อาจินต์รำลึก : แปดปีที่แก่งเสี้ยน (8)/บทความพิเศษ แน่งน้อย ปัญจพรรค์

บทความพิเศษ

แน่งน้อย ปัญจพรรค์

 

อาจินต์รำลึก

: แปดปีที่แก่งเสี้ยน (8)

 

ปลูกต้นไม้

เริ่มที่ไม้ผล

พอจะเริ่มสร้างบ้าน ฉันก็คิดเรื่องต้นไม้ไปก่อนแล้ว

เมื่อคิดเรื่องต้นไม้ก็ต้องคิดถึงพ่อทันที ต้นไม้ที่ฉันรู้จักและเอามาปลูกในบ้านและในที่ดินแปลงไหนก็ตาม เกือบทั้งหมดเป็นต้นไม้ที่พ่อปลูกในบ้านที่ฉันเห็นมาตั้งแต่เด็ก

พ่อชอบปลูกต้นไม้มาก ส่วนฉัน ก็คงเป็นอย่างที่นักคิดหรือนักวิชาการเขาสรุปไว้ว่า ความรู้สึกนึกคิด การกระทำ และอะไรต่างๆ ในชีวิตของคนเรา มันจะเป็นไปอย่างไรก็ด้วยแรงผลักดันของสิ่งที่รับรู้ สะสม และหล่อหลอมมาตั้งแต่เมื่อ 7 ขวบ

ไม่เพียงแต่เรื่องต้นไม้ พอคิดถึงพ่อแล้ว เรื่องอื่นๆ ของพ่อก็ตามมามากมาย

พ่อฉันมีสีสันมาก เขาเป็นนักสู้ น่าจะเหมาะกับความคิดที่ว่าไว้เมื่อตอนแรกว่า…คนชอบอยู่ภูเขาเป็นนักสู้

แต่ตอนนี้เอาแต่เรื่องต้นไม้อย่างเดียวก่อนดีกว่า

ถ้าพ่อยังอยู่ ได้ขึ้นมาอยู่ที่นี่กับฉันตอนนี้ ทั้งพ่อทั้งฉันจะต้องมีความสุขมาก เราคงจะหาต้นไม้ ปลูกต้นไม้กันอย่างเพลิดเพลินเป็นอย่างยิ่ง

แต่ตอนนี้มีแต่ฉัน และอาจินต์ซึ่งนั่งดูทุกอย่างโดยไม่เคยขัด มีแต่สนับสนุน

แม้แต่เมื่อปลูกต้นไม้ในตอนแรกๆ คนรดน้ำต้นไม้หยุดงาน ฉันกับยัยกบช่วยกันรด บางทีฉันเป็นคนปิดวาล์วน้ำ บางทีร้องให้กบปิด พื้นที่ลาดเอียง อาจินต์เดินไม่ได้อยู่แล้ว ถนนขรุขระดินลูกรัง สนามหญ้าเทลาด เหล่านี้เดินไม่ได้ วันหนึ่งนั่งอยู่บนระเบียง มองดูเราสองคนรดน้ำต้นไม้ เดินขึ้นลงเปิดปิดวาล์วน้ำ อาจินต์ร้องว่า

“ให้ฉันช่วยปิดเปิดวาล์วน้ำเอาไหม”

เราสองคน ฉันกับกบหัวเราะกิ๊ก

อาจินต์เป็นห่วงคนอื่นเสมอ จนลืมตัวเองไปแล้ว

“แล้วพี่ต้องให้เราไปอุ้มขึ้นๆ ลงๆ มาเปิดปิดวาล์วไหมล่ะ”

อาจินต์เงียบกริ๊บ

ต้นไม้ที่ฉันส่งรายชื่อมาให้ฉลองจัดหาคนปลูกไว้ตอนแรกๆ เป็นต้นไม้พื้นๆ ก่อน พวกมะม่วงพันธุ์ต่างๆ ที่เคยมีเต็มสวนหลังบ้านเมื่อเด็กหนีไม่พ้นมะม่วงแรด อกร่องเขียว มะม่วงแก้ว

มะม่วงพันธุ์ที่เพิ่งรู้จักตอนโตแล้วก็มีพวกเขียวเสวย น้ำดอกไม้ มันขุนศรี

อกร่องนั้นเน้นว่าต้องอกร่องเขียว อกร่องสีทองสวยๆ นั้นไม่หอมอร่อยน่ากินเหมือนอกร่องเขียว อกร่องเขียวมันยังเป็นสีเขียวๆ เหลืองๆ แม้เมื่อสุกแล้ว ไม่เหลืองทองอร่ามสวยเหมือนอกร่องทอง และสมัยนี้ เมื่อมีน้ำดอกไม้กินสุกกันมากขึ้น น้ำหนักดีขึ้น อกร่องก็ไม่ค่อยมีใครปลูก อกร่องที่มีขายกันในระยะนี้มีแต่ลูกเล็กจิ๋วเพราะมาจากต้นเก่าแก่ ซึ่งอีกไม่นานก็คงจะหายไปหมดแล้ว

มะม่วงแรดก็แปลกไป สมัยนี้มะม่วงแรดไม่ค่อยมีนอ ไหล่มันเรียบๆ บางทีมีปุ่มอะไรเล็กๆ ไม่เป็นนอ

ดูสิ แม้แต่พืชพันธุ์ยังเปลี่ยนแปลง นับประสาอะไรกับธรรมชาติของคน

นอกจากมะม่วงพื้นๆ พวกนี้แล้ว ฉันยังสั่งปลูกมะม่วงป่าด้วย มะม่วงป่ามีสองชนิด คือมะม่วงกะล่อนสีเหลืองสว่าง และมะม่วงขี้ไต้สีเขียวเข้มสุกแล้วก็ไม่เหลืองมาก ยังเขียวอมเหลืองอยู่อย่างนั้น แต่หอมมาก

เขาถามว่าเอาอย่างไหน ฉันว่าอย่างไหนก็ได้ เขาตอบมาว่าหาไม่ได้ คนขายบอกว่าคนนี้สั่งต้นไม้เก่งนะแต่แปลกๆ มะม่วงป่าไม่มีใครเขาปลูกหรอก เขาถอนทิ้ง

หมดเรื่องมะม่วง ก็เรื่องผลไม้อื่นๆ ที่ชอบกิน น้อยหน่า มะขามป้อม มะตูม ลูกท้อ มะขามเปรี้ยวธรรมดา ไม่เอามะขามยักษ์ ฝรั่ง มะยงชิด – ต้นนี้ปลูกตามคำแนะนำของสุทัศน์ผู้ทำสวนที่ไทรโยค เขาว่ามะยงชิดน่าปลูกที่สุด มันเป็นต้นไม้ที่ซื่อสัตย์ ออกลูกทุกปีตรงเวลาทุกครั้ง ออกมากออกน้อยก็ออกตามเวลา ฟังดูดีนะ

ที่สวนเขายังปลูกพวกผลไม้เมืองจันท์ได้ดีด้วย ทั้งเงาะ ลองกอง และอื่นๆ โดยเฉพาะส้มโอขาวใหญ่ของเขาอร่อยมาก แต่มังคุดปลูกแถวนี้ไม่ได้

“ทำสวนที่นี่ พี่ต้องทำใจนะ” สุทัศน์เตือน ฉันรู้ ฉันทำเพื่อความสุข ความเพลิดเพลิน ไม่ได้ทำเป็นอาชีพ และไม่ได้ทำในที่ดินที่มากมาย

 

เฉพาะไม้ผลเท่านั้นที่ปลูกไว้ตอนกลางๆ ค่อนไปทางบนๆ ของพื้นที่ พื้นที่ที่เหลือรอบบ้านรวมราวเจ็ดไร่นั้นดูแล้วปลูกอะไรยาก นอกจากไม้ป่าที่ขึ้นแถวนี้ได้เท่านั้น ที่ดินมันเป็นลูกรัง ดินปนหิน บางจุดเป็นหินที่ชาวบ้านเรียกหินดานก้อนใหญ่โตทำอะไรก็ไม่ได้ หรือที่พอปลูกได้ บางตำแหน่งปลูกไปจนเกือบโตเต็มที่แล้วก็ชะงักงันหรือค่อยๆ ตายไปเลย เพราะรากมันไปต่อไม่ได้ เจอหิน

อีกอย่างหนึ่ง เนื้อดินที่มีอยู่แทรกๆ ปนๆ กับหินนั้น ก็เป็นดินไม่อุ้มน้ำ รดน้ำหรือฝนตกไม่มาก เดี๋ยวมันก็หายไปหมด

ปลูกไม้ป่าก็ดี ฉันมีหนังสือไม้ป่าของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์เล่มหนึ่ง ดีมาก และมีหนังสือต้นไม้ดีมากอีกเล่มหนึ่งคือ ต้นไม้เมืองเหนือ (ซึ่งไม่ได้ขึ้นเฉพาะเมืองเหนือทั้งหมด) คนทำเขาสำรวจวิจัยกันเป็นระบบเลย นอกนั้นก็มีคู่มือวัชพืช และอื่นๆ อีกหลายเล่มที่มีประโยชน์มาก เมื่อมาอยู่ที่นี่

เมื่ออ่านหนังสือเหล่านี้แล้ว ก็รู้ว่าบ้านเรามีต้นไม้ดีๆ มีประโยชน์ขึ้นเองอยู่แล้วหลายชนิด ที่น่าแปลกใจก็คือพวกวัชพืชคลุมดินทั้งหลายที่ไม่มีใครต้องการ และถูกเครื่องตัดหญ้ากวาดทิ้งทุกฤดูกาลของมันนั้น หลายต้นมันมีดอกสวยเกินค่าของมัน และเป็นสมุนไพรชั้นดีอีกหลายต้น

เล่าตอนนี้คงหาทางจบไม่ลง

 

ถ้าพูดถึงไม้ดอก ฉันไม่เคยคิดจะปลูกไม้ดอกประเภทไม้ประดับที่จัดสวนสวยๆ ฉันจะปลูกพวกนั้นในส่วนที่จำเป็นที่สุดเท่านั้น และมันต้องแทรกอยู่ในส่วนที่กลมกลืนไปกับพื้นที่ ไม่ใช่สวนแต่ง แต่ฉันชอบไม้หอมแทบทุกชนิด ที่นึกถึงก่อนอื่นเลยคือชมนาด จำปา จำปี และอื่นๆ สำหรับอาจินต์นั้น

“กลิ่นดอกแก้วเป็นกลิ่นหอมที่คลาสสิกที่สุด”

ฉันเลยปลูกดอกแก้วไว้หลายต้น สองต้นตรงหน้าบ้าน อีกสองต้นอยู่ในแปลงไม้ประดับตรงที่เป็นทางลาดลงจากแนวถนนหน้าบ้าน และเราได้ปรับพื้นที่ให้เป็นสองขั้น ตรงนี้ปลูกไม้ประดับที่ทนแล้ง พวกพวงแสด บัวดิน มีต้นแก้วลงไว้ทั้งหัวท้ายของแปลงให้อาจินต์ได้กลิ่นของมัน

และบนแท็งก์น้ำฝนที่รองรับน้ำจากหลังคาได้เกือบ 20,000 ลิตรนั้น ฉันก็ตั้งเสาสี่มุมทำซุ้มครอบแท็งก์นั้นแล้วปลูกชมนาดให้เลื้อยพันเสาขึ้นไปเบิกบานเป็นหลังคาสีเขียวคุมแท็งก์น้ำนั้นเลย

หลายปีเหมือนกันกว่าจะจับพันขึ้นจนได้เต็มซุ้ม หน้าร้อนจะออกดอกทุกปี มากบ้างน้อยบ้าง ปีหนึ่งออกดกมาก มาจากกรุงเทพฯ ถึงที่นี่ทันทีที่เปิดประตูรถก็หอมฟุ้งตลบอบอวลไปทั่วบ้าน แหงนหน้าดูเห็นแต่ดอกเป็นช่อเล็กใหญ่ขาวพราวไปหมดทุกยอด

ต้นแก้วออกดอกบ่อย ชมนาดออกหน้าแล้ง สลับหอมสลับบานกันทั้งกลางวันกลางคืน

ยังจำปาอีกต้น ดกเป็นเมล็ดแล้วมันมากมายจนกิ่งหัก คิดอยากเพาะต้นไม้ขายให้หมดเรื่อง ไม่เคยเห็นเม็ดจำปาเป็นช่อๆ ชนิดที่เด็ดทิ้งลงมาแล้วกองสุมรอบโคนต้นมากมายขนาดนี้

เห็นแล้วก็นึกถึงบ้านกรุงเทพฯ

 

อาจินต์ปลูกต้นไม้ที่บ้านกรุงเทพฯ

ที่นั่นที่ดินมันน้อย ซื้อบ้านชั้นเดียวแล้วอาจินต์ก็ต่อเติมเป็นห้องทำงาน เป็นห้องพักแม่ครัว รวมแล้วเกือบเต็มพื้นที่ มีดินปลูกต้นไม้ตามข้างแนวรั้วแคบๆ เท่านั้น มีต้นไม้ใหญ่ให้เงาร่มรื่นรับแขกหน้าบ้านแค่สองต้นข้างบ้านสองต้น นอกนั้นก็ไม้ไม่ใหญ่นัก มีแต่ต้นโมกสามกอ มะเฟือง มะยม อื่นๆ บ้างเล็กน้อย ทั้งหมดฉันเป็นคนปลูก และตามปกติแม่บ้านเป็นคนรดน้ำ

ถ้าช่วงไหนไม่มีแม่บ้าน อาจินต์จะรดน้ำเอง อาจินต์ชอบรดต้นไม้ ส่วนฉันเอาแต่ปลูกไม่ค่อยรด

ตั้งแต่อยู่ด้วยกันมา ฉันเห็นอาจินต์ปลูกต้นไม้อยู่สองต้น ต้นหนึ่งคือต้นปรงซึ่งอาจินต์บอกว่าคุณพ่อให้มาเมื่อซื้อบ้านนี้ใหม่ๆ มันยังอยู่ในกระถาง อาจินต์รดน้ำมันเสมอ แต่ต้นนี้จะว่าอาจินต์ปลูกก็ไม่ใช่ คนปลูกคือ คุณพ่อขุนปัญจพรรคพิบูล

ต้นเดียวที่เห็นอาจินต์ปลูกก็คือต้นกล้วย นานแล้ว ฉลองเอาหน่อกล้วยน้ำว้ามาให้ตามคำขอหน่อหนึ่ง วางพิงไว้ข้างรั้วสองสามวัน แล้วอาจินต์ก็ปลูก

วิธีปลูกกล้วยของอาจินต์ก็คือจับหน่อกล้วยตั้งขึ้นก่อน มีดินก้อนใหญ่ๆ ที่คนขุดทำอย่างอื่นแล้วเหลือทิ้งไว้สามสี่ก้อนอาจินต์หยิบมาทีละก้อน วางประกบซ้ายขวาของหน่อกล้วย ยังไม่ค่อยดีก็หยิบอีกสองก้อนประกบหน้าหลังอย่างละก้อน เอามือกดๆ เอาเท้าเหยียบๆ สองสามที พอตั้งอยู่แล้วมันก็เติบโตได้

หลายสิบปีแล้ว กล้วยหน่อนั้นออกลูกแตกหน่อต่อๆ ไป ได้กินมาไม่รู้กี่เครือแล้ว ขณะนี้ก็ยังมี แต่เครือมันเล็กลงๆ ตามสภาพของดิน แต่ละเครือก็มีไม่กี่หวี และเราก็กินไม่หมดอยู่แล้ว แจกไปเรื่อย

วันหนึ่งฉันนึกสงสัย ถ้าจะลองตัดลงมาทีละหวี กินหวีที่แก่ก่อน พอหมดหวีแรก หวีต่อไปก็แก่ และในที่สุด เราก็ได้กินกล้วยเครือนั้นทั้งสามหรือสี่หวี ไม่ต้องวิ่งไล่แจกคนให้เมื่อยทั้งคนแจกและคนรับจะได้ไหม

เราทำได้ ทำแล้วจริงๆ

อ้อ ยังมีอีกต้นที่อาจินต์ปลูกเป็นต้นที่สาม ปลูกทุเรียน!

อาจินต์เอาเม็ดกดลงไปในดินข้างรั้วหลังบ้าน นานจนลืมแล้ววันหนึ่ง ฉันเห็นอะไรงอกออกมาเหมือนหัวถั่วงอกที่ใหญ่โตเป็นถั่วงอกยักษ์ แล้วมันก็ค่อยๆ โตขึ้นๆ มันสูงตรงแหนวไม่มีเอนหาแดดเหมือนต้นอื่นเลย มีเงาไม้อื่นบังยังไงก็ไม่เอน

จนเดี๋ยวนี้มันผอม สูง ตรงจนเลยหลังคาบ้านชั้นเดียวไปแล้ว แต่ลำต้นก็ขนาดแค่ข้อมือฉัน กว่าสิบปีแล้ว จะคอยดูว่ามันจะสูงไปถึงไหน

ไม่เคยคิดว่ามันจะออกลูก

เรื่องต้นไม้ไม่จบง่าย ยิ่งไม้ป่ายิ่งสนุกและยิ่งเพลิดเพลินมากตอนเห็นมันโต แต่ละต้นมีสีสันมีรูปทรง มีการเคลื่อนไหวยามลมพัดต่างๆ กัน

เรื่องมันยาวววว