกันก็สามารถสันนิษฐานได้ว่าอาคารหลังนี้ หากมองจากด้านยาว คงจะมีหลังคาจั่วซ้อน 3 ชั้น ชั้นละ 3 ตับหลังคา

ภาพนี้มีนักวิชาการบางท่านเสนอว่า เป็นภาพโบสถ์วัดพระแก้วสมัยรัชกาลที่ 1 เมื่อครั้งที่ยังมีลายหน้าบันเป็นรูปพระอินทร์ทรงช้างเอราวัณ ตามที่ได้มีบันทึกไว้ในคัมภีร์ “สังคีติยวงศ์” รวมถึงรายละเอียดซุ้มเสมาทรงเจดีย์ 5 ยอดที่สอดคล้องกับที่ปรากฏในวัดพระแก้ว

แต่ผมกลับมีความเห็นแย้งว่า ภาพนี้ไม่น่าจะเป็นโบสถ์วัดพระแก้ว เพราะรายละเอียดทางสถาปัตยกรรมของโบสถ์วัดพระแก้วกับที่ปรากฏในภาพนี้ไม่ตรงกันหลายจุด

ไม่ว่าจะเป็นจำนวนการซ้อนชั้นปีกนกหลังคาของวัดพระแก้วที่ซ้อน 3 ชั้น ขณะที่ในภาพซ้อนเพียง 2 ชั้น และซุ้มประตูทางเข้าโบสถ์วัดพระแก้วที่ทำเป็นซุ้มยอดมณฑปทั้ง 3 ประตู ขณะที่ในภาพมีเพียงประตูกลางเท่านั้นที่เป็นยอดทรงมณฑป

ที่สำคัญ แผนผังโบสถ์วัดพระแก้วเป็นแบบมีเฉลียงรอบ ขณะที่ในภาพเป็นแบบมีเฉลียงหน้าหลัง อีกทั้งจำนวนเสาด้านหน้าโบสถ์วัดพระแก้วมี 6 ต้น ขณะที่ในภาพมีเพียง 4 ต้น รวมถึงผนังภายนอกโดยรอบโบสถ์วัดพระแก้วสมัยรัชกาลที่ 1 จะเขียนเป็นลายพุ่มข้าวบิณฑ์

ขณะที่ในภาพผนังอาคารไม่ปรากฏว่ามีการเขียนลวดลายใดๆ

 

ส่วนประเด็นการสร้างซุ้มเสมาทรงเจดีย์ 5 ยอดนั้น แน่นอนว่าเป็นสิ่งพิเศษที่แสดงให้เห็นถึงสถานะของวัดว่าคงมีเพียงวัดหลวงที่สำคัญเท่านั้นที่จะทำได้

จากหลักฐานที่มีอยู่ การสร้างซุ้มแบบนี้ นอกจากวัดพระแก้วแล้ว ซุ้มเสมาวัดบางหว้าใหญ่ (วัดระฆังโฆษิตาราม) ซึ่งเป็นวัดสำคัญสมัยรัชกาลที่ 1 เช่นกัน ก็มีรูปแบบเดียวกัน

แต่กระนั้น ภาพนี้ก็ไม่น่าจะใช่วัดบางหว้าใหญ่เช่นกัน เพราะรูปแบบโบสถ์วัดบางหว้าใหญ่มีความแตกต่างจากภาพลายเส้นของครอว์เฟิร์ดหลายจุด

ดังนั้น โบสถ์ของวัดไหนเล่าที่จะมีสถานะสูงมากพอที่จะสร้างซุ้มเสมายอดเจดีย์ 5 ยอดได้ นอกจากวัดโพธิ์ที่สถาปนาขึ้นโดยรัชกาลที่ 1 และถูกยกย่องต่อมาให้เป็นเสมือนวัดประจำรัชกาล

 

ยิ่งไปกว่านั้น หากเราอ่านบันทึกของครอว์เฟิร์ดเมื่อมาเยี่ยมชมวัดโพธิ์ต่อไป จะเห็นว่ามีเนื้อความสอดคล้องกัน โดยในบันทึกแม้จะไม่ได้ระบุอย่างชัดเจนว่ายอดซุ้มเสมามีจำนวน 5 ยอด แต่ก็ระบุเอาไว้ว่าซุ้มเสมาวัดโพธิ์มีลักษณะเป็นยอดแหลมแบบทรงเจดีย์ ที่อาจเทียบเคียงได้กับภาพดังกล่าว

นอกจากประเด็นนี้ รายละเอียดภาพส่วนอื่นยังสอดคล้องกับจารึกวัดโพธิ์รัชกาลที่ 1 ที่ระบุว่า ถัดออกไปจากซุ้มเสมามีการสร้างกำแพงแก้วกรุกระเบื้องปรุ ซึ่งก็ตรงกับที่ปรากฏในภาพของครอว์เฟิร์ด

สำคัญที่สุดคือ ภาพนี้ถูกตีพิมพ์ในบทที่ไปเที่ยวชมวัดโพธิ์โดยตรง แน่นอนว่า ในบทนี้ครอว์เฟิร์ดได้บันทึกการเยี่ยมชมสถานที่อื่นด้วยอีกหลายแห่งไม่ใช่แค่เพียงวัดโพธิ์ เช่น วัดสุทัศน์, โบสถ์พราหมณ์, วัดราชโอรส, วังพระเจ้ากรุงธนบุรี เป็นต้น

แต่หากเรานำสถานที่เหล่านั้นมาเทียบกับภาพนี้ ก็จะเห็นว่าไม่มีสถานที่ใดเลยที่จะมีลักษณะสอดคล้องกับภาพนี้มากไปกว่าวัดโพธิ์

เหตุผลทั้งหมดที่กล่าวมา ทำให้ผมสรุปว่า ภาพลายเส้นนี้จะเป็นโบสถ์ของวัดใดไม่ได้เลย นอกเสียจากวัดโพธิ์

 

หากข้อเสนอนี้ถูกต้อง ภาพนี้จะกลายเป็นหลักฐานชิ้นเดียวที่แสดงรูปร่างหน้าตาของโบสถ์วัดโพธิ์สมัยรัชกาลที่ 1

และหากนำภาพนี้ไปประกอบหลักฐานที่เหลืออยู่ตามที่อธิบายมาก่อนหน้านี้ ก็จะทำให้เราสามารถสันนิษฐานหน้าตาของโบสถ์หลังนี้ได้อย่างสมบูรณ์ขึ้น ดังต่อไปนี้ (ดูรูปประกอบ)

โบสถ์คงมีแผนผังเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าแบบมีเฉลียงด้านหน้าและด้านหลัง ขนาดความกว้างประมาณ 12 เมตร ตามที่สำเนาจารึกการปฏิสังขรณ์สมัยรัชกาลที่ 3 ระบุว่าความกว้างของเสาร่วมในโบสถ์ปัจจุบันคือแนวผนังโบสถ์เดิม

โดยแบ่งออกเป็น 3 ช่วงเสา ซึ่งหากนำมากำหนดสัดส่วนตามทรวดทรงสถาปัตยกรรมไทย ก็อาจแบ่งระยะช่วงเสากลางได้กว้างประมาณ 5 เมตร ส่วนช่วงเสาด้านข้างทั้ง 2 ข้าง กว้างช่วงละประมาณ 3 เมตร

ส่วนความยาวของโบสถ์ คงประมาณ 25 เมตร ซึ่งคิดตามระยะที่น่าจะเป็นจากข้อความในสำเนาจารึกสมัยรัชกาลที่ 3 ประกอบกับสัดส่วนที่ควรจะเป็นตามรูปแบบงานสถาปัตยกรรมไทย

ดังนั้น รูปด้านยาวน่าจะแบ่งออกได้เป็น 7 ห้อง โดยแต่ละห้องกว้างประมาณ 3.5 เมตร ห้องบริเวณส่วนหัวและท้ายเป็นเฉลียงโล่ง ส่วน 5 ห้องตรงกลางคือส่วนภายในโบสถ์

เสาโบสถ์ทำเป็นเสาเหลี่ยมย่อมุมไม้สิบสอง หัวเสาเป็นบัวจงกลย่อเหลี่ยมมีคันทวยรับโดยรอบ หลังคาเป็นหลังคาจั่วซ้อน 3 ชั้น ชั้นละ 3 ตับหลังคา ด้านหน้าและหลังคลุมด้วยปีกนกสองชั้น หลังคามุงด้วยกระเบื้องเคลือบสีเขียวสลับเหลือง

เครื่องบนเป็นแบบเครื่องลำยอง หน้าบันทำเป็นรูปพระอินทร์ทรงช้างเอราวัณ ซุ้มประตูทางเข้าโบสถ์มี 3 ประตูโดยซุ้มประตูกลางเป็นยอดทรงมณฑป ส่วนซุ้มประตูด้านข้างทั้ง 2 ข้างเป็นซุ้มทรงบันแถลง

โดยรอบโบสถ์ ห่างออกไปประมาณ 4 เมตร คือ ซุ้มเสมา (ระยะนี้ทราบได้จากสำเนาจารึกการปฏิสังขรณ์สมัยรัชกาลที่ 3 ระบุว่าแนวผนังโบสถ์ปัจจุบันคือแนวตำแหน่งซุ้มเสมาเดิม) ออกแบบเป็นซุ้มทรงเจดีย์ 5 ยอด

ถัดออกไปจากแนวซุ้มเสมาประมาณ 3 เมตร คือ แนวกำแพงแก้วกรุกระเบื้องปรุ (ระยะนี้ทราบได้จากสำเนาจารึกการปฏิสังขรณ์สมัยรัชกาลที่ 3 ระบุว่าแนวเสาเฉลียงโดยรอบโบสถ์ปัจจุบันคือแนวตำแหน่งกำแพงแก้วเดิม)

จากการสันนิษฐานข้างต้น ทำให้ผมพบว่า รูปแบบโบสถ์วัดโพธิ์สมัยรัชกาลที่ 1 มีความใกล้เคียงกับโบสถ์วัดเลียบ (วัดราชบุรณะ) หลังเดิม และโบสถ์วัดสุวรรณดาราราม จังหวัดพระนครศรีอยุธยา เป็นอย่างมากทั้งรูปแบบแผนผังที่มีเฉลียงด้านหน้าและด้านหลัง รวมไปถึงรูปทรงหลังคาและการซ้อนชั้น

ในขณะที่รูปแบบสันนิษฐานนี้ไม่มีความคล้ายคลึงเลยกับโบสถ์วัดสระเกศที่มีแผนผังเป็นแบบมีเฉลียงรอบอาคาร ตามพระวินิจฉัยเดิมของสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ที่ได้รับการอ้างอิงและยอมรับมาโดยตลอดระยะเวลาหลายสิบปีที่ผ่านมา