วิรัตน์ แสงทองคำ/จาก SBS ถึง AstraZeneca

วิรัตน์ แสงทองคำviratts.wordpress.com

วิรัตน์ แสงทองคำ/https://viratts.com/

จาก SBS ถึง AstraZeneca

 

ปีที่กำลังผ่านพ้น ด้วยเรื่องราวมากมาย ในนั้นมีชื่อสองชื่อที่ผู้คนรู้จักมากขึ้น

ปรากฏการณ์ข้ามผ่านมิติทางสังคมธุรกิจ ออกไปสู่วงกว้างอย่างไม่น่าเชื่อ ท่ามกลางวิกฤตการณ์ครั้งใหญ่ กระทบไปในทุกมิติ อันเนื่องมาจากโรคระบาดระดับโลก COVID-19

ผมได้เสนอมาตั้งแต่ต้นปี “สยามไบโอไซเอนซ์ จากนี้ชื่อนี้จะเป็นที่รู้จักกว้างขวางขึ้น” ซึ่งก็เป็นเช่นนั้นจริงๆ

เชื่อมโยงกับข่าวตื่นเต้น เปิดฉากต้อนรับปีใหม่ 2564 ท่ามกลางวิกฤตการณ์โรคระบาดกำลังขยายตัว สร้างความวิตกกังวลไปทั่ว “กระทรวงสาธารณสุขเผยไทยเริ่มผลิตวัคซีนโควิด-19 ในประเทศแล้ว โดยเป็นวัคซีนที่ได้รับการถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตจากมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด และบริษัทแอสตร้าเซนเนก้า กำลังการผลิตได้ปีละ 200 ล้านโดส จะทยอยส่งมอบล็อตแรกในเดือนพฤษภาคม 2564…” (อ้างจากสำนักสารนิเทศ สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข 3 มกราคม 2564)

สาระตอนหนึ่งในถ้อยแถลง ได้กล่าวถึงธุรกิจเอกชนรายหนึ่งซึ่งมีบทบาทสำคัญ “บริษัทสยามไบโอไซเอนซ์ ได้รับการถ่ายทอดองค์ความรู้และเทคโนโลยีจากบริษัท แอสตร้าเซนเนก้า ตั้งแต่วันที่ 7 ตุลาคม 2563…”

ข้อมูลเบื้องต้นในเวลานั้นพบว่า บริษัทดังกล่าวก่อตั้งเมื่อทศวรรษที่แล้ว ดำเนินไปอย่างเงียบๆ

ในฐานะผู้ติดตาม (คนหนึ่ง) ความเป็นไปของสังคมธุรกิจไทย ได้นำเสนอภาพเชื่อมโยงเรื่องราวและบริบทเกี่ยวกับสยามไบโอไซเอนซ์ (Siam Biosciences หรือ SBS) ว่าด้วยความสัมพันธ์กับเอสซีจี ในแง่มุมเชิงบทเรียนธุรกิจ ด้วยเชื่อว่าเป็นอีกฉากตอนหนึ่ง ในความเป็นไปเครือข่ายธุรกิจไทยกว่าศตวรรษ ด้วยเผชิญสถานการณ์สำคัญๆ จำต้องปรับตัวครั้งใหญ่หลายครั้งหลายครา

ใคร่ขอบันทึกไว้โดยสรุปอีกครั้ง ในฐานะ “ชิ้นส่วน” สำคัญของเหตุการณ์ปี 2564

 

เครือซิเมนต์ไทย หรือเอสซีจี กับบริบทช่วงเปลี่ยนผ่านครั้งสำคัญยิ่ง จากพึ่งพิงเครือข่ายระบบอาณานิคมในช่วงก่อนสงครามโลกครั้งที่สอง ไปสู่ความสัมพันธ์ใหม่ ช่วงต้นๆ สงครามเวียดนาม อิทธิพลทางเศรษฐกิจสหรัฐอเมริกามีส่วนอย่างสำคัญกระตุ้นเศรษฐกิจไทย ขณะเปิดโอกาสให้เอสซีจีอย่างมากมาย

จนมาถึงจังหวะก้าวเข้าสู่ธุรกิจใหม่-ธุรกิจเคมีภัณฑ์ บทเรียนแห่งความสำเร็จครั้งล่าสุดก็ว่าได้ สร้างโมเมนตัมต่อเนื่องจากนั้นถึงปัจจุบันราวๆ 4 ทศวรรษ จากจุดเริ่มต้นบริษัทอเมริกันค้นพบก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทย (ปี 2521) ถึงกับเรียกกันว่าเป็นยุค “โชติช่วงชัชวาล”

อันที่จริงมีบริษัทในโลกตะวันตกอีกแห่งหนึ่งเปิดสำนักงานในไทยอย่างเงียบๆ ในช่วงนั้น (ปี 2526) เช่นกัน-Astra AB เป็นบริษัทเก่าแก่แห่งสวีเดน

เมื่อผ่านวิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจปี 2540 มาได้ ว่าไปแล้วเอสซีจีใช้เวลาปรับตัวไม่น้อย ขณะเดียวกันเปิดทีมงานบริหารมืออาชีพชุดหนึ่งซึ่งมีบทบาทอย่างมาก ภายใต้การนำของผู้จัดการใหญ่คนที่ 9 หรือคนไทยคนที่ 5 นั่นคือ ชุมพล ณ ลำเลียง (2536-2548) ในช่วงเวลาที่ในที่สุด ธุรกิจเคมีภัณฑ์จึงมีบทบาทนำ ความเป็นไปของเอสซีจี

 

กรณีเกี่ยวกับสยามไบโอไซเอนซ์ (Siam Biosciences หรือ SBS) เชื่อว่าเริ่มต้นขึ้นเมื่อทีมบริหารชุดชุมพล ณ ลำเลียง กำลังจะพ้นวาระ ขณะที่ตัวเขาเองยังคงมีบทบาทในฐานะกรรมการเอสซีจี ถือว่าเป็นผู้จัดการใหญ่ที่ต่อเนื่องเป็นกรรมการผู้ทรงอิทธิพลในเอสซีจีที่ยาวนานที่สุดคนหนึ่ง

เป็นไปตามแผนการและบทวิเคราะห์ เพื่อแสวงหาธุรกิจใหม่ ในบริบทใหม่

เรื่องราวหน้าฉากบางช่วงบางตอนเกี่ยวข้อง ดร.เสนาะ อูนากูล ในฐานะประธานเอสบีเอสคนแรก (2551-2560) เทคโนแครต ผู้มีบทบาทอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะด้านเศรษฐกิจและการเงินของไทย ในช่วงคาบเกี่ยวนั้น เป็นกรรมการบริษัท ปูนซิเมนต์ไทย หรือเอสซีจี (2535-2558) และกรรมการสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ (2536-2560)

ส่วนภาพที่เป็นไปแท้จริงคือ บทบาทสำคัญอยู่กับทีมกรรมการเอสบีเอสผู้อยู่ในตำแหน่งต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน คือบุคคลสำคัญๆ เคยอยู่ในทีมบริหารเอสซีจี ยุคชุมพล ณ ลำเลียง

ยิ่งย้อนไปดูไทม์ไลน์ ภาพความสัมพันธ์นั้นชัดขึ้น “กระทรวงสาธารณสุข สยามไบโอไซเอนซ์ เอสซีจี และแอสตร้าเซนเนก้า ผนึกกำลังผลิตวัคซีนโควิด-19 สำหรับไทยและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ตั้งเป้าพร้อมใช้กลางปีหน้า” หัวข้อข่าว (12 ตุลาคม 2563) จากเอสซีจีเอง (อ้างจาก https://scgnewschannel.com/) ดูไปแล้วให้ความสำคัญเอสซีจีอย่างเห็นได้ชัด และสะท้อนสายสัมพันธ์สำคัญ ปรากฏในบางตอน “มีความยินดีที่ได้เป็นผู้ประสานความร่วมมือระหว่างประเทศไทยกับมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ดซึ่งเป็นพันธมิตรร่วมงานด้านงานวิจัยและพัฒนานวัตกรรมกับเอสซีจีมายาวนาน” (รุ่งโรจน์ รังสิโยภาส ผู้จัดการใหญ่เอสซีจีกล่าว)

เอสบีเอสกับยุทธศาสตร์พลิกผัน ว่าด้วยแผนการใหม่ มากับจังหวะและโอกาสอย่างคาดไม่ถึง ก่อนจะมาปะทุเป็นเรื่องราวใหญ่โต อาจคาดไม่ถึงเช่นกัน

จากแบบแผนอุตสาหกรรมใช้เงินลงทุนจำนวนมาก ด้วยเทคโนโลยีขั้นสูง เวลาค่อนข้างมากกับการวิจัยและพัฒนา (R&D) การแสวงหาพันธมิตรธุรกิจระดับโลกเป็นไปค่อนข้างจำกัด ในภาพใหญ่ๆ จึงใช้เงินและเวลามากกว่าที่คาด ทั้งนี้ ตั้งแต่ปี 2564 เป็นต้นไป ดัชนีผลประกอบการจะเป็นไปในทางบวก จะเปลี่ยนแปลงอย่างก้าวกระโดด

เชื่อว่าจากนี้เอสบีเอสจะกลับไปสู่ภาวะอย่างที่เคยเป็น เป็นไปตามจังหวะ ก่อนจะมีการพัฒนาสู่ขั้นใหม่ๆ ต่อไป

 

ขณะเดียวกัน แอสตร้าเซนเนก้า (AstraZeneca) ได้เวลาเปิดตัวมากขึ้นในสังคมไทย

จาก Astra AB เมื่อควบรวมกิจการ Zeneca แห่งสหราชอาณาจักร จึงกลายเป็น AstraZeneca (ปี 2542) “เป็นบริษัทชีวเภสัชภัณฑ์ชั้นนำระดับโลก มุ่งเน้นทางด้านการคิดค้น พัฒนา และจำหน่ายยาเพื่อการรักษาโรค โดยเฉพาะในกลุ่มยาโรคมะเร็ง กลุ่มยาโรคหัวใจ ไต และระบบเผาผลาญ และกลุ่มยาโรคทางเดินหายใจ แอสตร้าเซนเนก้ามีฐานอยู่ที่เมืองเคมบริดจ์ สหราชอาณาจักร และดำเนินธุรกิจในกว่า 100 ประเทศ” อย่างที่ข้อมูลพื้นฐานเสนอไว้อย่างเป็นทางการ

แอสตร้าเซนเนก้าเปิดตัวขึ้นอย่างครึกโครมในสังคมไทย เหมือนไม่ได้ตั้งใจ ภายใต้สถานการณ์บีบคั้นพอสมควร เท่าที่ติดตามกว่าจะตั้งหลักก็ล่วงมากลางปี 2564 เปิดฉากอย่างจริงจังตั้งใจด้วย “จดหมายเปิดผนึกถึงเพื่อนพี่น้องชาวไทย” ฉบับแรก (24 กรกฎาคม 2564)

“…ถึงแม้จะมีข้อจำกัดมากมาย แต่เราคาดการณ์ว่าจะสามารถจัดสรรวัคซีนให้กับประเทศไทยได้โดยเฉลี่ย 5-6 ล้านโดสต่อเดือน จนถึงขณะนี้ แอสตร้าเซนเนก้าได้ส่งมอบวัคซีนให้กับกระทรวงสาธารณสุขแล้ว 9 ล้านโดส และมีกำหนดส่งมอบอีก 2.3 ล้านโดสในสัปดาห์หน้า รวมเป็นยอดส่งมอบ 11.3 ล้านโดส ณ สิ้นเดือนกรกฎาคม ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งจากแผนการจัดหาวัคซีนจำนวน 61 ล้านโดสให้กับประเทศไทย” เชื่อกันว่าเป็นจังหวะตั้งหลักอย่างมียุทธศาสตร์ ช่วงเวลาเดียวกันได้เปิด Social media ผ่าน Facebook ชื่อ AstraZeneca Thailand เป็นการเปิดตัววงกว้างครั้งแรกๆ

จนมาถึงคลิปวิดีโอ “ทำความรู้จักแอสตร้าเซนเนก้า ประเทศไทย ‘ขยายความธุรกิจให้ดูกว้างขึ้น’ …คิดค้น พัฒนา และจำหน่ายยาเพื่อการรักษาโรค ใน 3 กลุ่มโรค ได้แก่ กลุ่มโรคมะเร็งวิทยา…กลุ่มโรคหลอดเลือดหัวใจ ไต และกลุ่มโรคระบบทางเดินหายใจ ภูมิคุ้มกันและโรคติดเชื้อ รวมถึงวัคซีนป้องกันโควิด-19…” (ตุลาคม 2564)

แล้วตามมาอย่างเป็นแบบแผนด้วย “จดหมายเปิดผนึกแจ้งความคืบหน้าการส่งมอบวัคซีนป้องกันโควิด-19 จากแอสตร้าเซนเนก้า” (1 พฤศจิกายน 2564) ในจังหวะเวลาบทสรุป รัฐบาลไทยสั่งซื้อวัคซีนล็อตใหญ่ที่จะใช้ในปีหน้า