ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 31 ธันวาคม 2564 - 6 มกราคม 2565 |
---|---|
คอลัมน์ | หลังเลนส์ในดงลึก |
ผู้เขียน | ม.ล.ปริญญากร วรวรรณ |
เผยแพร่ |
‘ข้างแรม’
…เช้ามืด อุณหภูมิ 10 องศาเซลเซียส ในความสลัวยามเช้าตรู่ที่ดวงอาทิตย์ยังไม่โผล่พ้นขอบฟ้า ชะนีขดตัวกลมอยู่บนกิ่งต้นตะแบก มันยึดที่นี่เป็นที่นอนตั้งแต่บ่าย 4 โมงเมื่อวาน ใกล้กับที่นอน ไทรกำลังออกลูกสุก เป็นธรรมดาที่ชะนีครอบครัวที่มีอาณาเขตอยู่แถวนี้จะเลือกนอนใกล้กับต้นอาหาร
ท้องฟ้าสว่างขึ้น นกเริ่มส่งเสียง ยังไม่มีความเคลื่อนไหวจากชะนีที่ขดตัวกลม
มีเสียงชะนีอีกครอบครัวแว่วมาไกลๆ เป็นเสียงเบาๆ สั้นๆ
จนเกือบ 7 โมงเช้า แสงอ่อนละมุนของดวงอาทิตย์ทาทาบกิ่งตะแบก ชะนีมีการเคลื่อนไหว มันยืดตัวขึ้นตรง คลายแขนซึ่งกอดลูกชะนีสีดำมาตลอดคืน
ลูกชะนีก็เคลื่อนไหวด้วย มันอายุร่วมสองปีแล้วกำลังอยู่ระหว่างเริ่มต้นฝึกฝนการเรียนรู้วิถีออกจากอกแม่ โหนกิ่งไม้ไปใกล้ๆ เด็ดใบไม้ตามที่แม่ทำ เลือกใบอ่อนเข้าปาก มันโหนกิ่งไม้มองดูแม่ ช่วยพ่อหาแมลงที่เกาะตามขน บางครั้งมันกลับเข้ามาในอ้อมกอด นอนให้แม่หาให้บ้าง
ดวงอาทิตย์แสงอ่อนละมุน อุ่น นี่จึงยังไม่ใช่เวลากิน แต่เป็นเวลาที่พ่อ แม่ และลูก จะใช้เป็นเวลารื่นรมย์กับแสงอุ่นๆ นี้สักพัก
พวกมันผ่านค่ำคืนที่อุณหภูมิลดต่ำ เจ้าตัวเล็กผ่านพ้นค่ำคืนมาอย่างอบอุ่น มันใช้เวลาที่ยังมีสิทธิ์อยู่ในอ้อมกอดอบอุ่นอย่างเต็มที่ ใกล้ถึงเวลาที่จะต้องออกไปใช้ชีวิตของตัวเองแล้ว
มันรู้ดีว่า เมื่อเติบโตเต็มวัย ความอบอุ่นในอ้อมกอดนี่แหละ คือสิ่งที่มันจะคิดถึง…
เป็นคืนที่ดวงจันทร์คืนแรมหนึ่งค่ำสว่างนวล ในแต่ละคืนความสว่างจะลดลงกระทั่งแผ่นฟ้าดำมืด เป็นเวลาซึ่งดาวมหาศาลได้ส่องประกายระยิบโดยไร้ความสว่างจากแสงจันทร์บดบัง
สำหรับเรา ใต้ท้องฟ้ามืด ดาวระยิบ การอยู่ในแคมป์ ต้องพึ่งพาไฟฉายคาดหัว เดินไปมาที่มืดๆ รกๆ ใต้เปล ข้างเต็นท์ มีโอกาสเหยียบบนตัวสัตว์เลื้อยคลานหลายชนิด อย่างงู ตะขาบ รวมทั้งแมงป่อง
ลำห้วยไร้ประกายระยิบเพราะเงาสะท้อนจากแสงจันทร์ สิ่งที่มาทดแทนคือ แสงระยิบจากหิ่งห้อยจำนวนมากมายของพวกมันทำให้ดูราวกับว่าบริเวณแคมป์ประดับด้วยไฟกะพริบขณะมีงานรื่นเริง
ว่าตามจริง มันเป็นเช่นนี้ทุกค่ำ โดยเฉพาะในช่วงฤดูฝนซึ่งเป็นเวลาที่แมลงต่างๆ พากันจับคู่ วางไข่แพร่พันธุ์
เหล่าตัวผู้ แข่งกันเปล่งประกายความงามความแข็งแรง เพื่ออวดตัวเมีย
จากบนเปล ผมมองเห็นแสงกะพริบอยู่รายรอบ
ชัดเจนในความมืด ทั้งที่ในคืนท้องฟ้าสว่างนวลทุกค่ำคืนก็เป็นเช่นนี้
ผมอยู่ในแคมป์ ซึ่งเป็นที่ราบเล็กๆ ริมลำห้วย ครั้งหนึ่งในฤดูฝนที่แคมป์แห่งนี้ เพราะสายฝนซึ่งตกติดต่อกันหลายวัน น้ำเพิ่มระดับ ส่งเสียงอื้ออึง น้ำสูงเกินกว่าจะนำรถข้าม นั่นคล้ายกับว่า เราถูกตัดขาดจากโลกภายนอกนานนับสัปดาห์
ท้องฟ้าฉ่ำเกินกว่าที่สัตว์ป่าจะเคลื่อนไหว ไม่มีชะนีมาใกล้ๆ ค่างแว่นถิ่นเหนือฝูงใหญ่ที่จะยกขบวนผ่านแคมป์ทุกๆ เย็นก็หายหน้าไป พวกมันคงพากันนั่งเงียบๆ หลบความเปียกชื้นอยู่ตามกิ่งต้นไม้ที่มีใบหนาทึบ
มีรอยตีนเสือตัวผู้เดินกลับไป-มา คล้ายกับว่า มันถูกระดับน้ำสูงของลำห้วยขวางไว้เช่นกัน
ปกติเพียงระยะเวลาหนึ่งคืน เสือเดินไปได้ไกลมาก การที่มันเดินกลับไป-มาแถวนี้ ไม่ไปไกล เป็นเรื่องปกติเพราะล่าเหยื่อได้ ทุกครั้งที่ลงมือ มันเสียพลังงานไปไม่น้อย
ระดับน้ำในห้วยไม่ใช่สิ่งขวางทางหรอก
แต่รอยตีนที่มันเดินไปมาข้างๆ แคมป์ก็ทำให้เรารู้สึกดีขึ้น เหมือนกับว่า เราไม่ได้ถูกตัดขาดจากโลกภายนอกเพียงลำพัง
เสบียงใกล้หมด ยังไม่ถึงฤดูเห็ด และเลยเวลาของผักหวานมาแล้ว
ผักกูดผัดจึงเป็นเมนูประจำ
บางวันมีเร่ว บางวันมีกระทือ เผาจิ้มน้ำพริกปลากระป๋อง บางวันมียอดตะไคร้น้ำ ที่ผมไม่เคยรู้ว่ากินได้
ยิ่งนานวันกับการ “เรียน” อยู่ในป่า
ผมรู้เพียงว่า มีสิ่งที่ไม่รู้อีกมากมายมหาศาล…
ครอบครัวชะนีไม่กลับมานอนที่เดิมช่วงบ่ายมันส่งเสียง คงเลือกต้นไม้ไม่ไกลจากนี่ ลูกไทรยังเหลืออีกเยอะ อีกทั้งต้นมะเดื่อข้างห้วยสองต้นก็กำลังออกลูกสุก
อีเห็นข้างลาย สอง-สามตัวปีนขึ้นไปกินตั้งแต่หัวค่ำ
ชะมดแผงหางปล้อง เดินวนเวียนใต้ต้น กระรอกบินไต่ขึ้นตามลำต้นถึงยอด และร่อนไปอีกต้น
นานๆ มีเสียงเก้งส่งเสียง
คืนข้างแรม ใต้ท้องฟ้ามืด ทุกหนแห่งโดยรอบเต็มไปด้วยแสงจากหิ่งห้อย
จากบนเปลผมมองไปรอบๆ แม้จะคิดถึงคืนที่มีแสงจันทร์ทอแสงนวล
แต่นี่อาจเป็นข้อดีของคืน “ข้างแรม”
คืนที่มืดมิด มองเห็นหิ่งห้อยส่องประกายสวยงาม
ไม่ใช่เป็นเพียงแค่หนอนเล็กๆ ตัวหนึ่ง