พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ กับนัยยะ ความหมาย สิ่งรัฐไทยอยากจำ รวมถึงคำถามสำคัญ ต่อการรื้อ-ทำลายหลายสิ่งปลูกสร้างในประเทศ?

ควันหลง หลังจาก ศูนย์ข้อมูลมติชน ร่วมกับสำนักพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ กรมศิลปากร จัดกิจกรรม ‘เที่ยวพิพิธภัณฑ์วันคริสต์มาส ยลโฉมใหม่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร’ โดยได้วิทยากรที่ครบเครื่องทั้ง ศ.ดร.ชาตรี ประกิตนนทการ อาจารย์ประจำคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ ม.ศิลปากร และ รศ.ดร.รุ่งโรจน์ ภิรมย์อนุกูล อาจารย์ประจำคณะมนุษยศาสตร์ ม.รามคำแหง เมื่อวันที่ 25 ธันวาคมที่ผ่านมา เรียกได้ว่าข้อมูลอัดแน่นและทำให้เรา “เข้าใจ” และเห็นภาพต่างๆ มากขึ้น

โอกาสนี้ มติชนสุดสัปดาห์ เลยคว้าตัว ศ.ชาตรี มาคุยถึงภาพรวมความเข้าใจความคิดของรัฐไทยผ่านการจัดแสดงเล่าเรื่องและการกระทำหลายๆ สิ่งที่ผ่านมา

ศ.ชาตรีเล่าว่า ความพิเศษของพิพิธภัณฑ์ ที่เรียกว่าพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ คือการเล่าเรื่องประวัติศาสตร์ของชาติ ผ่านศิลปะวัตถุที่ถูกจัดแสดง นี่คือเป้าหมายที่สำคัญของพิพิธภัณฑ์ที่เรียกว่าแห่งชาติทั้งหลาย เพราะฉะนั้นสิ่งสำคัญที่ควรมาชม ก็คือว่าเราจะได้เรียนรู้ว่า ตัวเราจะเข้าใจชาติของเรา เอกลักษณ์ความเป็นไทย ความสนใจเรื่องอดีตของคนในชาติอย่างไร โดยสิ่งเหล่านี้จะสะท้อนผ่านการจัดแสดงของพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติเป็นหลัก

ปัจจุบันพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติมีหลายอาคาร มีของจัดแสดงอยู่หลายพันชิ้น แต่ถ้าเราอยากจะรู้เรื่องราวเกี่ยวกับวิธีการเล่า “ประวัติศาสตร์ชาติผ่านศิลปะของรัฐไทย” ผมคิดว่าเราควรมาดูการจัดแสดงในห้องในอาคาร 2 อาคารที่สำคัญ

นั่นก็คืออาคารประพาสพิพิธภัณฑ์ กับอาคารมหาสุรสิงหนาท

ทั้งสองอาคารนี้ถูกสร้างขึ้นมาเพื่อจัดแสดงในห้อง 10 ห้อง เล่าโครงเรื่องของประวัติศาสตร์ชาติไทยผ่านประวัติศาสตร์ของศิลปะ

ดังนั้น การดูทั้ง 10 ห้องนี้ก็เหมือนการเข้าใจทัศนะของภาครัฐที่ต้องการจะพูดถึงหรือโปรโมตความเป็นมาหรืออดีตของชาติไทยอย่างไร

การจัดแสดงในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ณ ที่นี้ เริ่มอย่างเป็นทางการตั้งแต่ปี 2430 เรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน โดยมีการปรับปรุงใหญ่อยู่หลายครั้ง ซึ่งในแต่ละครั้งก็จะมีเป้าหมายในการจัดแสดงและ Message ในการนำเสนอที่แตกต่างกัน

ครั้งแรกตอนปี 2430 การจัดแสดงจะเป็นการเล่าในลักษณะที่คล้ายกับว่าเป็น Collection ส่วนพระองค์ของพระมหากษัตริย์ที่ถูกเก็บสะสม มาโชว์

เพราะฉะนั้นของที่นำมาจัดแสดงก็จะผสมปนเปกันทั้งของแปลกบ้าง เครื่องราชบรรณาการบ้าง ของสะสมอะไรต่างๆ รวมถึงศิลปวัตถุด้วย ภาพรวมลักษณะจะเป็นแบบนี้

เป้าหมายของการจัดในครั้งนั้น คือการแสดงพระบารมีของพระมหากษัตริย์ ที่สามารถจะครอบครองศิลปวัตถุของแปลกของหายากได้มาก ซึ่งก็เป็นเทรนด์ เหมือนกับกษัตริย์ในยุโรปทั่วไป

เวลาต่อมามีการปรับปรุงใหญ่ครั้งที่สอง คือการจัดแสดงในปี พ.ศ.2469 ที่มีสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ กับยอร์ช เซเดส์ เป็นคนที่วางแนวทางการแสดงหลัก การจัดแสดงในครั้งนั้นจะมีลักษณะที่เราเรียกว่าเปลี่ยนจากพิพิธภัณฑ์ที่เป็นของสะสมส่วนพระองค์ มาสู่ประวัติศาสตร์ศิลปวัตถุเป็นครั้งแรก

แต่การจัดแสดงนี้ยังไม่เป็นระบบระเบียบมากนักแบบในปัจจุบัน

การแบ่งศิลปะเขาจะแบ่งเป็นวัสดุ เช่น เป็นสัมฤทธิ์ เป็นหิน ลักษณะการจัดแบบนี้จะอยู่เรื่อยมาอย่างยาวนาน จนกระทั่งมีการเปลี่ยนแปลงใหญ่อีกครั้งในปี 2510 ในการเปลี่ยนแปลงครั้งนี้เรียกว่าเป็นการเปลี่ยนเข้าสู่พิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์ศิลปะ จัดแสดงวัตถุทางศิลปะอย่างสมบูรณ์

และก็เป็นครั้งแรกที่มีการสร้างอาคารมหาสุรสิงหนาทกับอาคารประพาสพิพิธภัณฑ์ เพื่อจัดแสดงวัตถุตามโครงเรื่องประวัติศาสตร์ ที่ถูกวางเอาไว้ตั้งแต่สมัยกรมพระยาดำรงราชานุภาพมาจนถึงหม่อมเจ้าสุภัทรดิศ ดิศกุล

การเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญอีกครั้งคือโครงการที่เริ่มมาตั้งแต่ราวปี 2555 การเปลี่ยนแปลงครั้งนี้ส่วนใหญ่ห้องจะคงเดิมคล้ายๆ ปี 2510 แต่สิ่งที่เป็นความเปลี่ยนแปลงสำคัญคือ เทคนิควิธีการแสดง ก็คือจะใช้เทคนิคสมัยใหม่ เข้ามาทำให้การจัดแสงสวยงามมากขึ้น

ให้วัตถุที่ถูกจัดแสดงทั้งหลายมีความสวยมากขึ้นกว่าการจัดแสดงก่อนๆ หลายเท่าเลยทีเดียว

แต่อย่างไรก็ตาม message เนื้อหาที่การจัดแสดงเหล่านี้ยังถูกส่งผ่านมาถึงผู้ชมคือการพูดถึงเรื่องชาติ ไอเดียเรื่องชาตินิยม และการพูดถึงประวัติศาสตร์ที่ยังยึดโยงอยู่กับการแบ่งยุคสมัยแบบอาณาจักร ในแบบเดิมอยู่

สำหรับนิทรรศการครั้งนี้ผมคิดว่าถ้าเราดูเนื้อหาหลายส่วนมีความเปลี่ยนแปลงพัฒนาขึ้นตามความรู้ทางประวัติศาสตร์ศิลปะและโบราณคดีสมัยใหม่

บางห้องมีการเล่า message ที่สะท้อนให้เห็นถึงความก้าวหน้าทางวิชาการทางด้านนี้ ยังมีห้องก่อนประวัติศาสตร์และห้องล้านนา

ผมคิดว่าเป็นการจัดแสดงที่พยายามสื่อความหมายที่ก้าวทันและก้าวหน้าทางประวัติศาสตร์โบราณคดีอย่างมากทีเดียว

แต่อย่างไรก็ตามในหลายห้องเราจะเห็นว่ายังคงทัศนะแบบเดิมอยู่

และยังมีอีกหลายห้องทีเดียว ที่ยังจัดแสดงในลักษณะที่เอาของมาตั้ง โดยที่แทบไม่มีเนื้อหาอะไรพูดถึง เพียงแต่ว่าจัดแสงให้สวยขึ้น

ตัวอย่างก็เช่นห้องอยุธยา ที่คิดว่าจะเป็นตัวอย่างที่สำคัญ ถ้าเราเข้าห้องนี้ไป เราก็แทบจะไม่เห็นการสื่อความหมายสื่อสารอะไรมากนัก นอกจากจะแสดงศิลปวัตถุตั้งอยู่โดดๆ

นอกจากนี้ ศ.ชาตรียังมีมุมมองถึงสถานการณ์รื้อ-ทำลายอาคาร สถาปัตยกรรมหลายแห่ง ในช่วงหลายปีที่ผ่านมาในประเทศว่า ปัญหาของการเก็บรักษาโบราณสถานในยุคปัจจุบันนับวันจะยิ่งซับซ้อนมากยิ่งขึ้น ก็เพราะสถาปัตยกรรมที่เราเรียกว่ายุคสมัยใหม่ทั้งหลายที่สร้างขึ้นในศตวรรษที่ 20 เป็นต้นมาจนถึงปัจจุบัน อายุมันเริ่มเก่า 80 ปี 90 ปี อีกไม่นานจะแตะ 100 ปี

เพราะฉะนั้นด้วยสถานะของมัน ถึงเวลาแล้วที่กลุ่มอาคารเหล่านี้จะต้องมีการศึกษาอย่างจริงจัง โดยจะต้องมีการตั้งหน่วยงานเฉพาะขึ้นมารวบรวมข้อมูล แล้วก็ทำการคัดเลือกหรือแม้แต่การขึ้นทะเบียนโบราณสถาน

อย่างไรก็ตาม สภาพดังกล่าวในสังคมไทยปัจจุบันกลับไม่ได้เป็นเช่นนั้น เพราะอาคารที่สร้างขึ้นหลังศตวรรษที่ 20 ในปัจจุบัน ในสังคมไทยเรายังมีเพดานความคิดเรื่องการอนุรักษ์ที่ไม่ได้จัดรวมอาคารกลุ่มนี้อยู่ในอาคารที่มีคุณค่าเลย

ก็เลยทำให้หลายอาคารถูกรื้อเรื่อยมาในรอบไม่กี่ปีที่ผ่านมา ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มอาคารศาลฎีกา อนุสาวรีย์ปราบกบฏ Scala หรือแม้กระทั่งกรณีล่าสุดคือหัวลำโพงที่เกิดข้อถกเถียงกัน

นี่คือปัญหาใหญ่ ที่ตอนนี้เหมือนเพดานความคิดเรื่องการอนุรักษ์และการให้คุณค่าของศิลปะและสถาปัตยกรรมในทัศนะของภาครัฐไทยยังก้าวไม่ทันความเป็นจริงที่มันเกิดขึ้น

ศ.ชาตรีทิ้งท้ายว่าปัญหาที่สำคัญส่วนหนึ่งมาจาก Mind Set ที่ว่าสังคมไทยยังยึดติดอยู่กับอาคารที่สร้างในยุคก่อนศตวรรษที่ 20 ยังไปจำกัดกรอบมากๆ ก็คืออาคารหรือศิลปกรรมที่มีคุณค่าในกระแสหลัก ยังมองไปที่อาคารที่จะต้องมีลวดลายประดับตกแต่ง มีงานช่าง มีงานคราฟต์ อะไรเยอะแยะมากมาย ถึงจะรู้สึกว่ามีคุณค่า

แต่สังคมไทยยังไม่เคยมองเลยว่าอาคารที่อยู่ในยุคสมัยใหม่เรียบง่ายที่แสดงความทันสมัย มันถูกสร้างขึ้นบนสุนทรียภาพอีกชุดหนึ่งในคุณค่าอีกแบบหนึ่ง ที่แตกต่างอย่างสิ้นเชิงกับอาคารก่อนหน้านั้น

ซึ่งสุนทรียภาพแบบใหม่นี้สังคมไทยยังไม่ได้มีการศึกษา และให้ความสำคัญมากนัก

พอความรู้ชุดนี้มันไม่ได้มีมากพอ ก็เลยไปจำกัด Mind Set ว่า อาคารกลุ่มเหล่านี้ไม่ได้มีคุณค่าเท่าไหร่แล้วก็พร้อมที่จะถูกรื้อได้เสมอ