สิ่งแวดล้อม : 2564 ปีแห่งมหันตภัย / ทวีศักดิ์ บุตรตัน

ทวีศักดิ์ บุตรตัน

สิ่งแวดล้อม

ทวีศักดิ์ บุตรตัน / [email protected]

 

2564 ปีแห่งมหันตภัย

 

อยู่กับวิกฤต “โควิด-19” สองปีเต็มๆ จากสายพันธุ์อัลฟ่า เดลต้า กระทั่งมาเป็นโอไมครอนวันนี้ เราทุกคนต่างรับทุกข์ถ้วนหน้า บางคนก็เจอทุกข์หนักซัดกระหน่ำ ล็อกดาวน์ ปิดเมือง ธุรกิจการค้าหยุดชะงัก บ้างก็เกิดเป็นทุกข์เล็กๆ แม้ยังมีรายได้ยังชีพ แต่ต้องขดตัวอยู่กับบ้าน จะออกไปไหนต้องใส่หน้ากากปิดปากจมูก เดินห่างๆ กลุ่มคน ล้างมือบ่อยๆ

ปี 2563 โควิด-19 ทำให้คนไทยจนลงอีก 5 แสนคน เท่ากับมีคนจนทั้งประเทศ 4.8 ล้านคน นี่เป็นตัวเลขของสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ

ส่วนตัวเลขคนจนปี 2564 ยังไม่ออกมา คาดเดาได้เลยว่าจำนวนคนจนเพิ่มอย่างแน่นอนเพราะสายพันธุ์โอไมครอนยังลามต่อ ถึงจะไม่รุนแรงเท่าอัลฟ่า เดลต้า แต่ระบาดเร็ว คนไม่ฉีดวัคซีน เสี่ยงป่วยตายสูง

 

ระหว่างวิกฤตโควิด-19 เรายังเจอกับมหันตภัยจากความเปลี่ยนแปลงของสภาวะภูมิอากาศ ตลอดปี 2564 มีเหตุใหญ่ๆ ที่สร้างความปั่นป่วนให้กับโลกต้องเป็นกังวลเพราะมากับน้ำ ลม ฝุ่น ไฟ ควัน ความหนาวเย็นและคลื่นความร้อน

สื่อต่างประเทศส่วนใหญ่ประมวลเหตุมหันตภัยที่เกิดกับโลกตลอดห้วงปี 2564 เป็นบันทึกอีกหน้าของประวัติศาสตร์ เปรียบเหมือนสัญญาณย้ำเตือนให้ทุกคนเตรียมรับกับมหันตภัยที่มาเยือนในปีหน้าและปีต่อๆ ไป เพราะตราบใดชาวโลกยังปล่อยก๊าซพิษทำลายชั้นบรรยากาศโลกเหมือนเช่นที่เป็นอยู่ ไม่มีทางหลีกเลี่ยงมหันตภัยเช่นนี้ได้เลย

ปรากฏการณ์ “มหันตภัย” ปี 2564 ที่ได้รับการบันทึกไว้มีดังนี้

 

ปรากฏการณ์ “กรีนแลนด์”

เป็นปรากฏการณ์ฝนตกบนยอดเขาของเกาะกรีนแลนด์เมื่อเดือนสิงหาคมปี 2564 เป็นครั้งแรกที่มีฝนตกหนักมาก ปริมาณน้ำฝนวัดได้ในวันที่ 15 สิงหาคม ราว 7,000 ล้านตัน เป็นสถิติใหม่สุดนับจากปี 2493 เป็นต้นมา

ระหว่างเกิดฝนตก ตรวจวัดอุณหภูมิบนยอดเขากรีนแลนด์ซึ่งอยู่สูงกว่าระดับน้ำทะเลราวๆ 3 กิโลเมตร พบว่าสูงกว่าจุดเยือกแข็ง

ปรากฏการณ์ “กรีนแลนด์” แม้เป็นเรื่องไกลตัวมาก เพราะเกิดที่ขั้วโลกเหนือ แต่นักวิทยาศาสตร์ชี้ว่า อุณหภูมิบนยอดเขากรีนแลนด์สูงขึ้นและมีฝนตกหนัก ได้สะท้อนความจริงว่า สภาวะภูมิอากาศโลกเปลี่ยนแปลงเร็วมาก

ปริมาณน้ำฝนมวลมหาศาลเทียบได้กับสระน้ำขนาด 25 ล้านลิตร จำนวน 250,000 สระ เมื่อตกลงบนพื้นน้ำแข็ง น้ำแข็งละลายจะเพิ่มระดับน้ำทะเล ปัญหาตามมาก็คือชาวโลกที่อยู่ตามชายฝั่งทะเลเผชิญกับน้ำทะเลทะลักท่วม

 

ปรากฏการณ์เย็นยะเยือกในสหรัฐ

เป็นปรากฏการณ์เกิดขึ้นครอบคลุมบริเวณที่ราบใหญ่ตอนกลาง (The Great Plains) และแถบตะวันออกเฉียงใต้ของสหรัฐอเมริกา ในบางพื้นที่อุณหภูมิติดลบ 22 องศาเซลเซียส

รัฐเท็กซัสอยู่ในที่ราบใหญ่ตอนกลาง ปกติมีอุณหภูมิเฉลี่ยในเดือนกุมภาพันธ์แค่ 5 ํC เมื่อมาเจอความเย็นยะเยือก ความอลหม่านปั่นป่วนก็เกิดขึ้นเนื่องจากความต้องการใช้พลังงานไฟฟ้าสูงมาก

โรงไฟฟ้าที่ใช้พลังงานแสงอาทิตย์และพลังงานลม ประสบปัญหาผลิตกระแสไฟฟ้าไม่ได้เพราะอากาศเย็นจัดเกินไป ชาวเท็กซัส 5 ล้านคนอยู่ในความมืดมิดและหนาวเย็น

รัฐเท็กซัสประเมินผลกระทบความเสียหายทางเศรษฐกิจจากปรากฏการณ์เย็นยะเยือกคิดเป็นมูลค่า 1,300 ล้านเหรียญสหรัฐ (เป็นเงินบาทก็คูณด้วย 33.73)

 

น้ำท่วมใหญ่ข้ามทวีป

เกิดขึ้นใน 3 ทวีปไล่ตามๆ กันตั้งแต่กลางเดือนกรกฎาคม มีฝนตกหนักหลายวันติดกัน น้ำเอ่อล้นแม่น้ำ ทะลักใส่บ้านเรือนผู้คนในหลายพื้นที่ของยุโรป โดยเฉพาะเยอรมนีและเบลเยียม ได้รับความเสียหายอย่างหนัก มีผู้เสียชีวิตเกือบ 200 คน

ให้หลังไม่กี่วัน ฝนตกหนักในมณฑลเหอหนาน ตอนกลางของจีน ปริมาณน้ำมหาศาลไหลล้นทะลักเขื่อน อ่างเก็บน้ำ ดินโคลนไหลถล่มเมืองเจิ้งโจว เมืองหลวงของเหอหนาน รถไฟฟ้าใต้ดินเจอกระแสน้ำซัดใส่ มีผู้เสียชีวิตกว่า 300 คน เฉพาะในรถไฟฟ้าจมน้ำตาย 12 คน ทางการยกระดับการรับมือภัยพิบัติฉุกเฉิน อพยพผู้คนนับหมื่นออกจากพื้นที่ ความเสียหายทางเศรษฐกิจคิดเป็นมูลค่ากว่า 6 พันล้านบาท

จากนั้นในเดือนสิงหาคม ฝนถล่มรัฐเทนเนสซี สหรัฐ น้ำท่วมฉับพลัน เจ้าหน้าที่ไม่ได้เตรียมรับมือภัยพิบัติฉุกเฉินระดับรุนแรงเช่นนี้ จึงเกิดความเสียหายอย่างรุนแรง บ้านเรือนกว่า 270 หลังพังพินาศ มีผู้เสียชีวิตนับสิบคน

เดือนตุลาคม เกิดฝนตกหนักในรัฐเกรละ รัฐอุตราขัณฑ์ ของอินเดีย และในพื้นที่ของประเทศเนปาล น้ำท่วมฉับพลัน ดินโคลนถล่ม มีผู้เสียชีวิต 200 คน

 

พายุเฮอร์ริเคนไอดา

ไอดาเป็นเฮอร์ริเคนมีความรุนแรงระดับ 4 พัดถล่มบ้านเรือนในรัฐลุยเซียนา สหรัฐอเมริกา นับเป็นพายุที่ดึงเอามวลน้ำความชื้นขนาดใหญ่ที่สุดขึ้นไปอยู่บนอากาศแล้วเคลื่อนตัวอย่างช้าก่อให้เกิดฝนตกอย่างหนักในพื้นที่ที่พายุพัดผ่านรวม 9 รัฐ อีกทั้งยังเกิดคลื่นยักษ์ซัดกระหน่ำชายฝั่งอย่างรุนแรง

หางพายุไอดาพัดผ่านมหานครนิวยอร์ก รัฐนิวยอร์ก เกิดฝนตกหนักที่สุดในรอบ 1 ชั่วโมง น้ำท่วมฉับพลัน กระแสน้ำทะลักใส่สถานีรถไฟฟ้าใต้ดินกลายเป็นสระน้ำ ห้องพักของอพาร์ตเมนต์ในชั้นใต้ดินจมอยู่ใต้บาดาล มีคนนับสิบเสียชีวิตเพราะหนีน้ำไม่ทัน

รัฐบาลสหรัฐประเมินค่าความเสียหายทางเศรษฐกิจจาก “ไอดา” ราว 60,000 ล้านเหรียญสหรัฐ

 

พายุทอร์นาโด

ทอร์นาโดพัดถล่มภาคกลางฝั่งตะวันตกและตะวันออกเฉียงใต้ของสหรัฐเมื่อกลางเดือนธันวาคมนี้ เป็นพายุทอร์นาโดนอกฤดูกาล ปกติแล้วในช่วงฤดูหนาว ทอร์นาโดจะเกิดขึ้นไม่บ่อยครั้ง

แต่ครั้งนี้มาเป็นชุดๆ ราว 50 ลูก

มีอยู่ลูกหนึ่งที่พัดผ่านรัฐเคนทักกีและรัฐอื่นๆ อีก 4 รัฐ สร้างความเสียหายครั้งมหาศาลคิดเป็นมูลค่าราว 3,000 ล้านเหรียญสหรัฐ มีผู้เสียชีวิต 92 คน

นักวิทยาศาสตร์ยอมรับว่า การเปลี่ยนแปลงสภาวะภูมิอากาศมีส่วนสำคัญทำให้พายุทอร์นาโดทวีความรุนแรงอย่างไม่เคยเห็นมาก่อน

และคาดว่าในอนาคตนับจากนี้พายุทอร์นาโดจะยกระดับความรุนแรงเกิดถี่บ่อยจนกลายเป็นภาวะปกติ

 

คลื่นความร้อน

คลื่นความร้อนหรือฮีตเวฟ เกิดในฝั่งมหาสมุทรแปซิฟิกตะวันตกเฉียงเหนือและแคว้นบริติช โคลัมเบีย ประเทศแคนาดา ช่วงปลายเดือนมิถุนายน ยกระดับอุณหภูมิเพิ่มขึ้นสูงสุดทำลายสถิติเดิมๆ ที่เคยมี

อุณหภูมิสูงขึ้นจากคลื่นความร้อนแผ่ซ่านไปทั่วเมือง ผู้คนไม่ได้คาดคิดว่าจะร้อนหนักหน่วงขนาดนี้จึงไม่ได้เตรียมรับมือเนื่องจากเคยชินกับการใช้ชีวิตกับอากาศที่หนาวเย็นหรืออบอุ่นในฤดูร้อน ไม่มีเครื่องปรับอากาศ ผลที่ตามมาผู้คนจำนวนนับร้อยเสียชีวิตเพราะป่วยหนักด้วยภาวะฮีตสโตรก

ในเมืองลิตตัน แคว้นบริติชโคลัมเบีย คลื่นความร้อนแผ่เข้ามา อุณหภูมิพุ่งทะลุ 49.44 ํC ทำลายสถิติของแคนาดา ให้หลังเพียงวันเดียวไฟป่าไหม้ลามเผาเมืองนี้ราบเป็นหน้ากลอง

 

ภัยแล้ง ไฟป่า

ภัยแล้งและไฟป่าเกิดขึ้นในรัฐแคลิฟอร์เนีย และฝั่งตะวันตกของสหรัฐปีนี้ นับว่ารุนแรงที่สุดในประวัติศาสตร์

เฉพาะภัยแล้งเกิดมาต่อเนื่องยาวนานข้ามปี หนักที่สุดในรอบ 126 ปีของรัฐแคลิฟอร์เนีย รัฐบาลท้องถิ่นต้องประกาศภาวะขาดแคลนน้ำในแม่น้ำโคโลราโดเป็นครั้งแรก การขาดแคลนน้ำจะมีผลกระทบต่อเนื่องไปถึงปี 2565

เมื่อภัยแล้งเกิด ไฟป่าก็ตามมา กระแสลมแรงผสมโรง ควันไฟจากไฟป่าพัดลอยข้ามทวีป จากฝั่งตะวันตกมาถึงมหานครนิวยอร์ก คนละฝั่งของมหาสมุทร

 

ซูเปอร์ไต้ฝุ่น “ราอี”

ราอีเป็นพายุที่มีระดับความรุนแรงสูงสุดในรอบปีนี้ที่พัดผ่านประเทศฟิลิปปินส์ ทำลายล้างบ้านเรือน ทรัพย์สินอย่างหนักหน่วง มีผู้เสียชีวิต 375 คน บาดเจ็บกว่า 500 คน

ขอปิดท้ายกับบทสรุปของ ดร.แดเนียล สแวน ผู้เชี่ยวชาญด้านสภาวะภูมิอากาศแห่งมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย ลอสแองเจลิส สหรัฐ ให้ความเห็นผ่านหนังสือพิมพ์วอชิงตันโพสต์ ถึงปรากฏการณ์มหันตภัยตลอดปี 2564 ไว้ดังนี้

“มีความจริงที่ได้เห็นเป็นประจักษ์ว่าสภาวะภูมิอากาศเปลี่ยนแปลงอย่างสุดๆ ในเกือบทุกมุมโลก เมื่ออากาศร้อนก็จะร้อนขึ้นและร้อนบ่อยกว่าเดิม เมื่อฝนตกก็จะตกหนักกว่าและตกบ่อยกว่าเดิม”

จะยอมก้มหัวเผชิญกับมหันตภัยอย่างนี้ต่อไป หรือร่วมผนึกพลังสู้กับภาวะโลกร้อนเพื่อไปสู่อนาคตที่ดีกว่านี้ อยู่ที่เราทุกคน

สวัสดีปีใหม่ครับ