อัฟกานิสถาน : การกลับมาของฏอลิบาน (22)/มุมมุสลิม จรัญ มะลูลีม

จรัญ มะลูลีม

มุมมุสลิม

จรัญ มะลูลีม

 

อัฟกานิสถาน

: การกลับมาของฏอลิบาน (22)

 

มุลลอฮ์ มุฮัมมัด อุมัร (Mulah Muhammad Umar) ผู้นำของกองทัพนักเรียนเป็นนักสู้ตาเดียว (เขาได้สูญเสียดวงตาอีกข้างในขณะทำการสู้รบกับทหารรัสเซีย) ที่ไม่ปรารถนาให้ใครรู้จักหน้าค่าตา

แกนของฏอลิบานทุกคนไม่ต้องการเป็นข่าว ไม่ต้องการให้ใครถ่ายรูป และถือว่ารูปภาพอันเป็นตัวแทนของมนุษย์นั้นเป็นของ “ต้องห้าม” และขัดแย้งกับเกียรติยศของมนุษย์

แต่ในที่สุดเมื่อพวกเขาได้ชัยชนะ พวกเขาก็ไม่อาจหลีกหนีการตกเป็นข่าวของโลกและการถูกถ่ายรูปได้

อย่างไรก็ตาม เมื่อฏอลิบานหวนคืนสู่อำนาจอีกครั้งในปี 2021 พวกเขาได้ปรากฏตัวต่อหน้ามวลชนและสำนักข่าวอยู่เสมอ

แนวคิดเดิมที่ไม่ต้องการปรากฏตัวและการตีความที่ว่ารูปภาพ ซึ่งเป็นตัวแทนของมนุษย์เป็นของ “ต้องห้าม” และขัดแย้งกับเกียรติยศของมนุษย์ก็ไม่ได้ถูกนำมาปฏิบัติอีกต่อไป

ซึ่งแสดงให้เห็นว่าการตีความทางศาสนาทั้งของรัฐบาลมุญาฮิดีนและฏอลิบานไม่ได้มีความตายตัวเสมอไป

ลำพังกองทัพนักเรียนคงไม่อาจประสบความสำเร็จในการเข้าครองกรุงคาบูลได้ ถ้าไม่ได้รับการสนับสนุนจากปากีสถาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากหน่วยสืบราชการลับของปากีสถาน

จนนักรบกลุ่มนี้ได้รับการวิพากษ์วิจารณ์ในเวลานั้นว่ากำลังทำให้อัฟกานิสถานเป็นอาณานิคมของปากีสถาน

อิหร่านซึ่งหนุนประธานาธิบดีบุรฮานุดดีน ร็อบบานี วิจารณ์ว่าคนหนุ่มอัฟกันเคยปลดแอกตนเองมาแล้ว จากการยึดครองของโซเวียต และจะไม่มีรีรอในการต่อต้านรัฐบาลใดๆ ที่รับใช้ต่างชาติมากกว่ารับใช้อัฟกานิสถาน

ในขณะที่อิหร่านมีความเชื่อว่าความสำเร็จของกองทัพนักเรียนมีปากีสถานและสหรัฐอยู่เบื้องหลัง แต่ก็ไม่ได้พูดถึงรายละเอียดในเรื่องนี้

 

หลังการยึดคครองกรุงคาบูลโดยฝ่ายฏอลิบานแล้ว สหรัฐก็ได้ประกาศว่าจะรื้อฟื้นความสัมพันธ์กับฏอลิบานของอัฟกานิสถานทันทีเมื่ออัฟกานิสถานมีความปลอดภัยขึ้น เพราะนับตั้งแต่ปี 1979 ที่เอกอัครราชทูตสหรัฐ Adolph Dubs ถูกลอบสังหารก็ไม่มีชาวสหรัฐอยู่ในอัฟกานิสถานอีกเลย

ในเวลาเดียวกันสหประชาชาติก็ได้ส่งทูตพิเศษคือ Norbert Holl ไปเป็นตัวแทนเจรจากับกองทัพฏอลิบานเกี่ยวกับอนาคตของอัฟกานิสถาน และจะพูดคุยกับกลุ่มมุญาฮิดีนอื่นๆ ด้วย

ในการเข้าสู่อำนาจครั้งแรกกองทัพฏอลิบานได้เคยให้สัญญาไว้ก่อนหน้าการยึดกรุงคาบูลมาเป็นแรมปีแล้วว่าหากพวกเขาพิชิตกรุงคาบูลได้ก็จะคืนอำนาจให้แก่ตัวแทนของสภาอัฟกานิสถานที่นักรบมุญาฮิดีนหลายฝ่ายได้ทำการต่อสู้เคียงบ่าเคียงไหล่กันมาในการเอาชนะโซเวียต และจะปฏิบัติตามแผนสันติภาพของสหประชาชาติ

ทูตพิเศษของสหประชาชาติกล่าวหลังการพบปะกับกองทัพฏอลิบานว่า พวกเขาพร้อมจะให้ความร่วมมือกับสหประชาชาติ แต่จะไม่ขออภัยในการแขวนคอนายนาญีบุลลอฮ์ที่เคยอยู่ใต้การคุ้มครองของสหประชาชาติแต่อย่างใด

Holl เชื่อว่าการพูดคุยโดยเฉพาะกับกองทัพฏอลิบานจะไม่สามารถแก้ปัญหาของอัฟกานิสถานได้ พร้อมกันนี้ทูตพิเศษของสหประชาชาติยังได้เจรจากับกองทัพฏอลิบานในเรื่องของสิทธิสตรีอีกด้วย

 

สิ่งที่กองทัพนักเรียนย้ำอย่างมากก็คือ การแต่งกายมิดชิดตามหลักการศาสนาอิสลามทั้งชายและหญิง

สตรีควรอยู่กับเหย้าเฝ้ากับเรือนแต่หากจะออกจากบ้านก็ต้องแต่งกายให้เรียบร้อยด้วยชุดชาดอร์อันเป็นชุดที่คลุมหน้าและร่างกาย

อย่างไรก็ตาม ในการเข้าสู่อำนาจครั้งใหม่ในปี 2021 จะพบว่าสตรีอัฟกานิสถานได้เปิดใบหน้าของพวกเธอให้เห็นเป็นส่วนใหญ่และเข้าศึกษาในสถานศึกษาต่างๆ ได้แม้จะมีการแยกห้องเรียนชายหญิงเหมือนกับในหลายๆ ประเทศของโลกมุสลิมโดยเฉพาะในระดับปริญญาตรี

ความจริงแล้วแม้ว่าหลักการอิสลามจะให้สตรีแต่งกายอย่างมิดชิดด้วยการคลุมศีรษะและปกปิดร่างกาย (ฮิญาบ) แต่อิสลามก็มิได้ห้ามการเปิดใบหน้าและฝ่ามือแต่อย่างใด แสดงว่ากองทัพนักเรียนหรือฏอลิบานในสมัยการขึ้นครองอำนาจครั้งแรก มีการตีความศาสนาอย่างเคร่งครัดมากกว่าประเทศมุสลิมในส่วนอื่นๆ ของโลก

ถึงกระนั้นผู้นำอาวุโสของฏอลิบานก็ยืนยันว่าอิสลามให้การยอมรับสิทธิทางการศึกษาของสตรี

หลายฝ่ายเชื่อว่าถึงที่สุดแล้วกองทัพฏอลิบานคงไม่ห้ามสตรีจากการทำงานนอกบ้าน เพราะถ้ามีกฎเช่นนี้ออกมาก็จะกระทบกระเทือนกับหลายครอบครัวที่หัวหน้าครอบครัวเสียชีวิตไปในสงครามและมีแต่มารดาเท่านั้นที่คอยอุ้มชูครอบครัวอยู่

แต่รัฐบาลฏอลิบานก็ไม่ได้เปลี่ยนแปลงกฎเกณฑ์ใดๆ ในเรื่องนี้จนกระทั่งต้องมาสูญเสียอำนาจไปจากการเข้ามาของสหรัฐอเมริกาในปี 2001

 

หลังการยึดอำนาจ สิ่งที่อาจดูแปลกออกไปในหมู่นักปฏิวัติด้วยกันในภูมิภาคนี้ก็คือกองทัพฏอลิบานไม่ขัดข้องหากว่าอดีตกษัตริย์ซอฮีร ชาฮ์ (Zahir Shah) ซึ่งได้เนรเทศพระองค์เองมาอยู่ที่กรุงโรม ประเทศอิตาลีเป็นระยะเวลาถึง 28 ปี (นับถึงปี 2001) แล้วจะเดินทางกลับอัฟกานิสถานเพื่อเป็นศูนย์รวมทางจิตใจของชาวอัฟกานิสถาน

หลายคนยังจดจำได้ดีถึงวันเวลาอันสงบสันติภายใต้การปกครองของพระองค์ในดินแดนอัฟกานิสถาน ซึ่งต่อมาถูกรุกรานอย่างป่าเถื่อนจากภายนอก และถูกสั่นคลอนอย่างรุนแรงจากสงครามกลางเมือง

กษัตริย์ซอฮีร ชาฮ์ ทรงมีความประสงค์ที่จะกลับคืนมาตุภูมิเดิมของพระองค์หลังจากพระองค์ถูกโค่นราชบัลลังก์ โดยพระประยูรญาติของพระองค์เองในการรัฐประหารเมื่อปี 1973 อันเป็นเวลาสิบปีก่อนที่จะมีการรัฐประหารในอัฟกานิสถานติดต่อกันมาถึงสามครั้ง ปิดท้ายด้วยการเข้ามาของโซเวียต

มีผู้ตั้งข้อสังเกตว่ากษัตริย์ซอฮีร ชาฮ์ จะเข้ากับฏอลิบานได้อย่างไร เมื่อพระองค์มีทรรศนะไปในทางเสรีนิยม และไม่เห็นด้วยกับแนวทางการปกครองของฏอลิบาน

ในขณะที่ความพยายามของสหรัฐและพันธมิตรที่จะให้พระองค์กลับคืนสู่อัฟกานิสถานเริ่มจะเป็นความจริงมากขึ้น

ฝ่ายต่างๆ ที่อยู่ในกลุ่มพันธมิตรฝ่ายเหนือและฏอลิบาน ต่างก็ปฏิเสธบทบาทของพระองค์ด้วยกันทั้งสิ้น

 

ในเวลานี้แม้พื้นที่ส่วนใหญ่ของประเทศจะตกอยู่ภายใต้การปกครองของกองทัพฏอลิบานก็ตาม ภารกิจของฏอลิบานจะไม่สำเร็จลงได้เลยหากไม่สามารถเอาชนะกองกำลังอิสระของรอชีด โตสตั้ม ที่ปกครองดินแดนส่วนใหญ่ทางเหนือของอัฟกานิสถาน

อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันกลุ่มของรอชีด โตสตั้ม ที่เป็นพันธมิตรกับนายฮิกมัตยาร ได้ถูกจัดรวมเอาไว้ในกลุ่มพันธมิตรฝ่ายเหนือที่พร้อมจะต่อกรกับฝ่ายฏอลิบานเรียบร้อยแล้ว

เมื่อมองย้อนกลับไปอาจกล่าวได้ถึงพัฒนาการในการเข้ามาของกองกำลังฏอลิบานและกลุ่มต่างๆ ที่เวลานี้ถูกเรียกว่าพันธมิตรฝ่ายเหนือได้ดังนี้ ช่วงปลายของปี 1996 โลกต้องตะลึงเมื่อกองกำลังฏอลิบาน ซึ่งคัดค้านผู้ปกครองของอัฟกานิสถานในเวลานั้นอยู่ได้บุกเข้ายึดกรุงคาบูลอันเป็นเมืองหลวง และได้นำเอาหลักการอิสลามเข้ามาปกครองประเทศ

เป็นที่รู้กันดีอยู่แล้วว่าก่อนหน้านี้อัฟกานิสถานได้แตกออกเป็นฝักเป็นฝ่ายด้วยสงคราม มีความเป็นศัตรูต่อกันและกันและในประเทศมีเขตที่มีสงครามอยู่หลายเขต

ต่อมาได้มีความรู้สึกถึงความหวัง หลังจากสี่ปีของสงครามกลางเมืองอันขมขื่นได้จบลงในที่สุด บรรดาขุนศึกทั้งหลายอาจมุ่งสู่การเจรจาสันติภาพกันได้ แต่ฏอลิบานได้เปลี่ยนแปลงทุกสิ่งทุกอย่างไปเมื่อหน้าร้อนของปี 1995

ฏอลิบานสมัยแรกยึดกรุงคาบูลได้ในคืนวันที่ 26-27 กันยายน เมื่อกองทัพของรัฐบาลและประธานาธิบดีบุรฮานุดดีน ร็อบบานี หลบหนีออกไปทางเหนือ ฝ่ายฏอลิบานได้นำกฎหมายอิสลามที่เข้มข้นมาใช้

กองกำลังของรัฐบาลอัฟกานิสถานก่อนการเข้าสู่อำนาจของฏอลิบานนำโดยอะห์มัด ชาฮ์มัสอูด เจ้าของฉายา “สิงโตแห่งปัญชีร” ซึ่งเป็นผู้นำทางทหารของประธานาธิบดีร็อบบานี ได้ถอยไปตั้งหลักที่หุบเขาปัญชีร

ซึ่งฝ่ายฏอลิบานได้เข้าโจมตีในวันที่ 5 ตุลาคม 3 วันต่อมาการต่อสู้ก็ได้เกิดขึ้นอีกบนท้องถนนที่มุ่งไปทางเหนือของอัฟกานิสถานและเอเชียกลางกับกองกำลังของนายพลรอชีด โตสตั้ม ขุนศึกชาวอุซเบก

การที่กรุงคาบูลตกอยู่ในมือของฝ่ายฏอลิบานสมัยแรกได้ส่งคลื่นแห่งความตระหนกขึ้นในภูมิภาคอิหร่าน อินเดีย รัสเซีย และสี่สาธารณรัฐของเอเชียกลางไม่ให้การยอมรับฏอลิบาน

แต่ปากีสถานเสนอตัวรับรองฝ่ายฏอลิบานทันที นอกจากนี้ ฝ่ายฏอลิบานยังได้รับการสนับสนุนจากซาอุดีอาระเบียอีกด้วย

ในขบวนการกลับคืนสู่แนวทางศาสนาด้วยกันของอัฟกานิสถานนั้นจะพบว่ารัฐบาลที่นำโดยประธานาธิบดีบุรฮานุดดีน ร็อบบานี จากพรรคญามิอัตสลามเชื้อสายตาจิกยังคงได้รับการรับรองจากสหประชาชาติอยู่ในเวลานั้น ร็อบบานีได้รับความนิยมอยู่ในหมู่ผู้นิยมแนวทางสายกลาง (Moderate) โดยเฉพาะอย่างยิ่งในหมู่ผู้ที่พูดภาษาเปอร์เซียและได้รับการสนับสนุนอย่างเต็มที่จากอิหร่าน ส่วนนายกรัฐมนตรีฮิกมัตยาร อดีตประธานาธิบดีและนายกรัฐมนตรีเชื้อสายปาทานจากพรรคหิซบีอิสลามีนั้น จะเป็นผู้ที่ได้รับความนิยมจากพวกสุดโต่ง (radicals)

ส่วนขบวนการนักเรียนหรือฏอลิบานเริ่มเป็นที่รู้จักของผู้คนในเดือนกันยายน 1997 พวกเขาสามารถเข้าควบคุมจังหวัดทางตะวันตกเฉียงใต้ของเมืองกอนดาฮารเข้าปราบปรามโจรผู้ร้ายในจังหวัดดังกล่าว และปิดเส้นทางบกระหว่างปากีสถานและเติร์กเมนิสถาน