อนุสรณ์ ติปยานนท์ : ซานไห่ เก้าคนหลังฉาก ในประวัติศาสตร์ผลัดใบ (20)

เหตุการณ์ที่กองทัพญี่ปุ่นบุกเข้านครซานไห่ในช่วงเดือนสิงหาคมถึงพฤศจิกายนปี 1937 นั้นเป็นเหตุการณ์สำคัญที่ส่งผลทั้งวรรณกรรม ภาพยนตร์ ละคร และสิ่งต่างๆ อีกมากมาย

มีนวนิยายที่ถูกเขียนถึงมันไม่ต่ำกว่าหลักหน่วย

มีภาพยนตร์ที่สร้างขึ้นจากเหตุการณ์วันนั้นไม่ต่ำกว่าหลักสิบ

และมีหนังสือประวัติศาสตร์ที่บันทึกถึงมันไม่ต่ำกว่าหลักร้อย

แต่สิ่งที่ทำให้ผู้คนจดจำเหตุการณ์วันนั้นได้คือความโหดร้าย ว่ากันว่ามีชาวจีนที่เสียชีวิตจากการบุกเข้ายึดครองนครซานไห่ในวันนั้นและหลังจากนั้นไม่ต่ำกว่าสามแสนคน

แม้ประเทศญี่ปุ่นจะออกมาประกาศว่าตัวเลขผู้เสียชีวิตมีเพียงหลักหมื่น

แต่จากภาพถ่ายที่หลงเหลือมันยืนยันว่าสมควรเป็นตัวเลขมากกว่านั้น

เหตุการณ์ในวันนั้นอาจไม่เทียบเท่ากับความโหดร้ายที่เกิดขึ้นที่นครนานกิงจากการบุกรุกของกองทัพญี่ปุ่นในปีเดียวกัน

หากแต่สำหรับชาวนครซานไห่ผู้มีความสุขอยู่กับแสงสีและความเจริญที่รุดหน้า เหตุการณ์นี้เป็นเหตุการณ์ที่ไม่อาจลืมเลือนได้

 

ไม่มีใครรู้เหตุผลที่แท้จริงว่าทำไม นายพลเจียง ไค เช็ก จึงเปิดฉากสงครามกับกองทัพญี่ปุ่นที่ซานไห่ อาจเป็นเพราะเขาเชื่อว่านครที่มีแม่น้ำล้อม มีทะเลรอบ อาจทำให้ทหารราบของญี่ปุ่นที่ขึ้นชื่อในความอดทนทำการรบได้ไม่สะดวกนัก

หรืออาจเป็นเพราะเขามีความคิดว่าหากกำชัยชนะกองทัพญี่ปุ่นต่อสายตานานาประเทศที่อาศัยอยู่ในนครซานไห่แล้ว มันจะนำไปสู่การเผยแพร่ข่าวสารที่โด่งดังไปทั่วโลก

อย่างไรก็ตาม การบุกรุกเข้าโจมตีกองทัพเรือของญี่ปุ่นในวันที่สิบสามสิงหาคม 1937 นั้นเป็นความผิดพลาดครั้งสำคัญครั้งหนึ่งของนายพลเจียงฯ

เช้าวันที่ 14 สิงหาคม กองทัพก๊กมินตั๋งส่งเครื่องบินไปทิ้งระเบิดที่เขตเช่าในซางไห่ส่งผลให้พลเรือนตายไปกว่าสามพันคน

หลังจากวันนั้นทหารญี่ปุ่นเคลื่อนเข้าสู่นครซานไห่อย่างไม่หยุดยั้ง และแล้วในวันที่ 23 สิงหาคม พวกเขาก็ยึดทางเหนือของนครซานไห่ได้ และใช้เวลาอีกสี่เดือนทำสงครามเต็มรูปแบบและเข้าครอบครองนครซานไห่ได้สมบูรณ์ในเดือนพฤศจิกายน

ปฏิเสธไม่ได้ว่าการล่มสลายของนครซานไห่เป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้กองทัพญี่ปุ่นเกิดความเหิมเกริมและคึกคะนอง

การบุกเข้าโจมตีนครนานกิงในเดือนต่อมาจึงเป็นดังการระบายความคั่งแค้นของการรบอันยาวนานและเป็นดังการประกาศศักดาของกองทัพญี่ปุ่นด้วย

หลังจากกำชัยชนะที่นครซานไห่ กองทัพญี่ปุ่นครองนานกิง หลังจากครองนานกิง กองทัพญี่ปุ่นได้ริเริ่มแผนการครองเอเชียเป็นเวลาต่อมา

ซานไห่คือจุดเริ่มของการแสดงแสนยานุภาพของกองทัพญี่ปุ่น

การเอาชนะประเทศจีนที่มีทั้งพื้นที่และประชากรเหนือกว่าพวกเขาสร้างความมั่นใจให้กับกองทัพญี่ปุ่นอย่างเหลือแสน

และนั่นคือชนวนที่นำไปสู่สงครามมหาเอเชียบูรพาในที่สุด

ad76dc3545cbeeb9cc7cb85969436c8d

 

ปากคำของผู้รอดชีวิตและผู้อยู่ในเหตุการณ์ครั้งนั้นน่าสนใจยิ่ง

สงครามจีน-ญี่ปุ่น ที่นครซานไห่เป็นสงครามที่ถือได้ว่าเป็นรองแค่การรบที่สตาลินกราดเท่านั้นเอง

การปะทะกันในเมือง กองโจร ผู้ต่อต้าน อั้งยี่ โสเภณี รถลาก กรรมกรท่าเรือ ทหารนานาชาติ บาทหลวง ทุกคนกระโจนเข้าสู่สงครามครั้งนี้ มันเป็นสงครามที่ปรากฏตัวดังฝนดำมืดที่ตกลงสู่ทุกคนจนเปียกปอนเท่าเทียมกัน

พื้นที่การรบถูกแบ่งออกเป็นสามส่วน

ส่วนแรกคือตัวนครซานไห่ ส่วนที่สองคือเมืองรอบๆ ซานไห่ และส่วนที่สามคือเกียงสู แนวชายฝั่งทะเล

การรบของกองทัพจีนใช้อาวุธเบาดักซุ่มโจมตีและสังหารทหารญี่ปุ่นเป็นระยะๆ

ในขณะที่กองทัพญี่ปุ่นใช้อาวุธหนักทั้งจากทางทะเลและทางอากาศเข้าสนับสนุน

เวลาสามเดือนมียุทธวิธีจำนวนมากที่ถูกนำมาใช้ในการรบ อาทิ การปลอมตัวเป็นพลเรือนเพื่อลอบสังหาร การซุกซ่อนระเบิดในสินค้าบริโภค การส่งมือสังหารเข้าจัดการทหารชั้นผู้ใหญ่ ภาพถ่ายใบหนึ่งที่ได้จากการรบที่เกียงสู เป็นภาพของทหารญี่ปุ่นกลุ่มหนึ่งที่ใส่หน้ากากกันก๊าซพิษ

อันแสดงให้เห็นว่ามีการใช้ก๊าซพิษหรือไอพิษในการรบครั้งนี้ด้วย อันเป็นสิ่งที่ผิดต่อกฎหมายระหว่างประเทศในขณะนั้น

แม้สงครามในนครซานไห่จะเต็มไปด้วยความรุนแรง แต่การที่ซานไห่ประกอบไปด้วยนานาชาติและเขตเช่าภายใต้ประเทศอื่นนั้นเองทำให้หลงเหลือหลายพื้นที่ที่ไม่เป็นอันตรายจากผลสงคราม

ชาวต่างชาติหลายคนได้บันทึกเหตุการณ์ช่วงสามเดือนนั้นไว้อย่างน่าสนใจยิ่ง

 

ลิเลียน วิลเลนส์-Liliane Willens เธอเกิดในซานไห่ ครอบครัวเป็นชาวยิว-รัสเซียน ที่หลบหนีการปฏิวัติบอลเชวิก ลิเลียนอาศัยอยู่ในเขตเช่าฝรั่งเศสในนครซานไห่จนถึงปี 1952 ก่อนจะอพยพไปอยู่ประเทศสหรัฐอเมริกา เธอบันทึกเหตุการณ์ในวันที่สิบสี่สิงหาคมว่า

“ฉันแลเห็นเรือรบของญี่ปุ่นที่บรรทุกอาวุธเต็มอัตราเคลื่อนที่เข้าสู่ชาเป่ย และยังเห็นเครื่องบินของกองทัพจีนถล่มเรือรบของญี่ปุ่นที่จอดอยู่ใกล้สถานกงสุล วันนั้นฉันกำลังเล่นอยู่ในสวนกับเพื่อนก่อนจะได้ยินเสียงกระสุนปืนจากเครื่องบินตามมาด้วยเสียงระเบิดอย่างต่อเนื่อง ฉันตกใจกลัวมากและพยายามจะกลับไปหาครอบครัว ฉันขึ้นขี่จักรยาน ปั่นไม่คิดชีวิตกลับไปที่บ้านโดยมีเสียงระเบิดไล่หลังมา”

“เย็นวันนั้นเอง พ่อแม่ของฉันที่ไม่รู้ว่าฉันฝ่าอันตรายเช่นไรเมื่อยามบ่าย บอกฉันว่ามีระเบิดในเขตนานาชาติและมีผู้คนล้มตายเป็นจำนวนมาก”

 

เลวี่ อัลลี่ย์-Rewi Alley นักเขียนชาวนิวซีแลนด์ อาศัยอยู่ในซานไห่นับแต่ปี 1927 ก่อนที่จะเสียชีวิตในปักกิ่งในปี 1982

“เมื่อผมกลับมาซานไห่ในกลางเดือนตุลาคม1937 การรบในซานไห่ยังดำเนินไปอย่างต่อเนื่อง แม่น้ำฮวงปู่เต็มไปด้วยเรือรบของญี่ปุ่น มีกลิ่นไหม้จากทั้งสองฝั่งของแม่น้ำ โรงงานในเขตฮังโกวที่ผมเคยทำงานด้วยถูกเผาเป็นเถ้าถ่าน ในที่สุดผมก็เดินทางไปถึงบ้านหลังใหม่ของผมที่เจียงหวาน ก่อนจะพบว่ามันกลายเป็นที่พักของนายทหารญี่ปุ่นไปแล้ว”

“ตู้เย็นใหม่เอี่ยมของผมถูกโยนทิ้งเป็นขยะอยู่หน้าบ้าน หญ้าขึ้นสูงแทบถึงคีย์เปียโน เตียงและเครื่องเรือนอื่นยังคงใช้งานได้ แต่สิ่งของมีค่าสูญหายไปหมดรวมถึงหนังสือของผมด้วย”

“แต่สิ่งที่สำคัญที่สุดคืองานเขียนและสำเนางานเขียนของผมในรอบหลายสิบปีที่ผ่านมาหายไปจนหมดสิ้น”

 

เอมิลี่ ฮาน-Emily Hahn

ฮานเป็นชาวอเมริกันที่อาศัยอยู่ในนครซานไห่ตั้งแต่ปี 1935-1940 เธอเป็นคนที่ใช้สถานภาพความเป็นอเมริกันขนย้ายหนังสือมีค่าจากสมัยราชวงศ์หมิงของเพื่อนเธอจากบ้านของเขาจนปลอดภัย

“เป็นครั้งแรกที่ฉันได้ประสบกับผลกระทบของสงคราม หลายครั้งฉันอาเจียนกับภาพที่พบเห็น ภาพถ่ายของครอบครัวที่ถูกทิ้งเกลื่อนตามท้องถนน ของเล่นเด็กที่แตกพัง ลิ้นชักเครื่องเรือนที่ถูกค้นกระจุยกระจาย ทุกบ้านที่ฉันเข้าไปเยือนล้วนตกอยู่ในสภาพเดียวกัน พวกญี่ปุ่นเป็นผู้ก่อการแบบนี้ขึ้นและยังปล่อยให้มันดำเนินต่อไป ทหารยามบนสะพานตรวจใบอนุญาตของฉันและให้นายทหารเรือคนหนึ่งเดินประกบฉันมาตลอดทาง”

“ฉันไม่ได้รับอนุญาตให้นำกรรมกรชาวจีนมาช่วยในการขนย้ายสัมภาระ หากแต่ได้รับการอนุญาตให้ใช้กรรมกรชาวรัสเซียได้ ฉันจ้างรถบรรทุกและคนงานสิบคน พวกเราขนเครื่องเรือนผ่านสะพานนั้นเที่ยวแล้วเที่ยวเล่า”

“สิ่งที่ก่อกวนจิตใจเรามากคือทหารยามที่แลดูไม่เป็นมิตรเอาเลย อากาศข้างนอกเย็นยะเยือกแต่เหงื่อฉันไหลออกมาตลอดเวลา ฉันรู้สึกเหมือนตนเองเป็นวีรสตรีเมื่อกลับถึงบ้านของตนเองได้สำเร็จ ทุกคนรอฉันอยู่หน้าเตาไฟ พวกเราออกไปเต้นรำกันอย่างร่าเริงที่ท้องถนนหลังจากได้พร้อมหน้าพร้อมตากันอีกครั้ง ชิน เหลียน คนใช้ในบ้านนำขนมหวานฝีมือเขามาให้ ฉันทานแล้วทานอีก เราใช้เวลาที่นั่นวันแล้ววันเล่า สัปดาห์แล้วสัปดาห์เล่า ตากหนังสือที่บอบช้ำให้แห้งและกำจัดเหล่าแมลงที่กำลังกัดกินหนังสือเหล่านั้น”

สงครามครั้งนั้นคงมีผู้สูญเสียมากกว่านี้ และอาจไม่หลงเหลือชาวจีนมาเล่าเรื่องราวที่เกิดขึ้นให้พวกเรารับรู้ก็เป็นได้ หากจะมีพื้นที่ปลอดภัยหรือ Wartime Safe Zone ที่ก่อตั้งขึ้นในช่วงนั้นโดยบาทหลวงชาวฝรั่งเศสผู้มีแขนเพียงข้างเดียวนาม โรแบรต์ จาคควิโน่ต์-Robert Jacquinot