จีนสมัยราชวงศ์ซ่ง (33) สังคมเศรษฐกิจและวัฒนธรรมสมัยซ่ง (ต่อ)/เงาตะวันออก วรศักดิ์ มหัทธโนบล

วรศักดิ์ มหัทธโนบล

เงาตะวันออก

วรศักดิ์ มหัทธโนบล

 

จีนสมัยราชวงศ์ซ่ง (33)

สังคมเศรษฐกิจและวัฒนธรรมสมัยซ่ง (ต่อ)

 

เมื่อถูกยกให้เป็นค่านิยมแล้ว การรัดเท้าจึงเป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้สำหรับหญิงจีนนับแต่นั้นมา แต่ที่ควรกล่าวด้วยก็คือว่า ปทุมทองที่เป็นชื่อเรียกเท้าที่ถูกรัดนี้มีที่มาจากชื่อของท่ารำหนึ่ง ที่เหล่านางในรำถวายจักรพรรดิในวังหลวง

ซึ่งเอกสารฉบับหนึ่งที่บันทึกขึ้นใน ค.ศ.1344 ได้เล่าไว้ในตอนหนึ่งว่า…

การรัดเท้าได้ปรากฏขึ้นครั้งแรกในสมัยห้าราชวงศ์ แต่มิได้เป็นที่แพร่หลายจนกระทั่งราชวงศ์ซ่งได้รับเอามาในระหว่าง ค.ศ.1068 ถึง 1085 จนเป็นที่นิยมอย่างกว้างขวางถึงขนาดที่ว่า หากหญิงใดไม่ถือปฏิบัติแล้วจะเป็นเรื่องที่น่าอับอาย

มีการพบรองเท้าผ้าไหมที่มีขนาดเล็กและผ้าพันเท้าในครอบครัวผู้ดีหรือเจ้าที่ดินที่ทำให้รู้ว่า การรัดเท้าได้แพร่หลายอย่างรวดเร็วจนเป็นที่นิยมของหญิงที่อยู่นอกวัง

แต่ค่านิยมนี้กลับไม่เป็นที่ยอมรับของเหล่าบัณฑิตในสำนักขงจื่อ

บัณฑิตบางคนในสำนักนี้ได้ออกมาวิจารณ์การรัดเท้าอย่างตรงไปตรงมา

ในขณะเดียวกันก็พบว่า รองเท้าของหญิงผู้ดีรายหนึ่งมีขนาดเท่าเท้าปกติ ซึ่งแสดงว่าหญิงผู้นี้ไม่ยอมรับค่านิยมนี้เช่นกัน แต่บุคคลที่ปฏิเสธค่านิยมนี้ยังถือเป็นเสียงส่วนน้อยอย่างยิ่ง

การที่หญิงจีนรัดเท้าตามค่านิยมตั้งแต่เล็กจนโตและทำให้เท้าผิดรูปนี้ เวลาที่เดินจึงดูไม่คล่องแคล่วเป็นธรรมชาติ เพราะเป็นการเดินด้วยก้าวเล็กๆ สั้นๆ หญิงส่วนใหญ่จึงชอบที่จะนั่งมากกว่าเดิน

นอกจากนี้ การเดินมากๆ ในขณะที่เท้าพิกลพิการเช่นนั้นยังทำให้เท้าเกิดการบาดเจ็บอีกด้วย

ดังนั้น หญิงจีนในศตวรรษที่ 13 จึงนิยมเดินทางด้วยยานพาหนะมากกว่าที่จะเดินด้วยเท้าทั้งสอง

 

อย่างไรก็ตาม หากไม่นับการรัดเท้าแล้ว ค่านิยมของหญิงในยุคนี้ยังพึงต้องเป็นหญิงที่มีรูปร่างที่เล็กกว่าชาย มีทรวดทรงองค์เอวที่งดงาม อ่อนโยน และบอบบาง หญิงงามและดีจะต้องเก็บตัวอยู่แต่ในบ้าน ดูแลรับใช้บุพการี สามี และครอบครัว

รวมทั้งให้การอบรมบ่มเพาะแก่บุตรธิดา

แต่ที่ดูออกจะพิสดารก็คือ ค่านิยมของชายชั้นสูงที่มีต่อหญิงในยุคนี้ที่เกี่ยวกับการรัดเท้ากลับมิใช่เรื่องความงามเพียงด้านเดียว หากยังเกี่ยวโยงไปถึงเรื่องกามเสวนกิจอีกด้วย

โดยชายในยุคนี้เห็นว่า การที่หญิงเดินด้วยก้าวเล็กๆ อันเนื่องมาจากการถูกรัดเท้าทำให้หญิงไร้ซึ่งพลังต้านทานแรงชาย อันถือเป็นเสน่ห์ทางเพศอย่างหนึ่ง

และเมื่อเปรียบเทียบกับสมัยถังที่ชายจะมีนางบำเรอได้ก็ต่อเมื่อภรรยามิอาจให้บุตรแก่สามีนั้น ในสมัยซ่งกลับมีด้วยเห็นว่าหญิงเป็นเครื่องบำเรอที่หาได้ง่าย

และการมีเท้า “ปทุมทอง” ก็เป็นสิ่งที่แต่ละครอบครัวจะสร้างให้แก่บุตรีของตนเพื่อที่จะได้มีอนาคตที่ดีกับสามี ที่ต่างก็แสวงหาหญิงที่มีรูปลักษณ์เช่นนี้ และเพื่อที่สามีจะได้หลงรักบุตรีของตนอย่างมั่นคง

ค่านิยมเช่นนี้จึงมิอาจหาได้จากที่ใดในโลกอีกแล้วนอกจากจีน

 

แม้จีนในยุคนี้จะมีค่านิยมดังกล่าวก็ตาม แต่ในอีกด้านหนึ่งก็มีการสร้างสรรค์วัฒนธรรมในแง่มุมอื่นเช่นกัน การสร้างสรรค์ที่สำคัญเรื่องหนึ่งคือ กวีนิพนธ์ ที่ยุคนี้ได้สืบทอดจากยุคถังที่ได้สร้างสรรค์ด้วยมาตรฐานอันเป็นเลิศ (classical) โดยหลี่ไป๋และตู้ฝู่

โดยเฉพาะในเรื่องของจำนวนคำของบทกวีที่เพิ่มขึ้นจากยุคถัง ถึงตรงนี้การศึกษาในที่นี้เห็นควรที่จะกล่าวถึงลักษณะของบทกวีจีนตามสมควร โดยจะเรียบเรียงจากคำอธิบายของประไพ วิเศษธานี1 อีกโสดหนึ่งว่า

บทกวีจีนจะมีคำประพันธ์ที่มีลักษณะเฉพาะ โดยลักษณะเฉพาะนี้ปรากฏผ่านคำว่า ซือ กับคำว่า ฉือ

คำแรกอาจเทียบความหมายได้โดยกว้างว่าคือ ร้อยกรอง (poem) ลำพังหากบทกวีจีนใช้คำนี้คำเดียวโดยมีความหมายดังว่าก็คงไม่สู้จะมีปัญหามากนัก แต่ที่เป็นปัญหาคือ บทกวีจีนยังมีคำว่า ฉือ อยู่ด้วย

จำเดิมคำคำนี้หมายถึงเนื้อเพลงโบราณของจีน แต่ต่อมากลับนิพนธ์โดยไม่คำนึงถึงเรื่องเพลง เพราะฉะนั้นแล้วจะเรียก ฉือ ว่าเป็นคำร้อง (lyric) สถานเดียวย่อมไม่ได้ แต่ครั้นจะเรียกว่าร้อยกรองก็ไม่ตรงอีกเช่นกัน ในขณะที่ในอีกแง่หนึ่ง ฉือ ก็ถือเป็นร้อยกรองอย่างหนึ่งได้ด้วย

ดังนั้น คำจีนทั้งสองคำที่มักจะใช้คู่กันว่า ซือฉือ โดยรวมแล้วจะหมายถึง ร้อยกรอง โดยละไว้ในฐานที่เข้าใจว่าคำทั้งสองยังมีความหมายที่ต่างกันอยู่

 

จากคำอธิบายข้างต้นทำให้เห็นว่า คำว่า ซือ และ ฉือ มีความหมายค่อนข้างเฉพาะเกินกว่าที่จะแปลโดยรวมว่า ร้อยกรอง เพียงคำเดียว ดังนั้น เพื่อให้เห็นความต่างของคำทั้งสองในที่นี้จึงเห็นว่า ซือ ควรเป็นคำว่า กวีวัจนะ และคำว่า ฉือ เป็นคำว่า คีตลำนำ

คำแรกเป็นคำที่ให้ไว้โดย น.ม.ส.2 ในผลงานเรื่อง สามกรุง ว่าหมายถึง ร้อยกรองทุกประเภท ส่วนคำหลังเพื่อคงไว้ซึ่งที่มาของคำว่า ฉือ ที่เกี่ยวพันถึงคำร้องของเพลง ถึงแม้ในชั้นหลังจะมิได้เป็นคำร้องเสมอไปก็ตาม ซึ่งลำนำก็เป็นเช่นนั้น3

และจากลักษณะของกวีจีนดังกล่าว พอมาถึงในยุคซ่งได้มีการพัฒนารูปแบบการนิพนธ์ที่แตกต่างไปจากยุคก่อนหน้า ด้วยการวางระเบียบของกวีวัจนะไว้ที่ห้าหรือเจ็ดคำ และให้คีตลำนำใช้ทรัพยากรจากคลังภาษาจีนที่มีอยู่ทั้งหมดมารังสรรค์ผลงาน

ส่วนผู้ที่ได้รับการยกย่องให้เป็นมหากวีในยุคนี้คือ เหมยเหยาเฉิน (ค.ศ.1002-1060) โอวหยังซิว (ค.ศ.1007-1072) ซูซื่อ (ค.ศ.1037-1101) และหวังอันสือ (ค.ศ.1021-1068) มหากวีทั้งสี่มีปฏิสัมพันธ์ที่น่าสนใจไม่น้อย

โดยเหมยเหยาเฉินซึ่งมีอาวุโสที่สุดนั้น สอบบัณฑิตได้ก่อนที่เขาจะเสียชีวิตเพียงเก้าปีเท่านั้น ผิดกับผลงานกวีของเขาที่กลับเป็นที่รู้จักก่อนที่เขาจะเป็นบัณฑิตเสียอีก

1 ประไพ วิเศษธานี เป็นนามแฝงของอัศนี พลจันทร (พ.ศ.2461-2530) อดีตนักคิดนักเขียนและนักปฏิวัติไทย เป็นผู้แต่งเพลงที่มีชื่อเสียงคือ คิดถึงบ้าน หรือที่เรียกกันในอีกชื่อหนึ่งว่า เดือนเพ็ญ ส่วนคำอธิบายเกี่ยวกวีจีนของประไพที่งานศึกษานี้นำมาอ้างนั้นมาจากผลงานแปล กาพย์กลอนเหมาเจ๋อตุง (2519) ของเจ้าตัว

2 น.ม.ส. เป็นนามปากกาของพระราชวรวงศ์เธอ กรมหมื่นพิทยาลงกรณ์ (พ.ศ.2420-2488)

3 โดยส่วนตัวแล้วมิได้ลุ่มลึกหรือรู้กว้างในงานกวีจนสามารถให้ศัพท์บัญญัติทั้งสองคำนั้นได้ หากแต่เป็นคำแนะนำที่เสนอโดยศุภมิตร ปิติพัฒน์ รองศาสตราจารย์ประจำภาควิชาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ คณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ (2564) กัลยาณมิตรทางวิชาการที่งานศึกษานี้ได้อาศัยพึ่งพาความรู้อยู่เสมอ จึงขอขอบคุณมา ณ ที่นี้ด้วย