คานธีจี/นิธิ เอียวศรีวงศ์

นิธิ เอียวศรีวงศ์

นิธิ เอียวศรีวงศ์

 

คานธีจี

 

ผมเพิ่งจบ Indian Summer ฉบับแปลของคุณสุภัตรา ภูมิประภาส และก็เหมือนหนังสือแปลเล่มอื่นของคุณสุภัตรา คืออ่านสนุกเสมอ และได้ความรู้อย่างไม่ทันรู้ตัว

แต่ตัวละครที่ทำให้ผมต้องหวนคิดถึงอย่างมากในงานแปลเล่มนี้ กลับเป็นแค่ตัวประกอบ คือคานธี อันเป็นวีรบุรุษของผมมานานตั้งแต่ยังเด็ก แม้ได้เรียนรู้อะไรเกี่ยวกับตัวท่านมากขึ้นสักเพียงไร ก็ยังอดเคารพนับถือเป็นอย่างสูงสืบมาไม่ได้ (ในขณะที่ทิ้งวีรบุรุษสมัยเด็กไว้ข้างทางเป็นอันมาก)

แม้กระนั้น ผมก็เชื่อว่า หนังสือแปลเล่มนี้อาจทำให้คนไทยบางคนที่เคยเคารพนับถือคานธีอ่านแล้ว ชักจะลังเล เพราะภาพของคานธีที่คนไทยคุ้นชิน เป็นภาพที่สอดประสานกันอย่างดีระหว่างศีลธรรมกับความสำเร็จทางการเมือง ตรงกับความใฝ่ฝันหา “คนดี” เข้ามามีอำนาจในการเมืองไทยพอดี แต่หนังสือเล่มนี้ก็ทำให้เห็นว่า ศีลธรรมของคานธีอาจไม่นำความสำเร็จทางการเมืองมาก็ได้ และยิ่งมองลึกกลับไปในประวัติศาสตร์การดิ้นรนสู่อิสรภาพของอินเดีย จะกล่าวว่าคานธีมีส่วนทำให้อินเดียขาดเอกภาพก็ได้ จนกระทั่งเมื่ออังกฤษจากไป บริติชอินเดียต้องแยกออกเป็นสองประเทศ (และสามในเวลาต่อมา)

และที่ยิ่งกว่าอะไรอื่น ในบางตอนหนังสืออาจนำเราไปสู่คำถามว่า สิ่งที่คานธีเห็นว่าเป็นศีลธรรมนั้นเป็นศีลธรรมจริงหรือ

 

ในเมืองไทย เรามักพูดกันอย่างง่ายเกินไปว่า คานธีคือผู้นำการกอบกู้เอกราช และด้วยเหตุดังนั้นจึงมีนัยยะด้วยว่า หากไม่มีคานธี อินเดียก็จะไม่ประสบความสำเร็จในการกู้เอกราช

กระบวนการดิ้นรนสู่อิสรภาพในอินเดียเริ่มมาก่อนที่คานธีจะกลับจากแอฟริกาใต้นานแล้ว และมีความสลับซับซ้อนกว่าการกู้เอกราชของพระนเรศวรในประวัติศาสตร์นิพนธ์ไทยอย่างเทียบกันไม่ได้ (ที่จริงคำว่า “กู้เอกราช” หรือ “กู้ชาติ” ก็เป็นคำที่เกิดหลังพระนเรศวรหลายร้อยปี เช่นเดียวกับเกิดหลัง “กบฏซีป่อย” ที่มักถือกันว่าเป็นจุดเริ่มต้นของการเคลื่อนไหวสู่อิสรภาพของอินเดียเช่นกัน)

อิสรภาพของอินเดียกอบกู้กลับคืนมาได้ด้วยบุคคลอื่นอีกมาก ทั้งที่เคารพนับถือคานธี หรือที่เป็นปฏิปักษ์ต่อท่านตลอดชีวิต มีการกระทำหลายอย่างหลายชนิด บ้างก็ด้วยเจตนาให้อังกฤษประสบความยุ่งยากในการปกครองอินเดีย บ้างก็ด้วยเจตนาอื่นที่ไม่เกี่ยวกับอังกฤษโดยตรง เช่น “กบฏชาวนา” ซึ่งเกิดขึ้นเสมอมา ที่รู้ว่ากำลังต่อสู้กับอังกฤษก็มี ที่ไม่สนใจมากไปกว่าสู้กับเจ้าที่ดินหรือเจ้าภาษีหรือมหาราชาของรัฐเจ้าฟ้าก็มี (แต่ถึงอย่างไรก็กระเทือนต่ออำนาจของอังกฤษอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้)

การอดอาหาร, สวาเทษี (ใช้ผลิตภัณฑ์พื้นบ้านในการดำรงชีวิต), การดื้อแพ่ง ฯลฯ เป็นเพียงส่วนหนึ่งของการเคลื่อนไหวเท่านั้น และย่อมไม่ “แฟร์” เลย ถ้าไม่นับคนอย่างสุภาส จันทรโพส ซึ่งเป็นอริกับแนวทางอหิงสาแบบคานธีว่าเป็นส่วนหนึ่งของการก้าวสู่อิสรภาพของอินเดีย

สาเหตุสำคัญ (ที่สุดกระมัง) ที่อังกฤษยอมออกจากอินเดียเมื่อหลังสงครามโลกครั้งที่สองก็เพราะอังกฤษถังแตก ไม่มีทางที่อังกฤษจะเผชิญกับการต่อต้านด้วยวิธีหิงสาหรือความรุนแรงอย่างกว้างใหญ่ไพศาลได้อีก แม้สุภาสประสบความล้มเหลว แต่แนวทางการต่อสู้ด้วยความรุนแรงซึ่งไม่เคยขาดหายไปในขบวนการกู้อิสรภาพของอินเดียก็ยังอยู่ หนทางแบบสุภาส แต่มีสหภาพโซเวียตหนุนหลัง แทนที่จะเป็นญี่ปุ่น จะน่ากลัวกว่าสักเพียงไร อังกฤษจะสามารถ “ลงทุน” ได้สักเท่าไรในการปราบปราม จะออกจากอินเดียอย่างซมซาน หรืออย่างมีศักดิ์ศรี

 

ปราศจากคานธี อินเดียก็คงกอบกู้อิสรภาพของตนคืนจากอังกฤษจนได้ แต่ปราศจากคานธี ผู้นำการกอบกู้อิสรภาพอาจไม่ใช่พรรคคองเกรส (ซึ่งได้ครองอำนาจภายหลังได้เอกราชแล้วสืบมาอีกหลายสิบปี) เพราะก่อนที่คานธีจะเข้ามาเกี่ยวข้องกับการเมืองอินเดีย พรรคคองเกรสประกอบด้วยแกนนำซึ่งเป็นผู้มีการศึกษาระดับสูง ทำมาหากินกับระบอบอาณานิคมของอังกฤษ อาจเป็นผู้พิพากษาในศาลยุติธรรมแบบใหม่ หรือเป็นทนายความในศาลเดียวกัน ถึงคนที่เป็นอิสระจากระบอบ ก็เพราะอังกฤษช่วยรักษาอภิสิทธิ์ตามประเพณีเอาไว้ให้ จึงมีทั้งอำนาจทางสังคม-วัฒนธรรมและความมั่งคั่งทางวัตถุ

เมื่อคนเหล่านี้เรียกร้องสิทธิกับอังกฤษมากขึ้น อังกฤษจึงเรียกคนเหล่านี้ว่าพวก “บาบู” ประกอบด้วยคนวรรณะสูงที่ได้เรียนหนังสือไปไกลและอยู่ในกลุ่มวิชาชีพ อันประกอบขึ้นเป็นคนส่วนน้อยของสังคมอินเดีย ก็คนเหล่านี้นี่เองที่เอารัดเอาเปรียบสามัญชนคนเดินดินในอินเดียมาตลอดประวัติศาสตร์ แม้แต่ในการประชุมประจำปี คองเกรสยังต้องประชุมกันด้วยภาษาอังกฤษ ดังนั้นถ้าถอดความยุติธรรมและสันติของอังกฤษออกไป ก็เท่ากับเปิดให้คนเหล่านี้เอารัดเอาเปรียบคนอินเดียส่วนใหญ่ต่อไปเท่านั้น

แน่นอนนี่เป็นคำแก้ตัวของระบอบปกครองที่ขาดความชอบธรรมทุกระบอบ – “ไม่มีกู พวกมึงก็กินกันและกันจนฉิบหายไปเอง” แต่มันฟังขึ้นแก่ชาวอินเดียส่วนใหญ่ โดยเฉพาะมุสลิมและจัณฑาล และช่วยซ่อนเร้นการขูดรีดของระบอบอาณานิคมมิให้สามัญชนอินเดียมองเห็นไปพร้อมกัน

พรรคคองเกรสไม่สามารถเป็นพรรคมวลชนได้ ถ้าไม่มีคานธี และถ้าไม่มีมวลชนหนุนหลัง พรรคคองเกรสก็ไม่มีพลังอะไรจะไปต่อรองกับอังกฤษ สถานะพิเศษอันนี้ต่างหากที่ทำให้คานธีเป็นที่ยอมรับของผู้นำพรรคคองเกรสส่วนใหญ่ นับตั้งแต่มีคานธี พรรคก็สามารถดำเนินงานทางการเมือง โดยสอดประสานไปกับการเคลื่อนไหวของมวลชนมหึมาได้ แต่เท่าที่ผมเข้าใจ มวลชนไม่ได้เคลื่อนไหวตาม “วาระ” ของพรรค หากเคลื่อนไหวไปตาม “วาระ” ของคานธีต่างหาก เหตุดังนั้น คานธีจึงไม่จำเป็นต้องเป็นผู้นำพรรคคองเกรสเอง แต่เป็นผู้กำหนด “วาระ” ให้พรรคเดินตามได้ (เกือบ) ตลอดมา

สถานะนี้ได้มาจากไหน ผมคิดว่าได้มาจากความเป็นมหาตมะหรือจิตวิญญาณอันยิ่งใหญ่ครับ พูดอีกอย่างหนึ่งก็คือการยึดติดอยู่กับวัฒนธรรมชาวบ้าน โดยเฉพาะมิติด้านความเชื่อทางศาสนา ฟังดูระคายหูนะครับ เพราะเหมือนผมกำลังพูดว่า ทั้งหมดที่คานธีทำเป็นเพียงชั้นเชิงทางการเมือง เพื่อผูกความภักดีของสามัญชนไว้เท่านั้นเอง แต่ผมไม่กล้าพูดถึงขนาดนั้นหรอกครับ เพราะแม้ในยามที่อิทธิพลทางการเมืองของท่านในพรรคคองเกรสลดลงแล้ว (เช่น ในช่วงที่หนังสือของคุณสุภัตราบรรยายถึง) ท่านก็ยังดำเนินวัตรปฏิบัติที่มีความหมายทางศาสนาสืบมาอย่างเคร่งครัด

ผมต้องการพูดแต่เพียงว่า ไม่ว่าวัตรปฏิบัติของท่านจะมีความหมายทางศาสนาอย่างไรก็ตาม แต่มันมีความหมายทางการเมืองแน่ มากเสียด้วย หรือแม้แต่พฤติกรรมทางการเมืองของท่านเอง ก็มีนัยยะทางศาสนาให้สามัญชนคนธรรมดาเข้าใจได้เสมอ

 

ผมขอยกตัวอย่างการกระทำทางการเมืองที่มีชื่อเสียงของท่าน คือการอดอาหารประท้วง แท้จริงแล้วเป็นประเพณีการประท้วงที่ทำกันเป็นปรกติในรัฐคุชราตอันเป็นบ้านเกิดของท่าน ใครที่ถูกละเมิดอย่างไม่เป็นธรรมจากคนอื่น (เช่น ไม่ยอมจ่ายหนี้) ก็อาจหอบเสื่อ และกาน้ำไปวางนอนหน้าบ้านของผู้ละเมิดตน ประกาศว่าจะอดอาหารจนกว่าลูกหนี้จะยอมชดใช้หนี้ ความทุกข์ทรมานของผู้ประท้วงยิ่งประจักษ์แก่ตาผู้คนมากเท่าไร แรงกดดันของสังคมต่อลูกหนี้ก็แรงขึ้นเท่านั้น ถ้าถึงกับผู้ประท้วงได้รับอันตรายต่อชีวิต ลูกหนี้ที่พยายามจะเบี้ยวหนี้ก็กลายเป็นยักษ์มารที่ไม่มีใครคบหาสมาคมด้วยอีกเลย

ทุกครั้งที่คานธีอดอาหาร จึงเป็นการประกาศความไม่ชอบธรรมของอังกฤษ ประกาศโดยไม่ต้องอ้างหลักการแบบตะวันตกซึ่งชาวบ้านอาจไม่เข้าใจด้วย แต่ด้วยการกระทำพื้นๆ นี้เอง รัฐบาลอาณานิคมก็กลายเป็นโจรไปในสายตาของประชาชนทันที ประสิทธิภาพทางการเมืองของการอดอาหาร จึงมีพื้นฐานอยู่บนวัฒนธรรมอินเดียเอง

แม้ประชาชนนอกรัฐคุชราตอาจไม่มีประเพณีเดียวกันนี้ แต่การทำความยากลำบากให้ตนเอง ซึ่งชาวคริสต์เรียกว่า penance ก็ถือเป็น “บุญกิริยา” ในทุกศาสนา แม้ในศาสนาที่ไม่ได้เชื่อเรื่อง “บาปกำเนิด” อย่างคริสต์ศาสนาก็ตาม ผมจึงขอแปลคำ penance ว่า “คุรุกรรม” คือการกระทำอันยากลำบาก ที่พระภิกษุในพุทธศาสนาถูกห้ามมิให้บริโภคกาม (ไม่ใช่เรื่องนั้นเรื่องเดียว แต่รวมถึงความสุขความพอใจทางเนื้อหนังมังสาอื่นๆ เช่น ดูละครฟ้อนรำก็เป็นกามบริโภคอย่างหนึ่ง) ก็คือคุรุกรรมอีกชนิดหนึ่งที่นักบวชในทุกศาสนาต้องธำรงไว้ อาจเป็นเรื่องอื่นที่ไม่เกี่ยวกับกามก็ได้ เช่นสวมเครื่องนุ่งห่มที่ไม่มีการประดับประดา เป็นต้น (หรือแก้ผ้าเลยก็เป็นคุรุกรรมอย่างหนึ่ง… ไม่เชื่อก็ลองดู)

ดังนั้น เมื่ออังกฤษจับท่านขังคุก แทนที่จะเปลี่ยนท่านเป็นไอ้ขี้คุก กลับทำให้ท่านกลายเป็นนักบุญเพราะได้ผ่านคุรุกรรมมาอย่างหนัก

 

และขอให้สังเกตด้วยว่า การอดอาหารไม่ได้ทำให้ปรปักษ์บาดเจ็บทางร่างกาย ดังนั้น มันจึงเป็น “อหิงสา” คือไม่เบียดเบียนใคร แต่มนุษย์ยังมีร่างกายอื่นๆ นอกจากร่างกายทางชีววิทยาด้วยไม่ใช่หรือ ในกรณีนี้คือร่างกายทางสังคมซึ่งถูกทำลายป่นปี้ ด้วยการกระทำที่อ้างว่าไม่ใช้ความรุนแรง นี่เป็นข้อโจมตีที่ศัตรูของคานธีมักใช้เสมอ แต่สานุศิษย์ของคานธีก็ชี้ว่า ความอยุติธรรมทำร้ายร่างกายทางจิตวิญญาณของเขา หากใช้การประท้วงด้วยอหิงสาจนเขายุติการกระทำที่ไม่เป็นธรรมนั้น ก็เท่ากับกอบกู้ร่างกายทางจิตวิญญาณของเขาให้ฟื้นคืนมา

พูดตามความเชื่อทางศาสนาฮินดู ร่างกายทางจิตวิญญาณย่อมมีพลังเหนือร่างกายอื่นทั้งสิ้น เมื่อร่างกายทางจิตวิญญาณฟื้นพลังขึ้นมาได้ ร่างกายทางสังคมที่ยับเยินไปก็จะฟื้นคืนกลับมาได้ในที่สุด

อย่างไรก็ตาม ตลอดทางการต่อสู้กับอังกฤษด้วยวิธีอหิงสา มีคนอินเดียต้องเสียชีวิตไปมากมาย ทั้งในคุกและนอกคุก ไม่ใช่เฉพาะในกรณีที่ผู้ประท้วงละทิ้งแนวทางอหิงสา แต่ก่อจลาจลทำร้ายทรัพย์สินหรือทำร้ายเจ้าหน้าที่รัฐเท่านั้น แม้แต่ที่ยึดมั่นแนวทางอหิงสาอย่างมั่นคงก็อาจตายได้ ผู้นำคองเกรสจำนวนหนึ่งพิการไปตลอดชีวิตเพราะถูกตำรวจอินเดียตีด้วยลาธิหรือไม้พลองแขกยาม แม้กระนั้นคานธียังสอนสาวกว่า แม้แต่การยกแขนขึ้นป้องกันตนจากไม้พลองที่ฟาดลงมา ก็ยังเป็นความรุนแรงอย่างหนึ่ง ต้องยืนเฉยๆ ปล่อยให้เขาตีตามสะดวก

อธิบายด้วยสันติวิธีในการต่อสู้ในสมัยใหม่ การยกแขนขึ้นป้องกันตนเองหรือการเคลื่อนไหวร่างกาย ทำให้ฝ่ายปราบปรามตระหนก รู้สึกในความไม่ปลอดภัยของตนเอง จึงยิ่งต้องทำร้ายหนักขึ้นไปอีก การทำให้ฝ่ายก่อความรุนแรงรู้สึกปลอดภัยอย่างเต็มที่ ย่อมสยบความรุนแรงของเขาลงได้ จะมากน้อยแค่ไหนก็แล้วแต่บุญแต่กรรมของผู้ปฏิบัติอหิงสาล่ะครับ

 

ผมจึงอดรู้สึกไม่ได้เสมอว่า อหิงสาหมายถึงความตาย ไม่ใช่ความตายของศัตรูนะครับ แต่คือความตายของผู้ปฏิบัติอหิงสาเอง ความตายคือการปฏิบัติอหิงสาขั้นสูงสุด ตามความเข้าใจของผม ความตายในทุกศาสนาอาจเป็นคุรุกรรมที่สังเวยพระเจ้าหรือสังเวยธรรมะ (เช่น นิพพานของพระโมคคัลลาน์) ความตายจึงเป็น passion อันยิ่งใหญ่ลึกซึ้งทางศาสนา ไม่เฉพาะแก่พระเยซูเท่านั้น แต่แก่ศาสนิกทุกศาสนาที่อุทิศตนอย่างถึงที่สุดแก่เป้าหมายทางศาสนา

ผมไม่รู้ว่าจะแปล passion ตรงนี้เป็นไทยได้อย่างไร แต่รากศัพท์ของคำนี้หมายถึงการทนทุกข์ทรมาน เมื่อ passion ทางศาสนาเช่นนี้หายไปหรือเจือจางไปในโลกปัจจุบันเสียแล้ว การปฏิบัติอหิงสาอย่างคานธีก็อาจไปได้ไม่ไกลเท่าไรนัก เพราะสันติวิธีของคานธี ไม่ใช่ยุทธวิธีในการต่อสู้ แต่เป็นเป้าหมายในตัวของมันเองมาตั้งแต่ต้น ไม่ว่าจะแพ้หรือชนะ

ขอย้ำอีกครั้งว่า นี่ไม่ใช่คำอธิบายของท่านมหาตมะนะครับ แต่เป็นความรู้สึกของผมเอง แม้กระนั้นตลอดชีวิตของคานธี ท่านก็ถูกโจมตีทั้งจากคู่อริและสาวกเสมอว่า แนวทางของท่านเป็นอุดมคติที่ขาดความเป็นไปได้ในทางปฏิบัติ หรือไม่มีผลให้ปัญหาที่แท้จริงได้รับการแก้ไขปรับปรุง

 

หนังสือเล่มที่คุณสุภัตราแปลนี้ยกคำกล่าวของเนห์รู ซึ่งเป็นสานุศิษย์สำคัญของคานธี ที่กล่าวกับลอร์ดหลุยส์ เมานท์แบตเตน ว่า คานธีพกยาหม่องไปทานวดให้ผู้คนที่บาดเจ็บขัดยอกทั่วประเทศ แต่ไม่เคยแก้ปัญหาเชิงโครงสร้างอันเป็นเหตุให้เกิดความบาดเจ็บป่วยไข้นั้น

คานธีจะเป็นอย่างนั้นจริงหรือไม่ ยกไว้ก่อน แต่ปัญหาเรื่อง “ปฏิบัติได้จริง” กับ “อุดมคติหรือหลักการสูงส่ง” เป็นเรื่องที่ถูกยกมากล่าวอ้างกันเสมอ โดยเฉพาะทางการเมือง เวลานี้ในเมืองไทยก็มีพรรคการเมืองที่อ้างว่าเขาเป็นพวก “ปฏิบัตินิยม” (อันที่จริงคุณคึกฤทธิ์ ปราโมช เคยบัญญัติศัพท์ “สัมฤทธิคตินิยม” แก่คำว่า pragmatism ฟังดูดีกว่า แต่คงไม่เป็นที่นิยม) เพื่อทำให้พรรคที่ตนเห็นว่าเป็นคู่แข่งมีแต่อุดมคติที่ไม่มีทางจะบรรลุผลได้ในความเป็นจริง

แต่ระหว่าง “ปฏิบัติได้จริง” กับ “อุดมคติ” เป็นสองเรื่องที่แยกจากกันได้เด็ดขาดจริงหรือ? ผมคิดว่าไม่จริง อย่างที่เนห์รูกล่าวแหละครับ ปฏิบัติได้อาจเป็นแค่ยาหม่องที่ไม่อาจแก้ปัญหาให้เด็ดขาดก็ได้ คุณจะชูสองนิ้ว โดยไม่ชูนิ้วที่สามก็ได้ แต่มันจะ “จบที่รุ่นเรา” ได้จริงหรือ นิ้วที่สามมีประโยชน์ในเชิงปฏิบัติ หรือเป็นแค่อุดมคติเฉยๆ กันแน่

ประวัติการเคลื่อนไหวสู่อิสรภาพของอินเดียมีความสลับซับซ้อนมากกว่ามหาตมะคานธี แม้ว่าท่านมีความสำคัญแน่ แต่เราไม่อาจย่นย่อประวัติศาสตร์อินเดียให้เหลือแต่กฤษฎาภินิหารของคานธีได้ เป็นเพราะประเพณีการเขียนหรือเล่าประวัติศาสตร์ (ที่เรียกว่าประวัติศาสตร์นิพนธ์) แบบไทย ที่อธิบายประวัติศาสตร์ด้วยตัวบุคคลเพียงอย่างเดียวเสมอ จึงทำให้ประวัติศาสตร์อินเดียขาดความซับซ้อนที่มีคุณค่าในการศึกษาไป

เช่นเดียวกับที่คนไทยมีแนวโน้มเป็นนักสัมฤทธิคตินิยม (ตามความเข้าใจของคุณคึกฤทธิ์) ทำให้คานธีในภาษาไทยเป็นเพียงนักยุทธวิธีที่ชาญฉลาดเท่านั้น ส่วนที่เป็นอารมณ์ความรู้สึกทางศาสนาซึ่งคานธีมีอย่างลึกซึ้ง (ซึ่งให้พลังและทอนพลังทางการเมืองของคานธีไปพร้อมกัน) นั้นขาดหายไป นักการเมืองที่มุ่งแต่ผลในทางปฏิบัติโดยขาดอุดมคติหรือหลักการที่มีคุณค่านิรันดรก็คือ “กะล่อน” คุณสมบัติข้อนี้เรียกในทางการเมืองไทยว่า “ปฏิบัตินิยม” ครับ