แนวโน้ม ‘อินโด-แปซิฟิก’ ในปี 2022/บทความพิเศษ

บทความพิเศษ

 

แนวโน้ม ‘อินโด-แปซิฟิก’

ในปี 2022

 

สถานการณ์น่านน้ำอินโด-แปซิฟิกในปี 2021 แม้จะเผชิญการระบาดของโควิด-19 ทั้งสายพันธุ์เดลต้าและปลายปีที่มาล่าสุดอย่างโอไมครอน ความตึงเครียดก็ไม่ได้คลี่คลายลง

ท่ามกลางโควิด-19 ยังคงมีการเผชิญหน้ากันของหลายประเทศในแถบนี้ซึ่งเกี่ยวโยงกับการแข่งขันระหว่างชาติมหาอำนาจ การกุมทรัพยากร การเพิ่มงบประมาณด้านการป้องกันประเทศและการทหารที่เพิ่มขึ้นซึ่งสะท้อนได้ผ่านตัวเลขการซื้อขายอาวุธที่เติบโตสวนทางกับภาวะเศรษฐกิจชะงักงันจากโรคระบาด

อุณหภูมิการเมืองบนน่านน้ำตั้งแต่มหาสมุทรอินเดีย ทะเลจีนใต้ จนถึงทะเลจีนตะวันออกค่อยๆ เดือดขึ้น นับตั้งแต่รัฐบาลสหรัฐได้ผู้นำคนใหม่อย่างโจ ไบเดน พาสหรัฐกลับมาภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกอีกครั้ง และทำให้เห็นความเป็นคู่แข่งในการเป็นผู้กุมพื้นที่ยุทธศาสตร์ที่ชัดเจนอีกระดับ การก่อตัวของพันธมิตรใหม่ด้านยุทธศาสตร์และความมั่นคง ความขุ่นเคืองจากจีน และการตอกย้ำวาทกรรม “ประชาธิปไตย vs “อำนาจนิยม” สภาวะเช่นนี้คล้ายคลึงกับช่วงสงครามเย็นแม้จะต่างเงื่อนไข

สิ่งเหล่านี้ที่เกิดขึ้นตลอดปี 2021 จะนำไปสู่แนวโน้มอะไรในปี 2022 บ้าง?

 

สภาเพื่อความร่วมมือความมั่นคงในเอเชีย-แปซิฟิก หรือซีเอสแคป (CSCAP) ได้ออกรายงานแนวโน้มความมั่นคงระดับภูมิภาค ปี 2022 ไว้เมื่อ 13 ธันวาคมที่ผ่านมา โดยแนวโน้มความมั่นคงในอินโด-แปซิฟิก จากสายตาของสหรัฐนั้น สก๊อต ฮาโรลด์ นักรัฐศาสตร์อาวุโส ระบุว่า สิ่งที่ทำให้สหรัฐถูกดึงดูดให้มาสนใจในพื้นที่นี้ มาจากอำนาจและความทะเยอทะยานที่เพิ่มขึ้นของจีน

การผงาดอย่างแข็งกร้าว ทะเยอทะยานและการคิดย้อนกลับของจีนภายใต้ผู้นำอย่างสีจิ้นผิง เป็นปัจจัยนำที่ชัดเจนต่อมุมมองด้านความมั่นคงในอินโด-แปซิฟิกของสหรัฐ ตั้งแต่การปราบปรามภายในอย่างเป็นระบบทั้งฮ่องกงและซินเจียง การกลับมาของทาลิบันในอัฟกานิสถาน สงครามกลางเมืองในพม่าหลังรัฐประหารที่จีนเข้าไปเกี่ยวข้อง

แนวทางยุทธศาสตร์ความมั่นคงแห่งชาติชั่วคราวระบุชัดเจนว่า ประชาธิปไตยกำลังถูกคุกคามจากเผด็จการทั้งในบ้านและเผด็จการในต่างประเทศ

ไบเดนพูดถึงความเป็นไปได้ที่ความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐกับจีนจะมีลักษณะ “การแข่งขันที่รุนแรง” ในขณะที่เอฟริล เฮนส์ ผู้อำนวยการหน่วยข่าวกรองแห่งชาติ ได้กล่าวถึงจีนว่าเป็นลำดับความสำคัญที่ “เหนือชั้น”

ส่วนแอนโทนี บลินเกน รมต.ต่างประเทศสหรัฐ มองว่าความสัมพันธ์กับจีนจะ “แข่งขันกันในที่ที่ควรจะเป็น ร่วมมือกันในที่ที่เป็นไปได้ [และ] เป็นปฏิปักษ์ในที่ที่ควรจะเป็น”

รายงานระบุอีกว่า ในเวลาเพียงไม่กี่ทศวรรษ จีนพัฒนากองทัพปลดปล่อยประชาชน (พีแอลเอ) จนมีความทันสมัย ซึ่งเป้าหมายของพีแอลเอคือ “การชนะที่ไม่ใช่แข่งขัน” กับสหรัฐ

โอกาสที่ใหญ่ที่สุดสำหรับความขัดแย้งระหว่างสหรัฐกับจีนดูเหมือนจะอยู่ทุกพื้นที่ ไม่ว่าไต้หวัน ทะเลจีนตะวันออกและทะเลจีนใต้ บนคาบสมุทรเกาหลี ในอวกาศหรือในโลกไซเบอร์ หรืออาจเป็นผลมาจากการปะทะกันระหว่างจีนและอินเดีย

ณ ตรงนี้ พล.ร.ท.ฟิลด์ เดวิดสัน อดีต ผบ.ภาคพื้นที่อินโด-แปซิฟิกของสหรัฐ เคยเตือนว่า ความขัดแย้งจะเกิดขึ้นภายใน 6 ปีข้างหน้า หรือ พล.ร.อ.จอห์น อากิลิโน่ ผบ.คนปัจจุบัน ได้กล่าวเสริมว่า อาจเกิดขึ้นใกล้กว่าที่เราส่วนใหญ่คิดไว้

นอกจากนี้ แม้ก่อนไบเดนมารับตำแหน่ง ผู้เชี่ยวชาญได้ให้คำแนะนำว่า จำเป็นต้อง “เอาจริงเอาจัง” เกี่ยวกับความสัมพันธ์กับไทย ชาติพันธมิตรที่กำลังฝักใฝ่จีนมากขึ้นเรื่อยๆ นับตั้งแต่ประชาธิปไตยถดถอยลงคลองหลังการรัฐประหาร 2557 และมีท่าทีต่อรัฐบาลทหารพม่าหลังรัฐประหารที่อะลุ่มอล่วย

การเยือนไทยของเดวิด โคเฮน รอง ผอ.ซีไอเอ และ รมต.บลินเกน กลับยุติการเยือนกลางคันด้วยเหตุผลของโควิด-19 หรือการที่ยังไม่มีการแต่งตั้งเอกอัครรัฐทูตสหรัฐประจำประเทศไทยคนใหม่ นับว่าเป็นสัญญาณที่สหรัฐส่งถึงไทย นอกเหนือจากจีน

 

ความตึงเครียดบนทะเลจีนใต้ ตลอดจนแถบอินโด-แปซิฟิกนี้ ปรากฏผ่านข่าวการพบเรือรบหลายชาติที่ผ่านในพื้นที่อินโด-แปซิฟิกมาตั้งแต่ต้นปี ไม่ว่าเป็นเรือรบฟรีเกตของอินเดีย เวียดนาม การซ้อมรบทางทะเลร่วมระหว่างแคนาดา สหรัฐ ญี่ปุ่น การก่อตั้งไตรพันธมิตรทางทหารอย่าง AUKUS หรือจตุรมิตร The Quad ซึ่งมีสหรัฐเป็นตัวหลัก เรือบรรทุกเครื่องบินควีน อลิซาเบธ หรือเรือฟรีเกตเบเยอร์ของเยอรมนีที่เป็นครั้งแรกในรอบ 2 ทศวรรษ

สะท้อนให้เห็นว่าพื้นที่ดังกล่าวไม่ใช่ประเด็นระดับภูมิภาคอีกต่อไป ซึ่งหยุน ซุน นักวิจัยอาวุโสโครงการเอเชียตะวันออกของศูนย์สติมสัน ให้ความเห็นว่า จีนกลัวว่าข้อพิพาทนี้จะกลายเป็นเรื่องระดับระหว่างประเทศ และจะทำให้เสียโอกาสหารือข้อพิพาทแบบตัวต่อตัวกับประเทศในภูมิภาคนี้

แต่ฝั่งจีนก็ตอบโต้ในหลายรูปแบบ ทั้งใช้การทูตโต้ตอบอย่างแข็งกร้าวกับหลายชาติ ไม่ว่าอังกฤษ ออสเตรเลีย อินเดีย หรือลิทัวเนีย

การซ้อมรบหรือบินรุกล้ำน่านฟ้าถี่ขึ้นกับไต้หวัน

และกระชับสัมพันธ์กับชาติทั้งเก่าและใหม่ ทั้งในแง่เศรษฐกิจและยุทธศาสตร์ เช่น กัมพูชาที่มีข่าวลือเรื่องฐานทัพเรือลับของจีน ลาวผ่านโครงการรถไฟความเร็วสูง ปากีสถานที่จีนส่งมอบเรือรบสมรรถนะสูงทั้งระบบป้องกันทางอากาศ ระบบเรดาร์และใช้เทคโนโลยีล่องหนที่กองทัพเรือของจีนระบุว่าเหนือกว่าเรือลำใดที่จีนสร้างขึ้น

รวมถึงเครื่องบินรบรุ่นเจเอฟ-17 ที่จีนและปากีสถานจะพัฒนาร่วมกัน

หรือการจับมือเป็นมิตรกันระหว่างจีนกับผู้นำกลุ่มทาลิบัน

นี่คือการวางหมากยุทธศาสตร์ของจีนกับสหรัฐที่ต่างไม่ยอมน้อยหน้าไปกว่ากัน

 

สิ่งที่จะเกิดขึ้นในปี 2022 อดีตทูตไทยคนหนึ่งประเมินว่า จะเกิดสงครามตัวแทนขึ้น โดยมหาอำนาจเข้าแทรกแซงในพื้นที่ที่พิพาท เช่น ไต้หวัน หรือพม่า

ในกรณีพม่า สงครามกลางเมืองที่สู้รบกันหนักระหว่างรัฐบาลเผด็จการทหาร กับกองกำลังชาติพันธุ์และกองทัพประชาชน (พีดีเอฟ) จะยังคงยืดเยื้อและไทยก็ได้รับผลกระทบด้วย

ถ้าเกิดกรณีคณะมนตรีความมั่นคงของสหประชาชาติผ่านมติขอใช้การแทรกแซงด้วยกำลังกับพม่า ไทยจะวางตัวยังไงในฐานะประเทศเพื่อนบ้าน? ที่ต้องรับมือความสัมพันธ์ทั้งสหรัฐและจีน

หรือจีนจะอ้างสิทธิเหนือทะเลจีนใต้ได้อย่างถูกต้องหรือไม่ เพราะจีนอ้างสิทธิแบบเข้าข้างตัวเองซึ่งขัดกับกฎหมายทางทะเลและมีข่าวลือว่าเกาะเทียมที่สร้างขึ้นนั้นเริ่มทรุดตัว จีนจะแสดงท่าทีแข็งกร้าวกับชาติเพื่อนบ้านหนักขึ้นก็เป็นได้ และถ้าข้อพิพาทดังกล่าวยืดเยื้อและมีแนวโน้มเป็นระดับระหว่างประเทศจนชาตินอกภูมิภาคเข้ามาเกี่ยว จะกลายเป็นงานยากสำหรับจีน

ซึ่งจีนยุคสีจิ้นผิงนั้นเกียรติภูมิและความมั่นคงของชาติอยู่เหนือกว่าสิ่งใด หากทะเลจีนใต้ไม่มั่นคง ก็อาจนำไปสู่การดำเนินนโยบายที่หนักขึ้นกับไต้หวันถึงขั้นใช้กำลัง เพื่อจุดหมายทั้งความมั่นคงของรัฐบาลจีนและจุดยุทธศาสตร์สำคัญในทะเลจีนใต้ แต่ก็หมายถึงการไปสู่สงครามตัวแทนในอนาคต

นับเป็นแนวโน้มที่คาดว่าจะเกิดขึ้นในปี 2022 นี้